Sub Navigation Links

webmaster's News

สุขภาพคนไทย 2558: 11 ตัวชี้วัด ‘โรคอ้วน’



สุขภาพคนไทย 2558: 11 ตัวชี้วัด ‘โรคอ้วน’




ในช่วงที่รายงานครบรอบ 10 ปี ทีมงานได้จัดเวทีสอบถามความคิดเห็นของผู้อ่าน ถึงสาระประโยชน์ของรายงานและสิ่งที่ต้องการปรับเปลี่ยน สิ่งที่เราได้รับคำแนะนำ คือ ให้ยังคงเนื้อหาและรูปแบบเช่นเดิม โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเล็กน้อย เช่น ให้มีคำอธิบายตารางหรือแผนภูมิภาพประกอบด้วย และใช้ภาษาที่อ่านง่ายมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งทีมงานก็ได้นำข้อเสนอแนะนั้นมาปรับให้ดียิ่งขึ้น และยังคงรูปแบบของรายงานไว้ตามเดิม

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพปีนี้ เรื่องที่ยึดครองพื้นที่ข่าวมาอย่างต่อเนื่อง คือ นโยบายจำนำข้าวที่ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องและยังไม่มีข้อยุติ ส่วนนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาลที่สำคัญในปีที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้าน โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และประเด็นสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น กรณีพระนอกรีต กรณีปราสาทพระวิหารที่มีการตัดสินของศาลโลก ได้ถูกนำเสนอในส่วนของ 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพเช่นกัน ท่ามกลางปัญหาบ้านเมืองขณะนี้ ยังคงมี 4 เรื่องดีๆ ให้เห็นในสังคมไทยที่ควรชื่นชมและยกย่อง ได้แก่ นักกีฬาของไทยที่โดดเด่นในเวทีโลก วันดินโลก ศิริราชคว้ารางวัลธาลัสซีเมียระดับโลก และหมอไกรสิทธิ์ได้รับรางวัลนักโภชนาการโลก
ดัชนีชี้วัดทางสุขภาพปีนี้ นำเสนอเรื่อง “โรคอ้วน” ที่เป็นภัยเงียบทางสุขภาพและนำมาสู่การเจ็บป่วยที่เกิดจากภาวะอ้วน ในรายงานได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ มาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความอ้วนของคนไทย ปัจจัยที่เกี่ยวข้องและผลกระทบ ช่วยให้ผู้อ่านมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเอง เพื่อที่จะรู้ทันโรคอ้วน

ทีมงานขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามรายงานสุขภาพคนไทยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะ คำติชม พร้อมทั้งส่งกำลังใจให้กับเรา ซึ่งทำให้ทีมงานยิ่งต้องมุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับการทำงานมากยิ่งขึ้น สำหรับรายงานสุขภาพคนไทย 2557 เล่มนี้ ทีมงานหวังว่าผู้อ่านจะได้รับสาระประโยชน์และติดตดามผลงานของเราเช่นเดิม

คณะทำงานสุขภาพคนไทย
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (วปส.)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

ปัจจุบัน การเจ็บป่วยและเสียชีวิต (ก่อนวัยอันควร) ของคนไทยมีสาเหตุมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases: NCDs) และปัจจัยเสี่ยงที่เป็นผลจากปัญหาพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมเพิ่มมากขึ้น การศึกษาภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย พ.ศ. 2552 พบว่า “โรคอ้วน” เป็นปัจจัยเสี่ยงและภัยเงียบสำคัญอันดับ 1 และอันดับ 6 ของการสูญเสียปีสุขภาวะในหญิงไทยและชายไทย ตามลำดับ

การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายทั่วประเทศ ล่าสุดในปี 2552 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปมากกว่า 1 ใน 3 มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน (ดัชนีมวลกาย หรือ BMI ตั้งแต่ 25 กก./เมตร 2 ขึ้นไป) ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับผลการสำรวจรอบแรก ในปี 2534 ข้อมูลต่างๆ ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า คนไทยไม่ว่าชายหรือหญิง เด็ก วัยทำงาน หรือสูงอายุ ฐานะร่ำรวย ปานกลางหรือยากจน อาศัยในเขตชนบทหรือในเขตเมือง กำลัง “อ้วน” มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทียบกันใน 10 ประเทศอาเซียน โรคอ้วนในชายไทยปัจจุบันมีความชุกสูงเป็นอันดับที่ 4 ขณะที่หญิงไทยแซงหน้าไปอยู่ในอันดับที่ 2 เป็นรองเพียงหญิงมาเลเซียเท่านั้น

สำหรับคนไทย โรคอ้วนยังคงเป็นปัญหาในกลุ่มคนรวยหรือผู้มีอันจะกิน แต่กินอย่างไม่ถูกต้องมากกว่ากลุ่มคนจนหรือผู้มีรายได้น้อย จากแนวโน้มของระดับราคาอาหารจานด่วนและอาหารขยะ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเป็นส่วนประกอบสูงที่ถูกลงเมื่อเทียบกับกำลังซื้อของคนไทยทั่วไปที่เพิ่มขึ้นคาดว่า อีกไม่นานปัญหานี้จะกลายมาเป็นภัยเงียบคุกคามสุขภาพของกลุ่มคนรายไ ด้ปานกลางและรายได้น้อย ที่มีข้อจำกัดในด้านกำลังซื้อและทางเลือกในการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น เหมือนที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว

สถานการณ์โรคอ้วนที่กำลังทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นนี้ มีที่มาที่ไปจากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งปัจจัยในระดับปัจเจกบุคคล และปัจจัยสิ่งแวดล้อมเชิงโครงสร้างทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ลักษณะการทำงานที่ใช้แรงงานน้อยลง รวมถึงการเดินทางคมนาคมติดต่อสื่อสารที่สะดวกสบายกว่าแต่ก่อน ทำให้คนไทยโดยเฉพาะในสังคมเมือง มีการเคลื่อนไหวร่างกายและมีกิจกรรมทางกายที่ลดลง ใช้เวลาในแต่ละวันไปกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์หรือโทรศัพท์ และการเดินทางบนท้องถนน ซึ่งมีการเคลื่อนไหวค่อนข้างน้อยเป็นส่วนใหญ่ในแต่ละวัน หากไม่นับเวลานอน (ประมาณ 8.4 ชั่วโมง) โดยเฉลี่ยคนไทยใช้เวลากับการทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยมากถึง 13.3 ชั่วโมง นอกจากนี้ การสำรวจในปี 2555 พบว่าชายไทยและหญิงไทยที่มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ เพียงร้อยละ 71.7 และ 62.4 ตามลำดับ
ขณะที่ การใช้พลังงานจากกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายมีแนวโน้มลดลง แต่การรับพลังงานจากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเกินความต้องการ โดยเฉพาะจากอาหารขนมกรุบกรอบและเครื่องดื่ม ที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมเป็นส่วนประกอบสูง การทานอาหารนอกบ้านและการซื้ออาหารสำเร็จรูปมาทานที่บ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยที่อาหารส่วนใหญ่มักมีรสชาติหวาน มัน เค็ม และให้พลังงานที่สูงกว่าอาหารปรุงเอง ในทางตรงกันข้ามการบริโภคผักและผลไม้กลับน้อยและไม่เพียงพอตามปริมาณที่แนะนำ

พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพที่พบมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทำงสิ่งแวดล้อมด้านอาหารที่เปลี่ยนไป การเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดและอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจร้านอาหาร ซูเปอร์สโตร์และร้านสะดวกซื้อแฟรนไชส์ส่งผลก ระทบต่อ จำนวนชนิดและประเภทของอาหารที่มีการจำหน่าย (availability) และการเข้าถึงอาหารของคนกลุ่มต่างๆ (accessibility) โดยเฉพาะอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น เข้าถึงหรือหาซื้อได้ง่ายโดยคนทุกวัยในทุกพื้นที่ ทั้งนี้ส่วนใหญ่มักมีเด็กและวัยรุ่นเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ค่านิยมและทัศนคติบางประการที่ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย เช่น มุมมองต่อเด็กอ้วนจ้ำม่ำว่า น่ารัก เป็นเด็กสมบูรณ์แข็งแรง โตขึ้นแล้วก็จะผอมเอง เป็นอีกเรื่องที่ควรต้องมีการปรับและสร้างความเข้าใจใหม่ เช่นเดียวกับการปลูกฝังข้อคำนึงในการเลือกซื้ออาหารที่ควรให้ความสำคัญกับเรื่องหลักโภชนาการเกี่ยวกับคุณค่าสารอาหาร และสมดุลของพลังงานที่ จะได้รับ มากกว่าเพียงเรื่องรสชาติความชอบหรือความอยากที่จะกินอาหาร

สุขภาพคนไทย 2557 ฉบับนี้ นำเสนอ 11 หมวดตัวชี้วัด “โรคอ้วน” โดยแบ่งพื้นที่การนำเสนอเป็น 3 ส่วนหลัก เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาโรคอ้วน รวมถึงภาระและผลกระทบ ในหมวด 1-3 ปัจจัยและสาเหตุที่มาของปัญหาโรคอ้วนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในหมวด 4-9 และส่วนสุดท้าย หมวด 10 และ 11 เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ข้อเสนอแนะในระดับบุคคล รวมถึงนโยบายและแนวทางในการจัดการปัญหาโรคอ้วนที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาของประเทศไทย.

1.คนไทย”อ้วน”แค่ไหน
กว่า 1 ใน 3 ของคนไทย มีภาวะ “น้ำหนักเกิน” และ 1 ใน 10 “อ้วน” ในระยะ 2 ทศวรรษ (ปี 2534-2552) คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีอัตราของภาวะน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้น 2 เท่า (จาก 17.2% เป็น 34.7%) และภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า (จาก 3.2% เป็น 9.1%) ปัญหาโภชนาการเกิน โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัยและเด็กวัยเรียน เป็นวาระทางสุขภาพสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักและร่วมมือแก้ไข

น้ำหนักเกิน ไม่เกิน อ้วน ไม่อ้วน ประเมินง่ายๆ จากค่าดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI) ซึ่งคำนวณจากน้ำหนักตัว (กก.) หารด้วยส่วนสูงยกกำลังสอง (เมตร2) หากมีค่าตั้งแต่ 25 กก./ตร.ม. ขึ้นไปตามเกณฑ์สากล นั่นคือ “น้ำหนักเกิน” และตั้งแต่ 30 กก./ตร.ม.ขึ้นไป คือ “อ้วน” หรือหากวัดด้วยความยาวเส้นรอบเอว ชายตั้งแต่ 90 ซม.และหญิงตั้งแต่ 80 ซม.ขึ้นไปถือว่า “อ้วนลงพุง”
ความอ้วนดูเหมือนจะแปรผันตามระดับการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิต ความชุกของภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนของคนไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่หญิงไทยมีแนวโน้มจะอ้วนสาหัสกว่าชายไทยในทุกตัวชี้วัด

หากเปรียบเทียบในระดับภูมิภาค ปัจจุบันคนไทยอ้วนมากเป็นอันดับ 2 ใน 10 ประเทศอาเซียน รองจากมาเลเซีย ซึ่งหากแยกดูตามเพศชายไทยอ้วนเป็นอันดับที่ 4 ขณะที่หญิงไทยอ้วนเป็นอันดับที่ 2 ที่น่ากังวลคือ สถานการณ์เด็กอ้วนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเช่นกัน จากการสำรวจในปี 2552 เด็กไทยปฐมวัย (อายุ 1-5 ปี) และวัยเรียน (อายุ 6-14 ปี) ประมาณ 1 ใน 10 คน มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน หากสังคมไทยยังไม่ตระหนักถึงปัญหานี้และช่วยกันแก้ไข เด็กอ้วนในวันนี้ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วนในวันหน้า ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของสถานการณ์โรคอ้วนและผลกระทบต่างๆ มากยิ่งขึ้นในอนาคต

นอกจากน ี้ คนไทยจำนวนมากยังคงไม่รู้ตัวว่าตนเองมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน การตระหนักและรับรู้ในประเด็นนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความอ้วนในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งต้องเกิดขึ้นควบคู่กับการดำเนินนโยบายและมาตรการจัดการปัญหา โรคอ้วนในภาพรวม โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

2.ความอ้วนที่เหลื่อมล้ำ
“คนรวย ยังคงเสี่ยงอ้วนมากกว่า คนจน”
โรคอ้วนเป็นปัญหาของ “คนรวยในประเทศยากจนและคนจนในประเทศร่ำรวย” แม้ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนของคนไทยยังเกิดขึ้นในคนรวยมากกว่าคนจน แต่ปัญหานี้มีแนวโน้มกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่คนจนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับการพัฒนาของประเทศและรายได้ต่อหัวประชากรที่สูงขึ้น
สถานการณ์ “โรคอ้วน” ของคนไทยมีความรุนแรงแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค โดยทิศทางความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามระดับการพัฒนาและฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน มีอัตราสูงที่สุดในกรุงเทพมหานคร (โดยเฉพาะในผู้หญิงสูงเกือบ 50%) และต่ำที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหากจำแนกตามเขตปกครอง โรคอ้วนในคนเมืองสูงกว่าคนชนบทอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อแบ่งคนไทยเป็น 5 กลุ่มตามระดับรายได้ จะเห็นว่ากลุ่มคนรวยที่สุด 20% มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนมากกว่ากลุ่มคนจนที่สุด 20% ถึงประมาณ 1.5 เท่า
แม้ปัจจุบัน โรคอ้วนจะเป็นปัญหาของคนรวยมากกว่าคนจน แต่จากประสบการณ์ในหลายประเทศเมื่อระดับการพัฒนาประเทศสูงขึ้นและคนในประเทศอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น กลุ่มเสี่ยงต่อโรคอ้วนจะกลายเป็นกลุ่มคนจน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีทางเลือกในการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพน้อยกว่าประชากรกลุ่มอื่น อาหารฟาสต์ฟู้ดจานด่วนซึ่งมีแนวโน้มราคาถูกลง (เมื่อเทียบกับกำลังซื้อของคนทั่วไปที่สูงขึ้น) และอาหารขยะที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำแต่ให้พลังงานสูงและราคาถูก จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอ้วนในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

ข้อมูลจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งประเทศรายได้สูง กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาชี้ให้เห็นว่า ระดับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของคนในประเทศมีความสัมพันธ์ในทางเดียวกันกับความรุนแรงของสถานการณ์โรคอ้วน กล่าวคือ ยิ่งมีความเหลื่อมล้ำสูง ความชุกโรคอ้วนในประเทศยิ่งสูงตามไปด้วย ดังนั้นการจัดการกับปัญหาโรคอ้วนจึงไม่ใช่เพียงการดำเนินการในระดับปัจเจกเท่านั้น แต่ต้องเป็นในระดับเชิงโครงสร้างที่มุ่งเน้นสร้างความเท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นแก่คนในประเทศมากยิ่งขึ้น…

3.ความเสี่ยงจากโรคอ้วน
“คนอ้วนเสี่ยงเบาหวานกว่าคนไม่อ้วนถึงสามเท่า ความด ัน หัวใจ ข้อเข่าเสื่อม กว่าสองเท่า”
“ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน” เป็นสาเหตุสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนอื่นซึ่งล้วนส่งผลกระทบด้านลบต่อคุณภาพชีวิตและความสุขในการใช้ชีวิตของคนไทย
งานศึกษาทางการแพทย์หลายชิ้นได้ยืนยันแล้วว่า คนอ้วนมีควา มเสี่ยงสัมพัทธ์ หรือ Relative Risk ในการเจ็บป่วยด้วยโรคหรืออาการผิดปกติต่างๆ มากกว่าคนที่มีดัชนีมวลกายเหมาะสม กลุ่มอาการหรือปัญหาสุขภาพที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นสูงมากจากโรคอ้วน ได้แก่ เบาหวานในผู้ใหญ่ โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี ไขมันในเลือดสูง ภาวะหายใจลำบากและหยุดหายใจขณะหลับ กลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นปานกลาง ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง ข้อเสื่อม และภาวะกรดยูริกสูง โรคเกาต์
พิจารณาจากข้อมูลความชุกของโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ และข้อเข่าเสื่อมในคนไทยเมื่อปี 2552 เห็นได้ชัดเจนว่าคนไทยที่อ้วน (BMI?30 กก./ตร.ม.) มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคและอาการข้างต้นมากกว่าคนที่มีน้ำหนักเหมาะสมถึง 2-3 เท่าในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานทั้งหมด 1 ใน 4 ของผู้ป่วยชาย และกว่าครึ่งของผู้ป่วยหญิงมีสาเหตุหลักมาจากโรคอ้วน ซึ่งนับว่าสูงมากเช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดที่คิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยชายและ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยหญิง
นอกจากความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพกายที่เพิ่มขึ้น ผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจของคนที่มีภาวะอ้วนก็เป็นอีกเรื่องที่ละเลยไม่ได้ ข้อมูลการสำรวจความสุขคนทำงานในประเทศไทยปี 2555 ชี้ให้เห็นว่า ระดับความพึงพอใจและความสุขของคนทำงานที่มีต่อสุขภาพกายตนเอง ลดลงตามค่าดัชนีมวลกายที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ค่านิยม “คลั่งผอม” โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง ยิ่งทำให้คนอ้วนเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตหรือปัญหาจากความเครียดสูงขึ้น

4.ภาระโรคและผลกระทบ
“ปัจจุบันภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ที่ส่งผลต่อสุขภาพของหญิงไทย”
โรคติดต่อ การขาดสารอาหารในเด็ก เคยเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชากรในอดีต แต่ในปัจจุบันโรคที่เกิดจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน กลับกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วย พิการ หรือเสียชีวิตเป็นอันดับต้น
โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการสูญเสียปีสุขภาวะเพิ่มขึ้นทุกปีทั่วโลก โดยการสูญเสียปีสุขภาวะหรือ Disability-Adjusted Life Years (DALYs) นี้ เป็นวิธีการหนึ่งในการวัดสถานะสุขภาพของประชาชน ซึ่งรวมความสูญเสียที่เกิดจากการตายก่อนวัยอันควร และความสูญเสียจากการเจ็บป่วยหรือพิการ

สถานการณ์โรคอ้วนของประชากรโลกทวีความรุนแรงขึ้น เห็นได้จากการสูญเสียปีสุขภาวะ และจำนวนการเสียชีวิตทั่วโลกจากการมีดัชนีมวลกายสูงที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วงเวลา 20 ปี (2533-2553) ในประเทศไทยเองเริ่มเห็นแนวโน้มนี้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้หญิงไทย ที่มีการสูญเสียปีสุขภาวะจากน้ำหนักเกินและโรคอ้วนมากกว่าผู้ชายเกือบเท่าตัว และที่สำคัญคือ ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้หญิงในปัจจุบัน แซงหน้าการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ที่เคยเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ของผู้หญิงในปี 2547

นอกจากนั้น การสูญเสียปีสุขภาวะจากโรคอ้วนยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะต้องใช้ทรัพยากรดูแลรักษาผู้ที่ป่วยจากโรคอ้วน และยังต้องสูญเสียกำลังแรงงานจากความเจ็บป่วยหรือการตายก่อนวัยอันควรอีกด้วย
ในปี 2552 พบว่าต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์จากโรคอ้วนทั้งสิ้นอยู่ที่ 12,142 ล้านบาท โดยต้นทุนนี้สามารถแยกได้เป็นต้นทุนทางตรงและทางอ้อม ต้นทุนทางตรง ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาลความเจ็บป่วยที่เกิดจากโรคอ้วน คิดเป็นเงิน 5,584 ล้านบาท ส่วนต้นทุนทางอ้อมนั้น มาจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ประกอบกับการขาดงานเนื่องจากเกิดความเจ็บป่วยจากโรคอ้วน ทำให้ประเทศขาดกำลังแรงงาน ต้นทุนทางอ้อมนี้มีมูลค่ำถึง 6,558 ล้านบาท

5.วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป
“เด็กไทยใช้เวลากับสื่อมากขึ้น ทั้งเล่นอินเทอร์เน็ต ดูโทรทัศน์ คุยโทรศัพท์ หรือแช้ต 8-9 ชั่วโมงต่อวัน”
วิถีชีวิตของคนสมัยนี้แตกต่างจากอดีตอย่างเห็นได้ชัด จากงานที่ต้องใช้แรงงาน ก็กลายเป็นงานนั่งโต๊ะ การเดินทางก็สะดวกสบาย ไม่ว่าจะด้วยยานพาหนะส่วนตัว หรือระบบการขนส่งสาธารณะที่ทันสมัยและครอบคลุม หรือแม้แต่เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถสร้างความบันเทิงได้โดยไม่ต้องแม้แต่ขยับตัว

เคยลองนึกบ้างหรือไม่ว่าในแต่ละวันตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า จนกระท ั่งเข้านอนตอนกลางคืน เราใช้เวลาไปกับการทำอะไรบ้าง และกิจกรรมเหล่านั้นส่งผลต่อสุขภาพของเราอย่างไร วิถีชีวิตของคนยุคใหม่เปลี่ยนแปลงอย่างมาก ปัจจุบันคนไทยโดยเฉลี่ยใช้เวลากับกิจกรรมเคลื่อนไหวน้อย เช่น การนั่งๆ นอนๆ ถึงวันละ 13 ชั่วโมงครึ่ง ในขณะที่มีกิจกรรมทางกายรวมทุกประเภทเพียง 2 ชั่วโมงต่อวัน กลุ่มที่มีกิจกรรมทางกายน้อย คือ กลุ่มผู้หญิงที่มีเพียงร้อยละ 62 ที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ นอกจากนี้การออกกำลังกายและเล่นกีฬาของทุกกลุ่มยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะคนในวัยทำงาน ซึ่งพบว่าน้อยกว่าร้อยละ 20 ได้เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชีวิตคนยุคนี้ ทำให้คนสมัยใหม่ใช้เวลากับสื่อมากยิ่งขึ้นกว่าเคย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาถึงอุดมศึกษาที่ใช้เวลาหน้าจอในแต่ละวันมากจนน่าตกใจ คือ วันละ 8-9 ชั่วโมงในการเล่นอินเทอร์เน็ต ดูโทรทัศน์ และคุยโทรศัพท์หรือแช้ต กิจกรรมหน้าจอเหล่านี้เบียดเบียนเวลาการมีกิจกรรมทางกาย ทำให้มีโอกาสน้ำหนักเกินหรืออ้วนสูงยิ่งขึ้น
การมีพื้นที่สีเขียวให้เพียงพอต่อประชากร เป็นหนึ่งในวิธีสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอและยั่งยืน กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวต่อคนเพียง 3 ตารางเมตร ซึ่งน้อยกว่าพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยของเมืองสำคัญต่างๆ ในเอเชียที่ 39 ตารางเมตรต่อคน และน้อยกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน

ที่มา :ไทยโพสต์

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  14th Jan 15

จำนวนผู้ชม:  52870

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง