Sub Navigation Links

webmaster's News

โลกทัศน์: ทำท้อง ทำแท้ง เศรษฐกิจลิขิตกรรม?



โลกทัศน์: ทำท้อง ทำแท้ง เศรษฐกิจลิขิตกรรม?



  กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554


นักมานุษยวิทยาขอตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำแท้ง นั่นเป็นแค่ตราบาปหรือขณะที่โลกก้าวเข้าสู่สภาวะเพียงนิ้วคลิกชีวิตก็เปลี่ยน แต่เรื่องราวของ ‘กรรม’ กลับดูจะมีสถานะและรูปลักษณ์ไม่แตกต่างจากยุคพระเวท แม้ในแง่หนึ่งพลังของ ‘กรรม’ จะสามารถสะกดความละโมบ โหดร้าย รุนแรง ให้อ่อนจางบางลงในความรู้สึกของมนุษย์ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการติดต่อสื่อสารส่งผลให้เรื่องราวเกี่ยว กับ ‘กรรม’ ได้กลายเป็นอีกหนึ่ง ‘สินค้าต้นทุนต่ำ’ ที่มีผู้นิยมบริโภคสูง
   ใ
นช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ความไม่แน่นอนทางการเมือง และความผันผวนทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เหล่า ‘ยอดมนุษย์’ ซึ่งมีความสามารถพิเศษในการ ‘สแกนกรรม’ ปรากฏโฉมเป็นผู้ชี้นำหนทางสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ทนทางเศรษฐกิจในระดับ ปัจเจก ซึ่งถูกอ้างว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของ ‘กรรม’ ในอดีต
 
โดยเฉพาะ ‘กรรม’ ยอดนิยมที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็น ‘ต้นเหตุ’ ของปัญหา (ความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจส่วนบุคคล) ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ ‘การทำแท้ง’ สิ่งที่น่าสนใจจากคำตัดสินของเหล่าผู้นำ ‘ลัทธิกรรมนิยมทางเศรษฐกิจ’ ก็คือ ‘ผลกรรม’ ซึ่งสืบเนื่องมาจากการปฏิสนธิของ 2 บุคคล กลับเลือกที่จะลงโทษเจ้าของ ‘รังไข่’ มากกว่าเจ้าของ ‘สเปิร์ม’ อย่างมีนัยสำคัญ ในงานเสวนาวิชาการชุด นักมานุษยวิทยามองสังคมไทยร่วมสมัย มิติทางเพศของการทำแท้ง : เรือนร่างผู้หญิงกับวัฒนธรรมไทย ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
 
เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งของความคิดเห็นจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สะท้อนให้เห็นว่า บางครั้งสังคมไทยก็วางเฉยต่อความทุกข์ทรมานของผู้หญิง ซึ่งมีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำแท้งต้องเผชิญ
 
  เพียง “เพราะเราถูกหล่อหลอมด้วยโลกทัศน์ของความเป็นพุทธ โลกของศาสนา แล้วถ้าเรายังก้าวไม่พ้นวิธีคิดและโครงสร้างสังคมแบบนี้ ปัญหาเรื่องการทำแท้งในสังคมไทย มันก็จะต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพูด แล้วจุดศูนย์กลางของการโจมตีก็คงไม่พ้นเรื่องของบุคคลที่ตัดสินใจทำแท้ง ก็คือมุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงโดยตรง” ที่สำคัญในหลายๆ กรณี ‘ผู้ชาย’ ซึ่งเป็นเจ้าของ ‘สเปิร์ม’ ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ ‘ผู้หญิง’ ต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ไม่อาจคาดเดาจากการทำแท้ง แต่สุดท้ายก็กลายเป็นผู้หญิงที่ต้องมารับผิดชอบต่อความผิด “เมื่อความรู้สึกผิดมันตามมา ก็เลยต้องไปทำซิโกเด็ก (พิธีส่งวิญญาณเด็ก)
 
 ไปทำบุญไถ่บาป ตอนช่วงวัดไผ่เงิน ผู้ที่อยู่ในอำนาจขณะนั้นก็ยังออกมาห้ามพระสงฆ์ทำซิโกเด็ก ห้ามพระสงฆ์ทำบุญไถ่บาปให้กับผู้หญิงที่ทำแท้ง สังคมไทยใจร้ายไหมคะ” คำถามจาก ผศ.ดร.สุชาดา เผยให้เห็น ‘พันธการ’ ในสังคมร่วมสมัยที่ไม่ยอมปลดปล่อยผู้หญิงออกจากความเป็น ‘ทาสค่านิยม’ ขณะที่ฝ่ายชายกลับหลุดพ้นจากบ่วงกรรมตั้งแต่ ‘น้ำเชื้อ’ ถูกปล่อยเปรอะกระจัดกระจายออกไปอย่างไร้ทิศทาง มิติที่มากกว่าบาป บุญ ในงานเดียวกัน ดร.กนกวรรณ ธาราวรรณ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
  มหาวิทยาลัยมหิดล ได้บอกเล่าถึงผลงานวิจัย (พ.ศ. 2545) จากการเก็บข้อมูลในกลุ่มผู้หญิงไทยซึ่งเคยผ่านประสบการณ์การตัดสินใจทำแท้ง จำนวน 80 คน ซึ่งกลายเป็นที่มาของวาทกรรม “ท้องไม่พร้อม” ในสังคมไทยว่า “ในงานวิจัยที่เคยไปสัมภาษณ์มา 80 คน ไม่มีสักคนเดียวที่บอกว่าตัวเองไม่ผิด… สำหรับคนที่ทำแท้งไปแล้ว 40 คน ทุกคนพูดเหมือนกันว่ารู้สึกแย่จังเลย ทุกวันนี้ต้องใส่บาตร ทำบุญ แล้วก็แผ่ส่วนบุญส่วนกุศลไปให้เด็ก ซึ่งเขาใช้คำว่าลูกตลอด…ถามว่าเขารู้สึกผิดบาปเพราะอะไร
 
  ก็เป็นเพราะว่าเขาเกิดและเติบโตขึ้นมาในสังคมไทยจะเป็นด้วยศาสนาคริสต์ หรือว่าจะเป็นพุทธ อิสลามใดๆ ก็ตาม เขาก็ถูกหล่อหลอมมาให้คิดว่ามันผิด เพราะฉะนั้นในตัวตนของผู้หญิงที่ทำแท้งคนหนึ่ง เราก็เห็นโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมที่มันครอบงำเขาอยู่… “คำว่าสิทธิที่จะได้ตัดสินใจบนเนื้อตัวร่างกายของตัวเองนั้น มันไกลเกินความรู้สึกของเขาไป สิ่งที่ใกล้ความรู้สึกของเขา เขาบอกแต่เพียงว่า ท้องครั้งนี้เป็นท้องที่ต้องการ ไม่ใช่ท้องที่ไม่ต้องการ ไม่ใช่การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่นักวิชาการว่าไว้ เขาว่าต้องการ แต่ว่ามันไม่พร้อม ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่พร้อม” ขณะเดียวกัน ดร.กนกวรรณ ยังเผยให้เห็น ‘ความซับซ้อน’ ที่ซ่อนอยู่ภายใต้วาทกรรม “ท้องไม่พร้อม” ซึ่งลึกซึ้งเกินกว่าเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ ที่นักคุณธรรมหน้าจอ
 
  และนักศีลธรรมประจำตำแหน่งมักใช้เป็นเครื่องมือในการอธิบายเรื่องการทำแท้ง แบบครบวงจร โดยเปรียบเทียบจาก 2 กรณีว่า “เด็กคนหนึ่งอายุ 18 ปี เพิ่งจบ ปวช. บ้านยากจนหางานทำมา 6 เดือน จนในที่สุดมาได้งานเป็นแคชเชียร์ของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาต้องทดลองงาน 6 เดือน ใน 6 เดือนนี้ห้ามขาด ห้ามลา ห้ามท้อง แต่พอทำงานมาได้ 2 เดือนเกิดรู้ตัวว่าท้อง เขาให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าแต่งงานแล้วจะเก็บท้องนี้ไว้ แต่นี่ยังไม่พร้อม เพราะยังไม่ได้แต่งงาน เราก็ถามว่าแล้วทำไมไม่แต่งงานในเมื่อมีแฟนอยู่ เขาก็บอกว่าผู้ชายคนนี้เพิ่งคบกันมาได้ 3-4 เดือนยังไม่แน่ใจว่าอยากจะแต่งงานกับคนนี้ เขาก็เลยตัดสินใจทำแท้งเนื่องจากว่าเขาไม่พร้อม… “ส่วนผู้หญิงอีกคนมีลูกมาแล้ว 4 คน ทำแท้งมาแล้ว 4 ครั้ง แล้วเพิ่งทำเสร็จหมาดๆ เป็นครั้งที่ 5
 
 เธอทำงานหาเช้ากินค่ำ ถ้าจะมีลูกอีกคน เธอเลี้ยงไม่ไหว เธอเคยใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นๆ แต่ไม่ได้ผล สรุปสุดท้ายเธอบอกว่า ถ้าอายุน้อยกว่านี้ แล้วยังไม่แต่งงานจะหาผู้ชายดีๆ สักคน แล้วถ้าท้องจะเอาไว้ แต่นี่แต่งงานแล้ว และมีลูกแล้วตั้ง 4 คน ไม่อยากเอาไว้” ข้อมูลจาก ดร.กนกวรรณ ที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นความลักลั่นของวาทกรรม “ท้องไม่พร้อม” ในระดับปัจเจกบุคคล เพราะในขณะที่เด็กสาวคนหนึ่งอธิบายว่าสาเหตุที่ “ไม่พร้อม” เป็น “เพราะยังไม่ได้แต่งงาน” แต่หญิงชาวบ้านซึ่งมีลูก 4 คน กลับอธิบายถึงสาเหตุของ “ความไม่พร้อม” ว่า เป็น “เพราะเธอแต่งงานแล้ว และมีลูกแล้วตั้ง 4 คน”
 
 แต่ความรู้สึกที่ผู้หญิงทั้งสองวัยมีอยู่ร่วมกันก็คือ ‘ความคาดหวัง’ ถึง ‘ผู้ชายที่เหมาะสม’ ซึ่งจะมา ‘เติมเต็มความไม่พร้อม’ ขณะที่ในบางสังคม เช่น ชนพื้นเมืองทางภาคเหนือของประเทศไทยที่ผู้เขียนเคยสัมผัส กลับพบว่าเรื่องราวแห่ง ‘การเกิด’ ของเด็กทารก อาจจะไม่สอดคล้องกับความ ‘ไม่พร้อม’ แบบที่สังคมเมืองเข้าใจ กล่าวคือ พวกเขาไม่จำเป็นต้องวัดความพร้อมจากอายุที่ถูกระบุเป็นตัวเลข แต่วัดจากปัจจัยทางชีววิทยา (ความสามารถในการเจริญพันธุ์) ในด้านเศรษฐกิจพวกเขาก็ไม่ได้วัดความพร้อมจากใบปริญญา

  หรืออัตราเงินเดือน แต่พวกเขาวัดความพร้อมจากความสามารถในการผลิตปัจจัยสี่ (องค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรม และงานช่าง) ของฝ่ายชาย หากเราไม่เอาเกณฑ์ของสังคมเมือง (สังคมที่ไม่ได้ดำรงชีวิตด้วยการผลิตปัจจัยสี่ด้วยตนเอง) เป็นตัวตั้งก็จะพบว่า ข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนบ่งชี้ว่า “ความพร้อม” หรือ “ความไม่พร้อม” ในการรับผิดชอบต่อ‘การเกิด’ นั้นสัมพันธ์กับ ‘มิติทางเศรษฐกิจ’ อย่างแยกไม่ออก ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า บางครั้งเราไม่อาจเข้าใจเรื่อง “การทำแท้ง” ด้วยสายตาของ ‘นักบุญ’ ผู้นิยมการประณามการเข่นฆ่าทารกในครรภ์ แต่ยินดีที่จะเพิกเฉยต่อความทุกข์ทรมานของผู้หญิงที่กำลังจมดิ่งกับการค้นหา ทางออกที่ดีที่สุด (อย่างน้อยก็สำหรับตัวเอง) ภายใต้ความคาดหวังนานาประการจากสังคมและคนรอบตัว ขณะเดียวกัน ในหลายๆ ครั้งเราต่างก็หลงลืมไปว่าที่ผ่านมา “ความไม่พร้อม” ซึ่งเรามักจะพาดพิงถึงช่วงวัย การศึกษา อาชีพ และฯลฯ ล้วนแฝงไว้ซึ่งความหยามเหยียด ด้วยความได้เปรียบทางเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้หน้ากากแห่งความเมตตาต่อสตรีที่มีหน้าที่รับกรรม…หรือเปล่า?

หมายเหตุ : บทความโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร “นักมนุษยวิทยาขอตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำแท้งนั่นเป็นแค่ตราบาปหรือ” หน้า: 3(บนซ้าย)Ad Value: 174,000 PRValue (x3): 522,000 20110720_1126_HA_Krungthep Turakij

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  15th May 12

จำนวนผู้ชม:  35638

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง