Sub Navigation Links

webmaster's News

ฝันร้ายในระบบบริการสุขภาพไทย



ฝันร้ายในระบบบริการสุขภาพไทย



ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล
ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลรามาธิบดี
วันนี้เงินหมุนเวียนสำหรับซื้อหาบริการสุขภาพทุกๆ 100 บาท รัฐบาลจ่าย 75 บาท มากนะครับจริงมั้ย เอ้แล้วในเมื่อรัฐบาลจ่ายมากถึงปานนี้ ทำไมเวลาป่วย คนไทยร้อยละ 30-45 จึงยังเลือกที่จะควักกระเป๋าตัวเองเพื่อไปคลินิกเอกชน หรือ รพ.เอกชน สำหรับบริการแบบไม่ต้องนอน รพ. และร้อยละ 5-10 สำหรับบริการคนไข้ใน แปลว่า รัฐบาลยังจ่ายน้อยไปรึปล่าว ไม่มั้ง ในเมื่อคนไข้สิทธิ์บัตรทองหรือสิทธิ์ข้าราชการทุกวันนี้ใช้บริการฟรีไม่ใช่หรือ อันนี้ก็จริง แต่ไปดูคิวคนไข้ตาม รพ.รัฐบาลซิครับ ยาวแค่ไหน ดูคนไข้ในนอนตามระเบียงหรือหน้าลิฟต์ซิครับ ว่ามีความอึดอัดหรือเปล่า ถ้ามีตังค์ ใครๆ ก็คงไม่อยากไปรอคิวหรือนอนหน้าลิฟต์จริงมั้ย ไป รพ.เอกชนสะดวกสบายกว่า เร็วกว่า เลือกหมอได้ด้วย อยากได้ยาอะไรก็ได้ตราบเท่าที่มีตังค์จ่าย
สำหรับชาวบ้าน เรื่องราวคงจบแค่นี้ เพราะยังมีเรื่องอื่นให้คิดอีกมากมาย ชาวบ้านคงนึกไม่ถึงดอกว่า ที่คนมีสตางค์ควักกระเป๋าเองเวลาเจ็บป่วยแล้วไป รพ.เอกชน มันเกี่ยวอะไรกับเรื่องเวลาไป รพ.รัฐบาล โดยเฉพาะในชนบท มักเจอแต่หมอหน้าใหม่หมุนเวียนเรื่อยไป
ในวงการแพทย์ เขารู้กันมานานแล้วว่า ค่าตัวหมอ รพ.เอกชนแพงกว่าหมอ รพ.รัฐบาลหลายเท่า ค่าตัวหมอ รพ.เอกชนส่งตรงมาจากเงินในกระเป๋าคนไข้ ค่าตัวหมอ รพ.รัฐบาล (ส่วนใหญ่) ส่งตรงมาจากภาษี ลองนึกดูว่าการที่ รพ.เอกชนสามารถดึงหมอไปจาก รพ.รัฐบาล เขาใช้อะไรจูงใจ คำตอบก็ตรงไปตรงมา ค่าตัวไงล่ะ
สมัยก่อนความนิยม รพ.เอกชนไม่มากเท่าปัจจุบัน ค่าตัว
หมอ รพ.รัฐบาลกับ รพ.เอกชนต่างกันไม่มากเท่าวันนี้ และค่าตัวหมอ รพ.รัฐบาลสมัยก่อนก็ไม่มากเท่าทุกวันนี้ ดังนั้นความนิยมบริการ รพ.เอกชน เลยเป็นเหตุดึงหมอออกจาก รพ.รัฐบาล โดยเฉพาะจากชนบท รวมทั้งเป็นเหตุเพิ่มค่าตัวหมอใน รพ.รัฐบาลเพื่อต้านทานแรงดูดของ รพ.เอกชน
ความจริงที่รู้กันในวงแคบคือ เฉพาะ รพ.กระทรวงสาธารณสุข งบประมาณทุกๆ 100 บาท เป็นค่าแรงเกือบ 60 บาท เมื่อเป็นอย่างนี้ส่วนที่เหลือไว้เป็นค่ายา ค่าปรับปรุงอาคารสถานที่ ค่าเครื่องมืออุปกรณ์ ก็ย่อมน้อยตามไปด้วย จึงไม่แปลกที่คิวตรวจ รพ.รัฐบาลยาวเฟื้อย คนไข้ต้องนอนหน้าลิฟต์
ลองนึกต่อไปว่า ถ้าวันหน้าคนไทยใช้เงินจากกระเป๋าตัวเองแทนการใช้สิทธิ์บัตรทองหรือสิทธิ์ข้าราชการ หรือประกันสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ อะไรจะตามมา
ประการแรก รพ.รัฐบาลก็จะกลายเป็นที่รองรับคนจนด้วยสัดส่วนมากขึ้นไปอีกกว่าทุกวันนี้ ผลที่จะตามมาคือ การตรวจสอบ กดดันให้รัฐบาลปรับปรุง รพ.ก็จะน้อยลง เพราะคนจนโวยไม่เก่ง ไม่มีเส้นสาย อุปมาอุปมัยเหมือนกิจการรถไฟไงล่ะ ล้าหลัง ตกต่ำมานานกว่าร้อยปี เพราะคนรวย คนชั้นกลางหนีไปขับรถบนถนน งบประมาณสร้างถนนเลยถมไม่รู้จบ แต่ละปีนับแสนล้านบาท
ประการที่สอง เมื่อบริการ รพ.รัฐบาลถดถอย เพราะเหตุดังกล่าวในประการแรก คนพอมีสตางค์ก็ยิ่งหนีไป รพ.เอกชนมากขึ้นมากขึ้น กลายเป็นภาวะงูกินหาง ผลักให้บริการ รพ.รัฐบาลถดถอยลงต่อไปอีก ประเทศมาเลเซียเป็นตัวอย่างในข่ายนี้ จึงไม่แปลกเมื่อพบว่า รัฐบาลมาเลเซียจ่ายเพื่อบริการสุขภาพ (8% ของรายจ่ายภาครัฐทั้งหมด) น้อยกว่ารัฐบาลไทยเกือบเท่าตัว (14%) แม้ว่าคนมาเลย์เกือบร้อยทั้งร้อยมีหลักประกันสุขภาพเหมือนคนไทย
ประการที่สาม ด้วยความเป็นจริง ณ วันนี้ว่า รัฐบาลแทบจะไม่ได้ควบคุมกำกับกิจการ รพ.เอกชนเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา คุณภาพบริการ ความปลอดภัย เมื่อกิจการ รพ.เอกชนขยายตัวสวนทางการถดถอยในกิจการ รพ.รัฐบาล ประกันสุขภาพเอกชนและการจ่ายจากกระเป๋าคนมีสตางค์จะค่อยๆ แทนที่ระบบหลักประกันสุขภาพ ผลที่ตามมาคือ คนไทยจะเสี่ยงต่อภาวะล้มละลาย สิ้นเนื้อประดาตัวมากขึ้นจากการใช้บริการ รพ.เอกชน การเข้าถึงบริการสุขภาพอาจจะถดถอยตามมาสำหรับคนไม่มีตังค์พอจะจ่ายค่าบริการ รพ.เอกชน และไม่อยากทนรอคิว รพ.รัฐบาล โปรดสังเกตว่านับวันโฆษณาขายประกันสุขภาพเอกชนขยายตัวมากขึ้น นี่อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ความเป็นไปที่กล่าวมา
ประการสุดท้าย ชะตากรรมระบบเศรษฐกิจไทยอาจจะเหมือนของสหรัฐอเมริกา ในความหมายว่า ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการจะจมไปกับรายจ่ายสุขภาพมากจนอำนาจแข่งขันถดถอย ธุรกิจที่แข็งแรงในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐคือ รพ.เอกชน ประกันสุขภาพเอกชน และบริษัทยา/เครื่องมือแพทย์ แม้ว่าระบบเศรษฐกิจภาพรวมอ่อนแอลง ศูนย์วิจัยยานยนต์ของสหรัฐเคยเผยตัวเลขต้นทุนค่ารักษาพยาบาลพนักงานอันเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนทั้งหมดของรถแต่ละคันที่บริษัท เจนเนอรัลมอเตอร์ (จีเอ็ม) ผลิตเท่ากับ 1,525 ดอลลาร์ คิดเป็น 5 เท่าของตัวเลขเดียวกันสำหรับรถโตโยต้า 1 คัน จึงไม่น่าแปลกที่ส่วนแบ่งตลาดของรถจีเอ็มถดถอย เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากราคาแพงกว่ารถโตโยต้า และต่อมาโตโยต้าได้เข้าแทนที่ 3 ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกที่เคยครองแชมป์อันดับ 1
ผมหวังว่าฝันร้ายดังกล่าวจะไม่เป็นจริง และหวังว่าคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติภายใต้การกำกับของ คสช. จะได้ตระหนักและมองหาหนทางหลีกหนีจากฝันร้ายนี้.
“ความจริงที่รู้กันในวงแคบคือเฉพาะ รพ.กระทรวงสาธารณสุขงบประมาณทุกๆ 100 บาท เป็นค่าแรงเกือบ 60 บาท เมื่อเป็นอย่างนี้ส่วนที่เหลือไว้เป็นค่ายา ค่าปรับปรุงอาคารสถานที่ ค่าเครื่องมืออุปกรณ์ก็ย่อมน้อยตามไปด้วย จึงไม่แปลกที่คิวตรวจ รพ.รัฐบาลยาวเฟื้อยคนไข้ต้องนอนหน้าลิฟต์”

ที่มา : ไทยโพสต์

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  21st Aug 14

จำนวนผู้ชม:  35650

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง