Sub Navigation Links

webmaster's News

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเดินหน้าพัฒนา ๕ วาระ สู่นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพคนไทย



สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเดินหน้าพัฒนา ๕ วาระ สู่นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพคนไทย



สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเดินหน้าพัฒนา ๕ วาระ

สู่นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพคนไทย

คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) เปิดเวทีรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน ร่วมขับเคลื่อน ๕ ข้อเสนอเชิงนโยบาย อาทิ เขตสุขภาพเพื่อประชาชน การแก้ปัญหาลักลอบจำหน่ายยาสเตียรอยด์ จนถึงวาระแห่งชาติ โรคพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ำดี ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๗ ปลายปีนี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) จัด "เวทีร่วมพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อกำหนดเป็นระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ พ.ศ.๒๕๕๗ และการพัฒนาการจัดกลุ่มเครือข่าย" ณ โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค โดยมีภาคีเครือข่ายจากทั่วประเทศ ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมกว่า ๖๐๐ คน

นายเจษฎา มิ่งสมร ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า คจ.สช.ให้ความสำคัญกับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและสร้างการมีส่วนร่วมของ กลุ่มเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ใน ๕ ประเด็นปัญ หา สุขภาวะของคนไทย ที่จะพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายและนำเข้าสู่การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ พ.ศ.๒๕๕๗ ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ ภายใต้แนวคิด "เดินหน้าสมานฉันท์ ร่วมกันปฏิรูป สังคมสุขภาวะ" ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ต่อไป

ประเด็นสำคัญทั้ง ๕ เรื่อง ที่จะเสนอให้ คจ.สช. พิจารณากำหนดเป็นระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๕๗ ประกอบด้วย ๑. การพัฒนาโนบายสาธารณะเพื่อสนับสนุนกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง : กรณีพนันและความรุนแรงในครอบครัว ๒. ข้อเสนอการปฏิรูประบบสุขภาพ : การจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ๓. การจัดการยาสเตียรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทย ๔. การพัฒนาระบบการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ และ ๕. วาระแห่งชาติ : พยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี โดยจะมีการประกาศระเบียบวาระฯ ในวันที่ 24 กันยายน 2557

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานคณะทำงานพัฒนารูปแบบการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน กล่าวว่า การกำหนดนโยบายสุขภาพของประเทศ ควรเริ่มขับเคลื่อนมาตั้งแต่ระดับชุมชน ตำบล อำเภอ ก่อรูปขึ้นมาในรูปแบบของฐานเจดีย์ ซึ่งหลายพื้นที่มีความคล้ายกันในด้านสังคมและวัฒนธรรม ดังนั้น คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) จึงสนับสนุนให้มีการกำหนดเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เพื่อยกระดับการให้บริการที่ดีขึ้น โดยจะนำเข้าสู่การพิจารณา ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๗ พ.ศ.๒๕๕๗ หากได้รับฉันทมติ คาดว่าจะดำเนินการได้ในปี ๒๕๕๘

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เขตสุขภาพเพื่อประชาชน จะยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เน้นการมีส่วนร่วมในด้านทรัพยากรและการตัดสินใจในนโยบายสำคัญ สอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่ ไม่ใช่การจัดเขตของกระทรวงหรือหน่วยงานใด และไม่มีหน่วยงานใดมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดผู้เดียว แต่ทุกหน่วยงานจะเข้ามาร่วมขับเคลื่อนการทำงานไปด้วยกัน ในรูปแบบเส้นด้ายแนวนอน ยึดพื้นที่เป็นฐานเชื่อมโยงประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่เหมือนกับการแบ่งเขตของหน่วยงานทั่วไป

 

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ประธานคณะทำงานประสานเพื่อการพัฒนาข้อเสนอประเด็นเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาเด็ก เยาวชน และครอบครัวมีความซับซ้อนและทวีความรุนแรงมากขึ้น จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาวะของสังคมด้วย จึงต้องกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาให้เป็นวาระแห่งชาติ เชื่อมโยงกลไกต่างๆทุกระดับตั้งแต่ท้องถิ่น ไปจนถึงส่วนกลาง

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ประธานคณะทำงานเพื่อการพัฒนาข้อเสนอประเด็นการจัดการยาสเตียรอยด์ที่คุกคาม สุขภาพคนไทย และรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ยาสเตียรอยด์ถูกนำมาใช้อย่าง ไม่เหมาะสมและหลอกลวงผู้บริโภคมานานแล้ว โดยนำไปผสมในยาแผนโบราณ ยาสมุนไพร และอาหารเสริม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายตามมา เช่น กระดูกผุ การสะสมของไขมันที่หนอกหลัง หน้าบวม และโรคอื่นๆ

ทั้งนี้ ในทางการแพทย์ได้มีการใช้สเตียรอยด์รักษาโรคที่มีอาการรุนแรง เช่น สร้างภูมิคุ้มกันกรณีผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ โรครูมาตอยด์ที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่หาย เป็นต้น ถือเป็นยาควบคุมพิเศษ อนุญาตให้ขายเฉพาะในโรงพยาบาล คลินิก และร้านขายยาที่ต้องขายตามใบสั่งแพทย์ ดังนั้น การใช้จะอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่กระบวนการแก้ไขปัญหาลักลอบยังมีปัญหาและอุปสรรค จึงต้องใช้กระบวนการสมัชชา ระดมทุกภาคส่วนเข้ามาหารือเพื่อบูรณาการการทำงาน

"แนวทางสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายและปรับปรุงระเบียบการควบคุมดูแล สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อตรวจสอบการลักลอบขายยาที่มีสเตียรอยด์ ซึ่งต้องอาศัยทั้งกลไก นโยบายและการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมศุลากากร และชุมชนด้วย"

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี ประธานคณะทำงานประสานงานเพื่อการพัฒนาข้อเสนอ ประเด็นการพัฒนาระบบการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีกลไกการประเมินความคุ้มค่าของการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ ทางการแพทย์ รวมถึงยารักษาโรค ว่ามีความเหมาะสมหรือเป็นประโยชน์กับประชาชนมากน้อยเพียงใด ทั้งๆที่ภาครัฐใช้งบประมาณในการจัดซื้อสิ่งเหล่านี้สูงมาก

รวมถึง ๓ กองทุน ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ , กองทุนประกันสังคม และการรักษาพยาบาลข้าราชการด้วย

“ปัจจุบันกลไกการประเมินความคุ้มค่าในการรักษาพยาบาล ผ่านเครื่องมือ เทคโนโลยี และยารักษาโรคเหล่านี้ ยังกระจัดกระจายอยู่มาก ไม่มีหน่วยงานใดทำอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ประชาชนไม่มีที่พึ่งพิงและสังคมไม่สามารถทราบได้ว่า อะไรคือระบบการรักษาพยาบาลที่ดีและเกิดประโยชน์มากที่สุด"

รศ.ดร.บรรจบ ศรีภา หัวหน้าศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านการวิจัยและการควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากข้อมูลของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่าประเทศไทยมีผู้ที่เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับถึง ๖ ล้านคน โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือ จากพฤติกรรมการรับประทานปลาน้ำจืดสุกๆดิบๆ ซึ่งนำไปสู่โรคมะเร็งตับประเภทมะเร็งท่อน้ำดี และตามข้อมูลของกรมอนามัยใน ปี ๒๕๕๔ มีรายงานผู้เส่ียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดี ๑๔,๓๑๔ ราย มากที่สุดคือในภาคอีสาน ๗,๕๙๓ ราย และภาคเหนือ ๒,๖๓๘ ราย

 

“แนวทางสำคัญคือต้องผลักดันให้สังคมเห็นเป็นปัญหาในระดับชาติ และสร้างการมีส่วนร่วมอย่างบูรณาการจากทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ไปจนถึงจังหวัด เพื่อลดอัตราผู้ป่วยรายใหม่และการเสียชีวิตที่ลดลง” รศ.ดร.บรรจบ กล่าว

หลังจากนี้ คณะทำงานวิชาการในแต่ละประเด็น จะนำความเห็นของภาคีเครือข่ายที่ร่วมพัฒนาข้อเสนอ เสนอต่อ คจ.สช. เพื่อพิจารณากำหนดเป็นระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๕๗ และประกาศต่อสาธารณะในวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๗ ต่อไป

 

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  23rd Sep 14

จำนวนผู้ชม:  36155

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7 พ.ศ.2556

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง