Sub Navigation Links

webmaster's News

เสม พริ้งพวงแก้ว ,เพลง , หนึ่งคนยืนหยัด



เสม พริ้งพวงแก้ว ,เพลง , หนึ่งคนยืนหยัด



เสม พริ้งพวงแก้ว แพทย์ต้นแบบผู้มีคุณูปการต่อสังคมไทย ที่ยืนหยัดในอุดมคติและอุดมการณ์ได้อย่างมั่นคง ตลอดหนึ่งศตวรรษ เรื่องโดย : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ----------------------------------------------------------------------------------
&n bsp; ๑ คนยืนหยัด ๑ ศตวรรษ เสม พริ้งพวงแก้ว ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ศ. นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว มีอายุครบ ๑๐๐ ปี แต่การมีชีวิตอยู่ยืนยาวนับศตวรรษ คงไม่สำคัญเท่ากับว่าชั่วชีวิตอันยืนยงนั้นเขาได้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ขึ้นมากมายให้กับสังคมไทย ความก้าวหน้าด้านการแพทย์ ระบบบริการและการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน ที่ปรากฏอยู่ในทุกวันนี้ มีหลายสิ่งที่เป็นผลมาจากการบุกเบิกริเริ่มของหมอชนบทคนนี้ การประยุกต์ใช้ยาสมุนไพร ธนาคารเลือดภายในโรงพยาบาล เกิดจากการริเริ่มของนายแพทย์หนุ่มคนนี้ที่โรงพยาบาลเชียงรายฯ การผ่าตัดเด็กแฝดสยาม โรงพยาบาลหญิง โรงพยาบาลเด็ก การขยายโรงพยาบาลจนครบทุกจังหวัด ตั้งแต่ก่อนปี ๒๕๐๐ เขาเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ช่วยผลักดัน บัญชียาหลักแห่งชาติ เริ่มประกาศใช้ในยุคที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ เสม พริ้งพวงแก้ว เกิดที่กรุงเทพฯ บรรพบุรุษชั้นยายทวดเป็นข้าหลวงรับใช้ในวังสระปทุม เขาสำเร็จปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต รุ่นแรก ๆ ของคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี ๒๔๗๘ เริ่มต้นการทำหน้าที่แพทย์ที่อัมพวา สมุทรสงคราม และประสบการณ์ครั้งแรกของการปฏิบัติงานในท้องถิ่นชนบทครั้งนั้น เป็นความประทับใจที่ทำให้เขาตัดสินใจเป็นแพทย์ชนบทอยู่ต่อมาอีกกว่า ๑๐ ปี ทำให้เขาได้เห็นปัญหาสาธารณสุขพื้นฐานและความเป็นจริงของระบบการดูแลสุขภาพอนามัยในระดับท้องถิ่นของประเทศ เมื่อถูกนำมาผสานเข้ากับบทบาทของเขาในฐานะผู้บริหารระดับสูงสุดของกระทรวงสาธารณสุขในเวลาต่อมา ก็ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เป็นคุณูปการใหญ่หลวงต่อวงการสาธารณสุขไทยมาทุกวันนี้ หลักสุขภาพดีถ้วนหน้า การสาธารณสุขมูลฐาน การกระจายบริการสาธารณสุขสู่ชุมชนและคืนอำนาจในการดูแลสุขภาพตนกลับสู่ชุมชน ล้วนเป็นงานด้านสุขอนามัยที่เขาเป็นผู้บุกเบิกวางรากฐานและทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง เขายังเป็นแบบอย่างในการต่อสู้เพื่อความถูกต้องดีงามของสังคม เป็นต้นแบบของคนที่ยืนหยัดในอุดมคติแห่งชีวิต และอุดมการณ์เพื่อสังคมได้อย่างมั่นคงตลอดชีวิต เป็นสัญลักษณ์ทางคุณธรรมอันเป็นที่จดจำของคนรุ่นหลัง กระทั่งได้รับการยกย่องว่าเป็นเสมือนหลัก “เสมา” บอกเขตคุณธรรมของสังคม คือ “เสม พริ้งพวงแก้ว” ที่คนทั่วไปรู้จักในฐานะ “ศาสตราจารย์นายแพทย์” แต่คนรู้จักชิดใกล้จะเรียกขานด้วยนับถือรักใคร่อย่างสนิทใจว่า “พ่อ --------------------------------------------------------- -------------------------
  1 หมอหนุ่มคนกล้า : ปราบอหิวาต์ที่อัมพวา “ตอนเราอยู่โรงเรียน โรคอหิวาต์เขาไม่ให้เข้าโรงพยาบาลศิริราช เราก็ไม่มีโอกาสได้เห็นคนไข้ประเภทนี้ จึงอยากเห็นว่าวิธีรักษาป้องกันเขาทำอย่างไร ก็พอดีตอนนั้นโรงพยาบาลศิริราชก็มีความปรารถนาร่วมกับกรมสาธารณสุข เพื่อป้องกันปราบปรามอหิวาต์ ทางกรมก็ส่งพ่อไป...” เดือนสิงหาคม ๒๔๗๘ โรคอหิวาต์ระบาดจากเมืองมะละแหม่งในพม่า เข้าสู่จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เดือนต่อมา การระบาดเริ่มแพร่กระจายตามลำน้ำแม่กลองเข้าสู่จังหวัดสมุทรสงคราม และพื้นที่รอบ ๆ พระนคร ระบาดอยู่ราว ๒ ปี มีคนเสียชีวิตนับหมื่นคน จังหวัดสมุทรสงคราม ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญแห่งหนึ่งในการปราบอหิวาต์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว แพทย์ฝึกหัดวัย ๒๔ ปี ถูกส่งไปยังอำเภออัมพวา “พอถึงเราก็ขึ้นไปหานายอำเภอ บอกว่า ‘พวกกรมสาธารณสุขเขาให้ผมมาตั้งโรงพยาบาลเอกเทศ เพื่อป้องกันอหิวาต์ที่อัมพวา’ นายอำเภอบอก ‘ผมไม่รู้ว่าโรงพยาบาลเอกเทศของคุณหมอหมายความว่าอะไร แต่ผมมีศาลาวัดที่คุณหมอจะใช้เป็นสถานที่ได้ก็เอา’ ” ๑๐ วันแรก โรงพยาบาลเอกเทศของหมอเสมไม่มีคนไข้เลยสักคน เนื่องจาก ชาวบ้าน ไม่นิยมใช้บริการสาธารณสุขสมัยใหม่ กอปรกับ สถานที่ในการจัดตั้งโรงพยาบาลเอกเทศ ตั้งอยู่ใกล้ป่าช้า ที่ชาวอัมพวาลือว่า ผีดุนัก วันต่อมา มีคนหาม ชายอายุราว ๕๐ ปี ชื่อ นายผ่อง แวะมาที่ศาลาก่อนจะมุ่งหน้าไปยังป่าช้าที่อยู่ใกล้ ๆ “ไหนๆ มันมีหมอแล้ว ไอ้นี้มันตายแล้วลองดูสิ เขาให้เราลองดู คนทุกคนที่มาถือดาบกันทั้งนั้น เราเผอิญเคราะห์มันดี เอาเข็มแทงเข้าเส้นเลือดดำ-แดง แล้วก็ให้น้ำเกลือ 2 ขวด... ไอ้คนไข้ฟื้น ขอกินน้ำหน่อย เท่านั้นล่ะเว้ย มันร้อง ไอ้นี่มันเทวดา ตายแล้วยังให้ฟื้นมาได้” เมื่อนายผ่อง หายแล้วกลับไปบ้าน ปรากฏว่า แกเป็นหัวหน้านักเลงในอัมพวา นายผ่องไปเที่ยวบอกว่า
  ‘หมอคนนี้รักษาฉันไว้ ใครจะไปแตะต้องหมอคนนี้ไม่ได้เด็ดขาด ถ้าพวกเราคนไหนเป็นโรคอหิวาต์ไปหาเขาให้หมด’ ก็มีคนไข้มาเรื่อย... เอากันใหญ่ ทีนี้เราก็เลยไม่ได้หลับได้นอน การให้ชาวบ้านเป็นผู้สื่อข่าวนี่ ทำให้เกิดความสัมพันธ์กับชาวบ้านเป็นอย่างดี” นอกจากทำหน้าที่ในฐานะแพทย์บำบัดรักษาแล้ว นายแพทย์หนุ่มยังได้พยายามค้นหาสมุฏฐานของการแพร่กระจายของโรคด้วย และเขาได้พบว่าปัญหาเรื่องน้ำสำคัญยิ่งกว่าแมลงวัน เนื่องจากสมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่มีคลองมาก ในคลองลึก ๆ เข้าไปจากแม่น้ำ จะพบคนไข้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้เพราะน้ำในคลองหรือลำประโดงนั้นไม่สามารถถ่ายเทออกสู่แม่น้ำใหญ่ได้
  ประกอบกับสองฝั่งคลองมีต้นจากขึ้นหนาแน่นบดบังแสงแดด ทำให้เชื้อโรคในน้ำมีชีวิตอยู่ได้นาน เขาจึงได้ข้อสรุปว่าการป้องกันแก้ไขปัญหาอหิวาต์ในจังหวัดสมุทรสงครามจึงอยู่ที่การทำลายเชื้อโรคในน้ำ ให้ประชาชนดื่มน้ำต้มสุก ไม่ใช้น้ำในลำคลองล้างภาชนะและการป้องกันไม่ให้เข้าปาก นายแพทย์เสมปราบอหิวาต์อยู่ที่อัมพวา ๖-๗ เดือน ชาวบ้านที่มารักษาส่วนใหญ่รอดชีวิต ต้นปี ๒๔๗๙ การระบาดของอหิวาต์ที่อัมพวาซาลง หมอหนุ่มกลับเข้ากรุงเทพฯ ประสบการณ์ครั้งแรกของการปฏิบัติงานในท้องถิ่นได้กลายเป็นอุดมคติ ที่ทำให้เขาเลือกที่จะอุทิศตนเป็นแพทย์ชนบท อีกนานนับ ๑๐ ปี ----------------------------------------------------------------------------------
   ; 2 นักเรียนรู้ : ทำคลอดท้องแรกที่บึงบอระเพ็ด “อันนั้นเป็นครั้งแรกในชีวิต ครูสอนว่าต้องทำอย่างนี้ เราก็ทุกอย่างเลย เราก็ดึงอย่างไงก็ไม่ออก ทีนี้เราก็มองที่ตะเกียงข้างรั้ว เราก็เห็นมีดดาบแขวนอยู่ 2 อัน ขยับไป-มา สามีบอกคุณหมอ ถ้าเมียผมตาย คุณหมอกลับไม่ได้นะเว้ย... เรากลัว เกิดมาไม่เคยดึงมาก่อนเลย คิดว่า ออกมาบ้านนอกมาตายแน่” กลับจากอัมพวา นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว บรรจุเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลวชิระ ด้วยอัตราเงินเดือน ๑๖๐ บาท ระยะเวลาสั้น ๆ เขาฝึกผ่าตัด ทำคลอด ทำฟัน จากเพื่อนนายแพทย์ เพื่อเตรียมออกไปเป็นแพทย์ประจำหัวเมือง ปี ๒๔๗๙ เขาย้ายไปเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลเทศบาลเมืองนครสวรรค์ หนึ่งในโรงพยาบาลท้องถิ่นเจ็ดแห่งของประเทศไทย
  ที่มีขนาด ๒๐ เตียง และเขาเป็นแพทย์ปริญญาคนแรกที่มาประจำอยู่ที่นี่ “อยู่หัวเมืองนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ทำผ่าตัดได้นะ ผ่าตัดเราไม่เคยทำเอง แต่ก็ต้องทำเพราะความจำเป็นของชีวิต ตอนผ่าตัดเราเริ่มทำผ่าตัดไส้ติ่งก่อน เครื่องมือก็ไม่ครบ ตาดูตำรา มือก็คลำดู และคนที่เราคลำได้ดีที่สุดแล้วไม่เดือดร้อนกับเราที่สุดก็คือ ศพ ศพที่ไหนเขาไม่มีญาติ ก่อนไปฝังเราก็ขอขมาลาศพ ขอเปิดดูท้อง เปิดดูไส้ติ่ง เราก็ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง… จนกระทั่งมีความชำนาญที่จะทำเองได้… เวลาผ่าตัดไส้ติ่งเราต้องทำคนเดียว วางยาเอง ผ่าตัดเอง” ส่วน “ผู้ช่วย” ที่มาช่วยในด้านต่าง ๆ ก็เป็นชาวบ้านในท้องถิ่น ซึ่งตอนหลังเมื่อเขาย้ายออกมาแล้ว
  คนเหล่านั้นก็มีความรู้พอจะรักษาคนไข้ได้ “นี่แหละเป็นสาธารณสุขมูลฐาน ฝึกชาวบ้านเข้ามาเป็นหมอ ตอนหลังเพิ่งมาเขียนเป็นสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งพ่อเคยทำมาก่อนหลายสิบปีแล้ว” ชีวิตหมอภูธรสมัยก่อน ไม่เพียงแต่ต้องตรากตรำอย่างสาหัส หากยังต้องเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา กลางดึกคืนหนึ่ง ในปี ๒๔๗๙ มีคนมาตามนายแพทย์หนุ่มให้ไปช่วยทำคลอดสาวท้องแรกที่เรือนไม้กลางบึงบอระเพ็ด หมอหนุ่มไปพร้อมกับเครื่องมือทำคลอด ที่เรียกว่า Forceps เขาเคยได้รับการสอนวิธีใช้มาบ้าง แต่ก็ไม่เคยทำคลอดด้วยตนเอง “แพทย์จึงลงมือตรวจและพบว่าจำเป็นต้องใช้คีมช่วยคลอดแน่นอน
   เพราะมดลูกอ่อนเพลียเกินกว่าที่เกินกว่าที่จะเบ่งคลอดเองได้... แต่น่าเสียดายที่การดึงแล้ว ดึงอีก ไม่ปรากฏการเขยื้อนของศีรษะเด็กแม้แต่น้อย” ภายหลังการพยายามดึงคีมอยู่เกือบชั่วโมง... สามีผู้ป่วยซึ่งย้อมใจให้กล้าด้วยการจิบสุราติดต่อกันมาตั้งแต่หัวค่ำ ทนสงสารเมียไม่ไหวจึงปรารภออกมาว่า “คุณหมอครับ ถ้าผมเสียภรรยาคุณหมอกลับบ้านไม่ได้” สำเนียงอันนุ่มนวลของสามีที่เป็นห่วงภรรยาสุดที่รัก พร้อมกับประกายแสงของมีดดาบที่แขวนติดไว้ข้างฝา ช่วยเป็นกำลังผลักดันให้ นายแพทย์ผู้นี้สามารถดึงเด็กอย่างสุดแรงเกิด จนได้ยินเสียงเด็กร้อง จึงได้คืนสู่ภวังค์ พ่อของเด็กน้อยที่เพิ่งลืมตามาดูโลก แสดงความคารวะและขอบคุณด้วยการมอบดาบคู่กายให้กับหมอ และหมอเสมก็ยังเก็บรักษาดาบเล่มนั้นเอาไว้จนทุกวันนี้ ------------------------------------- ---------------------------------------------
   3 นักสร้างสรรค์ “ไปเชียงรายสมัยนั้นลำบาก เพื่อน ๆ เขายังล้อเราเล่นว่า ‘ลื้อย้ายไปเชียงรายนี่ก็ดีนะ เอาหม้อไปด้วยใบหนึ่ง จะได้เอาใส่กระดูกกลับมา’ เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงรายต้องนั่งรถไฟไปลงที่ลำปางก่อน แล้วก็อาศัยรถบรรทุกข้าว ต้องอาศัยเกวียน… เราต้องรอนแรมลำบากมาก” ปลายปี ๒๔๗๙ พระพนมนครานุรักษ์ ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงราย เป็นหัวเรือใหญ่ในการขอบริจาคที่ดินจากคหบดี และเรี่ยไรเงินจากชาวเชียงราย จนได้เงิน ๒๘,๒๒๙ บาท ๘๙ สตางค์
  เพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดเชียงราย ตามนโยบาย “อวดธง”ต่อประเทศเพื่อนบ้าน กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ส่งนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว วัย ๒๖ ปีไปเป็นนายแพทย์ผู้ปกครองโรงพยาบาลที่ให้ชื่อในภายหลังว่า เชียงรายประชานุเคราะห์ ด้วยบุคลากรที่มีอยู่ไม่ถึง ๑๐ คน ต่อ ประชากรจังหวัดเชียงราย ๔๔๓,๔๗๖ คน “ทำงานเช้ายันเย็น เย็นยันเช้า ไฟฟ้าเทศบาลขณะนั้นยังไม่มี เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินตอนกลางคืนจึงต้องอาศัยตะเกียงรั้ว หรือดีหน่อยก็เจ้าพายุ ทำงานอย่างถวายหัว แต่ก็หายเหนื่อยเพราะแรงศรัทธาของพี่น้องชาวเชียงราย… ตอนอยู่เชียงรายใหม่ ๆ โรงพยาบาลกำลังก่อตั้ง
   พยาบาลก็ไม่มี เมียเรานี่ตามเราไป ตอนอยู่นครสวรรค์เขาเป็นแม่บ้านเฉย ๆ แต่ตอนไปเชียงรายมันจำเป็น เขาต้องสมัครเป็นพยาบาลช่วยกันทำงาน การรักษาโรคต้องทำตนเป็นผู้ชำนาญทุกสาขา” ท่ามกลางอุปสรรคและความขาดแคลน ทั้งบุคลากรและเครื่องมือด้านการแพทย์ ไม่ได้ทำให้หมอภูธรท้อถอย ตรงกันข้ามกลับเป็นบ่อเกิดให้เขาต้องคิดหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตัวเอง กลายเป็นที่มาของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย ก่อนนั้น ตอนที่ยังเป็นแพทย์อยู่ที่นครสวรรค์ มีคนถูกยิงเข้าที่ปอด มาให้เขาช่วยรักษา คนไข้มีเลือดลมอยู่ในปอดมาก ทำให้หายใจไม่ได้ และหมอก็ไม่สามารถช่วยด้วยการเปิดช่องปอด เพราะไม่มีเครื่องมือ นายแพทย์หนุ่มแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการนำถุงมือยางมาตัดเอาแต่ส่วนนิ้ว
   สวมพันรอบเข็มอันใหญ่ที่เรียกว่า Trocar และเจาะรูตรงปลายนิ้วถุงมือ จากนั้นก็แทงปลายเข็มเข้าปอด ลมในปอดมี Pressure สูงกว่า ก็ดันเอาเลือดออกมา แต่อากาศภายนอกเข้าไม่ได้ เพราะบอลลูน (ลูกโป่ง) หุบปิดไว้ “โรงเรียนเขาก็สอนวิธีสูบเลือดจากช่องปอด แต่ต้องใช้เครื่องมือ เราไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ ก็ทำเอา มันเป็นเรื่องของมนุษย์ที่ต้องต่อสู้กับเหตุการณ์” อ่านต่อ.....เสม พริ้งพวงแก้ว แพทย์ต้นแบบผู้มีคุณูปการต่อสังคมไทย (2)

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  14th May 12

จำนวนผู้ชม:  35223

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง