Sub Navigation Links

webmaster's News

คาร์-ฟรีแมน กวิน ชุติมา ชีวิตติดจักรยาน



คาร์-ฟรีแมน กวิน ชุติมา ชีวิตติดจักรยาน



มติชน (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556

พนิดา สงวนเสรีวานิช เรื่อง:

แวนูรไอฮัน แวดอเลาะ ภาพ:

นับเป็นความสำเร็จก้าวแรกกับความพยายามผลักดันการใช้จักรยานให้เป็นวาระแห่งชาติ

เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีมติรับทราบมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2558

นั่นหมายความว่าต่อจากนี้ไปจะมีแรงจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน10 กระทรวง เข้ามาช่วยสนับสนุน ช่วยจัดระบบโครงสร้าง รวมทั้งงบประมาณรองรับ เช่น การให้ความรู้ที่เน้นให้ความสำคัญต่อผู้เดินเท้าและผู้ใช้จักรยานในการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตขับขี่ยานยนต์ทุกชนิด, การแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ให้ผู้เป็นเจ้าของอาคารขนาดใหญ่และอาคารสาธารณะ รวมทั้งสถานีขนส่งสาธารณะ ต้องจัดให้มีที่จอดจักรยานที่สะดวก ปลอดภัย และเพียงพอ, และการให้สถานศึกษามีหลักสูตรให้ความรู้และพัฒนาทักษะเกี่ยวกับการเดินและการใช้จักรยาน เป็นต้น

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผลักดันอย่างสุดแรงและสม่ำเสมอมาเป็นสิบปีของผู้ชายคนนี้…

กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย

ผู้ที่บอกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า “ผมเป็น ‘คาร์-ฟรี แมน’ (Car free Man)” เวลาเดินทางไปไหนมาไหนจะไปด้วยจักรยาน ระยะทางเป็น 20 กิโลเมตรเป็นเรื่องธรรมดา

“ที่บ้านผมมีรถยนต์ แต่ส่วนใหญ่ภรรยาใช้ไปส่งลูกหรือคุณแม่ใช้ ตัวผมเองเคยหัดขับรถ แต่ไม่มีใบขับขี่ เพราะไม่ชอบขับรถยนต์ ซึ่งพอเราใช้จักรยานนานๆ เข้าก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา”

แต่…ก็ไม่ใช่ว่าอุแว้ออกมาแล้วก็จับจักรยานขี่ได้เลย

กวินบอกว่า เขาก็เหมือนกับคนอื่นที่เล็กๆ ก็เคยขี่จักรยานกันมาท ั้งนั้น แต่พอโตขึ้นก็เลิก ตัวเขาเองความที่เป็นคนทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ งานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เดินป่า ดูนก ดำน้ำ ฯลฯ อยู่แล้ว การขี่จักรยานจึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เชื่อมโยงไปด้วยกันอย่างพอเหมาะพอเจาะ

กวิน เป็นคนฝั่งธนฯ หรือถ้าพูดให้ถูกต้องบอกว่าจังหวัดธนบุรี เพราะเกิดที่นั่นตั้งแต่ธนบุรียังไม่รวมกับกรุงเทพฯ

เกิดวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2499 เป็นบุตรของคุณพ่อวิสุทธิ์ กับคุณแม่กฤษณา ชุติมา สมรสกับ นัยนา สุภาพึ่ง มีลูกชายด้วยกัน 1 คน คือ ด.ช.วนา ชุติมา

การศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนจรัสสมรอนุศาสน์ ทุ่งมหาเมฆ และโรงเรียนดรุโณทยาน ระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน แล้วมาเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สอบเอ็นทรานซ์เข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แล้วไปเรียนปริญญาตรีซ้ำอีกครั้ง ทางด้านมานุษยวิทยาและตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ที่มหาวิทยาลัยเคนท์ เมืองแคน เทอร์เบอรี่ ประเทศอังกฤษ เมืองที่ทำให้เขาได้ลิ้มรสการใช้จักรยานเป็นพาหนะตลอด 4 ปี

พอกลับมาเมืองไทย ความคุ้นชินกับการมีจักรยานเป็นเพื่อนคู่ชีพ เขาจึงหาซื้อจักรยานแม่บ้านมือสองธรรมด๊า-ธรรมดา ราคาคันละ 3,000 กว่าบาท เป็นพาหนะ และนับแต่นั้นมามันก็ค่อยๆ กลมกลืนกลายเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ของเขาไปในที่สุด

จากการเริ่มต้นค้นหาคนร่วมขี่จักรยาน กระทั่งเข้าเป็นสมาชิกชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย จัดทริปชวนสมาชิกไปขี่จักรยานออกกำลังกาย หรือเพื่อการท่องเที่ยว เริ่มใช้จักรยานทำกิจกรรมเพื่อสังคม

เป็นคนริเริ่มการรีไซเคิลจักรยาน โดยขอจักรยานที่ไม่ใช้แล้ว เอามาซ่อมแล้วบริจาคให้กับเด็กๆ ตามชนบท เคยจัดกิจกรรมขี่จักรยานทางไกลแล้วให้คนบริจาคเงินไปทำบัฟเฟอร์โซน ปลูกอาหารให้ช้างที่อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมกับมูลนิธิสิ่งแวดล้อมไทย แล้วยังเป็นคนริเริ่มจัดกิจกรรมวันคาร์ฟรี เดย์ ครั้งแรกที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

พูดถึงอาชีพการงาน กวินเป็นผู้อำนวยการคณะกรรมการเผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.) เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ต่อมาเป็นผู้ประสานงาน คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชนบท (กป.อพช.) เป็นที่ปรึกษาหลักขององค์กรพัฒนาเอกชนจากประเทศเนเธอร์แลนด์ในประเทศไทย เป็นรองผู้อำนวยการภาคีความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการพัฒนา (ปัจจุบันคือมูลนิธิกองทุนไทย) ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังประสบการณ์ในการบริหารองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ อาทิ อยู่ในคณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชนบท คณะทำงานส่งเสริมบทบาทหญิงชายในงานพัฒนา ฯลฯ

ปัจจุบันเป็นกรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย

สนใจจักรยานตั้งแต่เมื่อไร?

ผมเชื่อว่าเราทุกคนเคยขี่จักรยานด้วยกันทั้งนั้น แต่พอโตขึ้นมาหน่อยก็จะเลิกกันไป คนในเมืองจำนวนมากก็จะไม่ได้ขี่จักรยานอีก ผมก็เหมือนกัน จนมาทำงานแล้ว ช่วงที่ก่อนจะมาเป็นสมาชิก เป็นกรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เมื่อ 20 กว่าปีก่อนจึงมาเริ่มขี่จักรยาน

สิ่งหนึ่งที่ได้คือ เราจะเริ่มคุ้นกับถนนที่เราต้องขี่ร่วมกับรถยนต์จำนวนมาก ผมก็เริ่มขี่จักรยานคนเดียว ไปไหนมาไหนใกล้ๆ ก็เริ่มใช้จักรยาน เหมือนคนอื่นที่มักเอาจักรยานขึ้นรถไปขี่ที่ต่างจังหวัด แต่เราขี่จักรยานไปขึ้นรถบัสเอง แล้วก็รู้สึกว่า เราก็ขี่ได้ หลังจากนั้นมา 2 ปี ผมก็เริ่มใช้จักรยานเป็นประจำ ขี่จากบ้านที่บางไผ่ ท่าพระ ไปทำงานแถวตึกช้างเป็นประจำ 22 กม.

สิ่งที่ได้จากการขี่จักรยาน?

ผมเริ่มต้นจากการหาคนที่จะมาขี่จักรยานด้วย จักรยานสิ่งหนึ่งที่ได้คือ ได้เพื่อน ได้พักผ่อน ได้ออกกำลังกาย ทีนี้มาขี่ในเมืองมันเป็นสิ่งที่เราไม่จำเป็นต้องทำ แต่พอเราใช้จักรยานมากขึ้น ก็รู้ว่ามันทำได้ และประหยัดเวลา โดยเฉพาะในช่วงเร่งด่วน

ลูกๆ ขี่จักรยาน?

ผมมีลูกคนเดียวครับ ตอนเด็กก็พาไปขี่พุทธมณฑล สมัยก่อนตอนที่ผมอยู่ในชมรม ผมก็พาเขามาขี่จักรยานรณรงค์ด้วยจากสวนรถไฟไปทำเนียบรัฐบาลไปยื่นจดหมาย ขี่ไป 10 กิโลเมตร ขี่กลับอีก 10 กิโลเมตร ตอนนั้นเขายังตัวนิดเดียว อายุ 8 ขวบ ก็ขี่ไปด้วยกัน ขี่อยู่ท้ายขบวน จำได้เลยมีตำรวจอยู่คนหนึ่งขี่มอเตอร์ไซค์คอยดูแลเขาอยู่คนหนึ่ง แต่พอโตขึ้นเขาก็สนใจด้านอื่น เล่นฟุตบอล ตอนนี้ไปเล่นเทนนิส

เดินทางด้วยจักรยานมากี่ปี?

ผมเป็น “คาร์-ฟรี แมน” ปกติไม่ใช้รถยนต์เลย ที่บ้านมีรถยนต์นะครับ แต่รถส่วนใหญ่ภรรยาใช้ ไปส่งลูกหรือคุณแม่ใช้ โดยจ้างคนขับ ผมไม่ได้ใช้

พอเราใช้นานขึ้น ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าจะใช้คำว่า “ไม่เสี่ยง” ผมว่าไม่มีอะไรที่ไม่เสี่ยง เดินบนทางเท้าคุณก็เสี่ยง จากสถิติการศึกษา คนอายุเกิน 70 ล้มหัวฟาดพื้นในห้องน้ำมากกว่าคนขี่จักรยาน ฉะนั้นยิ่งคนสูงอายุยิ่งอันตราย เพราะฉะนั้นเราอยู่กับความเสี่ยง แต่เราจัดการกับความเสี่ยงอย่างไร เราลดความเสี่ยงอย่างไรมากกว่า

โดยเฉพาะตอนกลางคืนเป็นถนนที่ไม่น่าขี่ เพิ่มความเสี่ยง เราก็จะเลี่ยง แล้วอีกอย่างคือ ถนนกรุงเทพฯ สภาพแย่มาก หลุมเยอะมาก

ต้องทำอย่างไร?

ต้องระวัง เราทำสำรวจเหมือนกันว่า สาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดกับจักรยานมาจากถนนเป็นส่วนใหญ่ จากคนขี่ล้มเพราะมีหลุม มีแก้ว ฯลฯ ส่วนที่ถูกรถชนมีไม่เกิน 1 ใน 3 เหมือนแต่ก่อนมีคนขี่จักรยานตกท่อระบายน้ำแล้วมีรถหลังตามมาทับ อย่างนี้พอเราใช้ประจำเราจะรู้ว่ามันอยู่ตรงไหน

มียุคหนึ่งที่ กทม.ทำเลนจักรยาน?

เลนจักรยาน ถ้ามีแล้วสามารถสร้างความปลอดภัยให้กับคนขี่จักรยานมันก็ดี เหมือนอย่างในหลายๆ ประเทศ จะมีการทำทางจักรยานแยกจากถนน ไม่ปะปนกับคนเดินเท้าและรถยนต์ หรือมีเกาะกั้น เป็น ไบค์ เวย์ หรือไบค์ พาธ แต่ถ้าเป็นไบค์ เลน แค่การทาสีตีเส้นบนถนน แต่ไม่สามารถกันรถยนต์เข้ามาได้ แล้วถ้าคนขับรถยนต์ไม่มีมรรยาท มีไบค์ เลน ก็เหมือนไม่มี

ที่ กทม.เคยทำเป็นการเริ่มต้นด้วยความปรารถนาดี แต่ประการแรกไม่ได้สอบถามผู้ใช้ว่าต้องการทางจักรยานตรงไหน คนที่ขี่จักรยานชนชั้นกลางจำนวนมากขี่เพื่อการออกกำลังกาย เพื่อท่องเที่ยว ขี่วันเสาร์อาทิตย์ แต่คนที่ใช้ทางจักรยานในเมืองจะเป็นชาวบ้าน คนในชุมชน เด็กขี่จักรยานไปโรงเรียน แต่ กทม.ไม่เคยมาถามคนเหล่านี้ กทม.อยากทำตรงไหนก็ไปทาสี ตีเส้นเอา ก็จะเกิดสภาพที่ว่า คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ มันก็ไม่ตรงกัน

คือเหตุผลที่เมื่อก่อนมีไบค์ เลน แล้วไม่ประสบความสำเร็จ?

ครับ และอีกประเด็นคือ การตีเส้นทางจักรยานบนทางเท้า โดยไม่เคยคุยกับคนที่ใช้ทางเท้า ไม่เคยคุยกับแม่ค้า พอทำทางจักรยานขึ้นมา คนขี่จักรยานก็มีปัญหากับแม่ค้า กับร้านค้า แล้วก็ขี่ไม่ได้ เหมือนที่ถนนสุขุมวิท มีทางจักรยานบนทางเท้าก็ขี่ไม่ได้ เพราะคนเต็มไปหมด

ฉะนั้น ทางจักรยานชุดแรกเกือบ 30 เส้น ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร มันใช้ไม่ได้ ยกเว้นทางจักรยานบนถนนประดิษฐ์มนูธรรม แต่เนื่องจากไม่ได้ถามคนใช้เหมือนกัน จึงมีคนใช้ไม่มาก จักรยานยนต์ก็ไปใช้เยอะ อีกที่หนึ่งที่สวยงามคือ ทางจักรยานที่อยู่ถนนอุทยาน ตรงพุทธมณฑลสาย 3 ไปพุทธมณฑลสาย 4 ถนนใหญ่มากแล้วมีทางจักรยานอยู่ 2 ข้าง อันนั้นสวยมาก น่าขี่ ปลอดภัย คือต้องถามว่าคนที่อยู่นั้นเขาขี่จักรยานไปไหน เช่นอยู่บนเส้นทางไปตลาด เพื่อว่าเขาจะได้ใช้ประจำ

ถ้า กทม.หรือหน่วยงานอื่นอยากจะช่วย มีข้อเสนอแนะอย่างไร?

เราเคยเสนอไปแล้วเมื่อตอนที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เราระดมความเห็นของตัวแทนชุมชนในกรุงเทพฯ 32 ชุมชน กระจายทั้งเขตในและเขตนอก มี 10 ชุมชน แสดงเจตนารมณ์อยากจะเริ่มนำร่อง เขาพร้อม และเป็นชุมชนใหญ่ แต่ กทม.ไม่ตอบสนอง

เราจัดเวทีคนในชุมชน และอีกเวทีเป็นคนพิการ เวทีคนพิการเสนอด้วยว่าอยากให้ทำทางเท้าตรงไหน เพราะทางเท้าไม่เอื้อให้ไปไหน

เคยมีทางเท้าเพื่อคนพิการ แต่หลายจุดโดนรื้อออกไป?

มันยังมีอีกหลายประเด็น อย่างกรุงเทพฯ ซึ่งจริงๆ เมืองอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่อยู่ใต้วัฒนธรรมรถยนต์ คือ เห็นพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ของรถยนต์ ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของเมือง ให้เขาสะดวกมากกว่า อย่างวันก่อนมีคนถ่ายคลิปมา ถนนมันกว้างมากแล้วมีทางด่วน 2 ข้าง มีคนเอาธงไปปัก เพื่อให้คนที่จะข้ามถนนยกธงโบก แต่รถยนต์ก็ไม่หยุดให้ ซึ่งที่ผ่านมาทางเท้าถูกรื้อออกเพื่อให้ถนนกว้างขึ้นก็มี มันต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่

อีกนานแค่ไหนที่จะได้เห็นสังคมจักร ยาน?

เราคุยกันชัดเจนว่าสัก 10 ปี เพราะ 1.การเปลี่ยนวิธีคิดของคนต้องใช้เวลา ไม่สามารถที่จะออกกฎบังคับทีเดียวแล้วเปลี่ยนได้เลย 2.ต้องเปลี่ยนรัฐ รัฐต้องมาเปลี่ยนระบบและโครงสร้างที่ส่งเสริมที่สนับสนุน เอื้อให้คนใช้จักรยาน อย่างถนนไหนที่ใหญ่มาก็แบ่งให้ทางจักรยานแยกออกมา อย่างถนนราชดำเนิน ถนนรัชดาภิเษก ทำได้ทันที แล้วจะเห็นคนมาขี่จักรยานทันทีเพราะเห็นว่ามันปลอดภัย

กรณีแผงค้า หาบเร่บนฟุตปาธ?

ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการจัดการ เราเห็นการปล่อยปละละเลยให้เกิด ปล่อยให้ทำประจำ จนมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้น มันก็จัดการยากแล้ว เพราะพ่อค้าแม่ค้าไม่ใช่ศัตรูของคนเดินทาง เพราะคนเรายังต้องพึ่งพาซื้อของกิน มีนักวิชาการศึกษามาแล้วว่า ถ้าทำทางเท้ากว้าง 5-6 เมตร ทุกอย่างรองรับได้หมด แม่ค้าอยู่ 1.5 เมตร เอาตู้โทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์ เอาเสาไฟฟ้ามาอยู่อีกด้านหนึ่ง ก็มีพื้นที่ให้คนเดินถนน ผมเชื่อว่าถ้าเราทำทางเท้าดี คนจะเดินกันมากขึ้น

ปัจจุบันมีคนขี่จักรยานกันมากขึ้นเป็นแค่กระแส?

ตอนนี้เราในชมรมพยายามทำให้มันไม่เป็นกระแส ทำให้มันเป็นของประจำวัน คนกรุงเทพฯมีเป็นแสนคน อาจจะเป็นล้านคนที่ใช้จักรยานอยู่ เกือบทุกบ้านมีจักรยาน เราก็ชวนกันมาขี่ในชีวิตประจำวัน ขี่ไปตลาด ไปมหาวิทยาลัย ไปทำงาน ฯลฯ

อันที่ 2 คือ คนขับรถยนต์ ส่วนหนึ่งอาจจะไม่คุ้นเคยกับคนขี่จักรยาน ไม่รู้จะหลีกจะระวังอย่างไร แต่ถ้าขี่กันมากขึ้น เขาจะคุ้นเคยจะรู้ว่าควรจะระวังอย่างไร ฉะนั้น การที่มีคนขี่จักรยานกันมากขึ้นก็จะมีผลทำให้รถยนต์ลดการขับที่ก้าวร้าวหรือไม่ระมัดระวัง เขาจะดูแลคุณมากขึ้น

ขับรถครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?

จำไม่ได้แล้วครับ ผมไม่มีใบขับขี่นะครับ คือหัดขับรถเป็นแล้ว แต่ไม่ไปสอบใบขับขี่ เพราะไม่อยากขับรถ บางคนบอกว่าขี่จักรยานมันร้อน ไม่ร้อนอย่างที่คิด เวลาขี่ก็ไม่ต้องขี่แบบรถแข่งสิครับ เพราะการเกิดเหงื่อมาจากการที่เราใช้พลังในการปั่นเร็ว ผมทำงานเป็นล่ามด้วยนะ ผมก็ใส่เชิ้ตแขนยาว แต่งตัวดีๆ ผมไม่ได้เอาเสื้อผ้าไปเปลี่ยน แต่ขี่ไปทั้งอย่างนั้น

แต่ถ้าไปประชุมที่สหประชาชาติเราก็ขี่ช้าลง คือมันทำได้ ขี่ให้ช้าเผื่อเวลาให้มากขึ้น และถ้าไม่อยากให้ผิวเสียก็ใส่ปลอกแขนก็ได้

ทุกอย่างต้องใช้เวลา ถ้าเราทำให้ถนนปลอดภัยมากขึ้น คนในชุมชนก็จะออกมาใช้จักรยานกันมากขึ้น แล้วเมืองก็จะค่อยๆ เปลี่ยน

เป็นความฝัน?ครับ ซึ่งนั่นหมายถึงทุกอย่าง นโยบาย โครงสร้าง ระบบต่างๆ มันเอื้อต่อการขี่จักรยาน และทัศนคติก็เปลี่ยนไป การขี่จักรยานเป็นของเท่ คือจักรยานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่การทำอะไรที่เป็นพิเศษ

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  23rd Dec 13

จำนวนผู้ชม:  35931

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง