Sub Navigation Links

webmaster's News

พัฒนาการกระบวนการสมัชชาสุขภาพในจังหวัดขอนแก่น



พัฒนาการกระบวนการสมัชชาสุขภาพในจังหวัดขอนแก่น



พัฒนาการกระบวนการสมัชชาสุขภาพในจังหวัดขอนแก่น

เมื่อเดือนที่แล้ว ได้มีโอกาสไปร่วมเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 1/2557 เป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งในการใช้เครื่องมือสมัชชาสุขภาพมาใช้ในระดับจังหวัดเป็นครั้งแรกของขอนแก่น แต่ก่อนหน้าสมัชชาสุขภาพจังหวัดครั้งนี้ จังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีพัฒนาการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมโดยใช้สมัชชาสุขภาพเป็นเครื่องมือในประเด็นต่างๆมายาวนาน ตั้งแต่การทดลองจัดกระบวนการระดับตำบล การใช้เครื่องมือสมัชชาสุขภาพกับประเด็นต่างๆของเมืองขอนแก่น ผู้เขียนได้นำมาประมวลไว้ที่เดียวเพื่อคนทำงานสามารถติดตามประวัติศาสตร์สมัชชาสุขภาพในจังหวัดขอนแก่นและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปครับ
ระยะเริ่มต้น ก่อนมี พรบ. สุขภาพ พ.ศ.2550

จากแนวคิดปฏิรูประบบสุขภาพ ทำให้เกิดแนวคิดการนำ สมัชชาสุขภาพ มาผลักดัน พรบ.สุขภาพ ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ได้มีการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2545 ณ ห้องมงกุฎเพชร โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น โดยเป้าหมายการจัดสมัชชาสุขภาพครั้งนั้นคือการผลักดัน พรบ.สุขภาพแห่งชาติ จากแนวคิดและตัวอย่างในการจัดสมัชชาสุขภาพครั้งนั้น ได้มีการสร้างเครือข่ายในระดับกลุ่มจังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม โดยเรียกกลุ่มเครือข่ายนี้ว่า “ร้อย – แก่น – สารสินธุ์”

เมื่อเดือนมีนาคม – กรกฎาคม 2547 จังหวัดขอนแก่นได้มีการจัดกระบวนการสมัชชาสุขภาพ สมัชชาสุขภาพขอนแก่น ได้มีการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพทั้งสิ้น 7 เวที ภายใต้แนวคิด “ขบวนการชนบทล้อมกรอบเมือง” เป็นการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพในพื้นที่แวดล้อมเมืองโดยมีเมืองขอนแก่นเป็นศูนย์กลาง มีประเด็นสุขภาพคือ “ผักเอื้อต่อสุขภาพ : ผักท้องถิ่น แนวกินพื้นบ้าน อาหารปลอดภัย” เป็นหัวข้อหลักของสมัชชาสุขภาพ

ปี 2548 มีการทดลองจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ระดับตำบล ต.สวนหม่อน อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น การทดลองจัดเวทีสมัชชาสุขภาพดำเนินการโดย อ.สมพันธ์ เตชะอธิก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการส่งนักวิจัยสนามลงไปเก็บข้อมูลสุขภาวะในทุกหมู่บ้าน และจัดเวทีคืนข้อมูลให้กับชาวบ้าน มีการเชิญผู้แทนชาวบ้าน ผู้มีส่วนได้เสียจากกลุ่มต่างๆ องค์กรชุมชน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตัวแทนผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ฯลฯ เข้าร่วมเวทีสมัชชาสุขภาพตำบลสวนหม่อน ร่วมพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย แผน ยุทธศาสตร์ ให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่น และผลักดันแผนเข้าสู่แผนพัฒนาตำบลสวนหม่อน
หลังจากมี พรบ.สุขภาพแห่งชาติ

ปี พ.ศ.2550 – 51 หลังจากเกิด พรบ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 มีการจัดตั้งคณะทำงานพัฒนาสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น (คพส.) ขึ้น  ระกอบด้วยตัวแทนองค์กรภาครัฐและภาคประชาสังคม  11 องค์กร  รวม  20 คน  ผ่านโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น ให้ คพส. เข้ามาช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้ อำนวยความสะดวก หนุนเสริม และประสานงาน ให้เกิดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่/ประเด็นในจังหวัดขอนแก่น มีการแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การดำเนินงานในส่วนของคณะทำงานพัฒนาสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น และการดำเนินงานคณะกรรมการเครือข่ายสมัชชาสุขภาพผู้ยากลำบาก ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ในช่วงนั้นมีการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพผู้ยากลำบาก จังหวัดขอนแก่นขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2550  ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการแบ่งกลุ่มย่อยจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในด้านสุขภาพกาย  จิตใจ  ระบบสวัสดิการ  ที่อยู่อาศัย  อาชีพและรายได้  สังคม วัฒนธรรม การมีส่วนร่วม  และการศึกษา  นำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเบื้องต้นได้มีการตั้งคณะกรรมการเครือข่ายสมัชชาสุขภาพผู้ยากลำบากในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ประกอบด้วยผู้นำชุมชน

และผู้ยากลำบากในเขตเทศบาลนครขอนแก่น จำนวน 10 คน  มีบทบาทติดตาม  ประสานข้อเสนอนโยบายเข้าสู่ระบบแผนและงบประมาณของเทศบาลนครขอนแก่นและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือผู้ยากลำบากอย่างเป็นรูปธรรม

 สถานการณ์หลังจากมี พรบ.สุขภาพแห่งชาติ ระหว่างปี2551 – 2553 สมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น ไม่มีการขับเคลื่อนกิจกรรมเป็นสมัชชาสุขภาพจังหวัดที่เด่นชัด เนื่องจากมีประสบปัญหาด้านการประสานงานและไม่มีองค์กรหลักเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนที่ชัดเจน แต่กระบวนการนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ ได้มีการขับเคลื่อนผ่านขบวนการภาคประชาสังคม ในปี 2554 สมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น โดยอาศัยทุนเดิมสองเรื่องที่สามารถเชื่อมโยง และนำมาพัฒนาร่วมกันได้

เรื่องแรก ได้แก่ โครงการพัฒนาและวิจัยสุขภาวะชุมชน เพื่อความอยู่ดีมีสุข  จ.ขอนแก่น ที่มีการดำเนินการระหว่างพ.ศ.2551-2554 ในพื้นที่ 10 ตำบล ของ จ.ขอนแก่น และได้ผลผลิตเบื้องต้น เป็นแผนที่สุขภาวะหมู่บ้าน ตำบล และได้มีการนำข้อมูลไปพัฒนาเป็นนโยบายยุทธศาสตร์และโครงการพัฒนาสุขภาวะระดับตำบล 10 ตำบล

เรื่องสอง ได้แก่ โครงการขอนแก่นทศวรรษหน้า ที่ดำเนินงานภายใต้แนวคิด “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆของจังหวัดขอนแก่น ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน อันประกอบด้วย อบจ.ขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น หอการค้าจังหวัดขอนแก่น สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น สภาทนายความจังหวัดขอนแก่น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)ภาคอีสาน สภาองค์กรชุมชนจังหวัดขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหนังสือพิมพ์อีสานบิซวีคฯลฯ โดยภายหลังได้พัฒนาเป็นองค์กรภายใต้ชื่อ เครือข่ายประชาสังคมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขอนแก่น

ขอนแก่นทศวรรษหน้า เป็นการขับเคลื่อนเวทีภาคประชาสังคม ในรูปแบบสมัชชาประ ชาชน และกำหนดประเด็นย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆอย่างกว้างขวาง ก่อนที่จะได้นำประเด็นข้อเสนอ มาสังเคราะห์เป็นวิสัยทัศน์ขอนแก่นทศวรรษหน้า  เป็นเมืองอยู่เย็นเป็นสุขและน่าอยู่ที่สุดในโลก และยุทธศาสตร์หลัก 5 เรื่อง ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ที่1.เขียวและสะอาด ยุทธศาสตร์ที่ 2.สุขภาวะและสิ่งแวดล้อมดีและปลอดภัยยุทธศาสตร์ที่ 3.ธรรมาภิบาล ยุทธศาสตร์ที่ 4.ทันสมัย สมดุล และยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 5.ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขอนแก่นทศวรรษหน้าไปสู่การปฏิบัติ ได้กำหนดให้เจ้าภาพในการดำเนินการในแต่ละยุทธศาสตร์ โดยในส่วนของยุทธศาสตร์สุขภาวะ สิ่งแวดล้อมดี และปลอดภัย เป็นบทบาทสำคัญของกลไกสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น ดังนั้นเพื่อให้เกิดผลกระบวนการขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่นได้อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องจึงได้เชื่อมโยงทุนเดิมของจังหวัดขอนแก่น สองเรื่องดังกล่าวเข้าด้วยกัน จัดทำเป็นโครงการพัฒนานโยบายสุขภาวะตำบล  จังหวัดขอนแก่น
 การต่อยอดสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2555 ได้มีการจัดประชุมปรึกษาหารือการต่อยอดสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้นำเสนอตามเนื้อหา หลักคิด หลักการสำคัญต่อการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัด แม้ว่ากระบวนการทำงานสมัชชาสุขภาพที่ผ่านมาของจังหวัดขอนแก่นยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนมากนัก อาจมีการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นต่างๆ แต่ทำอย่างไรให้มีกระบวนการสมัชชาสุขภาพไปสู่การสร้างคุณภาพใหม่ และการใช้ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ เป็นเครื่องมือของสังคม ขณะเดียวกันจะทำอย่างไรการออกแบบคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดที่มีองค์ประกอบจากหลายภาคส่วน และหน่วยเลขานุการกิจการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัด หากการออกแบบการบริหารจัดการร่วมกันตั้งแต่การพัฒนาการจัดกลุ่มเครือข่าย การกำหนดประเด็นนโยบาย ทางานทางวิชาการเพื่อพัฒนาข้อเสนอทางนโยบาย

 ตลอดจนการวิเคราะห์กลุ่มเครือข่ายเพื่อนาไปสู่การสร้างความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบ และการขับเคลื่อนมติสู่ปฏิบัติการ พร้อมกับการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างต่อเนื่อง นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ได้ช่วยเน้นย้ำถึงการพัฒนาขบวนการอย่างไรให้ นำมาสู่การสร้าง “พื้นที่กลาง” “คนกลาง” “ประสานกลาง” ตลอดจนกระบวนการที่นาไปสู่การต่อยอดที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างเป็นระบบของจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัด

จากการหารือกับภาคีเครือข่ายในจังหวัดหลายเวที พบว่ากระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะของ ขอนแก่นที่ใช้เครื่องมือสมัชชาสุขภาพสามารถเชื่อมโยงเพื่อพัฒนาคุณภาพร่วมกันกับข้อเสนอของขบวนสภาองค์กรชุมชนที่พัฒนามาจากฐานล่าง การผนึกกำลังครั้งใหม่ สร้างพลังร่วม หากใช้พื้นที่พื้นที่เป็นตัวตั้ง การสร้างพื้นที่สาธารณะ ที่ต้องทำอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ประกอบกับการสร้างการเป็นเจ้าของร่วมนี้สำคัญ เพื่อนำไปสู่การทิศทางการทางานร่วมกัน ที่ไม่ฝังกับตัวบุคคล แต่นำไปสู่การสร้างขบวนร่วมกันทางโครงสร้าง แต่ไม่ใช่โครงสร้างทางอำนาจ

เช่นเดียวกับการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัด จะต้องมีการออกแบบกลไกการจัดการที่ประกอบด้วยผู้แทนองค์กรภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน อาจต้องมีการแบ่งบทบาททีมทางยุทธศาสตร์เพื่อการทำงาน เช่น ทีมยุทธศาสตร์ ๕ นัก นักจัดการ นักประสาน นักนโยบายสาธารณะ นักวิชาการ นักสื่อสาร ดังนั้นคณะกรรมการและคณะเลขานุการกิจการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัด อาจต้องมีการประเมิน หรือการวิเคราะห์บุคคลเพื่อหา “คนกลาง” ในการเอื้ออำนวยคือการประสานงานเชื่อมต่อ และ “ผู้มีบารมี” ให้เกิดการทำงานร่วมกัน

ในช่วงปี 2555 -56 เป็นช่วงแห่งการพัฒนากลไกสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น มีข้อเสนอแนะจากหลายฝ่ายว่าการดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ  ควรเริ่มจากสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ที่มีองค์กรเจ้าภาพ มีข้อมูล องค์ความรู้ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนได้ชัดเจน  ซึ่งที่ประชุมของคณะทำงานสมัชชาจังหวัดขอนแก่น ได้มีการประชุมเพื่อคัดเลือกประเด็นและได้ข้อสรุปว่า จะมีการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันนโยบายสาธารณะในสองประเด็น คือ ประเด็นอุบัติเหตุ และประเด็นมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งทั้งสองประเด็นมีองค์กร มีข้อมูล องค์ความรู้พร้อมที่จะผลักดันในเชิงนโยบายได้ จากการจัดกระบวนการพัฒนาประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดการเชื่อมโยงไปยังเครือข่ายอื่นๆ เข้ามาร่วมหารือ แลกเปลี่ยน

 จนมีความเห็นตรงกันว่าสมัชชาสุขภาพจังหวัดเป็นพื้นที่สาธารณะที่ให้เครือข่ายนำประเด็นเข้ามาพัฒนายกระดับเป็นเรื่องร่วมของจังหวัดที่ต้องการให้ทุกภาค ส่วนของสังคมในจังหวัดขอนแก่นเข้ามาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาร่วมกัน โดยขอให้กลุ่มงานวิจัยเพื่อความอยู่ดีมีสุข มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นทีมเลขาหลักในการเประสานงานให้เกิดการพัฒนากลไกคณะทำงานเลขานุการกิจ คณะทำงานบริหาร และคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดที่มีผู้แทนมาจากภาคส่วนต่างๆในจังหวัดขอนแก่น คณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่นมีมติให้นำปัญหาเฉพาะประเด็นที่มีหลากหลายในจังหวัดมากลั่นกรองเพื่อพัฒนากระบวนการสมัชชสุขภาพจังหวัดขอนแก่นให้มีสมรรถนะเทียบเท่า กระบวนการสมัชชาสุขภา พจังหวัด PHA โดยวางเป้าหมายในปี 2557 ว่าจะมีประเด็นเข้าสู่สมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่นอย่างน้อย 3 ประเด็น
สมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่นในปัจจุบัน

สมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่นในปัจจุบัน ได้พัฒนากลไกคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัด มี  นายองอาจ  วีรภัทรสกุล  เป็นตัวแทนจากภาคประชาสังคม เป็นประธานกรรมการ  มี ผศ.ดร.วิบูลย์  วัฒนนามกุล อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์   มหาวิทยาลัยขอนแก่น  และ ดร.อาคม  อึ่งพวง กรรมการสมาคมคนพิการทุกประเภท เป็น รองประธานกรรมการ  ในส่วนของคณะทำงานบริหาร มี รศ.ดร.บัวพันธ์  พรหมพักพิง   อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์   มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธาน และมี นายคณิน  เชื้อดวงผุย  ผู้จัดการกลุ่มวิจัยความอยู่ดีมีสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวหน้าหน่วยเลขานุการกิจ

ในปี 2557 สมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น มีประเด็นที่พัฒนาเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพจังหวัด 5 ประเด็นได้แก่ ประเด็นที่ 1 : ความปลอดภัยทางอาหารและการสร้างพื้นที่อาหาร  ปลอดภัยจังหวัดขอนแก่น   ประเด็นที่ 2 : การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยาน  ประเด็นที่ 3 : การบูรณาการฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จังหวัดขอนแก่น   ประเด็นที่ 4 : การควบคุมการโฆษณาและการสื่อสารการตลาด เครื่องดื่มการตลาดและผลิตภัณฑ์ยาสูบ จังหวัดขอนแก่น  และ  ประเด็นที่ 5 : การส่งเสริมและสร้างความตระหนักในการสวมหมวกนิรภัยทุกพื้นที่ และจะมีการจัดเวทีประชุมสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2557 “ชาวขอนแก่น ร่วมสร้างนโยบายสาธารณะ เพื่อสุขภาวะที่ดี” ในวันที่ 17 ตุลาคม 2557 ณ ห้องคอนเวนชั่น 1 โรงแรมเซนทาราคอนเวนชันเซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น ช่วงนี้นับเป็นจังหวะก้าวสำคัญที่คนขอนแก่นจะมาร่วมกันพัฒนาพื้นที่สาธารณะตรงนี้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมร่วมกัน หลังจากเปิดตัว สมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น ยังมีเรื่องท้าทายในการขับเคลื่อนมติและดำเนินกระบวนการตามเครื่องมือสมัชชาสุขภาพให้เป็นพื้นที่สาธารณะของคนขอนแก่นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ที่มา http://www.samatcha.org/areahpp/

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  6th Nov 14

จำนวนผู้ชม:  35186

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   สมัชชาสุขภาพจังหวัด

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง