Sub Navigation Links

webmaster's News

เสม พริ้งพวงแก้ว แพทย์ต้นแบบผู้มีคุณูปการต่อสังคมไทย (2)



เสม พริ้งพวงแก้ว แพทย์ต้นแบบผู้มีคุณูปการต่อสังคมไทย (2)



เสม พริ้งพวงแก้ว แพทย์ต้นแบบผู้มีคุณูปการต่อสังคมไทย ที่ยืนหยัดในอุดมคติและอุดมการณ์ได้อย่างมั่นคง ตลอดหนึ่งศตวรรษ เรื่องโดย : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ----------------------------------------------------------------------------------
&nbs p;  3 นักสร้างสรรค์ (ต่อ) คราวที่โรคอหิวาต์ระบาดที่อัมพวา คนไข้มาให้รักษามาก จนน้ำเกลือไม่พอใช้ หมอเสมแก้ปัญหาด้วยการผลิตน้ำเกลือใช้เอง โดยอาศัยเครื่องมือต้มเหล้าเถื่อนของชาวบ้าน เอามากลั่นน้ำฝนให้เป็นน้ำบริสุทธิ์ ผสมเกลือ น้ำตาล ให้คนป่วย คนไข้มักสั่นเมื่อได้รับน้ำเกลือนี้
   เพราะไม่บริสุทธิ์พอ แต่คนไข้ที่สั่นมักไม่ตายเพราะนั่นเป็นสิ่งบ่งบอกว่าร่างกายยังแสดงอาการต่อต้าน ส่วนที่ไม่สั่นจะมีอัตราการตายสูงกว่า “หนทางใหม่นี้อาจไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นบทเรียนของเราก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ได้รับการยกย่องมากมายว่าการกระทำของเราถูกต้อง” ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยาขาดแคลนและมีราคาสูงจนซื้อไม่ได้ ชาวบ้านเดือดร้อนกันมาก
  นายแพทย์ปริญญาแห่งโฮงยาไทย นำสมุนไพรพื้นถิ่นมาประยุกต์ใช้แทนยาควินินในการบำบัดโรคมาลาเรีย กับยารักษาโรคบิด “พ่อเคยรู้จากหนังสือมาก่อนแล้วว่า ต้นกาสามปีก (Vitex peduncularis) รักษาโรคไข้จับสั่นได้ และที่เชียงรายก็มีต้นกาสามปีกขึ้นอยู่ทั่วไป จึงนำราก ต้น และใบ มาต้มในปี๊บแล้วนำน้ำยามาใช้ในการรักษาคนไข้และทหาร ซึ่งขณะนั้นกองทัพมีคนเป็นพัน ๆ คน ป่วยกันมากมาย ก็ได้ต้นกาสามปีกนี่แหละช่วยประทังความรุนแรงของโรคไข้จับสั่นไปได้บ้าง” อีกขนานคือยารักษาโรคบิดมีตัว แต่เดิมใช้ยา “เอมีทีน”
  ซึ่งมีราคาไม่กี่สตางค์ แต่เมื่อเกิดสงครามขึ้นมาเป็นหลอดละ ๘๐ บาท นายแพทย์ชนบทหันมาใช้ต้น “โฮลารีนา แอนติไดเซนเทอริกา” ที่ว่าใช้กันมาแต่สมัยพุทธกาล ที่เชียงรายเรียกกันว่า “โมกหลวง” นายแพทย์เสมเอาเปลือกมาตากแห้ง บดสกัดเอาตัวยามาใช้ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ ทหารอาสาสมัครที่ขึ้นไปทำถนนหนทางในช่วงสงคราม กินน้ำไม่สะอาดแล้วป่วยด้วยโรคบิดได้อาศัยเป็นยาสมุนไพรขนานนี้ช่วยรักษา ตอนหลังองค์การเภสัชกรรมนำมาผลิตเป็นแคปซูล แต่ต่อมาก็เลิกไปอย่างน่าเสียดาย เพราะมียาตัวอื่น ๆ ที่ใช้สะดวกกว่า หลังสงครามจบสิ้น คนจากรุงเทพฯ ที่ไปชายแดนเพียงช่วงสั้น ๆ
   ได้รับเหรียญกันมาก แต่นายแพทย์หนุ่มที่อยู่ที่นั่นโดยตลอดไม่ได้รับบำเหน็จอะไร กระทั่งปี ๒๕๓๑ “มีลูกศิษย์คนหนึ่งช่วยวิ่งเต้นให้จากกระทรวงกลาโหม คุณชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นคนเซ็นรับรองว่าพ่ออยู่ที่นั่นจริง คุณชาติชายขึ้นไปรบเชียงตุง ตอนนั้นเพิ่งสำเร็จว่าที่ร้อยตรี พ่อเคยถอนฟันให้ท่าน จึงจำกันได้” --------------------------------------------------------------------------------- - 4
   ผู้ริเริ่ม “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปตรวจงานเชียงราย ไปเจอพ่อ ก็บอกคุณหมอ คุณหมอต้องส่งเงินเข้าคลัง คุณหมอบอก รู้แล้วต้องส่งให้รัฐบาล แต่รัฐบาลไม่ได้ออกสักบาทจะให้เงินของประชาชนไป จะถูกหรือ เสนาบดีตอบพ่อไม่ได้ ต่อมา 3 เดือน ออกคำสั่งว่า รายได้ของโรงพยาบาลให้ถือเป็นเงินทุนสะสม ซึ่งมีมาถึงปัจจุบันนี้เอง” นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่สำคัญคนหนึ่งในการผลักดันเรื่องการขยายโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาค ตั้งแต่ทศวรรษที่ ๒๔๙๐ ช่วงเวลายาวนานที่ท่านทำงานเป็นแพทย์ชนบทอยู่ในท้องถิ่นห่างไกล ไม่ได้ทำให้ท่านล้าหลังด้านความรู้และความคิด ตรงกันข้ามท่านได้พัฒนาทักษะด้านการแพทย์ ริเริ่มบุกเบิกจนเกิดผลงานดีเด่นทางการแพทย์และสาธารณสุขขึ้นมากมาย เป็นแบบอย่างในการวางแผนงานด้านสาธารณสุขของประเทศในเวลาต่อมา นับแต่ การขยายกิจการของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ให้เป็นแผนกต่างๆ อาทิ ตึกสูติกัม (๒๔๘๑) ตึกสงฆ์ (๒๔๘๒) ตึกผ่าตัด (๒๔๘๕) โดยไม่พึ่งงบประมาณของรัฐบาล และริเริ่ม เงินทุนสะสมของโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ความเป็นคนใฝ่รู้ทำให้ท่านได้รับทุนของโรงพยาบาลเชียงรายฯไปดูงานด้านการแพทย์ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาในปี ๒๔๙๓ ท่านได้ริเริ่มตั้งธนาคารเลือดภายในโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่และเป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวาง งานค้นคว้าวิจัยและการป้องกันโรคที่นายแพทย์เสม ทำในเวลานั้น อาทิ เหตุการณ์กินหมูป่าเป็นพิษที่อำเภอเชียงคำ
  โรคคอพอกอำเภอแม่จัน และโรคนิ่วในเขตกว๊านพะเยา ๑ มิถุนายน ๒๔๙๔ กรมการแพทย์มีคำสั่งย้ายนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว มาดำรงตำแหน่งนายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิง เพื่อดำเนินงานตามนโยบายเพิ่มประชากรของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยลดอัตราการตายของมารดาและทารก ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของท่าน ที่เห็นว่าแม่เป็นบุคคลสำคัญยิ่งในการสร้างลูกที่มีคุณภาพ จากนั้นท่านก็มีความคิดริเริ่มในการผลิตนักเทคนิคการแพทย์ จึงได้มีการตั้งโรงเรียนเทคนิคการแพทย์ขึ้นในปี ๒๔๙๗ นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งโรงพยาบาลเด็ก ขึ้นภายใต้การบริหารดูแลของผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิง ในปีเดียวกันนั้นด้วย ต่อมา ท่านยังเป็นผู้มีส่วนอย่างสำคัญในการพัฒนาโรงเรียนพยาบาลขึ้นภายในโรงพยาบาลหญิง และเมื่อพยาบาลเหล่านั้นสำเร็จการศึกษาก็ถูกส่งไปประจำอยู่ตามโรงพยาบาลภูมิภาคต่าง ๆ หรือส่งไปศึกษาต่อต่างประเทศเพื่อกลับมาเป็นอาจารย์พยาบาลต่อไป รูปธรรมหนึ่งที่เป็นผลมาจากความก้าวหน้าด้านการสาธารณสุขในช่วงนั้น คืออัตราการเสียชีวิตของมารดาและทารกลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากอัตราการตาย ๙๘.๙๗ คนต่อประชากรพันคน ในช่วงปี ๒๔๗๕-๒๔๘๙ ลดลงเหลือ ๖๕.๕๙ คนต่อพันคน ในช่วงปี ๒๔๙๐-๒๔๙๘ เช่นเดียวกับอัตราการตายของมารดา ที่ลดลงจาก ๘.๑๑ คนต่อประชากรพันคน เมื่อช่วงปี ๒๔๗๕-๒๔๙๓ เหลือ ๕.๙๕ คนต่อประชากรพันคน ในช่วงปี ๒๔๙๔-๒๔๙๘ ทั้งหมดนี้ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า ความก้าวหน้าในการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนนี้ หลาย ๆ ปัจจัยเป็นผลมาจากการริเริ่มที่มีนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว มีส่วนร่วมผลักดันอยู่ด้วย -------------------------------------------------------------------------------- --
  5 “พ่อ” “เราขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียน… ให้เขาเห็นว่า เขามีความสำคัญ เมื่ออยากเรียนอะไรก็เรื่องของเขา มันเป็นชีวิตของเขา จนเขาทำงานมีครอบครัวก็จบไซเคิลของชีวิต นั่นคือหน้าที่ของคนเป็นพ่อ” ๖ เดือนหลังการสมรสกับนางสาวแฉล้ม ปิยะเกศิน พยาบาลอนุปริญญา เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๐ ทั้งคู่ได้พากันย้ายไปจังหวัดเชียงราย และมีลูกด้วยกัน ๕ คน เป็นชาย ๓ คน หญิง ๒ คน จวบจน ปี ๒๔๙๔ ได้ย้ายกลับมาพระนคร ตลอดช่วงเวลาของการทำหน้าที่ เขาได้ชื่อว่าเป็นหมอที่เอาใจใส่ต่อคนไข้อย่างยิ่ง เขาเล่าเมื่ออยู่ในวัย ๙๖ ปี ว่า “กับคนไข้หนัก พ่อจะอยู่กับคนไข้ อยู่ด้วยกันจนกระทั่งหมดลม แล้วพ่อจะปิดตาให้คนไข้ คนไข้ที่ตายอย่างนั้นมีความสุข” ส่วนภรรยาคู่ชีวิตของเขาเล่าว่า เขาเป็นหมอที่ขยันกับงานมาก จนไม่ค่อยมีเวลาได้อุ้มลูก ๆ “คุณพ่อเป็นคนขยันเหลือเกิน เป็นห่วงเป็นใยผู้ป่วยตลอดเวลา ขนาดแม่คลอดลูก พอคุณพ่อทำคลอดให้เสร็จ คุณพ่อก็บอกว่า ‘เอานะเรียบร้อยแล้ว ดึกมากแล้ว พ่อจะไปนอนแล้ว พรุ่งนี้ต้องไปดูแลคนไข้แต่เช้า’ ” แต่ “คุณพ่อให้ความสำคัญกับเด็กมาก พอแม่คลอดลูกคนที่ ๒ ตอนอยู่เชียงราย คุณพ่อก็ให้แม่ลาออกจากงานที่โรงพยาบาลมาดูแลลูกอย่างเต็มที่ พ่อให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูลูกมาก” รายได้จากเงินเดือนข้าราชการราว ๓๐๐ บาทต่อเดือน อาจเพียงพอสำหรับครอบครัว ๗ คน แต่ไม่มากพอจะเหลือเก็บสำหรับซื้อบ้านหรือที่ดิน ตลอดระยะ ๑๒ ปีที่ย้ายกลับมาอยู่ในกรุงเทพฯ นายแพทย์เสมและครอบครัวจึงอาศัยอยู่บ้านพักหลวงในโรงพยาบาลหญิงมาโดยตลอด แม้เป็นที่รู้กันว่าในสมัยนั้นนายแพทย์เสมเป็นที่โปรดปรานของผู้ใหญ่ ตั้งแต่ระดับอธิบดีกรมการแพทย์จนถึงนายกรัฐมนตรี แต่ก็โดยพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจในความสามารถโดยไม่มีเรื่องอามิสใด ๆ เกี่ยวข้อง ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อท่านลาออกจากราชการในปี ๒๕๐๕ ท่านแทบไม่มีสมบัติพัสถานใดแม้แต่บ้านช่องของตัวเอง เพื่อนคนหนึ่งให้ยืมเงิน ๒ แสนบาท
  มาซื้อห้องแถวขนาด ๒๐ ตารางวา ย่านสุขุมวิท ซอย ๕ เปิดคลินิกเล็ก ๆ จนใช้หนี้เขาหมดจึงได้ซื้อที่ดินที่ย่านบางจาก ในซอยสุขุมวิท ๙๓ ตารางวาละ ๑๒๕ บาท เมื่อปี ๒๕๐๐ หลังจากนั้นอีก ๕ ปี จึงเก็บเงินพอสร้างบ้าน “ตอนปี ๒๕๐๐ ตรงบางจากยังเป็นทุ่งนาว่างเปล่า มองเห็นเขาบางปลาสร้อย ที่ชลบุรีเป็นอย่างดี… พอหลัง ๒๕๐๕ ก็ลาออกจากราชการมาเปิดคลินิกชื่อ บางกะปิโอสถ แม่เขาเป็นพยาบาล ทำหน้าที่จ่ายยา ทำราชการรายได้จำกัดมาก ออกมาทำงานส่วนตัวพอมีเงินส่งเสียลูกให้เรียนดี ๆ ได้” ------------------------------------------------------------- ---------------------
  6 ตำแหน่งรัฐมนตรี (๓ สมัย) ที่ไม่ได้คาดฝัน “ผมมีเจตนาอันแน่วแน่ที่จะพิจารณาเลือกบุคคลที่ปรากฏชัดว่า บริสุทธิ์ สุจริต และเป็นคนที่ประชาชนเคารพนับถือ… คุณหมออุดมก็บอกชื่อคุณหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ไม่ลังเลเลย… ท่านก็มีชื่อเสียงว่าเป็นคนดีมีฝีมือมาก” (ฯพณฯ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์) หลังนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ลาออกจากราชการก่อนเกษียณ โดยมีตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิง สิบกว่าปีต่อมา ท่านก็ได้หวนคืนสู่กระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๑๖ ในระยะเวลาเพียงปีกว่า ๆ ที่ดำรงตำแหน่ง ท่านได้ทำการปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุขจนสำเร็จ แม้ว่าจะถูกต่อต้านอย่างหนักจากแพทย์กลุ่มหนึ่ง แต่ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างหนาแน่นจากแพทย์และพยาบาลอีกกลุ่มหนึ่ง รวมถึงองค์กรนักศึกษา จนในที่สุดสมาชิกสภาฯ ก็มีมติรับให้มีการบริหารราชการแนวใหม่ตามหลักการแบ่งส่วนราชการกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๑๗ เมื่อพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยฯ กระทรวงสาธารณสุขในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ นายแพทย์ เสม กลับไปทำคลินิกของตัวเองอย่างสมถะ ในการปรับคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๓ สมัยรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียง ๑๘ วัน นายกรัฐมนตรี ก็ประกาศลาออก ยุครัฐบาลเปรม ๒ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ได้รับการแต่งตั้งเป็นประมุขของกระทรวงวังเทวะเวสม์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อีกครั้ง ระหว่างวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๒๔ - ๗ พฤษภาคม ๒๕๒๖ โดยสานต่อแผนงานพัฒนาการสาธารณสุขแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ สู่แผนงานพัฒนาฯ ฉบับที่ ๕ ในปีเดียวกัน องค์การอนามัยโลกได้ประกาศคำขวัญ “สุขภาพดีถ้วนหน้าก่อนปี ๒๕๔๓” มีการพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานโดยใช้แนวคิดเรื่อง ความจำเป็นพื้นฐาน พัฒนาโครงข่ายการบริการด้านสุขภาพ ระหว่างโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีอยู่ทั่วประเทศราว ๕.๕ แสนคน และผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) ราว ๖ หมื่นคน ที่เป็นส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนการดูแลสุขภาพตนเองของประชาชน ที่ถือเป็นจินตภาพในการบริการสาธารณสุขของกลุ่มแพทย์หัวก้าวหน้า การประกาศใช้ “บัญชียาหลักแห่งชาติ” ถือเป็นงานสำคัญที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีขึ้นเป็นครั้งแรกในยุคที่นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  เนื่องจากตอนนั้นตัวยาหนึ่ง ๆ จะมีชื่อทางการค้าและสูตรยาแตกต่างกันมากมาย การแข่งขันทางการค้าและการโฆษณายาผ่านช่องทางต่าง ๆ จนถึงในโรงพยาบาลและแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นผู้บริโภคไม่สามารถที่จะตัดสินใจได้ จึงมีการรวบรวมรายชื่อยาที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพของประชาชนขึ้น ให้โรงพยาบาลในสังกัดใช้บัญชีดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๔ แนวคิดเรื่องบัญชียาหลัก สอดคล้องกับสภาพปัญหาเศรษฐกิจและสังคมไทย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการขัดขวางผลประโยชน์ของบริษัทผู้ผลิตยาและผู้ค้ายา ตลอดถึงบุคคลในวงการเมืองและวงการแพทย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน ์ดังกล่าว การที่จะทำให้แนวคิดเรื่องนี้ปรากฏเป็นจริง จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ก็สำเร็จไปได้ด้วยความเด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง เที่ยงตรง ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในยุคนั้น และถือเป็นจุดเริ่มต้นอันสำคัญ ในการรณรงค์เรื่องการใช้ยาอย่างถูกต้องและประหยัด ที่ดำเนินอยู่ต่อมาจนถึงปัจจุบัน อ่านต่อ ..... เสม พริ้งพวงแก้ว แพทย์ต้นแบบผู้มีคุณูปการต่อสังคมไทย (3)

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  14th May 12

จำนวนผู้ชม:  36003

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง