Sub Navigation Links

webmaster's News

เสม พริ้งพวงแก้ว แพทย์ต้นแบบผู้มีคุณูปการต่อสังคมไทย (3)



เสม พริ้งพวงแก้ว แพทย์ต้นแบบผู้มีคุณูปการต่อสังคมไทย (3)



เสม พริ้งพวงแก้ว แพทย์ต้นแบบผู้มีคุณูปการต่อสังคมไทย ที่ยืนหยัดในอุดมคติและอุดมการณ์ได้อย่างมั่นคง ตลอดหนึ่งศตวรรษ เรื่องโดย : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ----------------------------------------------------------------------------------
&n bsp; 7 เสม : เสมาของสังคมไทย ร่มโพธิ์ร่มไทรขององค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อสังคม “นายแพทย์เสมไม่เพียงเป็นที่รู้จักในแวดวงสาธารณสุข และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็กเท่านั้น แต่ชื่อเสียงของท่านยังเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้รักความถูกต้องรักความเป็นธรรมในสังคม” (สันติสุข โสภณสิริ, เกียรติประวัติแพทย์ไทยฝากไว้ให้ชนรุ่นหลัง) แม้ในวันที่มีอายุล่วงเลยวัย ๘๐ ปีไปแล้ว ศาสตราจารย์นายแพย์เสม พริ้งพวงแก้ว ยังคงรับตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ และทำหน้าที่อย่างแข็งขันให้กับองค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่ง
   อาทิ เป็นประธานมูลนิธิแพทย์ชนบท มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๒๕ เป็นประธานมูลนิธิหมอชาวบ้าน ที่มุ่งเน้นการรณรงค์เพื่อการไม่สูบไม่บุหรี่ และรณรงค์เรื่องนมแม่ เป็นประธานมูลนิธิเสม พริ้งพวงแก้ว ประธานมูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย ประธานมูลนิธิเด็ก และประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ที่พัฒนาต่อมาจาก “โครงการแด่น้องผู้หิวโหย” ของมูลนิธิเด็ก เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กในชนบท ประธานสหทัยมูลนิธิ ที่ก่อตั้งขึ้นด้วยความปรารถนาที่จะพิทักษ์และคุ้มครองเด็กที่ถูกทอดทิ้ง ให้ได้รับการเลี้ยงดูในบรรยากาศแบบครอบครัว ไม่ใช่โรงเลี้ยงเด็ก และมูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธร (ชุมพล) จุฑาธุช ที่ตั้งขึ้นตามพระนามของเจ้านายชั้นสูงพระองค์หนึ่ง
  ที่เคยเป็นคนไข้ผ่าตัดของนายแพทย์เสม ได้บริจาคเงิน ๓ ล้านบาท สำหรับจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาพยาบาล นายแพทย์เสมจึงจัดการให้ตามพระประสงค์ และเป็นรองประธานมูลนิธิ จนทุกวันนี้ ดูเหมือนว่าบทบาทของนายแพทย์อาวุโสไม่ได้อ่อนล้าไปตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ท่านยังพร้อมเสมอที่จะออกมายืนเคียงข้างคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เพื่อยืนยันในความถูกต้องของสังคม “พ่อเชื่อมั่นในพลังของใจ ถึงเรามองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่พ่อก็สัมผัสได้ถึงความมีอยู่ของใจ”
  ทุกวัน ผู้เฒ่าอายุใกล้ครบ ๑๐๐ ปีเต็ม ยังคงไหว้พระในตอนเช้า “ขอให้คนไทยมีความสามัคคีปรองดองกัน อย่าให้มีเรื่องบาดหมางอาฆาตพยาบาทกัน ลูกศิษย์ลูกหา คนรู้จัก ที่กำลังป่วยไข้อยู่ หรือหายหน้าหายตาไป ขอให้เขาเหล่านั้นอยู่ในสภาพที่พอทนได้ พ่อขอส่งพลังใจไปให้เขา ให้เขาหายจากความเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าไม่หายป่วยกาย ก็ขอให้จิตใจผาสุก มีปัญญาเห็นชอบ จากนั้นพ่อก็พิจารณาถึงตัวเองว่า ตัวเรานั้นมันไม่ใช่ของเรา ถึงเวลามันจะต้องจากไป พ่อแผ่เมตตาอยู่สม่ำเสมอ อะไรที่กระทบกระทั่งจิตใจก็พิจารณาให้อภัย ให้เป็นอโหสิกรรม ทำไปแล้วพ่อก็ไม่มีศัตรู นี่สำคัญมาก ใครเป็นศัตรูกับเราก็เป็นไป การตบมือข้างเดียวไม่มีเสียงหรอก คุณไม่มีทางชนะผมได้ อันนี้ดีมาก ๆ ทำให้พ่อไม่เป็นศัตรูกับใครทั้งสิ้น จิตใจก็เบาสบาย สงบ ผาสุก” ท่านเป็นแบบอย่างของนักอุดมคติที่ต่อสู้เพื่อความดี ความงาม ความจริงในสังคมอยู่เสมออย่างไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เป็นนักการแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญเป็นเลิศในวิชาชีพของตน
  เป็นแบบอย่างของนักการสาธารณสุขที่เชี่ยวชาญในกลวิธีการกระจายบริการสาธารณสุขและคืนอำนาจในการดูแลสุขภาพสู่ชุมชน เป็นต้นแบบของนักบริหารผู้มีความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาดในเวลาอันรวดเร็ว กระทั่งได้รับการยกย่องว่า เป็นสัญลักษณ์ทางคุณธรรมของคนรุ่นใหม่ ชื่อ “เสม” ที่แม่ตั้งให้ จึงมีความหมายถึง “เสมา” บอกเขตคุณธรรมของสังคม ด้วยการกระทำของเขาเอง ! ---------------------------------------------------------------------------------- (ปฏิท ินชีวิต) ๑๐๐ ปี หมอคนจริง ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ๒๔๕๔ - ๓๑ พฤษภาคม ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๗ ปีกุน ปีที่ ๒ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ ถือ กำเนิด ที่บ้านเลขที่ ๒๒๔๕ ถนนรองเมือง โดยหมอตำแยพื้นบ้าน เป็นคนสุดท้อง ในจำนวนบุตร ๕ คนของนายโสม-นางจ้อย เมื่อแรกเกิดได้รับการตั้งชื่อว่า “เกษม” แต่ต่อมามารดาเปลี่ยนให้ใหม่ว่า “เสม” มาจากคำว่า “เส-มา” ที่หมายถึง
   หลักบอกเขต พระอุโบสถ บรรพบุรุษชั้นยายทวดชื่อ ขรัวยายมา เป็นข้ารับใช้ในวังสระปทุม มีหน้าที่ เป็นผู้อภิบาล สมเด็จพระศรีสวรินทิรา พระบรมราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕ ตั้งแต่พระองค์แรก ประสูติ หลังพ่อเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อเด็กชายเสมมีอายุได้เพียง ๘ เดือน แม่กลับเข้ามาทำหน้าที่เป็นพนักงานวิเสท (คนทำกับข้าว) ในวังสระปทุม ลูกชายจึงได้รับ การอุปการะเลี้ยงดูอยู่ภายในวังสระปทุมมาตั้งแต่เล็ก ๒๔๖๘ - เข้าเรียนหนังสือชั้นมัธยม ที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ ๒๔๗๒ - จบชั้นมัธยม ๘ แผนกวิทยาศาสตร์ รุ่นแรกของโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ (ก่อหน้านั้นยังไม่มีการแบ่งแผนกในการศึกษาระดับมัธยมปลาย) - สอบเข้าโรงเรียนแพทย์ เรียนเตรียมแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่วังปทุมวัน (ปัจจุบันคือ สนามศุภชลาศัย) ๒ ปี แล้วข้ามฟากไปเรียนที่ศิริราช ๔ ปี ๒๔๗๘ - สำเร็จปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ ๘ รับปริญญาที่ตึกจุลจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มีแพทยศาสตรบัณฑิตร่วมรุ่นรวม ๒๗ คน - รับราชการเป็นแพทย์ฝึกหัด ในสังกัดกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย - ตั้งโรงพยาบาลเอกเทศปราบอหิวาต์ ณ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ๒๔๗๙ - ไปเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลเทศบาลเมืองนครสวรรค์ ๒๔๘๐ - ๑๕ สิงหาคม สมรสกับพยาบาลสาวแฉล้ม ปิยะเกศิน - กุมภาพันธ์ (ตามปฏิทินแบบเดิม) ย้ายไปเป็นแพทย์ผู้ปกครองสถานพยาบาลประจำ จังหวัดเชียงราย
  ซึ่งกำลังยกฐานะเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด ในนาม “เชียงรายประชานุเคราะห์” ๒๔๘๔ - ธันวาคม เป็นหนึ่งในคณะบุคคลที่ให้การช่วยเหลือมิชชันนารีในเขตภาคเหนือตอนบน หนีออกนอกประเทศ หลังจากรัฐบาลไทยประกาศเข้าร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่นในสงคราม มหาเอเชียบูรพา ๒๔๘๕ - กุมภาพันธ์ ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรกลางเมืองเชียงราย ๒๔๘๕-๘๘ - ประยุกต์ใช้สมุนไพรในท้องถิ่นเพื่อผลิตยารักษาโรคต่าง ๆ ในภาวะสงคราม ๒๔๙๑ - ได้รับทุนของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ไปศึกษาดูงานด้านการแพทย์ ในโครงการแลกเปลี่ยนแพทย์ ที่เมืองเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา ๒ ปี ๒๔๙๓ - ตั้งธนาคารเลือดภายในโรงพยาบาลแห่งแรก ๒๔๙๔ - ๑ มิถุนายน เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิง ในพระนคร ๒๔๙๗ - ๒๔ มิถุนายน โรงพยาบาลเด็ก ที่อยู่ภายใต้การบริหารดูแลของผู้อำนวยการโรงพยาบาล หญิง เริ่มเปิดให้บริการแก่ประชาชน - ดำรงตำแหน่งเป็น เลขาธิการสมาคมศัลยแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย จนถึงปี ๒๕๑๗ ๒๔๙๘ - ส่งฝาแฝด นภิศ-ปริศนา ไปผ่าตัดที่สหรัฐอเมริกา ๒๔๙๙ - เป็นหนึ่งในคณะแพทย์ที่ร่วมผ่าตัดแฝดสยามคู่แรก (วันดี-ศรีวัน) ที่ประเทศไทย ๒๕๐๐ - เปิดแผนกธนาคารเลือดและน้ำเหลืองแห่งที่ ๒ เพื่อบริการผู้ป่วยในโรงพยาบาลหญิงและ
  โรงพยาบาลเด็ก และจัดส่งเลือดและน้ำเหลืองให้โรงพยาบาลของกรมการแพทย์ที่อยู่ใน ส่วนภูมิภาค ๒๕๐๕ - ลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ ๘ ปี ๒๕๑๖ - ๑๔ ตุลาคม ในเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งยิ่งใหญ่ ที่มีการสูญเสีย เลือดเนื้อ นายแพทย์เสมประจำอยู่ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เพื่อรับโลหิตบริจาค แก่ผู้บาดเจ็บ จนถึงค่ำวันที่ ๑๕ ตุลาคม - ๑๖ ตุลาคม ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาล สัญญา ธรรมศักดิ์ อยู่จนถึงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ ๒๕๑๗ - ๘ สิงหาคม สมาชิกสภาฯ ลงมติรับพระราชบัญญัติการบริหารราชการแนวใหม่ตามผัง การแบ่งส่วนราชการกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๑๗ และตามพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๑๗ ๒๕๒๓ - ๑๑ กุมภาพันธ์ รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียง ๑๘ วัน นายกรัฐมนตรีก็ลาออกกลางสภา ๒๕๒๔ - ๑๑ มีนาคม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในสมัยรัฐบาลเปรม ๒ จนถึงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๒๖ - ๑ ตุลาคม กระทรวงสาธารณสุข ออกระเบียบกระทรวง ให้โรงพยาบาลในสังกัดใช้ยา
  ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ๒๕๒๕ - เป็นประธานคณะแพทย์ถวายการรักษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระประชวรด้วยโรค Mycoplasma (อาการคล้ายหวัด หายใจไม่สะดวก มีไข้สูง) จนกระทั่งพระองค์ทรงหายประชวร กระทั่งตอนหลังได้เข้าร่วมเป็นมือกลองในวงดนตรี ของพระเจ้าอยู่หัวด้วย และได้รับพระกรุณาแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะแพทย์หลวง เป็นเวลาหลายปี เคยได้รับพระราชทานนาฬิกาที่ไม่เหมือนของคนอื่น ๒๕๓๕ - ๒๔ พฤษภาคม เป็นประธานในการจัดตั้ง “ศูนย์รวมน้ำใจไทย” เพื่อรณรงค์หาทุน ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ ๒๕๕๐ - ๓๑ พฤษภาคม ๘ รอบนักษัตร ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ๒๕๕๔ - ๓๑ พฤษภาคม งานแสดงมุทิตาจิต ฉลองอายุวัฒนะ “๑ คนยืนหยัด ๑ ศตวรรษ เสม พริ้งพวงแก้ว” เอกสารอ้างอิง : สันติสุข โสภณสิริ. เกียรติประวัติแพทย์ไทยฝากไว้ให้คนรุ่นหลังชีวิตและผลงานของศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, ๒๕๔๙. สันติพงษ์ ช้างเผือก, บทสารคดี “๑ คนยืดหยัด ๑ ศตวรรษ เสม พริ้งพวงแก้ว” ในงาน ๑ คนยืดหยัด ๑ ศตวรรษ เสม พริ้งพวงแก้ว. หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔. เอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารจากหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยพายัพ เอกสารจากหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  14th May 12

จำนวนผู้ชม:  36016

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง