Sub Navigation Links

webmaster's News

สช. จับมือเพื่อนภาคี ร่วมภารกิจขับเคลื่อน “ต้านมะเร็ง”



สช. จับมือเพื่อนภาคี ร่วมภารกิจขับเคลื่อน “ต้านมะเร็ง”



ไม่ว่าใครก็ตาม ล้วนมีความเสี่ยงกับ “มะเร็ง” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“มะเร็ง” ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ครองแชมป์สาเหตุการตายมานานกว่า 20 ปี และถึงแม้ทุกวันนี้ จะมีการพัฒนายาแบบพุ่งเป้าต่อโรค ตลอดจนมีวิธีการรักษาที่ล้ำสมัย หากแต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว

มะเร็ง...ไม่ใช่เรื่องบาปบุญหรือเวรกรรม แต่เป็นโรคที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม นั่นหมายความว่า มะเร็งสามารถยับยั้งได้ ถ้าเจ้าของสุขภาพมีความตระหนักรู้ และเบนเข็มออกจากปัจจัยเสี่ยง

เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ประเด็นปัญหาเรื่องมะเร็งถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 โดยสมาชิกสมัชชาฯ มีฉันทมติร่วมกันที่จะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ว่าด้วย “รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง” ให้เกิดขึ้นจริง เพราะต่างเห็นพ้องถึงสถานการณ์ของปัญหาที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และเชื่อมั่นตรงกันว่า “ชุมชน” คือฐานอันมั่นคงในการรับมือกับภัยคุกคามสุขภาพเรื่องนี้

ทั้งหมด นำมาสู่การจัดประชุมปรึกษาหารือการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2562 มติ 12.3 รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ที่มี ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ชวนผู้แทนจากหน่วยงานองค์กรภาคีร่วมหารือ

“การประชุมในวันนี้ เป็นเวทีที่ได้พบปะกับเพื่อนที่ทำงานอยู่กับปัญหานี้ ที่หลากหลายหรือคล้ายคลึงกัน เป็นโอกาสที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันพิจารณาว่า จะจับมือทำงานร่วมกันได้อย่างไร และจะใช้เวทีสมัชชาฯ ให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานได้อย่างไร” รองฯวีระศักดิ์ เริ่มต้นพูดคุย และเปิดพื้นที่กลางให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็น

ดร.ศุลีพร แสงกระจ่าง รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่าการขับเคลื่อนงานด้านมะเร็งในทุกวันนี้ การทำงานหลักยังอยู่ที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ จึงเสนอให้ผลักดันการขับเคลื่อนในภาคประชาชนที่เป็นเจ้าของสุขภาพตนเองให้มากขึ้น

“มติฯ นี้ มุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนให้สังคมตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เห็นความสำคัญของการตรวจคัดกรอง รวมถึงสิทธิการรักษาที่เหมาะสม” ดร.ศุลีพร ขมวดประเด็น และอภิปรายต่อไปว่า การสร้างความร่วมมือระดับท้องถิ่น เครือข่ายผู้ป่วย การใช้งบประมาณจากกองทุนสุขภาพท้องถิ่น เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้สำเร็จ

ตัวแทนภาคประชาชนอย่าง นางสาวศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง แลกเปลี่ยนว่า พันธกิจหลักที่มูลนิธิฯ จะเดินหน้าภายในปีนี้คือ “การสร้างช่องทางสื่อสาร” เกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากมะเร็งผ่านแอพพลิเคชั่น คาดว่ากลางปีนี้จะได้เห็นเวอร์ชั่นแรก นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนา

หลักสูตรผู้นำเครือข่ายมะเร็ง หรือ Cancer School เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคัดกรองมะเร็งที่ถูกต้องเป็นมาตรฐานเดียว โดยตั้งเป้าการฝึกอบรมให้ได้ 150 คน

ขณะที่ พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ ได้บอกเล่าและถอดบทเรียนการตรวจ คัดกรองมะเร็ง โดยยกตัวอย่างการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ได้ดำเนินการในทุกจังหวัด แต่ทำได้เพียง 60% เนื่องจากประชาชนไม่เห็นความสำคัญและรู้สึกอายที่จะมาตรวจ

“ที่ผ่านมาเป็นการทำงานของภาครัฐอย่างเดียว ไม่ได้เปิดให้ภาคประชาชนเข้ามาช่วย ซึ่งสมัชชาสุขภาพได้ช่วยให้มุมมองและวิธีคิดการทำงานแนวใหม่ ที่ควรสร้างความร่วมมือจากภาคประชาชนมากขึ้น” พญ.ปฐมพร กล่าว

พญ.จุรีพร คงประเสริฐ รองผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา มีแผนงานด้านมะเร็งที่สำคัญ เช่น การป้องกันโรคมะเร็งท่อน้ำดี โดยมีแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ที่มีเป้าหมาย 29 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 6, 7, 8, 9 และ 10 ให้ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถเข้าตรวจคัดกรองได้ที่ รพ.สต. และรักษาผู้ที่มีอาการโรคทุกรายโดยใช้สิทธิ สปสช. ซึ่ง นางสาวชลกร ภู่สกุลสุข กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แจ้งว่า อสม. ในจังหวัดดังกล่าวได้ร่วมดำเนินงาน ซึ่งใช้แบบการตรวจคัดกรองจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

นายชัยพร กาญจนอักษร กองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาโดยถอดบทเรียนการดูแลผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะสุดท้ายจากวัดคำประมงที่มีการรักษาแบบประคับประคอง นำไปขยายผลยังโรงพยาบาลต่างๆ รวมถึงการรวบรวมองค์ความรู้ ดึงศักยภาพจากหมอพื้นบ้าน วัดและโรงเรียนมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยในชุมชน

ความเห็นที่น่าสนใจต่อการขับเคลื่อนในช่วง 2 ปีข้างหน้า มาจาก นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่เสนอว่า ควรหาวิธีการที่ทำให้ประชาชนมาตรวจคัดกรองเพิ่มขึ้นให้ถึงร้อยละ 90 โดยเฉพาะมะเร็งที่สามารถป้องกันและรักษาให้หายในระยะเริ่มแรกได้ เช่น ขอความร่วมมือจากเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็งหรือกลไกภาคประชาชนอื่นในพื้นที่ช่วยไปกระตุ้น เชิญชวน ติดตาม และมี Mobile Unit ที่บุคลากรเป็นผู้หญิง ไปตามบ้านในชุมชนที่มีกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการสร้างกระแสข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อกระตุ้นสังคมอย่างต่อเนื่อง และ พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ที่เสนอให้เชื่อมกับหลักสูตรการเรียนการสอนของแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวและแพทย์อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา

ในช่วงท้ายก่อนปิดการประชุม ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ แจ้งว่า “สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ยินดีเป็นแกนประสานกลางในการผลักดันกลไกทางนโยบาย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนงานในประเด็นภายใต้ความรับผิดชอบของภาคีต่างๆ ต่อไป”

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  11th Mar 20

จำนวนผู้ชม:  34714

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง