Sub Navigation Links

webmaster's News

เดินหน้ามติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ดับวิกฤตอุบัติภัยเทศกาลสงกรานต์



เดินหน้ามติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 	ดับวิกฤตอุบัติภัยเทศกาลสงกรานต์



สช. เปิดเวทีขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เร่งทุกกลไกขับเคลื่อน สร้างความปลอดภัยบนท้องถนน เพื่อสุขภาวะคนไทย ด้าน “นพ.ธนพงศ์” เผยสถิติคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุวันละ ๓๘ ราย สูงสุดเป็นอันดับ ๓ ของโลกและยังไม่มีแนวโน้มลดลง เป็นห่วงเทศกาลสงกรานต์ ๒๕๕๘ ยอดตายอาจพุ่ง ๒ เท่า ขณะที่จังหวัดนนทบุรี เดินหน้าสร้างอาสาจราจรกว่า ๑,๐๐๐ คนรับมือ

    เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๘ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช. เจาะประเด็น ครั้งที่ ๒/๒๕๕๘ “วิกฤตอุบัติภัย...ใครช่วยได้?” ณ ห้องประชุมสานใจ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข โดยมีวิทยากรจากหน่วยงานที่สำคัญในการขับเคลื่อน “การแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน” ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วยสื่อมวลชนเข้าร่วมจำนวนมาก

    นพ.ธนพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ถือเป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ได้ผลักดันนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพเรื่อง “การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน” ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๒ เพื่อบูรณาการให้หน่วยงานต่างๆร่วมมือกันลดความสูญเสียชีวิตและสุขภาพจากอุบัติภัย และมอบให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเป็นกลไกหลักในการประสานงาน ซึ่งขณะนี้ถือว่ามีความก้าวหน้าไปมากพอสมควร

     นอกจากนั้น ทาง องค์การสหประชาชาติ (UN) ยังกำหนดให้ พ.ศ. ๒๕๕๔-๒๕๖๓ เป็น “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน” ซึ่งประเทศไทยในฐานะสมาชิก UN ได้ดำเนินการอย่างสอดคล้อง โดยมีเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ให้ต่ำกว่า ๑๐ รายต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน ในปี ๒๕๖๓

     “หลังจากมีการขับเคลื่อนมาตรการลดอุบัติเหตุในท้องถนนตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ จนถึงปัจจุบัน พบว่าสถิติการเสียชีวิตบนท้องถนน ยังทรงตัว ไม่ได้ลดลง”

    ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน  กล่าวอีกว่า ตามข้อมูลจากใบมรณบัตร ช่วงปี ๒๕๕๔  มีคนไทยเสียชีวิต ๑๔,๐๓๓ ราย ต่อมาในปี ๒๕๕๕ อยู่ที่ ๑๔,๐๕๙ ราย ขณะที่ปี ๒๕๕๕-๕๗ สถิติการเสียชีวิตก็ยังอยู่ในสัดส่วนประมาณ ๑๔,๐๐๐ รายต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ ๓๘ ราย ขณะที่ในช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจะเพิ่มเป็น ๒ เท่าจากปกติ
    ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก สำรวจพบว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทยยังสูงมาก คิดเป็นอัตราตาย ๓๘.๑ คนต่อประชากรแสนคน อยู่ในอันดับที่ ๓ ของโลก รองจากประเทศนีอูเอ และสาธารณรัฐโดมินิกัน เท่านั้น

    นพ.ธนพงศ์ กล่าวว่า มาตรการสำคัญ คือต้องตัดวงจรของความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ โดยการรณรงค์คนไทยให้ปรับพฤติกรรม ทั้งการขับรถเร็ว ความอ่อนล้า หรือการดื่มขณะขับรถ รวมถึงการตัดหน้ากระทันหัน มาตรการส่วนที่สอง คือลดความเสี่ยงของการเสียชีวิต ด้วยการรณรงค์ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ทั้งหมวกกันน็อค และเข็มขัดนิรภัย รวมถึงการแก้ไขทางกายภาพ ได้แก่ ถนน

    ส่วนปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุน คือ การบังคับใช้กฎหมาย  ทั้งการตรวจจับ และการลงโทษที่เข้มงวด  พร้อมกับการสร้างกระแสสังคมในการรณรงค์  

     “จากการสำรวจในระดับพื้นที่ พบว่าการปรับปรุงถนน โดยปิดจุดอ่อนต่างๆ อาทิ ไม่ให้มีต้นไม้ใหญ่หรือแท่นหินบริเวณไหล่ทาง หรือทำไหล่ทางให้กว้างขึ้น ช่วยลดอุบัติเหตุได้มากกว่า การณรงค์ใส่หมวกกันน็อก ๑๐๐% เสียอีก เพราะการแก้ไขที่พฤติกรรมของคนไทยเป็นเรื่องยากที่สุด ทั้งมาจากการรณรงค์ไม่เข้มแข็ง และการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง”

     นพ.ธนพงศ์ ย้ำว่า สิ่งที่เป็นหัวใจในการแก้ปัญหา คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะอุบัติเหตุเกิดได้ทุกวัน โดยเฉพาะช่วงเทศกาล เช่น งานสงกรานต์ ๒๕๕๘ ที่จะถึงอีกไม่กี่วันนี้ อาจถือเป็นการสร้างบูรณาการของทุกหน่วยงานและองค์กรในการลดอุบัติเหตุเพื่อคนไทย

    ด้าน ผศ. (พิเศษ) กาญจนา ทองทั่ว คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) กล่าวว่า จากการประเมินผลตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๒ เรื่อง การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน นั้น ปรากฏว่ามีบางพื้นที่แก้ไขได้สำเร็จ แต่หลายพื้นที่ก็ยังไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง

      ประเด็นสำคัญคือ การรณรงค์ลดอุบัติเหตุ จะต้องไม่ฝากความหวังไว้ที่ภาคประชาสังคมเพียงอย่างเดียว เพราะภาคประชาสังคมไม่ได้มีงบประมาณในมือ แต่จำเป็นต้องให้หน่วยงานหรือองค์กรที่มีภารกิจหน้าที่ดำเนินการ พร้อมด้วยงบประมาณเข้ามาเป็นแกนหลักในการทำงาน

     “ในแต่ละพื้นที่อาจมีข้อแตกต่างกัน ต้องเริ่มจากการแสวงหาคนที่มีจิตสาธารณะในการทำงานก่อน บางพื้นที่อาจให้หน่วยงานหรือองค์กรเป็นภาคี บางพื้นที่อาจให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเป็นแกนนำ เพราะมักเป็นที่เกรงใจของคนในชุมชน มาเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก”  

    อย่างไรก็ตาม จากการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอุบัติภัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่า ประเด็นที่ควรแก้ไข คือการนำดัชนีผู้เสียชีวิตมาเป็นเกณฑ์วัดผลการทำงานของแต่ละพื้นที่นั้น อาจนำไปสู่การสร้างตัวเลขขึ้นมาได้ ตรงกันข้าม หากเปลี่ยนการวัดผลเป็นว่า พื้นที่นั้นมีแผนงานหรือมาตรการลดอุบัติเหตุมากน้อยเพียงใด จะส่งเสริมให้มีการทำงานได้อย่างตรงเป้าหมาย และจริงจังมากกว่า

    ด้าน นายสถาพร สุทธิลออ รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี (อบจ.นนทบุรี) กล่าวว่า จังหวัดนนทบุรีถือเป็นจังหวัดใหญ่ที่มีความเสี่ยงของอุบัติเหตุเช่นเดียวกัน เพราะเป็นเมืองของที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวจากกรุงเทพฯ จึงเหมือนเป็นพื้นที่กรุงเทพแล้วก็ว่าได้ มีปัญหาการจราจรติดขัดและอุบัติเหตุในปริมาณที่ไม่แตกต่างกัน

     สำหรับแนวทางที่จังหวัดดำเนินการ ซึ่งเรียกว่า “นนทบุรีโมเดล” ก็คือการที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เข้ามาเป็นเจ้าภาพ ปิดช่องโหว่ ในกรณีที่เทศบาลนครนนทบุรีไม่สามารถทำได้เพราะติดขัดเรื่องงบประมาณ รวมถึงการเข้ามาเป็นเจ้าภาพในพื้นที่รอยต่อต่างๆ ทำให้การวางมาตรการในเรื่องการจราจรทำได้ทั่วทุกพื้นที่ ขณะที่ในพื้นที่ของแต่ละเทศบาลก็มีมาตรการทำงานเรื่องนี้อยู่แล้ว  

     นายสถาพร กล่าวว่า มาตรการที่ อบจ. นนทบุรีดำเนินการ ประกอบด้วย  ๑.ติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV มากกว่า ๑๐๐ ตัว ตามสี่แยกและจุดสำคัญทั่วเมือง  ๒.การสนับสนุนสร้างอาสาจราจร โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ปัจจุบันมีอาสาจราจรของจังหวัดประจำการในจุดสำคัญทั่วเมืองหลายพันคน ๓.การสร้างถนนให้ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัย อาทิ ความกว้างของถนนไม่ต่ำกว่า ๓ เมตร ในแต่ละเลนมีการขีดเส้นแบ่งถนนชัดเจน มีขอบถนน แม้ไม่มีฟุตบาทแต่มีการตีเส้นเด่นชัด มีป้ายจราจรบังคับ เช่น ป้ายจำกัดความเร็ว เป็นต้น

    แนวทางนี้ อบจ. นนทบุรี ได้ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า ๑๐ ปีมาแล้ว นอกจากลงทุนซื้อกล้อง CCTV ในช่วงแรก ยังมีการตั้งงบประมาณซ่อมแซมต่อเนื่องอีกปีละประมาณ ๓ ล้านบาท ทำให้ CCTV มีอายุใช้งานได้ยาวนาน รวมถึงอุดหนุนงบประมาณให้กับตำรวจ สำหรับการดูแลค่าเบี้ยเลี้ยงอาสาจราจรนับพันคน ปีละกว่า ๑๕ ล้านบาท การอุดหนุนอุปกรณ์เครื่องมือและงานซ่อมแซมให้กับงานกู้ภัยของมูลนิธิและสมาคมต่างๆ ปีละ ๕ ล้านบาท  

     “เราบูรณาการการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ละปีมีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในจังหวัดนนทบุรี ในทุกประเด็นการจราจรและอุบัติเหตุเป็นหนึ่งในงานสำคัญ กรอบหลักที่เราวางไว้ ในการทำงานต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ ๓ ปีของจังหวัด ซึ่งแผนนี้หากเราเดินไปตามนั้น จะสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และแผนงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุ” 

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  9th Apr 15

จำนวนผู้ชม:  34552

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง