Sub Navigation Links

webmaster's News

เรื่องเล่าจากเหมืองแร่… บาดแผลที่รอการเปลี่ยนแปลง



เรื่องเล่าจากเหมืองแร่… บาดแผลที่รอการเปลี่ยนแปลง



เรื่องเล่าจากเหมืองแร่… บาดแผลที่รอการเปลี่ยนแปลง

     การทำเหมืองแร่ในประเทศไทย ยังคงถูกตั้งคำถาม ทั้งความสมดุลของระบบนิเวศน์ที่ต้องสูญเสียไป และสุขภาพของประชาชนที่เกินเยียวยาแก้ไข ที่สำคัญยังก่อให้เกิด ความขัดแย้ง ในวงกว้าง โดยผู้ได้รับผลกระทบ ต่างออกมาเรียกร้องให้มี การปฏิรูปการจัดการทรัพยากรสินแร่และเหมืองแร่ เพื่อนำเสนอต่อ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)และเข้าสู่กระบวนการยกร่าง ใน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อไป
       รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานการรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “HIA ในกระบวนการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรสินแร่ และเหมืองแร่ของประเทศไทย” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเร็วๆนี้ โดยมีตัวแทนภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ รวมถึงนักวิชาการเข้าร่วมกว่า ๕๐ คน

      “ปัจจุบันแม้จะมีกฎหมายกำกับดูแล การทำเหมืองแร่ ยังโครงการเหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน นอกจากนั้น พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ ที่กำลังมีการยกร่าง ก็มุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน กลับจะมาซ้ำเติมปัญหามากขึ้น เนื่องจากมีการลดขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติอนุญาตให้สั้นลง ทำให้อนุมัติทำกิจการเหมืองแร่ได้เร็วขึ้น”
       ใน ร่างพ.ร.บ.แร่ กำหนดขั้นตอนการขอประทานบัตร จนถึงการอนุมัติลดเวลาจาก ๓๑๐ วัน เหลือเพียง ๑๐๐-๑๕๐ วัน มีการลดอำนาจฝ่ายการเมือง แต่เพิ่มอำนาจข้าราชการในการอนุมัติหรืออนุญาต รวมถึงมีประเด็น อนุญาตการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ป่า พื้นที่หวงห้าม หรือพื้นที่พิเศษ ที่เคยติดข้อกำหนด จำกัด ห้ามทำเหมือง โดยให้ประกาศเป็น “เขตแหล่งแร่” เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาสำรวจ และทำเหมืองแร่ในบริเวณนั้น

       ขณะที่เอกชนที่ชนะการประมูล จะไม่ต้องขออนุญาตสำรวจและทำเหมืองตามพ.ร.บ.แร่  และอาจไม่ต้องทำ การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยปริยาย
       ที่สำคัญ มีประเด็นเรื่องการนำพื้นที่ ลุ่มน้ำชั้น 1 A ซึ่งเป็นพื้นที่สภาพป่ายังคงสมบูรณ์ ชุ่มน้ำ และมีความอ่อนไหวสูง มาใช้ประโยชน์เพื่อการขอสัมปทาน สำรวจ และทำเหมืองแร่ ได้อีกด้วย
       รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ สะท้อนช่องโหว่จากการทำเหมืองในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อเนื่องในทุกมิติ สาเหตุหลักนอกจาก ผู้ประกอบการที่ขาดความรับผิดชอบแล้ว ยังมาจากความเข้มงวดของกฎหมายที่แตกต่างในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งมีผลทั้งด้านบวกและด้านลบ

      โดยการอนุมัติเหมืองแร่ แบ่งได้เป็น ๓ ระยะ ได้แก่ ระยะที่ ๑ ก่อนมีกฎหมาย EIAหรือก่อนมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๑๘   ต่อมา ระยะที่ ๒ เกิดขึ้นหลังมี พรบ.ส่งเสริมฯ แล้ว แต่เป็นระยะที่มาก่อน การมีข้อกำหนดเรื่องการจัดทำ EHIAตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ และการเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ให้สิทธิชุมชนในการทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ     ส่วน ระยะที่ ๓ เหมืองแร่ที่เกิดขึ้นภายหลังมีกฎหมายข้อกำหนดเรื่อง EIA และ EHIA รวมทั้ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐

       การเสวนาและรับฟังความเห็นครั้งนี้ ได้มี ชาวบ้านจาก ตำบลแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มาร่วมสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากเหมืองแร่สังกะสี และถ่ายทอดบทเรียนจากการทำเหมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำ ที่ชาวบ้านยังคงได้รับผลกระทบ ตั้งแต่เหมืองเปิดดำเนินการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ก่อนที่จะมีกฎหมายกำหนดให้ทำ EIA

      “ผลจาการปนเปื้อนของแคดเมียมในดิน น้ำ และระบบนิเวศในบริเวณกว้าง และผลต่อสุขภาพกายจากพิษแคดเมียม ทั้งโรคไต และปวดกระดูก รวมไปถึงการสูญเสียจิตวิญญาณจากการย้ายพระธาตุผาแดง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากข้าวขายไม่ได้ เพราะผู้บริโภคกลัวพิษภัยของแคดเมียม และผลที่ชาวบ้านต้องเปลี่ยนอาชีพ”

      บุญเรือน ชัยญะวงศ์ ชาวตำบลพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผู้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการมีแคดเมียมในกระแสเลือดระดับสูง ปัจจุบันยังต้องเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคต่างๆ อันเป็นผลจากแคดเมียมที่สะสมในร่างกายมาอย่างยาวนาน
      ขณะที่ ญาณพัฒน์ ไพรมีทรัพย์ ตัวแทนชุมชนคนลุ่มน้ำแม่ตาว มองในภาพใหญ่ว่า แม้จะมีกฎหมาย   EIAหรือ HIAแล้วก็ตาม แต่ต้องมาทบทวนกฎหมายเหล่านี้ด้วยว่าเกิดขึ้นแล้วเป็นไปตามเจตนารมณ์หรือไม่ รวมไปถึงการทบทวน พรบ.แร่ ฉบับยกร่างปี ๒๕๕๗ ที่ทำให้ขั้นตอนการเปิดเหมืองทำได้ง่ายขึ้นด้วย

     ณัฐพงษ์ แก้วนวล กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ยืนยันว่า ชาวบ้านตระหนักถึงผลกระทบ แต่ต้องทำมาหากินและไม่มีเครื่องมือมากพอในการต่อสู้ หลายโครงการมีการฟ้องดำเนินคดี กับบริษัทเอกชนที่ได้อาชญาบัตรสำหรับการสำรวจ หรือประทานบัตรจากการได้รับสัมปทาน แต่ก็มักมีการอุทธรณ์ และในระหว่างอุทธรณ์ เหมืองเหล่านั้นยังคงดำเนินการต่อไป ทำให้ผลกระทบก็เกิดขึ้นควบคู่กันด้วย    

     คำเพลิน บุญธรรม เครือข่ายเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดพิจิตร มองว่าสถานการณ์ที่เป็นอย่างนั้น เป็นเพราะหน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการมักรู้เห็นเป็นใจกัน ตั้งแต่การให้ประทานบัตร แม้แต่การที่หน่วยงานรัฐลงมาตรวจสอบ ผู้ประกอบการเหมืองก็มักจะรู้ก่อนเสมอ

      “แทนที่รัฐบาลจะเร่งออก พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ ควรแก้ปัญหาเหมืองที่มีอยู่เดิมที่สร้างผลกระทบให้ชาวบ้านมาโดยตลอดก่อน  วิธีที่จะทำได้ เพียงใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดกับเหมืองที่ทำละเมิด”
     การรู้เท่าทัน และความเข้มแข็งของชาวบ้านกลับไม่มีประโยชน์ วัชราภรณ์ วัฒนขำ เครือข่ายเฝ้าระวังผลกระทบเหมืองแร่ จังหวัดเลย ย้ำว่า ชาวบ้านรวมตัวอย่างเข้มแข็ง มีข้อเสนอ เรียกร้องในหลายเวที รวมถึงฟ้องร้องดำเนินคดี แต่เสียงของชาวบ้านกลับไม่มีน้ำหนัก ซ้ำร้ายยังถูกลิดรอนอำนาจ จึงต้องการเสนอให้ประชาชนมีส่วนร่วมอนุมัติและอนุญาตการทำเหมืองอย่างแท้จริง นั่นหมายถึงว่า หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน เหมืองต้องไม่สามารถเปิดดำเนินการได้

     ในมุมมองของนักวิชาการอิสระ อย่าง ณัติกาญจน์ สูติพันธ์วิหาร ได้นำเสนอแนวทางวิชาการว่า กลไกกำกับควบคุมการทำเหมืองแร่ด้วย EHIA ไม่ได้ช่วยมากนัก เพราะแยกทำเป็นส่วนๆและรายโครงการ ไม่ได้พิจารณาในภาพรวม ทำให้การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ต่ำกว่าความเป็นจริง
      ณัติกาญจน์ จึงเสนอทางออกทั้งระบบ โดยเสนอให้พื้นที่ลุ่มน้ำต้องห้ามทำเหมืองทุกกรณี ส่วนการประเมินผลกระทบต้องทำเป็น SEA หรือ การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) เพื่อประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ และมีกระบวนการตัดสินใจจากหลายฝ่ายอย่างมีส่วนร่วม ที่สำคัญให้ชุมชนมีส่วนในการประเมินผลกระทบเอง

      รวมถึงให้มีกระบวนการตรวจสอบ “บัญชีทรัพย์สิน” ของผู้ที่มีอำนาจอนุมัติอนุญาตทำเหมือง การมี ศาลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อทำคดีด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง รวมไปถึงการจัดตั้ง กองทุนประกันความเสี่ยง ก่อนการอนุมัติหรืออนุญาตทำเหมือง

      นอกจากนี้ เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองในหลายจังหวัด ยังเสนอให้รัฐบาลทบทวน อัตราค่าภาคหลวง ที่เก็บจากเหมืองแร่ เพราะปัจจุบันมีอัตราที่ต่ำเกินไป รวมถึงทบทวนการจัดสรรเงินจากค่าภาคหลวงไปยังท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งของเหมือง ซึ่งพบว่าไม่เป็นธรรม   
     รวมถึงให้มี แผนและกลไกการเฝ้าระวังพื้นที่ปนเปื้อน ให้ชัดเจนขึ้น และมี แผนฟื้นฟู ป้องกัน ทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยใช้เงินจากค่าภาคหลวง

     ถึงเวลาแล้วที่จะนำ บทเรียนอันเจ็บปวด ของชาวบ้าน ที่ได้รับจากโครงการเหมืองแร่ และข้อเสนอจากนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม มาขับเคลื่อนสู่ การปฏิรูปประเทศ อย่างจริงจัง ในช่วงที่รัฐบาลกำลังมีความพยายามเปิดสัมปทานรอบใหม่ ให้แก่ภาคเอกชนเข้ามาสำรวจสินแร่ในประเทศไทยหลายโครงการ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน...

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  16th Jan 15

จำนวนผู้ชม:  35814

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง