Sub Navigation Links

webmaster's News

สมัชชาสุขภาพ ผู้หญิง และความรุนแรง



สมัชชาสุขภาพ ผู้หญิง และความรุนแรง



หากมากกว่าครึ่งของประเทศไทย คือประชากรสตรีแล้ว วงการนักพัฒนาปัจจุบัน ถ้าจะเป็นนักพัฒนาที่ไม่ตกกระแส จะขาดเสียซึ่งความตระหนักต่อเรื่องนี้ไม่ได้

ที่ต้องเขียนเรื่องนี้ เพราะเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ทุกประเทศ ถือเป็นเดือนแห่งการยุติความรุนแรงต่อสตรี นอกจากช่วงเดือนมีนาคม ที่มีวันสตรีสากล ก็มีเดือนนี้ครับ ที่กิจกรรมรณรงค์เรื่องความรุนแรงต่อสตรีมีความคึกคัก

หันมามองขบวนสมัชชาสุขภาพของเรา ช่วงนี้ก็กำลังคึกคัก ด้วยแต่ละจังหวัดก็เร่งจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างมติสมัชชา ที่จะนำเข้าสู่งานใหญ่ คือ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติในช่วง 24-26 ธันวาคมที่จะถึงนี้

หากจะย้อนไปดู มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยความรุนแรงต่อเพศหญิงชัดๆ ก็นับตั้งแต่ ปี 2551 ที่มี มติที่ 10 สุขภาวะทางเพศ : ความรุนแรงทางเพศ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม และเรื่องเพศกับเอดส์ / โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  , ปี 2553 มติที่ 8 การแก้ปัญหาวัยรุ่นไทยกับการตั้งครรภ์ไม่พร้อม อันนี้ เป็นเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงที่ผ่านเข้ามาจนเป็นมติสมัชชาฯ

มาปีนี้ ดูผาดๆแม้ไม่มีชื่อประเด็นที่กล่าวถึงผู้หญิงโดยตรง แต่ก็มีระเบียบวาระพิจารณาที่มีนัยยะสำคัญต่อผู้หญิงอยู่ โดยเฉพาะในระเบียบวาระที่ 2.1 การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง ซึ่งเป็นระเบียบวาระที่พัฒนาต่อยอดมาจากมติสมัชชาสุขภาพปีก่อนๆ

ดูตามชื่อระเบียบวาระแล้ว แน่นอนว่าในกลุ่มเด็ก เยาวชน ก็ต้องมีผู้หญิง และยิ่งครอบครัวแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะขาดซึ่งบทบาทของสตรีเพศไม่ได้

ประเด็นที่น่าสนใจคือ หากพิจารณาในเอกสารร่างระเบียบวาระการประชุมในเรื่องนี้ ก็จะให้น้ำหนักถึงความจำเป็นของการที่ต้องมีแผนยุทธศาสตร์เพื่อบูรณาการงานที่ครอบคลุมด้านการคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัว จากปัจจัยเสี่ยงที่กำลังคุกคามสังคมอย่างหนักเป็นการเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนทำงานด้านเด็ก เยาวชน สตรี มามากกว่าสิบปี ก็อดที่จะตั้งข้อสังเกตไม่ได้ ว่า หากบูรณาการทุกหน่วยงานสำเร็จแล้ว แต่หน่วยงานเหล่านั้น มีแต่หัวหน้าองค์กรที่เป็นผู้ชาย หรือในคณะกรรมการ คณะทำงานในแผนยุทธศาสตร์นี้มีสัดส่วนผู้หญิงอยู่น้อยมาก การบูรณาการหน่วยงาน ก็เหมือนบูรณาการผู้นำเพศชาย ขาดการมีส่วนร่วมที่เท่าเทียมกันกับเพศหญิง

ปัญหาของเด็ก เยาวชน ครอบครัว ไม่ใช่แค่จ่ายยากลับบ้านพักฟื้นแล้วหาย แต่เป็นเรื่องจิตใจ ความละเอียดอ่อน เพศหญิงซึ่งมีบทบาทใกล้ชิดกับเด็ก เยาวชน ครอบครัวเป็นพื้นฐาน ย่อมเข้าถึงเรื่องเหล่านี้มากกว่าเพศชายอย่างไม่ต้องสงสัย

หากมีแผนยุทธศาสตร์บูรณาการได้ โดยหลักการนั้นก็เป็นสิ่งที่ดี แต่จะมีประโยชน์อะไร ถ้าไม่ระบุชัดถึงมิติการมีส่วนร่วมของผู้หญิง ซึ่งควรจะหมายรวมถึงการคำนึงถึงตัวแทนเยาวชนที่เป็นผู้หญิงด้วย และการมีส่วนร่วมของผู้หญิงนี้ต้องหมายรวมถึงการมีส่วนร่วมที่มีทั้งคุณภาพและปริมาณ ตั้งแต่การร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมรับผล ติดตามผลประเมินผล

การที่แผนงานยุทธศาสตร์โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน สตรี และครอบครัว ไม่กำหนดเงื่อนไขชัดๆในการสร้างการมีส่วนร่วมที่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย  ก็เท่ากับให้ความชอบธรรมกับโครงสร้างเดิมที่ชายเป็นใหญ่ในการจัดการปัญหาเด็ก เยาวชน สตรี ครอบครัว

การที่ผู้หญิงไม่มีส่วนร่วมที่เพียงพอ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของตน ถือได้ว่าเป็นความรุนแรงต่อผู้หญิง (แน่นอน รวมถึงเด็ก เยาวชนที่เป็นหญิง)ในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ส่งผลก่อให้เกิดความรุนแรงต่อผู้หญิงในรูปแบบอื่นๆตามมา  ไม่ว่า ความรุนแรงทางกายภาพ ความรุนแรงทางอารมณ์ ความรุนแรงทางเพศ

แผนยุทธศาสตร์เพื่อบูรณาการงานที่ครอบคลุมด้านการคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัว จากปัจจัยเสี่ยง จะเป็นอีกหนึ่งความรุนแรงทางโครงสร้างที่ละเลยความเท่าเทียมกันของสตรีในการมีส่วนร่วมหรือเปล่า ต้องคอยจับตาดูการพิจารณาระเบียบวาระดังกล่าว ซึ่งน่าจะมีความเข้มข้นไม่น้อย

และนี่เป็นอีกประเด็นที่น่าจะมีการถกแถลงในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 24 – 26 ธันวาคม 2557 นี้ครับ

เขียนโดย: วิสุทธิ์  เหล็กสมบูรณ์
นักสานพลังนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม (นนส.ปี 57)
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.samatcha.org/areahpp

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  28th Nov 14

จำนวนผู้ชม:  34582

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง