Sub Navigation Links

webmaster's News

สาราณียธรรม หลักธรรมสำคัญของสมัชชาและงานสานพลัง



สาราณียธรรม หลักธรรมสำคัญของสมัชชาและงานสานพลัง



ผมเป็นคนชอบฟังวิทยุขณะขับรถครับ เพลงจากแผ่นซีดีก็ฟังบ้าง แต่ฟังเพลงแผ่นนานๆ นึกได้ว่าคนทำงานอย่างเรา ก็ต้องการอาหารสมองเติมทุกวัน ขับรถทีไร ก็มักจะอดไม่ได้ที่จะต้องเปิดวิทยุฟังโน่นนี่นั่น บางทีก็ฟังสไตล์การจัดรายการของดีเจบ้าง ว่าเขาพูดจาอย่างไร ให้มีคนชอบฟัง เพื่อเอากลับมาใช้ปรับปรุงการจัดรายการของตัวเอง

หลายเดือนก่อน มีอยู่วันหนึ่งขณะที่ผมกำลังขับรถมุ่งหน้าจากแม่ฮ่องสอนเพื่อที่จะไปขึ้นเครื่องบินที่เชียงใหม่ (จะไปอบรมหลักสูตรนักสานพลังฯ ของ สช. น่ะครับ) ไม่รู้มีอะไรดลใจหมุนไปเจอวิทยุธรรมะคลื่นหนึ่ง เผอิญผมก็จำไม่ได้ว่าคลื่นไหน ดีเจ (เข้าใจว่าเป็นพระ) ท่านได้พูดถึงหลักธรรมในการอยู่ร่วมกัน ตอนที่ผมฟังอยู่นั้น สังคมไทยก็เรียกร้องคำว่า ปรองดองๆๆ กันเต็มไปหมด แถมตนเองยังต้องเกี่ยวข้องกับงานสมัชชาสารพัด รวมไปถึงโปรแกรมนักสานพลังฯ ที่ต้องลงไปเข้าหลักสูตรอีก ผมก็เลยขับรถช้าลง เงี่ยหูฟังเป็นพิเศษ หลักธรรมที่ว่านี้ชื่อ “สาราณียธรรม ” ครับ

สาราณียธรรม เป็นหลักธรรมที่ส่งเสริมความสามัคคี ปรองดอง มีอยู่ด้วยกัน 6 ข้อ รวมเรียกว่า

” สาราณียธรรม 6 ” ครับ ได้แก่[1]

    เมตตามโนกรรมหมายถึง การคิดดี การมองกันในแง่ดี มีความหวังดี และปรารถนาดีต่อกัน รัก และเมตตาต่อกัน คิดแต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ต่อกัน ไม่อิจฉาริษยา ไม่คิดอคติ ไม่พยาบาท ไม่โกรธแค้นเคืองกัน รู้จักให้โอกาส และให้อภัยต่อกันและกันอยู่เสมอ
    เมตตาวจีกรรมหมายถึงการพูดแต่สิ่งที่ดีงาม พูดกันด้วยความรัก ความปรารถนาดี รู้จักการพูดให้กำลังใจกันและกัน ในยามที่มีใครต้องพบกับความทุกข์ ความผิดหวัง หรือความเศร้าหมองต่างๆ โดยที่ไม่พูดจาซ้ำเติมกันในยามที่มีใครต้องหกล้มลง ไม่นินทาว่าร้าย ทั้งต่อหน้า และลับหลัง พูดแนะนำในสิ่งที่ดี และมีประโยชน์ พูดอย่างใดก็ทำอย่างนั้น ไม่โกหกมดเท็จ
    เมตตากายกรรมหมายถึง การทำความดีต่อกัน สนับสนุนช่วยเหลือกันทางด้านกำลังกาย มีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่เบียดเบียน หรือรังแกกัน ไม่ทำร้ายกันให้ได้รับความทุกขเวทนา ทำแต่ในสิ่งที่ถูกต้องต่อกันอยู่ตลอดเวลา
    สาธารณโภคี หมายถึง การรู้จักแบ่งปันผลประโยชน์กันด้วยความยุติธรรม ช่วยเหลือกัน ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่เอารัดเอาเปรียบ และมีความเสมอภาคต่อกัน เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันอยู่เสมอ

5.สีลสามัญญตา หมายถึง การปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ หรือวินัยต่างๆ อย่างเดียวกัน เคารพในสิทธิเสรีภาพของบุคคล ไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน ไม่อ้างอำนาจบาตรใหญ่ ไม่ถืออภิสิทธิ์ใดๆ ทั้งปวง

    ทิฏฐิสามัญญตาหมายถึง มีความคิดเห็นเป็นอย่างเดียวกัน คิดในสิ่งที่ตรงกัน ปรับมุมมองให้ตรงกัน รู้จักแสงหาจุดร่วม และสงวนไว้ซึ่งจุดต่างของกันและกัน ไม่ยึดถือความคิดของตนเป็นใหญ่ รู้จักยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นอยู่เสมอ

ในทางปฏิบัติ “สาราณียธรรม” จะเริ่มต้นด้วย “ทิฏฐิสามัญญตา” คือปรับความคิดเห็นให้ลงรอยแบบเดียวกันว่า เราทั้งผองต่างเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เราทั้งผองเป็นพี่น้อง เป็นเพื่อนที่ต่างก็ทำงานด้วยจิตสาธารณะ คือเป็นญาติทางธรรมเช่นเดียวกัน เมื่อปรับความคิดเห็นได้อย่างนี้แล้ว เราก็จะเกิดความรู้รักสามัคคี คิด พูด ทำต่อกันด้วยเมตตา เกื้อกูลแบ่งปันกันและกัน ปฏิบัติต่อกันด้วยหลักพระราชบัญญัติ กฏหมายต่างๆ พูดง่ายๆ คือใช้หลักความรู้ควบคู่หลักคุณธรรม อย่างเท่าเทียมกัน ไม่เอียงไปข้างองค์กรใด หรือบุคคลใด คณะใดคณะหนึ่ง โดยที่ยังมีการเคารพความแตกต่าง ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ยิ่งทำงาน ยิ่งซาบซึ้ง รักใคร่ อบอุ่นใจ

ปัจจุบัน เรามีหลักการประสานบุคคล ประสานเครือข่าย หลักบริหารจัดการสมัยใหม่มากมาย ที่พยายามตอบโจทย์การพัฒนาสมัยใหม่ แต่ถ้าย้อนกลับไปดูต้นทุนสังคมไทยก็จะพบว่าศาสนาพุทธปักหมุดวางฐานในประเทศไทยมาหลายร้อยปีแล้ว และองค์ความรู้ที่เป็นหลักธรรมของพระ พุทธเจ้า ก็ไม่ได้มีแค่การพ้นทุกข์ในระดับปัจเจก หากแต่ยังมีมิติสังคม การเชื่อมร้อยเป็นเครือข่าย ที่เราๆท่านๆ ทั้งที่เป็นพุทธศาสนิกชน และศาสนาอื่นๆ ทั้งที่เป็นนักพัฒนาสุขภาวะ นักสานพลังในระดับต่างๆ สามารถเรียนรู้เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมร่วมสมัย

“สาราณียธรรม 6″ เป็นอีกหลักธรรมหนึ่ง ที่เป็นต้นทุนสังคมไทย มีของดี แต่ไม่ใช้ น่าเสียดายนะครับ

ที่มา : สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนนทบุรี.

โดย วิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์

ภาพและข้อมูลจาก http://www.samatcha.org/areahpp

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  4th Aug 15

จำนวนผู้ชม:  35392

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง