Sub Navigation Links

webmaster's News

ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 'สุขภาวะชาวนา' สู่สภาปฏิรูปฯ - สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ



ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 'สุขภาวะชาวนา' 	สู่สภาปฏิรูปฯ - สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ



สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เดินหน้าขับเคลื่อนร่างยุทธศาสตร์ “สุขภาวะชาวนา” ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ หวังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ชาวนา พร้อมร่วมจัดกิจกรรมวิชาการในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ วันที่ ๒๔-๒๖ ธ.ค.นี้ ขณะที่ตัวแทนชาวนาวอนแก้ปัญหาความทุกข์ยาก และตั้งกองทุนสนับสนุนเกษตรอินทรีย์

     การประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย “สุขภาวะชาวนา” จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ณ โรงแรมเอบีน่า เฮ้าส์ กรุงเทพมหานคร เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ “ร่างยุทธศาสตร์สุขภาวะชาวนา” และ “ร่างมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยสุขภาวะชาวนา” โดยมีตัวแทนจากองค์กรภาคีเครือข่ายกว่า ๓๐๐ คน ครอบคลุม ๒๒ องค์กรเข้าร่วม

     นายเสน่ห์ วิชัยวงษ์ ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย “สุขภาวะชาวนา” กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์สุขภาวะชาวนาใน ๔ ประเด็น และร่างมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยสุขภาวะชาวนา ๖ ข้อ ส่งมอบให้แก่ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยว และบริการ ที่มี นายเกริกไกร จีระแพทย์ เป็นประธาน โดย นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ รองประธานกรรมาธิการฯ มาเป็นผู้แทนรับมอบในวันดังกล่าว

       “การดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาของชาวนาในช่วงที่ผ่านมา เป็นเพียงนโยบายเฉพาะหน้าของฝ่ายการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้ปัญหาสุขภาวะชาวนาไม่สามารถแก้ไขได้ และยังเป็นปัญหาเรื้อรังต่อไป จึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์และกลไก มาแก้ไขให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งภาคีเครือข่ายต่างเห็นความสำคัญมาร่วมกันคิดร่วมจัดทำ เริ่มจากกลุ่มย่อยสู่กลุ่มใหญ่ จนได้มาเป็นร่างยุทธศาสตร์ และร่างมติครั้งนี้”

        นายเสน่ห์ กล่าวว่า ร่างยุทธศาสตร์สุขภาวะชาวนาและร่างมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยสุข ภาวะชาวนา มุ่งเน้นการขับเคลื่อน ๒ มิติ คือ รณรงค์เผยแพร่ให้ความรู้กับชาวนาในการปฏิรูปตัวเอง และการผลักดันให้เป็นนโยบายระดับประเทศผ่านกลไก สปช. คู่ขนานไปกับกลไกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยคาดว่าจะสามารถนำไปสู่ระเบียบวาระในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปี ๒๕๕๘

        สำหรับ การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ พ.ศ.๒๕๕๗ ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๖ ธ.ค. ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานีนั้น ร่างยุทธศาสตร์เพื่อสร้าง“สุขภาวะชาวนา” ถือเป็น ๑ ใน ๙ ประเด็นของกิจกรรมวิชาการ ที่มีการจัดกิจกรรมถ่ายทอดประสบการณ์ความสำเร็จของการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ลดการพึ่งพาสารเคมีในพื้นที่ต่างๆ การให้ความรู้เรื่องของพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ เป็นทางเลือกสู่ทางรอดที่ยั่งยืน ลดการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน ลดภาระหนี้สิน เป็นต้น

     ทั้งนี้ ร่างยุทธศาสตร์สุขภาวะชาวนา ๔ ประเด็น ประกอบด้วย ๑. การเยียวยาภาวะวิกฤติ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ของชาวนา ทั้งในระบบและนอก สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดหาปัจจัยการผลิต ควบคุมดูแลอัตราค่าเช่านา เป็นต้น ๒. การฟื้นฟูภูมิปัญญาและการจัดการตนเอง  ๓. ลดการเจ็บป่วย  และ ๔. เพิ่มรายได้ให้กับชาวนา

    ขณะที่ร่างมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยสุขภาวะชาวนา ๖ ข้อ ประกอบด้วย ๑. ขอให้ชาวนา กลุ่มชาวนา ภาคีองค์กรเครือข่ายชาวนา ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน สถาบันวิชาการ องค์กรอิสระ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รับรองและนำยุทธศาสตร์สุขภาวะชาวนาเป็นกรอบแนวทางวางแผนการดำเนินงาน  ๒. ขอให้หน่วยงานและภาคีองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับชาวนา พิจารณาเสนอประเด็น “สุขภาวะชาวนา” เข้าสู่กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ๓. ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ฯ และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการเร่งด่วน รวมทั้งนำไปเป็นกรอบนโยบายระยะสั้น กลาง และยาวต่อไป

      ๔. ขอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นำยุทธศาสตร์ไปเป็นกรอบปฏิรูปประเทศไทยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความ เป็นธรรม ๕. ขอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าสุขภา วะชาวนา สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพภาคีองค์กรเครือข่าย และติดตามประเมินผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป และ ๖. ขอให้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย “สุขภาวะชาวนา” จัดเวทีรับความคิดเห็นอย่างทั่วถึง ๕ ภูมิภาค 

    ด้าน นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ รองประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยว และบริการ สปช. กล่าวภายหลังรับมอบร่างยุทธศาสตร์ฯ ว่า ทิศทางของการปฏิรูปภาคเกษตรกรรม จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมและการค้า ขณะที่ชาวนาต้องรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง เพื่อสร้างอำนาจการต่อร องในทุกๆ ด้านมากขึ้น

     นายเทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย กรรมการเครือข่ายสมัชชาสุขภาพล้านนา มองว่า สิ่งที่คณะกรรมาธิการฯควรเพิ่มเติมเข้าในร่างยุทธศาสตร์ คือ การจัดตั้งสมาคมหรือศูนย์รวบรวมวิจัยพันธุ์ข้าว ศูนย์วิจัยสมุนไพรเพื่อทดแทนการใช้สารเคมี และจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ ออกกฎหมายคุ้มครองการทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งหมดเพื่อให้ชาวนาได้มีความรู้เรื่องของพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ จูงใจให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์ อันเป็นหนทางสู่ความยั่งยืนของอาชีพเกษตรกรรม

    นายนิคม เพชรผา ตัวแทนจากมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค และชาวนาเกษตรอินทรีย์ จังหวัดยโสธร กล่าวว่า  ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจะต้องแก้ที่ “ความทุกข์ยาก” ของชาวนาที่ไม่ใช่แค่ความยากจนเพียงอย่างเดียว โดยจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาชีพชาวนา เพิ่มเกียรติยศและศักดิ์ศรีให้กับอาชีพ สร้างแรงบันดาลให้กับลูกหลานในการสืบสานอาชีพนี้ต่อไป

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  3rd Dec 14

จำนวนผู้ชม:  35169

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง