Sub Navigation Links

webmaster's News

แม่ฮ่องสอนดินแดนแห่งความสุข ชูประเด็นสุขภาวะเกษตรกร ขับเคลื่อนสู่นโยบายสาธารณะ



แม่ฮ่องสอนดินแดนแห่งความสุข ชูประเด็นสุขภาวะเกษตรกร ขับเคลื่อนสู่นโยบายสาธารณะ



การประชุมคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสาธารณะ เรื่อง “สุขภาวะชาวนา” วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน

หมอกสามฤดู กองมูเสียดฟ้า ป่าเขียวขจี ผู้คนดี ประเพณีงาม ลือนามถิ่นบัวตอง

คำขวัญประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน แม้ว่าจากวันที่มีการแต่งคำขวัญขึ้นหลายสิบปีแต่วันนี้ก็ยังคงเป็นอยู่เช่นนั้นจริงๆ

เมืองที่เงียบสงบ ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ประชากรโดยประมาณเพียง 250,000 คน เบาบางติดอันดับสุดท้ายของประเทศ ผู้คนไม่ต้องเร่งรีบในการเดินทางไม่มีปัญหารถติด ได้รับข้อมูลจากคนพื้นที่เกี่ยวกับปัญหาคดีความต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลักเล็กขโมยน้อย ปล้น จี้ หรืออาชญากรรมอื่นๆ เกิดขึ้นน้อยมาก กระทั่งประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองก็แทบไม่มีให้เห็น แม้เส้นทางการคมนาคมจะพัฒนาขึ้นมากแต่ด้วยระยะทางที่ห่างจากจังหวัดอื่นๆ ทั้งไกลและต้องสัญจรผ่านภูเขาหลายต่อหลายลูกสลับซับซ้อนและเส้นทางคดเคี้ยว ยังคงความเป็นวิถีแบบคนแม่ฮ่องสอนอยู่มากไม่ถูกเจือด้วยวัฒนธรรมอื่นมากอย่างจังหวัดอื่นๆ คงด้วยเหตุต่างๆ เหล่านี้เองที่ทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้รับการจัดลำดับให้เป็นเมืองที่ประชากรมีความสุขที่สุดของประเทศไทยอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นจังหวัดที่ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นเมือง ที่ประชากรมีความสุขที่สุดในประเทศ และอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรในหลายๆ ด้าน แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงมีประเด็นอื่นๆ ที่ชาวแม่ฮ่องสอนต้องการพัฒนาร่วมกัน จึงได้มาร่วมประชุมหารือกันในวันนี้ มีประเด็นที่มีการพัฒนางานวิชาการด้วยกันทั้งสิ้น 3 ประเด็นคือ ท้องไม่พร้อม หมอกควันและสุขภาวะชาวนา แต่ประเด็นที่ได้รับความสนใจคงหลีกไม่พ้นประเด็นที่เกี่ยวกับการเกี่ยวกับวิถีชีวิต นั่นก็คือเกษตรกรรม และมีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมหารือภายใต้แนวคิดแรกคือ สุขภาวะชาวนา ซึ่งเป็นประเด็นที่กลุ่มจังหวัดล้านนาได้เลือกที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน เมื่อมีการแลกเปลี่ยนกันอย่างหลากหลาย มีการช่วยกันระดมความคิดว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่กระทบกับการมีสุขภาวะที่ดีของชาวนา ได้ประเด็นต่างๆ รวมทั้งหมดถึง 9 ประเด็น ได้แก่ ๑. เกษตรอินทรีย์ยั่งยืน ๒. เครือข่ายชาวนาเกษตรกร ๓. การพัฒนาแหล่งน้ำ ๔. อาชีวะอนามัยชาวนา ๕. กระบวนการสืบทอดอาชีพ ๖. การจัดการความรู้ ๗. สิทธิที่ดินทำกิน ๘. การอนุรักษ์พันธุ์ข้าว ๙. กระบวนการตลาด

เมื่อมีการหาเจ้าภาพด้านวิชาการแต่ละประเด็นและมีการจัดกลุ่มเครือข่ายของแต่ละประเด็นเหล่านี้แล้ว พบว่าแต่ละประเด็นมีความเฉพาะและตอบโจทย์ได้มากกว่าสุขภาวะของชาวนาไปเสียแล้ว ที่ ประชุมจึงเห็นพ้องต้องกันว่าควรเปลี่ยนจากสุขภาวะชาวนาเป็น “สุขภาวะเกษตรกร” ซึ่งมีความครอบคลุมกว่าประเด็นสุขภาวะชาวนา เนื่องด้วย ชาวนาในจังหวัดแม่ฮ่องสอนแตกต่างจากชาวนาจังหวัดอื่นๆ เพราะการทำงานที่นี้ทำแบบผสมผสาน ไม่ได้เน้นการส่งออก บริบทพื้นที่ทำกินนั้นมีไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นเขตป่าสงวนและภูเขาสูง ประเด็นจึงถูกปรับจากอาชีวะอนามัยชาวนา เป็น อาชีวะอนามัยเกษตรกร ตามนั้น ส่วนประเด็นท้องไม่พร้อม และหมอกควันนั้น อาจจะจัดเป็นงานวิชาการในงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดไปก่อนในปีนี้ เนื่องจาก 9 ประเด็นดังกล่าวมีความเฉพาะและเป็นงานที่หนักอึ้งของทีมวิชาการกลางของจังหวัดอยู่มากพอสมควรแล้ว

บรรยากาศการประชุมเริ่มต้นด้วยพิธีการเล็กน้อยแต่เรียบง่ายและเป็นกันเอง คือมีการกล่าววัตถุประสงค์และท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด คุณหมอทศเทพ บุญทอง เป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งท่านได้ให้มุมมองไว้ว่า “การจะพูดเรื่องประเด็นนโยบายสาธารณะ ต้องเป็นรูปธรรมมากกว่านามธรรม มุมมองด้านการเกษตรต้องให้เป็นเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ควรคิดเรื่องวิธีลดต้นทุนการผลิต และให้ความสำคัญด้านคุณภาพ” หลังจากนั้นก็มีการชวนคิดชวนคุยในประเด็นสถานการณ์การขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพและโปรแกรมพัฒนาศักยภาพนักสานพลังฯ ระดับภูมิภาค โดยทีมผู้ประสานงานของ สช. นำเสนอพัฒนาการของประเด็นสุขภาวะชาวนาในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย คุณวิเชียร สุวรรณมังกร หัวหน้าฝ่ายพัฒนายุทธศาสตร์ฯ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน และทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยเลขานุการกิจ ทำให้เห็นภาพความสอดคล้องกันของการทำงานทั้งในระดับภาคและระดับจังหวัดว่า มีประเด็นร่วมกันในระดับภาคแล้วระดับจังหวัดมีการรับลูกต่อไปดำเนินงาน และทราบสถานการณ์ว่าประเด็น สุขภาวะชาวนาหรือสุขภาวะเกษตรกรในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนงานอยู่มากและนานพอสมควร กระบวนการสมัชชาสุขภาพจึงเป็นโอกาสที่กลุ่มคนเหล่านี้จะเข้ามาร่วมใช้พื้นที่ในการแลกเปลี่ยน เชื่อมโยงไปยังหน่วยงานต่างๆ มากขึ้นและจับมือร่วมกันขับเคลื่อนให้เป็นภาพในระดับจังหวัดต่อไป และชัดเจนขึ้นว่าสุขภาวะของชาวนาจังหวัดแม่ฮ่องสอนประสบกับปัญหาและมีความต้องการอะไร รวมไปถึง จุดแข็ง (ศักยภาพ) จุดอ่อน (ความเสี่ยง) เมื่อคุณอรุณี เวียงแสง ประธานคณะทำงานวิชาการได้นำเสนอ จนนำไปสู่การประมวลเนื้อหาสาระและพัฒนาเป็นร่างข้อเสนอเชิงประเด็น ร่างที่ 1 แต่หลังจากนี้ที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้นว่าเมื่อมีการแลกเปลี่ยนในเวทีการประชุม ทำให้เห็นประเด็นที่เป็นปัจจัยกระทบต่อสุขภาวะชาวนาถึง 9 ประเด็นนั้น และเห็นพ้องต้องกันว่าควรเปลี่ยนเป็น สุขภาวะเกษตรกร นั้นเองทำให้ทีมวิชาการต้องทำการบ้านเพิ่มขึ้น ทางทีมผู้ประสานงานของ สช. ได้เพิ่มเติมว่าขอให้พิจารณาจัดลำดับความสำคัญให้สอดคล้องกับขุมกำลัง ทรัพยากรโดยเฉพาะทรัพยากรมนุษย์ อาจจะทำไม่ได้ทั้ง 9 ประเด็นภายใน 1 ปีแต่ก็ค่อยๆ พัฒนาร่วมกันไป และเสนอแนะชี้ชวนให้มีการพัฒนาเป็นธรรมนูญความสุขคนแม่ฮ่องสอน ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับไปในทิศทางเห็นประโยชน์และคุณค่า ซึ่งก็เป็นโจทย์กลับมาว่าเราจะร่วมสนับสนุนในจังหวะของการเชื่อมโยงการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ของ 2 เครื่องมือคือ สมัชชาสุขภาพและธรรมนูญสุขภาพในพื้นที่ตามบริบทของพื้นที่อย่างไร

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ยังคงต้องการการสนับสนุนด้วยข้อมูลทางด้านวิชาการและความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วม พัฒนา จนสามารถเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย และเกิดความรู้สึกร่วมว่าเป็นเจ้าของร่วมในแต่ละประเด็น และนำไปขับเคลื่อนต่อจนเกิดเป็นรูปธรรมในอนาคตต่อไป รวมไปถึง สช.ก็เช่นเดียวกันอาจจะต้องหันกลับไปมองพื้นที่ด้วยหัวใจแบบคนพื้นที่ด้วยหรือไม่ โต๊ะอาหารอย่างเดียวยังเหมาะสมและเพียงพอกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทุกวันอยู่หรือไม่ กลับมาที่ประเด็นการดำเนินงานโครงการสมัชชาสุขภาพจังหวัดแม่ฮ่องสอน หากประเมินด้วยกรอบระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ นั้นถือว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนยังเป็นจังหวัดที่มีการดำเนินงานล่าช้ากว่าแผนปฏิบัติของโครงการแต่ด้วยบริบทและภาระงานของแกนนำเครือข่ายทำให้ เข้าใจได้อย่างชัดเจน จึงได้มีการเจรจาระหว่างทีมผู้ประสานของ สช. และผู้ประสานงานโครงการฯ พูดคุยถึงประเด็นเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินโครงการให้สามารถดำเนินไปตามแผนการดำเนินงานของโครงการและศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลาที่เกินกรอบเวลาปกติของโครงการ ปัจจัยหนึ่งที่ไม่อยากจะเร่งรัดการทำงานของเครือข่ายคือ เห็นความประณีตในการทำงานคือ ค่อยคิดค่อยทำด้วยความใส่ใจ เปิดวงคุยอย่างหลากหลายและเท่าเทียม จึงอยากรักษาไว้ซึ่งข้อดีจุดนี้ของเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะเชื่อมั่นว่าฐานที่แข็งแรงจะสามารถพยุงโครงสร้างให้สูงและยืนหยัดได้ อีกข้อความหนึ่งที่ทำให้เชื่อมั่น คือ “แม้ว่าโครงการนี้จะหมดไปตามกรอบเวลาแต่งานที่ส่งเสริมสุขภาวะของคนแม่ฮ่องสอนก็จะยังคงดำเนินต่อไป เพราะเรามีทุนในพื้นที่อยู่อีกมาก” คุณวิเชียร สุวรรณมังกร สสจ.แม่ฮ่องสอน

การมาเยือนจังหวัดแม่ฮ่องสอนครั้งนี้ในฐานะคนทำงานไม่ใช่นักท่องเที่ยว ยังสัมผัสได้ถึงความงดงามของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม อีกทั้งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มีความประทับใจมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ประทับใจยิ่งกว่าคือคนและงานที่กลุ่มคนเหล่านี้ร่วมกันทำเพื่อชุมชนท้องถิ่นของตนเอง และตลอดเส้นทางที่ฟ้าหลัวควบคู่กับสายฝน ใช้เวลา ๖ ชม. ผ่าน ๑,๖๐๐ กว่าโค้ง ทำให้เรามั่นใจว่า การเดินทางตามเส้นทางนี้ไม่ได้เป็นเรื่องยากลำบากของชาวแม่ฮ่องสอน แต่กลับกันเส้นทางคดเคี้ยวของแม่ฮ่องสอนทำให้ผู้คนมีสติมากขึ้น ละเอียดประณีตที่จะรักษาแดนแห่งความสุขนี้อยู่ชั่วลูกชั่วหลานตลอดไป

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  1st Sep 14

จำนวนผู้ชม:  35873

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   สมัชชาสุขภาพจังหวัด

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง