Sub Navigation Links

webmaster's News

โรคอ้วนในเด็ก...อันตรายมากกว่าที่คุณคิด โดย รศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์



โรคอ้วนในเด็ก...อันตรายมากกว่าที่คุณคิด โดย รศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์



คอลัมน์ รักษ์ลูก รักครอบครัว

ตอน โรคอ้วนในเด็ก...อันตรายมากกว่าที่คุณคิด

โรคอ้วนในเด็ก...อันตรายมากกว่าที่คุณคิด

ปัจจุบันโรคอ้วนกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญและพบมากขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จนกระทั่งปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นโรคระบาดทั่วโลกแล้ว แต่เดิมเราคิดว่าโรคอ้วนเป็นโรคที่เป็นปัญหาเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ปัจจุบันพบว่าโรคอ้วนและโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดแข็ง โรคหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงฯเป็นโรคที่เริ่มต้นจากวัยเด็กแล้วค่อยมีอาการแสดงเห็นชัดเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่และอุบัติการณ์โรคอ้วนในเด็กก็เพิ่มขึ้นทั่วโลกเช่นเดียวกัน จากการวิจัยในประเทศไทยปี พ.ศ.2539 และ 2544 เด็กไทยวัยก่อนเรียนและวัยเรียนมีความชุกของโรคอ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 และ 15.5 ตามลำดับภายในระยะเวลา 5 ปี และตัวหมอเองเคยทำการวิจัยพบว่าเด็กนักเรียนชั้นมัธยมต้นของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯเป็นโรคอ้วนมากถึงร้อยละ 25

โรคอ้วนในเด็ก สามารถแบ่งตามสาเหตุได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1.โรคอ้วนแบบธรรมดา (simple obesity) เกิดจากการกินอาหารมากเกินไปทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากกว่าที่ร่างกายใช้ พลังงานที่เหลือใช้จะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในร่างกาย เมื่อไขมันถูกสะสมมากๆ ก็ทำให้เป็นโรคอ้วน

2.โรคอ้วนที่มีสาเหตุจากโรคทางกาย (pathological obesity)ได้แก่

   2.1 โรคทางพันธุกรรมหรือเป็นแต่กำเนิด เช่น  Down’s syndrome , Prader-willi syndrome ฯ เด็กเหล่านี้มักมีหน้าตา ลักษณะที่แปลกและมีลักษณะเฉพาะตัวที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคเหล่านี้

  2.2 โรคต่อมไร้ท่อ เช่น ขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต(growth hormone) ทำให้เด็กอ้วนแต่ตัวเตี้ย โรคไทรอยด์ฮอร์โมน(thyroid hormone)ต่ำเด็กจะอ้วนแต่ตัวเตี้ยและมีสติปัญญาต่ำกว่าปกติ

   2.3 จากการได้รับสารสเตียรอยด์(steriod)มากเกินไป เด็กจะอ้วน เตี้ย หน้ากลมเหมือนพระจันทร์ มีขนและหนวดดก

ดังนั้นในเด็กอ้วน ถ้าหากพบมีหน้าตาแปลกเหมือนกลุ่ม syndrome หรือมีขนหรือหนวดดกผิดปกติ หรือตัวเตี้ย หรือมีสติปัญญาต่ำ ให้สงสัยว่าอ้วนนั้นมีสาเหตุจากโรคทางกาย (pathological obesity) ต้องพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจ วินิจฉัยหาสาเหตูและวิธีรักษาตามสาเหตุนั้น

สาเหตุที่ทำให้เป็นโรคอ้วนแบบธรรมดา (simple obesity)  เกิดจาก

1.พันธุกรรม และ

2.สิ่งแวดล้อม ได้แก่ พฤติกรรมการกิน การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม กินมากเกินไปจนทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากกว่าที่ร่างกายใช้เช่น กินอาหารที่มีพลังงานสูง เช่น อาหารทอด อาหารที่มีไขมันสูง ของหวาน ฯลฯ  อิทธิพลของสื่อโฆษณาทำให้เด็กชอบกินขนม ลูกอม น้ำอัดลม อาหารขยะฯลฯตามที่เห็นโฆษณาในโทรทัศน์ การไม่กินผัก ผลไม้หรืออาหารที่มีใยอาหาร  วิถีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น เช่น การขึ้นลิฟท์หรือบันไดเลื่อนแทนการเดินขึ้นบันได การขึ้นรถยนต์แทนการปั่นจักรยานหรือเดิน  การใช้เครื่องซักผ้าแทนการซักด้วยมือ ฯ การไม่ออกกำลังกายและการเล่นเกมส์ คอมพิวเตอร์และดูโทรทัศน์มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากการวิจัยพบว่าเด็กที่เล่นเกมส์ คอมพิวเตอร์และดูโทรทัศน์มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวันจะเป็นโรคอ้วนมากกว่าเด็กที่เล่นเกมส์ คอมพิวเตอร์และดูโทรทัศน์น้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน

ผลเสียของโรคอ้วน ทำให้มีปัญหาและเป็นโรคต่างๆ ดังนี้

1.มีคนจำนวนมากคิดว่าเด็กอ้วนน่ารัก แข็งแรงและจะหายเองเมื่อเด็กโตขึ้น แต่จากการศึกษาพบว่าร้อยละ10-20 ของทารกที่อ้วนเมื่อโตขึ้นจะเป็นเด็กอ้วน ร้อยละ 40 ของเด็กอ้วนเมื่อโตขึ้นจะเป็นวัยรุ่นที่อ้วน และร้อยละ75-80 ของวัยรุ่นที่อ้วนจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน แสดงว่าเด็กอ้วนจะไม่หายและมีปัญหาเป็นโรคอ้วนเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

2.จากการวิจัยพบว่าเด็กที่อ้วนเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่จะมีอัตราการเสียชีวิตโดยทั่วไปและเสียชีวิตเนื่องจากโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่ าเด็กที่ไม่อ้วนถึง 2 เท่า

3.เบาหวาน

4.ไขมันในเลือดสูง

5.ความดันโลหิตสูง

6.โรคหลอดเลือดแข็งและตีบตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลงและกล้ามเนื้อหัวใจตาย เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลงหรือหลอดเลือดสมองแตกทำให้เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์และเสียชีวิตได้

7.ไขมันพอกตับ ทำให้ตับอักเสบ แข็งและวายจนเสียชีวิตได้

8.นิ่วในถุงน้ำดี

9.ความดันในกะโหลกศีรษะสูงคล้ายกับการมีเนื้องอกในสมอง (psuedotumor cerebri) ทำให้มีอาการปวดศีรษะรุนแรงและอาเจียน

10.นอนกรน หยุดหายใจขณะนอนหลับ (sleep apnoea) จนทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำ มีผลเสียต่อร่างกาย สมอง หัวใจและปอดเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

11.ผลเสียต่อกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อที่ต้องแบกรับน้ำหนักตัวที่มากเกินไป

12.ผลเสียด้านจิตใจ เป็นปมด้อย ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ซึมเศร้า และอาจทำให้มีปัญหาพฤติกรรมการกินได้

จึงเห็นได้ชัดว่าโรคอ้วนไม่ใช่โรคของผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เป็นโรคที่เป็นตั้งแต่วัยเด็กแล้วมีการสะสมของไขมันมากขึ้นเรื่อยๆตามหลอดเลือด หัวใจ สมอง ตับและอวัยวะอื่นๆในร่างกายจนกระทั่งถึงจุดที่จะแสดงอาการของโรคต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ โรคอ้วนในเด็กและผู้ใหญ่จึงเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรงมากกว่าที่เราคิด

การรักษา  ได้แก่

1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ให้กินอาหารปริมาณลดลงและให้เหมาะสม ได้แก่ การงดกินอาหารที่มีพลังงานสูง เช่น ของทอด อาหารที่มีไขมัน ครีม นม เนยและน้ำตาลปริมาณสูงเพื่อให้ได้รับพลังงานน้อยกว่าที่ร่างกายใช้ ร่างกายก็จะไปย่อยสลายไขมันที่สะสมอยู่มาใช้เป็นพลังงาน น้ำหนักตัว ไขมันและความอ้วนจึงจะลดลง

และ2.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมวิถีชีวิต เช่น ทำงานบ้าน ซักผ้าด้วยมือ ขุดดิน รดน้ำต้นไม้ เดินขึ้นบันได ขี่จักรยานฯ และออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายใช้พลังงานเพิ่มขึ้น

และ3.พ่อ แม่ และทุกคนในครอบครัวที่ดูแลเด็ก เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา พี่เลี้ยงเด็กฯ ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี (role model)ให้เด็กเห็นและปฏิบัติตาม และที่สำคัญจะต้องร่วมมือในการดูแล รักษาเด็กทุกคนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่คนหนึ่งเข้มงวด อีกคนตามใจ การรักษาจึงจะได้ผลดี

ที่สำคัญการรักษาต้องทำทั้ง 3 วิธีดังกล่าวไปพร้อมๆ กันจึงจะได้ผลดี แต่เนื่องจากการรักษาโรคอ้วนเมื่อเป็นแล้วจะทำได้ยากมาก และมีอัตราความล้มเหลวสูง จึงควรหาทางป้องกันไม่ให้เป็นจะดีกว่าการรักษา

 คำแนะนำในการเลี้ยงดูเด็กเพื่อป้องกันโรคอ้วน

1. ส่งเสริมและสนับสนุนให้กินนมแม่นานอย่างน้อย 6 เดือน

2.ไม่สอนให้เด็กกินจุบจิบ พ่อแม่บางคนกังวลว่าเด็กจะหิว จะหาขนม ของว่างปรนเปรอเด็กและคะยั้นคะยอให้เด็กกินทั้งที่เด็กไม่ได้ขอ ทำให้เด็กกินอาหารเกินความต้องการและติดนิสัยกินมาก

2. ไม่ซื้อขนม นม และอาหารสะสมไว้ในบ้าน เพราะเมื่อมีของอยู่ในบ้านมาก เด็กจะไม่สามารถยับยั้งความอยากกินได้ ก็จะกินบ่อย ตลอดเวลา ครั้งละมากๆ และหมดในเวลารวดเร็ว ทำให้มีน้ำหนักเกินเป็นโรคอ้วนในที่สุด

3. สอนเด็กบริโภคผักและผลไม้ให้เป็นนิสัย แทนขนมและของว่าง ผักและผลไม้ที่ไม่หวานเป็นแหล่งอาหารอุดมด้วยวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย และยังมีใยอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย

4.สอนเด็กให้มีวินัยในการกิน กินอาหารเป็นเวลา ตักอาหารพอดีกิน ไม่ควรเตรียมอาหารมากเกินไปเพราะจะทำให้เกิดการกินแบบไม่ยั้ง สอนให้เคี้ยวอาหารให้ละเอียด และกินพอดีอิ่ม จะเป็นผลดีต่อสุขภาพ

5. ไม่สอนให้เด็กกินอาหารรสจัด ไม่ปรุงรสอาหาร ด้วยน้ำตาลทราย น้ำปลา และพริก เพราะทำให้เด็กติดอาหารรสจัดซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพ เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน อ้วน และความดันโลหิตสูง

6. ให้ลูกดื่มนมแต่พอดี พ่อแม่บางคนเข้าใจผิดให้ลูกดื่มนมมากๆ เพื่อต้องการให้ลูกได้แคลเซียมมากๆ เพื่อให้ตัวสูง แต่การดื่มนมมากเกินไป ดื่มเป็นลิตรทั้งกลางวันกลางคืน ไม่ทำให้เด็กสูงมากขึ้น แต่กลับเป็นสาเหตุของโรคอ้วนได้ เด็กเกิน 1 ขวบควรให้เลิกนมมื้อกลางคืนและเลิกดูดขวดนม ควรให้ดื่มนมจากแก้วหรือกล่อง เด็กควรกินนมวันละ 2-3 มื้อ

7. ลดกิจกรรมที่ไม่เคลื่อนไหวร่างกาย โดยเฉพาะการดูโทรทัศน์ซึ่งมักสัมพันธ์กับการกินขนมจุบจิบ มีข้อแนะนำเด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบไม่ควรดูโทรทัศน์ ให้เด็กดูโทรทัศน์ รวมการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรมีโทรทัศน์ในห้องนอน

8. สร้างนิสัยการออกกำลังกายในชีวิตประจำวันและการเล่นกีฬา เช่น การทำงานบ้านร่วมกับครอบครัว เดิน-ขี่จักรยานแทนการนั่งรถ เป็นต้น

9. หมั่นดูแลน้ำหนักตัว และ body mass index : BMI = น้ำหนักตัว (กก.)/ส่วนสูง (เมตร)2 ไม่ให้เกินกว่ามาตรฐาน

ที่มา : http://home.truelife.com/detail/700769/guru

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  13th Aug 14

จำนวนผู้ชม:  37499

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง