Sub Navigation Links

webmaster's News

๑๐ ปี หมอกควัน...มหันตภัยสุขภาวะเร่งปฏิรูปกลไกแก้ปัญหา เชื่อมชุมชนและคนเมือง



๑๐ ปี หมอกควัน...มหันตภัยสุขภาวะเร่งปฏิรูปกลไกแก้ปัญหา เชื่อมชุมชนและคนเมือง



๑๐ ปี หมอกควัน...มหันตภัยสุขภาวะ
    เร่งปฏิรูปกลไกแก้ปัญหา เชื่อมชุมชนและคนเมือง

    คนนับล้านในพื้นที่ ๙ จังหวัดภาคเหนือ ต้องเผชิญกับสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าอย่างต่อเนื่อง ช่วงตลอด สิบปีที่ผ่านมา จนถูกมองว่าเป็นปัญหาซ้ำซาก จำเจ ที่มักอุบัติขึ้นในช่วงหน้าแล้งเดือน ม.ค.-มี.ค. ของทุกปี

     ความพยายามจากหลายภาคส่วนที่ "สานพลัง" ขับเคลื่อนการแก้ไข ทำให้เกิด ความหวัง ในการดับวิกฤตและสกัดมลพิษขนาดต่ำกว่า ๑๐ ไมครอนนี้ ไม่ให้ขยายวงกว้าง ลุกลามออกไป
    โดย สุขภาวะของประชาชน คือเรื่องน่าห่วงมากที่สุด เมื่อหมอกควันที่ปกคลุมท้องฟ้า ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติรังสรรค์ แต่มาจากการเผาไหม้จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เขม่าฝุ่นละอองที่ฟุ้งกระจายไปทั่วชุมชน ทำให้ผู้คนเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งมะเร็งปอด

     “เราจมอยู่กับการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งก็จะเห็นบรรยากาศแบบนี้ มาพูดกัน ตื่นตระหนก และไล่จับผู้กระทำผิด แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนได้ เมื่อผ่านภาวะวิกฤตินี้ไปทุกคนก็ลืม  เมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นก็วนกับมาพูดกันอีกครั้ง เพราะปัญหาเหล่านี้มีหลายสาเหตุทับซ้อน ทั้งพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป”

    เดโช  ไชยทัพ จาก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ กล่าวอีกว่า เครือข่ายชุมชนภาคเหนือ ได้ร่วมรณรงค์ปฏิรูปแก้ปัญหาไฟป่าอย่างจริงจัง หลังเกิดปัญหาซ้ำซากยาวนานกว่า ๑๐ ปี ซึ่งกล่าวได้ว่า "ยังแก้ปัญหาไม่ตก" จึงเกิดแนวทางขับเคลื่อนร่วมกับ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จับมือทุกภาคส่วนในสังคม ร่วมเดินหน้าทั้งระบบอย่างจริงจัง

      "มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ส่งผลให้การแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ เป็น วาระร่วม ทั้งหน่วยราชการ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ท้องถิ่น และชุมชน ๓๒๐ หมู่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งคนในเมือง นักธุรกิจ โรงแรม รีสอร์ท ห้างร้านต่างๆ ที่จะเป็นกำลังทรัพย์สำคัญช่วยสนับสนุนการแก้ปัญหา"

      การประชุม สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ ได้มีมติเมื่อปี ๒๕๕๕ เรื่อง "การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ" เพื่อยกระดับปัญหาสู่วาระแห่งชาติที่ต้องแก้ไขอย่างมียุทธศาสตร์ ต่อมา คณะรัฐมนตรีก็ได้พิจารณาเห็นชอบ นำมาสู่แนวทางปฏิรูปการจัดการปัญหาทั้งระบบ ไม่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

     "ประเด็นสำคัญ คือ การส่งเสริมชุมชนให้เข้มแข็งและมีศักยภาพ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปให้ความรู้ในการจัดทำแผนจัดการระดับชุมชน ทั้งตำบล อำเภอ และจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดรับนำแผนไปผลักดัน รวมถึงการสนับสนุนด้านงบประมาณและการจัดการไปยังพื้นที่โดยตรง"  
      ในกรณีที่ต้องแก้ข้อจำกัดทางนโยบายหรือกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างความสามารถของชุมชน เดโช กล่าวว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ กำหนดให้มีกลไกและกระบวนการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เช่น จำเป็นต้องส่งเสริมกฎหมายเพื่อรองรับสิทธิของชุมชน หรือรองรับกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วยมิติใหม่ๆ รวมถึงกฎหมายที่สร้างความสามารถของชุมชนในการบริหารจัดการเรื่องที่ดิน ป่าไม้ การเกษตร และการบริหารจัดการไฟป่าโดยตรง อาทิ  พ.ร.บ. ป่าชุมชน, พ.ร.บ. สิทธิชุมชน, พ.ร.บ.ส่งเสริมสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้, พ.ร.บ. ธนาคารต้นไม้ และ พ.ร.บ.การเกษตรที่เป็นธรรม เป็นต้น

     ทั้งนี้ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไม่ได้มุ่งเน้นการใช้อำนาจแข็งในการหยุดปัญหาหมอกควัน แต่ใช้แนวทางสานพลัง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อลดอุณหภูมิความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนในเมืองกับคนชนบทหรือภาคเกษตรกรรมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าตกเป็นจำเลยของสังคมเมือง และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำให้เกิดสถานการณ์ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และที่ผ่านมีชาวบ้านถูกจับกุมจำนวนมาก

     "ชุมชนในเมืองต้องเข้ามาร่วมมือ เพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤติหมอกควัน จนทำให้สูญเสียรายได้มหาศาล จึงควรเข้ามาร่วมกันรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน ไม่ใช่เพียงแค่การออกมาโวยวายเท่านั้น"   

      ในเวที “๑๐ ปีในหมอกควัน ถึงเวลาปฏิรูปการแก้ไขปัญหาได้หรือยัง” ซึ่งจัดขึ้นโดย เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม, สมัชชาองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมภาคเหนือ, กป.อพช.ภาคเหนือ, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ, เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) และนักวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ ตอกย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องนำแนวทางการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

     พฤ  โอโดเชา ชาวบ้านบ้านหนองเต่า อำเภอสะเมิง ตัวแทนเครือข่ายชุมชนจัดการไฟป่า กล่าวว่า การแก้ปัญหาไฟป่าที่ผ่านมา ภาครัฐมักคิดว่าสั่งการมาจากส่วนกลางและใช้อำนาจได้ โดยไม่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของชุมชน ไม่ยอมรับสิทธิพื้นฐานของชุมชน สิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิในการใช้ประโยชน์จากป่า สิทธิในการดูแลรักษาป่า เช่น ชาวปกาเกอญอ ซึ่งส่วนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเต็งรัง ซึ่งไฟป่ามักจะลุกลามมาจากด้านล่าง ชาวบ้านช่วยกันทำแนวกันไฟทุกปี แต่มักกลายเป็นแพะ ถูกจับกุมโดยไม่ได้ทำอะไรผิด 

     “ประเด็นสำคัญ คือ รัฐคิดว่า รัฐทำได้ โดยใช้วิธีสั่งหยุดไฟ แต่ไฟก็ไหม้อยู่ ที่ผ่านมา มีทีมดับไฟป่าของอำเภอสะเมิง ๓๐-๔๐ คน ดูแลป่ามาไม่ต่ำกว่า ๓๐-๔๐ ปี แต่ป่าเหลือเพียงร้อยละ ๒๐–๓๐ ต้นเหตุหลักของไฟป่าวันนี้ เป็นไฟที่อยู่บนภูเขาสูง เป็นไฟที่ไม่มีเจ้าภาพ แม้รัฐต้องเป็นเจ้าภาพ แต่ก็ทำไม่ไหว ใช้วิธีการทำแนวกันไฟ กวาดใบไม้บนสันดอยเฉยๆ เมื่อมีถ่านไฟกลิ้งลงมาจากดอย และมีเศษไม้แห้งติดลงมาด้วย ก็ไม่สามารถป้องกันได้  ดังนั้น มันคงไม่ใช่แค่ทำแนวกันไฟ กวาดใบไม้เท่านั้น แต่จะต้องมีการลาดตะเวน สำรวจตลอดเวลา”

      ขณะที่ วัชรพงษ์  ธัชยพงษ์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สะท้อนให้เห็นปัญหาการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการและแก้ไขว่า สภาพชุมชนยังมีข้อจำกัด เพราะชาวบ้านต้องทำมาหากิน ไม่มีงบประมาณมาสนับสนุน และงานยังมีความเสี่ยงสูง ขณะที่ภาครัฐก็ดำเนินการทั้งหมดเองไม่ไหว ต้องพึ่งพาอาศัยชาวบ้านด้วย เมื่อใดที่เกิดปัญหาไฟป่า รัฐมักออกคำสั่งให้มีการดับไฟแบบฉับพลันทันที แต่หลายพื้นที่ชุมชนกับเจ้าหน้าที่ ช่วยเหลือกันดับไฟป่าที่โหมรุนแรง ดังนั้น การดำเนินการโดยฝ่ายใดฝ่ายเดียวคงทำไม่ได้

     “สถานการณ์ในปีนี้ เป็นปัญหาที่รุนแรงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะสถานการณ์โลกร้อนที่ส่งผลกระทบทำให้สภาพภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดความแห้งแล้ง และทิศทางลมที่พัดจากทางใต้เปลี่ยนมาพัดผ่านทางเหนือ ทำให้ลมเปลี่ยนทิศทาง พัดพาหมอกควันจากที่อื่นเข้ามาปกคลุมในเมืองเชียงใหม่มากขึ้น และไฟที่รุนแรงยังมาจากการสะสมเชื้อเพลิงบางหมู่บ้านไม่สามารถดับได้”
        วัชรพงษ์ กล่าวต่อว่า บทเรียนที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องย้อนมาพิจารณาทั้งข้อดีและข้อเสียของไฟป่า เพราะบางครั้งไฟป่าก็มีข้อดี เช่น ช่วยรักษาความสมดุลธรรมชาติ กระตุ้นให้ต้นไม้โตเร็วขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ

      ส่วนข้อเสีย คือ กรณีไฟลุกลามเข้าไปในพื้นที่ป่าเต็งรัง ชาวบ้านไม่สามารถควบคุมไฟได้ จนลามเข้าไปในพื้นที่ป่าดงดิบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นป่าดิบแล้งที่มีการสะสมของเชื้อเพลิงจำนวนมาก ทำให้เกิดไฟที่รุนแรงยิ่งขึ้น เป็นสาเหตุให้ต้นไม้ตายหมด เกิดหมอกควัน ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ ทำให้น้ำแห้งขอด ทั้งชาวบ้านและคนเมืองเดือดร้อนด้วยกันทั้งหมด 
 
     จากข้อมูลพบว่า จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ประมาณ ๑๓,๘๐๙,๗๑๐ ไร่ มีพื้นที่ที่เกิดไฟป่า ประมาณ ๑๒,๐๐๐ ไร่  โดยแหล่งที่เกิดไฟป่ามากที่สุดเป็นพื้นที่ป่าผลัดใบประเภทป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณมากถึงร้อยละ ๔๕ ของจำนวนพื้นที่ไหม้ทั้งหมด รองลงมาเป็นพื้นที่สวนป่า/ป่าผสมจำนวนร้อยละ ๒๔ พื้นที่ใช้สอยและทำกินร้อยละ ๑๘ และป่าสนเขา/ดิบเขา ร้อยละ ๑๐

       ขณะที่การมีส่วนร่วมของชุมชนในการลุกขึ้นมาดูแลไฟป่า พบว่ายังมีสัดส่วนไม่มาก ในการสำรวจพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีหมู่บ้านที่ใกล้ชิดป่ากว่า ๑,๖๐๖  ชุมชน  แต่มีหมู่บ้านที่ดูแลเรื่องนี้ไม่เกิน ๓๐๐ หมู่บ้าน การขยายผลให้หมู่บ้านลุกขึ้นมาทำหน้าที่ในการดูแลเฝ้าระวัง จึงยังเป็นโจทย์ใหญ่ในขณะนี้

        แม้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในพื้นที่จะเฝ้าระวัง ลาดตระเวน  ดับไฟป่า ในจุดที่มีสถานีควบคุมไฟป่าทั้งหมด แต่การดำเนินการทำได้เพียงร้อยละ ๒๐ ของพื้นที่ป่าเท่านั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดของจำนวนเจ้าหน้าที่ ที่ต้องรับผิดชอบถึงคนละ ๖,๕๐๐ ไร่ 

       "แม้หลายชุมชนจะรวมตัวจัดการไฟป่า แต่ยังทำได้ไม่ถึงร้อยละ ๓๐ ของชุมชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  ทำให้ปัญหาไฟป่าหมอกควันยังคงเป็นปัญหาซ้ำซากในทุกๆ ปี"

      นอกจากนั้น ยังมีสถานการณ์เผาเศษวัสดุเหลือใช้ภาคเกษตร ที่มาซ้ำเติมปัญหา โดยเฉพาะรูปแบบที่เรียกว่า "เกษตรพันธะสัญญา" (Contract Farming) ที่นิยมปลูกมากคือข้าวโพดนับล้านไร่ ที่มีบริษัทใหญ่ที่มาส่งเสริมทำสัญญากับเกษตรกร และรับซื้อผลผลิตคืนในราคาดี ทำให้ชาวบ้านนิยมทำไร่ข้าวโพดในรูปแบบนี้มากขึ้น ยิ่งเกิดการเผาทำลายเศษวัสดุเกษตร เช่น ซังข้าวโพด หรือเผาเพื่อบุกรุกป่า เร่งรัดการปลูกรอบใหม่ตลอดเวลา

       ส่วนที่เหลือคือ ควันจากภาคอุตสาหกรรม ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เช่น โรงงานเซรามิคต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วภาคเหนือ การเผาเศษกิ่งไม้ ใบไม้ ของชุมชนทั่วไป การเผาขยะ และควันจากการจราจรที่ติดขัดหนาแน่นขึ้น ทั้งหมดล้วนเป็นตัวเสริม ให้ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือไม่คลี่คลาย ซ้ำร้ายกลับรุนแรงมากขึ้นในปี 2558

      การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ เรื่อง"การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ" จึงยังเป็นแนวทางที่ต้องสานพลังเดินหน้ากันต่อไป ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และใช้ประสบการณ์ในปีนี้ มาเป็นโจทย์เพื่อแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในอนาคต

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  1st Apr 15

จำนวนผู้ชม:  35337

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ.2555

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง