Sub Navigation Links

webmaster's News

นักวิชาการหนุนทำ”เอชไอเอ”เสนอใช้ทุกนโยบายสาธารณะ



นักวิชาการหนุนทำ”เอชไอเอ”เสนอใช้ทุกนโยบายสาธารณะ



ผอ.สถาบันจัดการระบบสุขภาพ เสนอใช้กลไก ประเมินสุขภาพควบคู่สิ่งแวดล้อมในระดับนโยบายสาธารณะ ระบุที่ผ่านมาการพัฒนามีปัญหาแต่ก็ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ด้าน รองเลขาฯ สช. พร้อมสนับสนุนนักวิชาการ-ชุมชนให้เกิดเครือข่ายปฏิบัติการในพื้นที่ ขณะที่ภาคประชาสังคมชี้ควรมีคณะกรรมการระดับพื้นที่ดำเนินการประเมินผลกระทบทุกด้าน

เมื่อวานนี้ (27 ม.ค.) ที่ โรงแรมเอเชีย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับสถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แถลงข่าว “การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (เอชไอเอ) ในกระแสปฏิรูป”

ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลาครินทร์ กล่าวว่า การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (เอชไอเอ) มีการพัฒนาเครื่องมือและกระบวนการมาตั้งแต่ปี 2543 ถือเป็นกระบวน การและเครื่องมือกำหนดนโยบายสาธารณะ ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือช่วยปกป้องสิทธิของชุมชน

เขากล่าวต่อว่า กระทั่งปี พ.ศ.2550 มี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ก็ได้พูดถึงเรื่องถึงการประเมินเอชไอเอในเรื่องสิทธิชุมชน สิทธิของบุคคล หรือหน่วยงานต่างๆ ที่จะสามารถขอข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดขึ้นจากนโยบาย แผน โครงการ กิจกรรมต่างๆ ถ้าเราสงสัยหรือไม่แน่ใจ ในโครงการหรือ กิจกรรมใดๆ จะก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้มีการประเมินผลกระทบทางสุขภาพได้

ขณะเดียวกัน สช. ได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อประสานหรือดำเนินงานตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ และกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ
“ที่ผ่านมาพบปัญหาที่สำคัญมากต่อการพัฒนา คือ เรื่ององค์ความรู้เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ และเรื่องของคนที่มีทักษะ มีความชำนาญที่จะมาประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ เนื่องจากการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ จะต่างกับการประเมินผลกระทบอื่นๆ” ผศ.ดร.พงค์เทพ กล่าว

เขากล่าวด้วยว่า การประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพเป็นเครื่องมือทำให้ทุกภาคส่วนมาเรียนรู้ร่วมกันว่า นโยบาย แผน โครงการ กิจกรรมต่างๆ จะมีผลกระทบอย่างไรแล้วมาช่วยจัดการผลกระทบนั้นๆ อย่างไร
ดังนั้น เครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจึงพยายามจัดให้มีการเรียนรู้ร่วมกัน มีการประชุมวิชาการเอาความรู้มาแลกเปลี่ยนกันเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของคน “คิดว่าการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ควรจะมีสาระสำคัญ บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ การกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน การดำเนินโครงการ กิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน ประชาชน ในด้านคุณภาพชีวิต คุณภาพสิ่งแวดล้อมจะทำไม่ได้ เว้นแต่ศึกษาและประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งเป็นข้อบัญญัติควรที่จะมีอยู่” ผศ.ดร.พงค์เทพ กล่าวย้ำ
นอกจากนี้ เขากล่าวอีกว่า ควรที่จะผลักดันการประเมินผลกระทบทางสุขภาพให้สามารถนำไปใช้ได้ในระดับของการกำหนดนโยบายสาธารณะด้วย

โดยก้าวข้ามข้อจำกัด 4 ประการ ดังนี้ 1.ก้าวข้ามกระบวนการอนุมัติ อนุญาต ในระดับโครงการทีละโครงการไปสู่กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม แสวงทางเลือกในระดับนโยบาย แผน ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมร่วมกัน 2.ก้าวข้ามจากการนำนโยบายของรัฐเป็นตัวตั้ง มาสู่การเคารพกันในแนวทางของชุมชนและคนพื้นที่ที่กำหนดเอง
3.ก้าวข้ามจากการใช้ความรู้ทางด้านเทคนิคเพียงด้านเดียว โดยอยู่ภายใต้การกำกับของเจ้าของโครงการ มาสู่การใช้ความรู้และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ภูมิปัญญาของชุมชนมาประกอบร่วมกันอย่างสมดุลและเท่าเทียมกัน และปลอดจากผลประโยชน์ทับซ้อน
และ 4.ก้าวข้ามจากภาวะไร้ความรับผิดในการติดตามตรวจสอบ จนนำมาสู่ผลกระทบทางลบต่อสุขภาพที่มากมาย เช่น การลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม

ด้าน นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบประเมินผลกระทบทางสุขภาพ กล่าวว่า เราพยายามสร้างระบบและกลไกเข้าไปอยู่การทำงานด้านนโยบายของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่มีอำนาจและงบประมาณมากกว่า มีเครื่องมือ มีเงินครบ แต่เราต้องคุยให้เขาไปใช้ในระบบดังกล่าว ขณะเดียวกัน ต้องสร้างระบบกลไกให้ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนให้ใช้ได้เท่าเทียมกันด้วย
“ต้องยอมว่า เอา เอชไอเอ เข้าไปใช้งานของทุกภาคส่วน มีเงื่อนไขในเชิงเทคนิค เทคโนโลยี และเทคนิคสังคม ที่แตกต่างกัน อีกทั้งทีมงานวิชาการของเราไม่สามารถที่จะพัฒนาเครื่องมือที่ใช้เทคนิคสังคมบวกกับเทคโนโลยีให้สามารถผสมกลมกลืนได้อย่างแนบเนียนจึงเจอการขรุขระของการใช้ระบบดังกล่าวอยู่ ซึ่งไม่ได้หมายถึงความล้มเหลว แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ คนเห็นความสำคัญ ซึ่งเราต้องค่อยๆ แก้ไขและปรับปรุงกันต่อไป” นพ.วิพุธ กล่าว
ส่วน นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร รองเลขาธิการ สช. กล่าวว่า ทุกวันนี้พบว่าปัญหามีมาก อีกทั้งไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญที่จะออกมาสามารถปฏิบัติได้ทันทีหรือไม่ แต่เป้าหมายสำคัญในการพัฒนานโยบายสาธารณะ เพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม คือ ทุกภาคส่วนจะต้องมาร่วมกันพัฒนานโยบายหรือข้อตกลงร่วม

ฉะนั้นสิ่งที่ทาง สช. จะสนับสนุน คือ การสร้างเครือข่ายนักวิชาการ เพื่อสร้างความรู้ให้กับสังคม และทำให้เกิดเครือข่ายการปฏิบัติการในพื้นที่ ซึ่งต้องรวมกันทั้งชุมชน ท้องถิ่น รวมตัวกันเป็นพื้นที่ปฏิบัติโดยมีฝ่ายเครือข่ายนักวิชาการไปหนุนเสริม ถ้าหากจะให้ไปได้เร็วก็ต้องเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กันเพื่อเดินหน้าไปด้วยกัน ทั้งนี้ สช. ยินดีที่จะเป็นตัวเชื่อมให้เกิดกระบวนการดังกล่าว
ขณะที่ นางวัชราภรณ์ วัฒนขำ ผู้แทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบโครงการเหมืองแร่ ในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคม จ.เลย กล่าวว่า การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในช่วงที่ผ่านมาถูกนำไปผูกโยงกับกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพื่อเดินไปสู่การอนุมัติหรืออนุญาตเท่านั้น และอยู่ภายใต้การดำเนินการของบริษัทที่ปรึกษาซึ่งถูกว่าจ้างโดยเจ้าของโครงการ ทำให้กระบวนการประเมินผลกระทบ ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่มาแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง “กระบวนการจัดทำต้องไม่มุ่งเน้นสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ประกอบการในการทำโครงการเป็นหลัก” นางวัชราภรณ์ กล่าว
นอกจากนี้ เธอกล่าวว่า การกำหนดขอบเขตการประเมินโครงการยังกำหนดโดยบริษัทที่ปรึกษาซึ่งไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด จึงเห็นควรเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขกระบวนการประเมินผลกระทบในทุกด้าน โดยให้มีคณะกรรมการระดับพื้น ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในชุมชนที่เข้ามาทำหน้าที่กำหนดขอบเขตการศึกษาผลกระทบทั้งทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งกระบวนการอนุมัติหรืออนุญาต และกลไกในการติดตามผลกระทบของโครงการ
“การกระจุกอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ยังทำให้การแก้ปัญหาผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นไปอย่างล่าช้าไม่ทันท่วงที ดังนั้นถึงเวลาที่ส่วนกลาง ต้องโอนอำนาจหน้าที่และงบประมาณในการดำเนินงานในเรื่องนี้มาสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม”

สช.หนุน นักวิชาการ-ชุมชนสร้างเครือข่าย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  9th Feb 15

จำนวนผู้ชม:  34966

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง