Sub Navigation Links

webmaster's News

"ลมชัก" ในเด็ก เรื่องไม่เล็ก แต่รักษาได้



"ลมชัก" ในเด็ก เรื่องไม่เล็ก แต่รักษาได้



ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้มีการนำ "สารสกัดน้ำมันกัญชา" มาใช้รักษาอาการเจ็บป่วยและโรคต่างๆ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานทางการแพทย์อยู่ระหว่างเตรียมนำมาทดลองใช้กับผู้ป่วย ซึ่งรวมถึงโรคลมชักในเด็กด้วยนั้น

ล่าสุด สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโรคลมชักในเด็ก ว่าปัจจุบันมีเด็กที่เป็นโรคนี้มากขึ้น และเป็นโรคหนึ่งที่สร้างความทุกข์ให้ผู้ที่เป็นพ่อและแม่อย่างมากมาย แต่หากได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมสามารถรักษาให้หายขาดได้

ทั้งนี้ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า โรคลมชักเป็นโรคระบบประสาทเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก ทั่วโลกอุบัติการณ์ในเด็กประมาณ 41-187 ต่อแสนประชากร พบอุบัติการณ์สูงในขวบปีแรก ความชุกของโรคลมชักรวมทุกอายุประมาณ 4-10 ต่อ 1,000 ประชากร พบมากโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา

"สำหรับประเทศไทย ประมาณการผู้ป่วย โรคลมชัก 500,000 คน เป็นผู้ป่วยเด็กประมาณ 1 ใน 3 ทั้งนี้ โรคลมชักเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมอง มีการปล่อยกระแสไฟฟ้าที่มากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแสดงเป็นอาการชักหลายรูปแบบ" นพ.สมศักดิ์กล่าว และว่า สาเหตุของโรคลมชักในเด็กเกิดได้จากหลายสาเหตุและมีความแตกต่างในแต่ละกลุ่มอายุ เช่น พันธุกรรม สมองได้รับบาดเจ็บจากการขาดออกซิเจน เลือดออกในสมอง การติดเชื้อที่ระบบประสาท หรือโครงสร้างเซลล์สมองที่ผิดปกติ เป็นต้น

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ความสำคัญของโรคลมชักคือ เป็นโรคที่มีผลกระทบรุนแรงด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ต่อผู้ป่วยและพ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็กที่มีอาการชักบ่อยอาจมีภาวะทางสติปัญญา พัฒนาการ หรือพฤติกรรมผิดปกติร่วมด้วยการรักษาโรคลมชักที่ถูกต้องเหมาะสม นอกจากทำให้เด็กหยุดชักแล้วยังทำให้สติปัญญา พัฒนาการ หรือพฤติกรรมกลับมาดีขึ้นได้ด้วย ในด้านสังคม ครอบครัวมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนใหญ่สามารถเรียนหนังสือ และโตขึ้นใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ ผู้ป่วยโรคลมชักในเด็กประมาณร้อยละ 30 ของโรคลมชัก เป็นกลุ่มรักษายาก สามารถปรึกษากุมารแพทย์ระบบประสาทเพื่อการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม และการรักษาที่ซับซ้อน เช่น การผ่าตัดโรคลมชัก การใช้ยากันชักใหม่ๆ อาหารคีโตน เป็นต้น

ด้าน พญ.ไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการชักในเด็กมีรูปแบบที่เฉพาะและแตกต่างจาก ผู้ใหญ่ เช่น อาการชักผวาเป็นชุดในทารก อาการชักผงกหัวตัวอ่อน อาการชักเหม่อสั้นๆ ในเด็ก เป็นต้น "ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นอาการชักที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จัก ไม่ทราบว่าเป็น โรคลมชัก จึงไม่ได้พาไปปรึกษาแพทย์ ทำให้การรักษาล่าช้า ส่งผลให้เด็กที่มีอาการชักดังกล่าวอาจมีพัฒนาการช้า หรือพัฒนาการถดถอยได้ ทั้งนี้ การรักษาเร็วจะช่วยให้มีโอกาสหายและพัฒนาการดีขึ้น" พญ.ไพรัตน์กล่าว และว่า นอกจากนี้ ผู้ป่วยเด็กก็อาจมีอาการชักแบบอื่นที่เหมือนกับผู้ใหญ่ เช่น ชัก เกร็ง กระตุก ตาค้าง ที่เรียกว่า "ลมบ้าหมู" ชักแบบมีพฤติกรรมแปลกๆ เป็นต้น

พญ.ไพรัตน์กล่าวว่า การตรวจวินิจฉัยโรคลมชักที่สำคัญ คือประวัติรายละเอียดอาการชักที่พ่อแม่ หรือผู้ดูแลเด็กแจ้งกับแพทย์ ร่วมกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ดังนั้น หากพ่อแม่ ผู้ปกครองสังเกตเห็นบุตรหลานมีอาการชัก หรือสงสัยพฤติกรรมที่ดูแปลกไปกว่าปกติที่เกิดซ้ำๆ ควรสอบถามรายละเอียดอาการจากผู้เห็นเหตุการณ์ หรือถ่ายคลิปวิดีโอขณะเด็กเกิดอาการ และพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นนั้น พญ. ไพรัตน์กล่าวว่า เมื่อเด็กเกิดอาการชักแบบเกร็ง กระตุกทั้งตัว 1.ผู้ปกครองต้องตั้งสติให้ดี 2.จัดท่าเด็กให้นอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก และถ้าเห็นเศษอาหารให้กวาดออกมาจากปากได้ 3.ห้ามเอาอุปกรณ์ใดๆ รวมทั้งมือเข้าไปง้างปากผู้ป่วย

"สิ่งนี้เป็นความเข้าใจผิดของคนทั่วไปว่ากลัวผู้ป่วยกัดลิ้นจึงงัดปาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว การงัดหรือง้างปากเด็กอาจทำให้ฟันหักและตกลงไปอุดหลอดลม หายใจไม่ได้และเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจได้ ในขณะที่เด็กกัดลิ้นแต่ไม่มีอันตรายถึงชีวิตและรักษาได้" พญ.ไพรัตน์กล่าว และว่า โดยทั่วไป อาการชักมักจะหยุดได้ภายใน 2-3 นาที ยกเว้นบางรายที่รุนแรงมากเกิน 5 นาที และหลังจากหยุดชักแล้วให้รีบพาผู้ป่วยไปส่ง โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

และสุดท้าย หากพบเห็นผู้ป่วยที่มีอาการชักให้ท่องจำสโลแกนว่า "ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด ชักหยุดได้เอง"




ที่มา : มติชน

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  19th Jun 19

จำนวนผู้ชม:  35520

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง