Sub Navigation Links

webmaster's News

เวทีปฏิรูปประเทศชูสร้างพลังพลเมืองปูฐานประชาธิปไตย



เวทีปฏิรูปประเทศชูสร้างพลังพลเมืองปูฐานประชาธิปไตย



หมายเหตุ – นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้าร่วมแสดงความเห็นในวงสัมมนา “กลไกและกระบวนการในการใช้อำนาจของภาคพลเมืองและการเสริมสร้างพลังพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย” ในงานสัมมนา “การปฏิรูปประเทศไทย: ดุลยภาพที่เหมาะสมของสถาบันการเมืองกับการเมืองภาคพลเมือง ภายใต้โครงการสัมมนาสู่ทศวรรษที่เก้า ก้าวใหม่ของระบอบประชาธิปไตยไทย” ที่โรงแรม เซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 29 กันยายน

สติธร ธนานิธิโชติ
นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนา
แนวคิดเรื่องความเป็นพลเมืองมีความสำคัญโดยเฉพาะการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต้องยอมรับการเมืองภาคพลเมืองมีความสำคัญใกล้ชิดกับการมีส่วนร่วมของประชาชน เวลาที่พูดถึงประชาธิปไตยที่ปกครองโดยประชาชนเพื่อประชาชน เนื่องจากหวังว่าจะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นการส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองโดยให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างรากฐานประชาธิปไตย และส่งเสริมธรรมาภิบาล

เมื่อปี 2540 ประเทศไทยมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ โดยเกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมานั่นคือ รัฐธรรมนูญปี 2540 โดยกลไกต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญ 2540 วางไว้นั้นมีองค์กรอิสระ มีช่องทางใหม่ที่ทำให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การเข้าชื่อถอดถอนนักการเมือง และการลงประชามติ เป็นต้น

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมสาธารณะของคนไทยมีแนวโน้มพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปมากเมื่อเปรียบเทียบก่อนปี 2540 โดยตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2544 เป็นต้นมาพบว่า ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.เฉลี่ยร้อยละ 75 และมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นทุกครั้งโดยการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 มีประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงถึงร้อยละ 75.03

เห็นได้ชัดเจนว่า ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งพบว่าคนไทยมีแนวโน้มที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเลือกตั้งสูงขึ้น เช่น การไปฟังปราศรัยการหาเสียง การไปช่วยผู้สมัครรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และการแสดงออกว่าสนับสนุนพรรคการเมืองหรือผู้สมัครคนใด คนหนึ่ง
ขณะเดียวกันเรื่องความสนใจของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งก็พบว่า ประชาชนมีข้อมูล พื้นฐานเกี่ยวกับผู้สมัครและพรรคการเมือง สามารถบอกได้ว่าใครเป็นใครอยู่พรรคการเมืองใด

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งเป็นเพียงแค่ องค์ประกอบพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย เพราะยังมีมิติอื่นๆ ของระบอบประชาธิปไตยที่ใกล้ชิดกับประชาชนอย่างการปกครองท้องถิ่นอีก
ทั้งนี้ ช่วง 8-9 ปีที่ผ่านพบว่า การตื่นตัวของประชาชนในการรวมตัวเพื่อเรียกร้องต่างๆ จะดูเหมือนว่าประชาธิปไตยกำลังจะเดินหน้าหรือไม่ คนไทยมีความสนใจทางการเมืองสูงหรือไม่นั้น ตรงนี้ยังต้องรอการพิสูจน์ เพราะว่ามันมีเครื่องบ่งชี้ อื่นๆ ที่อาจจะมายันได้ว่าการตื่นตัวของประชาชนกลายมาเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่ม กปปส. เป็นหลักฐานของการเติบโตของประชาธิปไตยจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม สำหรับการปฏิรูปทางการเมืองถ้าหากไปปฏิรูปที่โครงสร้างเพียงอย่างเดียวไม่มีทางสำเร็จ แม้จะออกแบบไว้ดีอย่างไร ถ้าคนที่เข้าไปใช้หรือดำรงตำแหน่งไม่มีคุณภาพ จิตวิญญาณ จิตสำนึกสาธารณะ หรือค่านิยมประชาธิปไตย โอกาสที่จะปฏิรูปการเมืองด้วยความสำเร็จนั้นเป็นไปได้ยาก เชื่อว่าถ้าจะปฏิรูปการเมืองให้ยั่งยืนนั้นต้องเริ่มพัฒนาจากความเป็นพลเมืองก่อน

ชลัท ประเทืองรัตนา
นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล
จากสถานการณ์การชุมนุมในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีการเคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้องมาอย่างยาวนาน ประเทศไทยเรายังไม่มีกฎหมายที่เฉพาะจงเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ พอมีการชุมนุมก็จะมีการเทียบเคียงกับการใช้กฎหมาย อื่นๆ เพราะหากมีการชุมนุมเกินขอบเขต จะให้ศาลเป็นผู้ตีความกฎหมายว่าเป็นการชุมนุมอย่างสาธารณะหรือไม่

ดังนั้น ควรจะต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะที่มีการประกันเสรีภาพของผู้มาชุมนุม และประกันเสรีภาพของบุคคลอื่นที่ได้รับความเดือดร้อนของกลุ่มคนที่มาชุมนุมด้วย เพื่อให้เกิดความสมดุล
การชุมนุมไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองเสมอไป เนื่องจากที่ผ่านมาเรามีการชุมนุมหลายเรื่อง เช่น ปัญหาโลกร้อน ความเดือดร้อนด้านผลผลิตการเกษตร เงินเดือน การขายสลาก ฯลฯ

เสรีภาพในการชุมนุมจึงเป็นหลักการสำคัญที่ต้องได้รับการประกันว่าจะต้องเกิดขึ้นให้ได้ ส่วนการห้ามการชุมนุมเป็นเรื่องรอง ชุมนุมได้เป็นหลัก ห้ามชุมนุมเป็นรอง เพราะไม่เช่นนั้นคนจะไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมในการเรียกร้องได้เลย เราไม่สามารถห้ามคนที่มาชุมนุมได้ แต่ต้องมีขอบเขตที่ เหมาะสม

สำหรับกฎหมายการชุมนุมสาธารณะที่ควรเกิดขึ้น ประเด็นการแจ้งให้ทราบหรือการขออนุญาตมีการถกเถียงกันว่าการชุมนุมควรเป็นแบบใด เมื่อเทียบกับกฎหมายของต่างประเทศทั้งเยอรมันและอังกฤษระบุว่า การชุมนุมคือ การแจ้งให้ทราบเป็นหลัก แต่มีเงื่อนไขว่าต้องแจ้งให้ทราบว่าจะมีการชุมนุมวันใด ระยะเวลากี่วัน สถานที่ใด วัตถุประสงค์ในการชุมนุมคืออะไร ดังนั้น ควรยึดหลักการนี้เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้อำนวยความสะดวกได้อย่างเต็มที่ เวลาที่มีการชุมนุมคนอื่นๆ จะได้ไม่ต้องได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมด้วย อีกทั้งในการชุมนุมควรมีผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบในการชุมนุมด้วย เพื่อให้การชุมนุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ใช้อาวุธ ชุมนุมแบบสันติวิธี
ทั้งนี้ หากเห็นว่าการชุมนุมเริ่มไม่สงบต้องสั่งยกเลิกการชุมนุมหรือสลายการชุมนุม

เลิศพร อุดมพงษ์
นักวิชาการ สำนักวิจัยและพัฒนา
เราได้มีโอกาสไปดูการปฏิรูปพลเมืองศึกษาที่ต่างประเทศ ประกอบด้วย นอร์เวย์ สวีเดน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดย 3 ประเทศแรก มีระบบการเมืองการปกครองที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย โดยมีการพัฒนาของภาคพลเมืองที่สูงมาก มีการผลักดันภาคพลเมืองให้เป็นวาระแห่งชาติ
สำหรับประเทศไทย ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการกำลังบรรจุวิชาหน้าที่พลเมืองและเพิ่มเวลาเรียนให้มากขึ้น ในต่างประเทศเขามีการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง แต่ประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะตามประเทศอื่นๆ ทันหรือไม่

ดังนั้น ควรมีการผลักดันการปฏิรูปการศึกษาโดยเพิ่มหลักสูตรเกี่ยวกับการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองและจริยธรรมศึกษาให้เป็นวาระแห่งชาติ และบรรจุในนโยบายการศึกษาของประเทศเพื่อให้เกิดการบังคับใช้จริง เช่น การแสดงละครเกี่ยวกับประชาธิปไตย การจัดการเรียนการสอนที่ครูต้องเคารพความคิดเห็นของนักเรียน ใช้การอภิปรายแลกเปลี่ยนให้มากขึ้น
รวมถึงสร้างพื้นที่ประชาธิปไตยภายในโรงเรียนผ่านสภานักเรียน เพื่อสร้างจิตสำนึก รับผิดชอบต่อสังคมในฐานะพลเมืองอย่างจริงจัง ซึ่งในต่างประเทศเกิดความสำเร็จมาก

ปัทมา สูบกำปัง
นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนา
สำหรับการมีส่วนร่วมทางการเมืองในกระบวนการนิติบัญญัตินั้น เริ่มเกิดขึ้นช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โดยเกิดขึ้นจากกระแสของการปฏิรูปการเมือง ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 อำนาจนิติบัญญัติอยู่ที่รัฐสภาคือ ส.ส.และ ส.ว.เข้ามาทำหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายออกมาบังคับใช้

แต่เมื่อผ่านพ้นมา 65 ปี มีเปลี่ยนแปลงการปกครอง กระแสการปฏิรูปการเมืองก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ช่วงนั้นคนที่เข้าไปเป็นผู้แทนการพิจารณากฎหมายไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน จึงเป็นปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้การปฏิรูปการเมืองมีการเสริมสร้างพลังของพลเมืองเพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากกว่าการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ต้องยกความดีความชอบให้กับสมาชิกสภาร่างรัฐ ธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มีความกล้าหาญในการนำกลไกเข้ามาใส่ในรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองคือ การกำหนดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงในกระบวนการนิติบัญญัติ เช่น กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อให้สภาพิจารณาเห็นชอบได้ โดยพบว่าตั้งแต่ปี 2540-2549 มีมากถึง 16 ฉบับ แต่ที่ผ่านการเห็นชอบมีเพียง 1 ฉบับเท่านั้น คือ ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ทั้งหมดนี้คือยุคแรกของการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนิติบัญญัติโดยตรง

ส่วนยุคที่สองหลังการรัฐประหาร 2549 เกิดรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งร่างโดย สสร.50ไม่ได้ล้มเลิกหลักการในการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่ยังต่อยอดให้มีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น ลดจำนวนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายจาก 5 หมื่นคนเหลือเพียง 1 หมื่นคนเท่านั้น และปิดช่องว่างของปัญหาต่างๆ ไว้ทั้งหมด โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายขึ้นมาสนับสนุนประชาชนที่จะพิจารณายกร่างกฎหมายภาคประชาชน

ทั้งนี้ แม้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อฯจะมีผลบังคับใช้ แต่บางครั้งการตีความรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทำให้สิทธิของประชาชน ในการไปเสนอกฎหมายต่อสภา อาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง
ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านที่จะนำพาสังคมเข้าสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่จะสามารถเสนอกฎหมายได้ ซึ่งอาจตีความว่ากฎหมายที่เสนอโดยประชาชนไม่สามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ได้

ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้การปฏิรูปสมบูรณ์ได้จริงจึงอยากให้กฎหมายประชาชนที่ค้างอยู่ได้เข้าสู่การพิจารณาส่วนจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ ก็เป็นอำนาจเด็ดขาดของ สนช.

ที่มา มติชน

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  6th Oct 14

จำนวนผู้ชม:  35119

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง