Sub Navigation Links

webmaster's News

คอลัมน์ ส่องสถานการณ์: ปฏิรูปประเทศไทย (5)



คอลัมน์ ส่องสถานการณ์: ปฏิรูปประเทศไทย (5)



นพ.วิชัย โชควิวัฒน
นอกจากมีส่วนสำคัญในการปฏิรูปการเมืองจนทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว ศ.นพ.ประเวศ วะสี ยังมีบทบาทสำคัญในการ “ปฏิรูป”ระบบสุขภาพจนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลดีแก่ประชาชนมากมาย เช่น เรื่องการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ การสร้างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เพื่อสร้างองค์ความรู้เชิงระบบเพื่อการปฏิรูประบบสุขภาพ การเคลื่อนไหวผลักดันจนเกิดสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ การสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการเกิดขึ้นของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพเป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะปฏิรูป เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและระบบ หลักการและเป้าหมายสำคัญคือ การสร้างองคาพยพที่หลากหลายขึ้นภายนอกกระทรวงสาธารณสุขแต่ยังเชื่อมโยงกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้มีองค์กรที่สามารถแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนได้อย่างเหมาะสมกับสภาพปัญหาสาธารณสุข และปัญหาสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ลำพังกระทรวงสาธารณสุขโดยเอกเทศย่อมไม่พอเพียงแก่การรับมือกับปัญหา และโดยสถานะที่เป็นส่วนราชการย่อมมีข้อจำกัดที่จะถูกครอบงำโดยอำนาจการเมืองโดยตรง จึงจำเป็นต้องสร้างกลไกใหม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และป้องกันการใช้อำนาจฉ้อฉลจากระบบการเมืองที่สามานย์ด้วย

จากประสบการณ์ในการปฏิรูประบบสุขภาพควบคู่กับการมองเห็นปัญหาและข้อจำกัดของการปฏิรูปการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2540 จึงทำให้มีการเคลื่อนไหวเรื่องการปฏิรูปมาอย่างต่อเนื่องโดยมีหลักการสำคัญคือจะต้องมีการปฏิรูปในภาคส่วนอื่นๆนอกเหนือจากการปฏิรูปการเมือง
ยุทธศาสตร์สำคัญที่ทำให้การปฏิรูประบบสุขภาพป ระสบความสำเร็จคือ ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ซึ่งมีหลักการสำคัญคือจะต้องทำ 3 อย่างควบคู่กันไป ได้แก่ ยุทธศาสตร์เรื่องความรู้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนภาคประชาสังคม และยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเรื่องนโยบาย

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ “ขุนพล” คนสำคัญที่ทำงานรณรงค์เรื่องบุหรี่และเป็นคนสำคัญที่ผลักดันจนเกิดสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้เขียนเล่าประสบการณ์การทำงานเคลื่อนไหวไว้อย่างน่าสนใจรวมพิมพ์เป็นหนังสือแล้วถึง 4 เล่ม มีข้อสรุปชัดเจนว่า งานทุกอย่างที่สำเร็จล้วนต้องใช้ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา หลายงานที่ใช้เพียง 1 หรือ 2 ยุทธศาสตร์ ล้วนไม่สำเร็จรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นตัวอย่างที่ดีที่สามารถขับเคลื่อนทั้ง3 ยุทธศาสตร์ กล่าวคือมีการสร้างองค์ความรู้ ขับเคลื่อนภาคประชาสังคมอย่างกว้างขวาง จนสามารถผลักดันผู้กุมอำนาจได้อย่างมีพลัง จนแม้แต่ เสนาะ เทียนทอง หัวหอกสำคัญที่คัดค้านรัฐธรรมนูญนี้ สุดท้ายก็ต้องประกาศในสภาขณะลงมติว่า “รับครับ” แต่หลังจากรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว การขับเคลื่อนขาดความต่อเนื่องโดยฐานความรู้เดิมก็ยังไม่พอเพียง และ “คน” ยังเป็นตัวปัญหาหลัก ในที่สุดการปฏิรูป จึงสะดุด

จากบทเรียนเหล่านี้ จึงเกิดขบวนการปฏิรูปประเทศไทยก่อหวอดทำงานมาอย่างต่อเนื่องโดยมีการกำหนดประเด็นศึกษาและนำเสนอเป็นระยะๆ ส่วนใหญ่การประชุมเกิดขึ้นที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จนเมื่อเกิดวิกฤตความรุนแรงเมื่อปี2553 จึงมีข้อเสนอจาก “ภาคประชาชน” ให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปและคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปขึ้น
คณะกรรมการปฏิรูปนำโดย อานันท์ ปันยารชุน และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปนำโดยศ.นพ.ประเวศ วะสี ทำงานเป็นอิสระต่อกัน แต่เชื่อมโยงกันทั้งสองคณะต่างวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาออกมาตรงกันว่า ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยคือ ความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำโดยมีการแปลหนังสือสำคัญที่เขียนถึงปัญหานี้ออกมา 2 เล่ม โดยนักแปลมือดีคือสฤณี อาชวานันทกุล คือ “ราคาของความเหลื่อมล้ำ”แปลจาก The Price of Inequality ของ Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล โจเซฟ สติกลิตซ์ ได้วิเคราะชี้ชัดว่าระบบเศรษฐกิจการเมืองของสหรัฐนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนชั้นบนร้อยละ 1 เท่านั้น ต้องไม่ลืมว่าสหรัฐเป็นเจ้าแห่งโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีอิทธิพลทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ระบบเศรษฐกิจการเมืองโลกปัจจุบัน เป็นระบอบเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) ซึ่งทำให้ความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำยิ่งมากขึ้น

หนังสืออีกเล่มหนึ่งคือ “ความ(ไม่)เท่าเทียม”แปลจาก The Sprit Level ของริชาร์ด วิลคินสัน และเคท พิกเคตส์ วิเคราะห์ปัญหาสังคมในประเทศร่ำรวย และ 50 รัฐในสหรัฐเปรียบเทียบกัน พบว่าปัญหาสังคมรวมทั้งปัญหาสุขภาพ เช่นท้องวัยรุ่น ยาเสพติด อาชญากรรม ในประเทศและรัฐที่มีความเหลื่อมล้ำสูงปัญหาเหล่านี้ก็จะสูงตาม
ทางแก้ปัญหาก็คือต้องลดความเหลื่อมล้ำคณะกรรมการปฏิรูปชุดอานันท์ได้จัดทำข้อเสนอการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำหลายเรื่องเช่ น การปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร มีข้อเสนอสำคัญคือการจำกัดเพดานการถือครองที่ดินไม่เกินครอบครัวละ 50 ไร่การสร้างความเป็นธรรมในระบบงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมมีข้อเสนอสำคัญให้แบ่งงบประมาณร้อยละ 5 จัดสรรตามระดับการพัฒนาของแต่ละจังหวัด จังหวัดใดยากจนจะได้รับงบประมาณมาก โดยให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและบริหารงบประมาณ

ข้อเสนอสำคัญที่สุดของคณะกรรมการปฏิรูปคือ ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจมีข้อเสนอสำคัญคือ ลดอำนาจส่วนกลาง ลดหรือยกเลิกอำนาจส่วนภูมิภาค เพิ่มอำนาจท้องถิ่นและเพิ่มบทบาทของภาคประชาชน
ในส่วนของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปมีการจัดตั้งเครือข่ายการปฏิรูปถึง 13 เครือข่ายเพื่อปฏิรูปด้านต่างๆได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศิลปิน องค์กรชุมชน ประชาสังคมจังหวัด การสื่อสารผู้เสียโอกาส คนเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ คนพิการ อุดมศึกษา ผู้ใช้แรงงานสตรี เกษตรกร เยาวชน มีการจัดสมัชชาปฏิรูประดับชาติ 3 ครั้ง ได้มติรวม 21 ข้อมีองค์กรและเครือข่ายต่างๆ เข้าร่วมกว่า 600 องค์กรและเครือข่าย

ทั้งคณะกรรมการปฏิรูปและคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปต่างขับเคลื่อนใน2 ยุทธศาสตร์คือ ยุทธศาสตร์ความรู้และยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนภาคประชาสังคมแต่ไม่ได้มีการขับเคลื่อนทางนโยบายโดยตรงความจริงในข้อเสนอเพื่อการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปทั้งสองคณะ มีการเสนอกลไกที่ 3 คือคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานด้วย แต่มีการตัดออกไป ทำให้การขับเคลื่อนทำไปเพียง2 ส่วนเท่านั้น จึงยากที่จะมีผลให้เกิดการปฏิรูปจริง ตราบใดที่ยังไม่มีการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่อีกครั้ง ในขณะที่คณะกรรมการทั้งสองคณะไม่ได้แตะเรื่องการปฏิรูปการเมืองโดยตรงเลย

ที่มา : โพสต์ทูเดย์

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  24th Jul 14

จำนวนผู้ชม:  35249

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง