Sub Navigation Links

webmaster's News

เรียนรู้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติแอฟริกาใต้ โดย วิสุทธิ บุญญะโสภิต



เรียนรู้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติแอฟริกาใต้ โดย วิสุทธิ บุญญะโสภิต




ตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารให้เดินทางไปเข้าร่วมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งแรกของประเทศแอฟริกาใต้ เพราะในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่รับผิดชอบงานสมัชชาสุขภาพแห่งช าติของประเทศไทย จึงอยากรู้ว่ากระบวนการต่าง ๆ ที่ทางแอฟริกาใต้เขาจัดขึ้นมีอะไรเหมือนและต่างจากที่ประเทศไทยจัดมา ๔ ปี และกำลังดำเนินการในรอบปีที่ ๕ อยู่ในขณะนี้
   
ผมกับทีมงานเดินทางออกจากประเทศไทยในคืนของวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕ โดยสารการบินไทยไปต่อเครื่องที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg) มุ่งสู่เมืองเคปทาวน์ (Cape Town) ซีงอยู่ทางตอนใต้ของประเทศโดยสายการบิน South Africa ถึงที่หมายก็เกือบ ๑๔.๐๐ น. ตามเวลาท้องถิ่น ของวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ซึ่งช้ากว่าประเทศไทยประมาณ ๕ ชั่วโมง และเดินทางเข้าร่วมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติของแอฟริกาใต้ในวันที่ ๕ – ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่จัดขึ้น ณ หอประชุมของมหาวิทยาลัยเวสต์เคป (West Cape University) รวม ๒ วัน
ประเด็นเชิงนโยบายที่กำหนดขึ้นสำหรับสมัชชาครั้งนี้มี ๓ เรื่องใหญ่ นั้นคือ ปัจจัยกำหนดสุขภาพ (Social determinants of health) ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและการเงินการคลังด้านสุขภาพ (National Health Insurance and Financing of Health Care) และการเข้าถึงและความเท่าเทียมในระบบสุขภาพ (Building a Comprehensive and Equitable Health System) ฉะนั้นการออกแบบกระบวนการประชุมจึงยึดโยงกับประเด็นเชิงนโยบายทั้ง ๓ เรื่องนี้
หลังจากพิธีเปิดที่แสนเรียบง่ายที่ใช้ผู้เข้าร่วมประชุมลุกขึ้นร้องเพลงสด ไม่มีเครื่องดนตรีอะไรนอกจากเสียงปรบมือเป็นจังหวะ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปผู้เข้าประชุมคนอื่น ๆ ก็อดที่จะร่วมปรบมือตามจังหวะไปด้วยใช้เวลาประมาณ ๕ นาที ก็เข้าสู่พิธีการที่เชิญรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเคปทาวน์มากล่าวต้อนรับแล้ว จะมีนักวิชาการ ๓ ท่านมาให้ข้อมูลสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเชิงนโยบายดังกล่าว ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงครึ่ง
กระบวนการสำคัญที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง ๑๑.๐๐ น. จนถึง ๑๘.๑๕ น. ของวันแรกเป็นการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นจากสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม แบ่งเป็น ๒๐ หัวข้อ ภายใต้ประเด็นเชิงนโยบายทั้ง ๓ เรื่องที่กำหนดไว้ การประชุมในวันแรกจะสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้

วันที่สองของการประชุมสมัชชาจะเป็นการนำเสนอผลการประชุมเชิงปฏิบัติการโดยมีทีมวิชาการนำบทสรุปทั้ง ๒๐ หัวข้อมาประมวลรวมแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ซึ่งก็คือการแบ่งตามประเด็นเชิงนโยบายทั้ง ๓ เรื่องนั่นเอง หลังจากที่มีทีมวิชาการนำเสนอก็จะเปิดให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมใช้เวลาช่วงนี้อีก ๑ ชั่วโมงครึ่ง หลังจากนั้นจะจัดเป็นเวทีเสวนาโดยนำบทเรียนการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศบราซิลและประเทศไทยมานำเสนอ ซึ่งใช้เวลาอีก ๔๕ นาที
ช่วงเวลาสำคัญที่สุดก็คือการพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบาย ซึ่งในที่นี้เรียกว่า Call to Action ซึ่งทางทีมวิชาการได้ยกร่างและเพิ่มเติมจากข้อเสนอแนะจากการเวทีในช่วงเช้า ในช่วงนี้จะมีการพิจารณาเป็นรายข้อ หากมีผู้เข้าประชุมรายใดเสนอเพื่อแก้ไข ปรับปรุง เพิ่มเติมทางทีมวิชาการก็จะปรับแก้จนเป็นที่ยอมรับของผู้เข้าประชุมทั้งหมด และในที่สุดก็จะได้ข้อเสนอเชิงนโยบายใน ๓ ประเด็นที่ผ่านการพิจารณาจากผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน การประชุมสมัชชาก็จะสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้
ผมขอลงรายละเอียดของ Call to Action ที่เป็นสาระสำคัญ โดยแยกเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายใน ๓ เรื่องที่กำหนดไว้
ข้อเสนอเชิงนโยบายในเรื่องแรก เป็นข้อเสนอต่อการพัฒนาปัจจัยกำหนดสุขภาพ หรือ Social Determinant of Health ก็คือ มีสาระที่พุ่งเป้าไปที่การพัฒนาระบบอาหารเพื่อสุขภาพด้วยการออกกฎหมายควบคุมกระบวนการผลิตอาหารและการสนับสนุนกระบวนการอาหารสุขภาพโดยเฉพาะเพื่อการแก้ปัญหาโรคอ้วนและการขาดแคลนอาหา ร การพัฒนาระบบ กลไกและกระบวนการทำงานที่เกี่ยวกับสุขภาพของหญิง เด็กและเยาวชน คนพิการ การควบคุมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ไม่ให้ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ในเรื่องที่สอง คือเรื่อง การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญคือ การใช้มาตรการทางภาษี ทั้งเสนอให้คงภาษีมูลค้าเพิ่มไว้ที่ร้อยละ ๑๔ และการไม่ลดภาษีทางการค้าและรายได้ส่วนบุคคล การเสนอให้เพิ่มเงินสมทบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีจากคนรวย การแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น การให้รัฐเข้ามาดูแลคนงานที่ทำงานในครัวเรือนและชุมชน การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตพยาบาล การทบทวนนโยบายการให้ภาคเอกชนเข้ามาจัดระบบริการทางสุขภาพ เป็นต้น
และในเรื่องที่สาม คือเรื่องการสร้างความเท่าเทียมกันทางด้านสุขภาพของคนแอฟริกาใต้ มีข้อเสนอให้มีการติดตามประเมินผลการให้บริการทางสุขภาพและบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ การสร้างความโปร่งใสในการจัดระบบสุขภาพ เป็นต้น
หากให้ผมบอกว่าได้เรียนรู้อะไรจากการเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติของประเทศแอฟริกาใต้ครั้งนี้ ผมสรุปดังนี้

๑) กลไกและกระบวนการจัดสมัชชาสุขภาพของแอฟริกาใต้ยังอยู่ในลักษณะของกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนกับสถาบันวิชาการ โดยยังไม่เชื่อมโยงกับกลไกภาครัฐ สมาชิกที่เข้าประชุมจึงอยู่ในกลุ่มคน ๒ กลุ่มนั้น ไม่มีการจัดเป็นกลุ่มเครือข่าย ใครสนใจเข้าร่วมประชุมก็ได้ ใครจะเสนอความคิดเห็นก็ได้ ฉะนั้น คนที่กล้าพูดจึงมีบทบาทสำคัญในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และที่สำคัญก็คือข้อเสนอที่ออกมาจะมุ่งไปที่การเสนอให้ภาครัฐเป็นอยู่นำไปปฏิบัติ ทั้ง ๆ ที่ตัวแทนของภาครัฐไม่ได้เข้าร่วมประชุมเลย

๒) ประเด็นเชิงนโยบายทั้ง ๓ ประเด็น มีการทำงานวิชาการที่ดี กระบวนการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายน่าสนใจที่ใช้การประชุมเชิงปฏิบัติการตามประเด็นย่อยทั้ง ๒๐ หัวข้อ เป็นเครื่องมือในการระดมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมก่อนที่จะนำมาประมวลเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในภาพรวม ซึ่งหากเพิ่มเติมความเป็นตัวแทนของภาคส่วนต่าง ๆ ในการเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการจะทำให้กระบวนการสมบูรณ์และสามารถนำมาใช้ในการพัฒนากระบวนการของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

๓) หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดของข้อเสนอเชิงนโยบายทั้ง ๓ ประเด็น จะเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่มีลักษณะกว้าง ๆ บางข้อเสนอไม่เฉพาะเจาะจง เช่น เสนอให้ปราบคอรัปชั่น หรือการไม่เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิม จะไม่เห็นรายละเอียดของกระบวนการว่าจะต้องทำบ้างเป็นต้น ฉะนั้น จึงต้องมีการทำงานวิชาการเพิ่มเติมต่อข้อเสนอในลักษณะดังกล่าวอีกมาก

๔) กิจกรรมที่เกิดขึ้นมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเป็นหลัก ไม่มีกิจกรรมอื่นใดที่เป็นกิจกรรมการสร้างกระบวนการเรียนรู้เหมือนของประเทศไทยที่มีการจัดกิจกรรม “ลานสมัชชา” คู่ขนานกับกระบวนการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย จึงทำให้คนเข้าประชุมขาดโอกาสที่ดีที่จะได้แลกเปลี่ยนมุมมองหรือบทเรียนการทำงานไปอย่างน่าเสียดาย

๕) ข้อมูลวิชาการใช้วิธีการนำเสนอโดยวิทยากร ไม่มีการจัดทำเป็นเอกสารเพื่อให้กับผู้เข้าประช ุมได้ศึกษาระหว่างการประชุม ฉะนั้น หากผู้เข้าร่วมประชุมไม่อยู่ในช่วงการนำเสนอของวิทยากรก็จะขาดข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งหากเปรียบเทียบกับของประเทศไทยจะมีการให้ความสำคัญกับเรื่องมากกว่าหลายเท่าตัว

๖) กระบวนการประชุมเป็นแบบเรียบง่าย ไม่แข็งตัว จะเห็นได้จากในพิธีเปิดก็ใช้การร้องเพลงตามจังหวะเสียงปรบมือในช่วงเวลาสั้น ๆ ระหว่างประชุมบางช่วงก็จะมีสมาชิกลุกขึ้นร้องเพลงแทรก เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้อาจนำมาปรับใช้กับการจัดของประเทศไทยได้
อย่างไรก็ตาม หากมองในภาพรวม ผมขอสรุปว่ากระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้เริ่มแตกหน่ออ่อนในอีกหนึ่งประเทศแล้ว แม้จะยังมีจุด อ่อนในอีกหลายประการแต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาของการทำงานเริ่มต้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือคนแอฟริกาใต้เริ่มมีเวทีสาธารณะที่เปิดกว้างให้กับคนทำงานที่มีเป้าหมายในการพัฒนาระบบสุขภาพได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กั น ซึ่งในระยะต่อไปคงจะมีการพัฒนาและยกระดับที่พัฒนาขึ้นไปตามกาลเวลาของการทำงาน และผมคิดว่าอีกไม่นานหน่ออ่อนของกระบวนการนี้คงจะแตกตัวและผลิขึ้นในประเทศอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งเป็นการยืนยันว่า “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” เป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมนำมาซึ่ง “นโยบายสาธารณะที่ดี” และเมื่อประเทศต่าง ๆ นำเครื่องมือนี้ไปใช้ก็จะส่งผลให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทยได้รับการยอมรับมากขึ้นจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศตามไปด้วย

ขอกราบขอบคุณต่อผู้บริหารของ สช. และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ให้โอกาสสำคัญ รวมทั้งช่วยจัดการให้ผมและทีมได้ไปเรียนรู้จากของจริงครั้งนี้ ทำให้คำโบราณที่ว่า “สิบปากว่าไม่เท่าหนึ่งตาเห็น” ได้รับการยืนยันอีกครั้งหนึ่ง ขอบคุณจากใจ จริง ๆ ครับ..

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  17th Jul 12

จำนวนผู้ชม:  36014

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง

ไม่มีข่าว