Sub Navigation Links

webmaster's News

คอลัมน์ Hello เซเลบ: นพ.อำพล จินดาวัฒนะ บุรุษผู้ไม่ยอมเกษียณอายุ



คอลัมน์ Hello เซเลบ: นพ.อำพล จินดาวัฒนะ บุรุษผู้ไม่ยอมเกษียณอายุ



“เราต้องมีความหวังว่ามันจะดีขึ้น เราถึงจุดที่ไปต่อไม่ได้ คนไทยทุกคนก็คิดว่าอันนี้เป็นทิศทางประเทศที่ควรจะไป คือปฏิรูปจัดสมดุลอำนาจใหม่ เพื่อพัฒนาแบบโตกระจายหรือเติบโตไปด้วยกัน”
คำกล่าวที่เปี่ยมด้วยความหวังของ นพ.อำพล จินดาวัฒนะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดห้อง กมธ.ปฏิรูปสังคมให้สัมภาษณ์แบบเป็นกันเอง ในช่วงเวลายุ่งๆ ระหว่างประชุม สปช.ที่อาคารรัฐสภา
นพ.อำพลเล่าถึงสถานการณ์ประเทศไทยว่า สังคมไทยยิ่งดำเนินไปก็ยิ่งเหลื่อมล้ำมากขึ้น สูงกว่าประเทศจีน เวียดนาม มาเลเซีย และอีกหลายประเทศ ภาวะนี้ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและขัดแย้งมาก เป้าหมายปฏิรูปประเทศจึงต้องการลดช่องว่าง โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กมธ.ปฏิรูปสังคม เห็นว่าการทำให้ชุมชนเข้มแข็งและสามารถจัดการตัวเองได้ จะช่วยลดช่องว่างเหล่านี้ได้
“สิ่งที่ต้องทำแน่ๆ คือ การปฏิรูประบบราชการและการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดดุลอำนาจใหม่ ต้องกระจายอำนาจที่เคยรวมศูนย์ที่ กทม. ราชการ รัฐบาลกลาง กระจายไปให้ท้องถิ่นและชุมชน โดย กมธ.ปฏิรูปสังคมมีข้อเสนอว่า ต้องทำให้ชุมชนมีสิทธิเป็นนิติบุคคลจัดการตัวเองได้ ส่งเสริมสร้างสัมมาชีพเพื่อดูแลปากท้องของชุมชนเปิดให้ชุมชนจัดการและเชื่อมต่อสวัสดิการระดับชุมชนและประเทศให้เข้มแข็ง และจัดให้ชุมชนสามารถเข้ามาจัดการทรัพยากรชุมชนร่วมกับรัฐ”
ชาติผาสุกเริ่มท ี่ชุมชนเข้มแข็งนพ.อำพลเชื่อว่าหากชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการตัวเองได้ทุกอย่างจะพลิกกลับ
“เมื่อเร็วๆ นี้ กมธ.ปฏิรูปสังคมไปดูงานที่ ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน ที่นั่นชาวบ้าน 5,000 ชีวิตตั้งชุมชนอยู่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ มีที่ทำกินซ้อนกับเขตอุทยาน ที่ผ่านมามีการทำแผนแม่บทชุมชน กติกาชุมชน และออกเป็นโฉนดชุมชน เพื่อรับรองสิทธิที่ดินทำกินเป็นการภายใน ขณะเดียวกันก็ขออุทยานกันพื้นที่ป่าชุมชนให้ชุมชนอนุรักษ์ดูแล สามารถเข้าไปเก็บโน่นนี่พึ่งพาและดูแลรักษาป่า แบบนี้ชัดเจนว่าหากเราให้หน่วยงานรัฐไปดูแลและรักษาป่า ทำอย่างไรก็เอาไม่อยู่
“ แต่เมื่อชุมชนดูแลและปกป้องกันเองเพราะป่าเป็นชีวิตของเขา ป่าก็จะอยู่เพราะเป็นการอาศัยพึ่งพากันเกื้อกูลกัน ลักษณะอย่างนี้เห็นว่ารัฐต้องแก้กฎเกณฑ์กติกาเพื่อหนุนให้เขาจัดการตัวเองได้ แล้วประเทศเราจะผาสุก”
นอกจากนี้ กมธ.ปฏิรูปสังคมยังตั้งธงปฏิรูประบบเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ และปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม รวม 3 เรื่องใหญ่เชิงโครงสร้างที่ใช้เวลาขับเคลื่อน 3-5 ปี แต่ นพ.อำพลก็ยอมรับว่ากว่าจะก้าวถึงจุดเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
“การปฏิรูปเชิงโครงสร้างและเปลี่ยนวิธีคิดเป็นเรื่องยากและใช้เวลานาน เพราะโครงสร้างที่ผ่านมามันค้ำยันติดกันไปหมด โดยเฉพาะระบบราชการที่มีอำนาจมหาศาล แน่นอนเขาก็ต่อต้านการปฏิรูปอยู่ เพราะเคยชินกับอำนาจที่มีอยู่เต็มและรวมศูนย์มา 100 ปี ปฏิรูปครั้งนี้จึงเป็นครั้งสำคัญที่ต้องผลักดันให้สำเร็จ แต่หากถามว่าปฏิรูปครั้งนี้สำเร็จจะเป็นการปฏิรูปครั้งสุดท้ายหรือไม่ จริงๆ ปฏิรูปเกิดมาเป็นระยะ คิดว่าไม่มีครั้งสุดท้าย เพราะประเทศเปลี่ยนผ่านไปก็จะต้องมีการปฏิรูปเป็นระยะๆ ไม่มีสูตรสำเร็จว่าปฏิรูปแล้วต้องจบ
“ปฏิรูปครั้งนี้ไม่ใช่พลิกฝ่ามือ ต้องใช้เวลา 5 ปี 10 ปี ถึงจะแก้โครงสร้างเหล่านี้ได้ ก็ไม่อยากให้คนไทยใจร้อนว่าปฏิรูป ครั้งนี้จะแก้อะไรได้ทันที”
หลังฉากนักปฏิรูป
มันสมองของประเทศในวัย 63 ปี นอกจากรับผิดชอบงานด้านปฏิรูปเป็นงานหลักแล้ว เขายังมีงานประจำเป็นเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นกรรมการองค์การเภสัช กรรมการกองทุนพัฒนาการเมือง และอีกหลายแห่ง นพ.อำพลมีเคล็ดลับการทำงานว่า
“การทำงานอะไรต้องมุ่งมั่นตั้งใจ ทำให้ดีที่สุดในบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เมื่อทำได้อย่างนั้นได้ ตัวเองจะรู้สึกมีศักดิ์ศรี มีคุณค่า และมีความสุขกับการทำงาน แต่การทำงานต้องอย่าเบียดเบียนตัวเองและครอบครัวจนเกินไป อย่างตัวผมแม้งานจะหนักแค่ไหนก็จะหาเวลาไปออกกำลังกายด้วยการวิ่งให้ได้ เพราะเสมือนได้รีเซ็ตร่างกายและจิตใจจากความเครียดความเหน็ดเหนื่อย ทั้งทำให้ร่างกายแข็งแรง สมองโล่ง ความคิดดี การนอนหลับก็ดีตาม ทำสม่ำเสมอแทรกไปในงานมา 30 ปีแล้ว
“อยากบอกต่อทุกคนให้ออกกำลังกาย ไม่อยากให้คิดว่าตอนนี้งานหนัก จบงานแล้วค่อยไปออกกำลังกาย อย่างนี้ถือว่าคิดไม่ถูก แต่ต้องทำให้อยู่ในชีวิตเรา
“ส่วนเรื่องครอบครัว แม้งานจะหนักขนาดไหนก็จะต้องสร้างครอบครัวให้ดี ใส่ใจกัน สร้างให้เป็นคนดีของสังคม ตอนนี้ผมไม่ห่วงอะไรมาก เพราะลูกๆ (อิษฎา-ชญงค์ จินดาวัฒนะ) โตกันหมด แล้ว”
อีกสิ่งที่ นพ.อำพลยึดถือและสอนลูกๆ มาตลอด คือการทำประโยชน์ให้สังคม ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจนี้เมื่อครั้งเป็นแพทย์ชนบท จากการได้ไปเห็นและช่วยเหลือชาวบ้าน เหล่านี้เป็นข้อดีเขาได้พบกลุ่มเพื่อนจิตอาสามากมาย รู้จักเครือข่ายปฏิรูปหลายสาขา เป็นแต้มต่อให้มันใจว่าปฏิรูปด้านสังคมครั้งนี้ไม่ได้นับหนึ่ง
วางอนาคตตัวเอง
เวลา 3- 4 เดือนก่อนปิดจ๊อบเสนอร่างปฏิรูปสังคมให้ สปช.ใหญ่พิจารณาเป็นพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ กับระยะเวลาอีก 17 เดือนในตำแหน่งเลขาธิการ สช.
นพ.อำพลตอบแบบครุ่นคิดถึงอนาคตตัวเองว่า คิดๆ ไว้ว่าเมื่องานน้อยลงก็จะหาเวลาไปทำงานที่เบากว่านี้ เป็นงานที่จะไปหนุนเสริมความเข้มแข็งชุมชน อาจไปเยี่ยม ให้ความรู้ ไปให้กำลังใจเขา ถอดบทเรียน ก็เป็นงานที่เบาลง แต่มีคุณประโยชน์
ไม่ใช่จบแล้วจะไปเลี้ยงหลาน ไปเล่นหุ้น หรือผลักตัวจากสังคมไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ใช่อย่างนั้น



Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  16th Feb 15

จำนวนผู้ชม:  34991

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง