Sub Navigation Links

webmaster's News

สุขภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงในแอฟริกาใต้ โดย สมพันธ์ เตชะอธิก



สุขภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงในแอฟริกาใต้ โดย สมพันธ์  เตชะอธิก



ปัญหาสุขภาพ เป็นเรื่องของทุกคนในโลกนี้ที่เกี่ยวพันกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นปัญหาสุขภาพของปัจเจกบุคคล แต่ยังมีปัญหาสุขภาพที่เกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม นโยบายและอำนาจรัฐด้วย
ประเทศแอฟริกาใต้เป็นประเทศทางใต้สุดของทวีปแอฟริกา มีประชากร 45 ล้านคน เป็นคนดำร้อยละ 75.2 คนขาวร้อยละ 13.6 ผิวสีผสมร้อยละ 8.6 และคนเชื้อชาติอินเดียร้อยละ 2.6 มีวีรบุรุษที่กู้ชาติ คือ เนลสัน เมลเดลลา ปัจุบันอายุ 94 ปี และจะมีการเฉลิมฉลองวันเกิดทั่วประเทศในวันที่ 14 กรกฎาคม 2555 นี้
    สภาพอากาศอบอุ่น มีแสงแดดตลอดปี แต่ช่วงที่ผู้เขียนและคณะไปประชุมสมัชชาสุขภาพภาคประชาชนแอฟริกา ในวันที  5 – 11 กรกฎาคม 2555 ที่มหาวิทยาลัยเคปทาวน์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ฝนตกตลอด มีบางวันที่แสงแดดดี อุณหภูมิ 5 – 10 องศา เวลาช้ากว่าประเทศไทย 5 ชั่วโมง
    ในตอนที่หนึ่งนี้จะกล่าวเฉพาะสมัชชาสุขภาพภาคประชาชนแอฟริกาใต้ ซึ่งจัดขึ้นก่อนสมัชชาสุขภาพภาคประชาชนของประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ประมาณ 92 ประเทศ สมัชชาสุขภาพภาคประชาชนแอฟริกาได้ประกาศเรื่องสิทธิสุขภาพ ที่คำนึงถึงปัจจัยทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ทั้งในเรื่องความยากจน , ที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ (มีภาพสลัมสองข้างทางจากสนามบินมาเมืองเคปทาวน์จำนวนมาก) , คนว่างงานถึง 25% , ค่าจ้างแรงงานต่ำ , แหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ไฟฟ้า สุขาภิบาลไม่เพียงพอ , การปฏิเสธคนย้ายถิ่น , การสนับสนุนอาหารไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพต่อสุขภาพ , มีการสนับสนุนบุหรี่และเหล้า , มลพิษทางน้ำ ดิน อากาศ ล การเดินทางไม่ปลอดภัย , เงื่อนไขการทำงานไม่ยุติธรรม ล ขาดแคลนความมั่นคง , มีความรุนแรงภายในประเทศ พลเมือง ครอบครัว , ปัญหาเซ็กส์ , การเกลียดกลัวคนต่างชาติ , ระบบเศรษฐกิจยังไม่เอื้อต่อชนกลุ่มน้อย
    


การจัดการกองทุนบริการสุขภาพสาธารณะยังไม่ยุติธรรมและไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องความเท่าเทียม คุณภาพการบริการสาธารณสุขมูลฐาน ความรับผิดชอบทางสุขภาพ การป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพ การรักษาและการฟื้นฟูบำบัด การดูแลเรื่องเซ็กส์ ยังไม่สามารถบรรเทาความต้องของประชาชนที่รับบริการได้
   
 ถ้าเปรียบเทียบปัญหาสุขภาพของประเทศแอฟริกากับประเทศไทย จะพบว่าสาธารณสุขมูลฐานประเทศไทยก้าวหน้าและประสบผลสำเร็จกว่ามาก เรามี อสม.กว่า 1 ล้านคน ร้อยละ 70 เป็นผู้หญิง แสดงว่าผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพ อสม.ทำงานร่วมมือ มีความสัมพันธ์ที่ดีและประสานงานใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับ จนเป็นกลไกจัดตั้งของรัฐที่ดีกว่าอาสาสมัครของทุกกระทรวง มีส้วมร้อยเปอร์เซ็นต์ มีถนน ไฟฟ้า น้ำประปา โอ่ง การฉีควัคซีนแก่เด็กและแม่ครอบคลุมดีขึ้น โภชนาการ เด็กขาดสารอาหารน้อยลง หญิงตั้งครรภ์ได้รับการดูแลดีขึ้นและรักษาฟรี ฯลฯ
   
ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ได้จัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพกว่า 7,000 ตำบลและน่าจะครบทุกตำบลในเร็ววันนี้ กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล มีงบประมาณจากค่าเฉลี่ยรายหัวๆละ 40 บาท บวกกับงบประมาณสมทบจากอปท.อีก 30 – 50%  แต่ละตำบลก็จะมีงบประมาณในการสร้างเสริมสุขภาพ 300,000 – 400,000 บาท ในการแก้ไขปัญหาต่างๆทางสุขภาพและพัฒนาสุขภาพประชาชนให้แข็งแรงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและปัญญา
    สิ่งที่ประเทศไทยยังไม่ประสบผลสำเร็จ คือ เรื่องการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของชุมชนในการวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพ การกำหนดวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ การวางแผนและโครงการด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อไป
สมัชชาสุขภาพภาคประชาชนแอฟริกาได้สรุปเบื้องต้น โดยมีประเด็นสำคัญๆ เพื่อวางแผนปฏิบัติการต่อไป ดังนี้ คือ



  1. สิทธิทางสุขภาพของคนย้ายถิ่น ชนกลุ่มน้อย คนยากจน ต้องมีหลักประกันจากรัฐในสถานที่พักพิง/ที่อยู่อาศัย รวมทั้งการประกันสุขภาพ ที่ถูกกฎหมายทั้งในระดับชาติและจังหวัด
  2. เพิ่มภาษีก้าวหน้าจากงบประมาณอย่างเต็มที่  ภาษีจากรายได้ประชาชาติ ร้อยละ30 เพื่อสุขภาพ แต่ไม่ให้เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT ร้อยละ14 ซึ่งสูงกว่าประเทศไทยที่เก็บ VAT ร้อยละ 7 มาก
  3. ปรับรื้อระบบการทำงานของภาครัฐกับภาคประชาสังคมในการทำงานเป็นทีมและแบ่งปันภาระความรับผิดชอบในการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐานเพื่อความสำเร็จในอนาคต (ภาครัฐไม่ควรแก้ปัญหาแต่เพียงลำพัง ในเมืองไทยมีแนวคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาที่เสนอโดย ศ.นพ.     ประเวศ วะสี ในการทำงานเรื่องยากๆทางสุขภาพ ว่าต้องร่วมมือกันระหว่างภาคประชาชน ภาควิชาการและภาคนโยบาย(อำนาจรัฐ) จึงจะประสบผลสำเร็จ)
  4. สร้างเครื่องมือการดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืน เช่น บัตรสุขภาพ เป็นต้น (เมืองไทยในอดีตมีบัตร500 บาทต่อครอบครัว ภายหลังพัฒนามาเป็นบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคและบัตรฟรี รัฐบาลชุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีกำลังจะนำบัตร 30 บาทรักษาทุกโรคกลับมาใช้ใหม่)

ข้อเสนอสำคัญๆเหล่านี้  จะได้รับการยื่นข้อเสนอไปสู่ภาครัฐ แต่จะได้รับการกำหนดเป็นนโยบายหรือไม่? เป็นเรื่องยากยิ่งนัก ในเมืองไทย สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อรับรองเป็นมติแล้ว จะถูกส่งผ่านไปให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณารับรองและส่งผ่านไปที่คณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบและประกาศให้ทุก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม แต่ที่ผ่านมามีน้อยมากที่ภาครัฐจะนำไปปฏิบัติ

จึงเกิดแนวคิดว่าภาควิชาการและภาคประชาสังคมควรปฏิบัติตามข้อเสนอของตนเองให้มากกว่าที่จะเรียกร้องจากรัฐ ซึ่งมักไม่มีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของเวทีสมัชชาฯ ด้วยการทำตัวอย่างที่ดีและผลักดันสู่การเรียนรู้ การกำหนดเป็นนโยบายและกฎหมายเพื่อการปฏิบัติอย่างยั่งยืน สุขภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงจึงจะเป็นจริง

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  16th Jul 12

จำนวนผู้ชม:  37097

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง