Sub Navigation Links

webmaster's News

ผ่าตัด EIA/EHIA ลดความแตกแยก สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน



ผ่าตัด EIA/EHIA ลดความแตกแยก สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน



ผ่าตัด “EIA/EHIA”

นับได้ว่าประเทศไทยเข้าสู่โหมดของการปฏิรูป โดยที่ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูป เพราะหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าปกครองประเทศ ปัญหาต่างๆ ที่มีทั้งการซุกใต้พรม หรือถูกเก็บกด ก็ทะลักทะลายเหมือนเขื่อนแตก
ภายใต้การปกครองที่ต่างชาติบอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตย แต่กลายเป็นโอกาสทองของคนไทยอีกหลายกลุ่ม ที่มุ่งเดินหน้าเข้าหา คสช. ให้แก้ปัญหาที่พวกเขาประสบ ทั้งความอยุติธรรม การเอารัดเอาเปรียบ ความไม่โปร่งใส การได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ความล้าหลัง ไร้ประสิทธิภาพของกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ นานา เช่นเดียวกับกฎหมายการทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพหรืออีเอชไอเอ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีนักวิชาการ เอ็นจีโอ รวมตัวกันยื่นข้อเสนอให้คสช.พิจารณาปฏิรูปกฎหมายอีไอเอ และกฎหมายอีเอชไอของประเทศขึ้นใหม่
ประเด็นหลักของการเรียกร้องนี้ก็คือ การชี้ให้เห็นว่ากฎหมายอีไอเอ และอีเอชไอเอที่ใช้อยู่ในปัจจุบ ันไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริง อีกทั้งยังเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิชุมชนหลายด้าน นอกจากนี้ ทั้งกฎหมายอีไอเอ/อีเอชไอเอ ที่ใช้อยู่ยังเป็นชนวนที่นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม อย่างไม่รู้จบสิ้นอีกด้วย
ในการสัมมนาจัดเวทีเสวนาทางวิชาการเรื่อง “ผ่าตัด EIA/EHIA ลดความแตกแยก สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อหาข้อสรุปทำเป็นข้อเสนอต่อ คสช.ต่อไป โดยมีผู้ได้รับผลกระทบจากการทำ EIA/EHIA จากจังหวัดระยอง กระบี่ เลย อุดรธานี เข้าร่วมเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สมพร คำเพ็ง นักวิชาการสมทบ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อเสนอของที่เครือข่ายนักวิชาการด้านอีไอเอ/อีเอชไอเอ กำลังเสนอให้ คสช.พิจารณาปฏิรูปกฎหมายอีไอเอ/อีเอชไอเอ คือ การเสนอให้มีการจัดตั้ง “กองทุน” เพื่อประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนเพื่อสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นองค์กรอิสระ ไม่อยู่ใต้อำนาจของนักการเมือง
สำหรับกองทุนพิจารณาอีไอเอ/อีเอชไอเอนี้ มีสถานะกึ่งๆ องค์กรอิสระ จัดตั้งโดยรัฐ ตัวคณะกรรมการจะมาจากการสรรหา ขั้นตอนการดำเนินการ เมื่อมีโครงการมาให้ประเมิน 1.ทางกองทุนจะตั้งคณะทำงานกำกับการจัดทำรายงาน โดยมีผู้แทนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเจ้าของโครงการจะต้องส่งเงินสนับสนุนเข้ากองทุน 2.จัดกระบวนการให้ข้อมูลอย่างรอบด้านกับชุมชน 3.การลงพื้นที่จริงเพื่อศึกษาหาข้อมูล หรือที่เรียกว่าการทำ Public Scooping 4.นำข้อมูลที่ได้จากการทำ Public Scooping มาจัดทำเป็น TOR เพื่อเปิดคัดเลือกทีมที่ศึกษาอีไอเอ ซึ่งเป็นที่ทุกฝ่ายยอมรับ หรือให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการศึกษา หรือให้มีทีมศึกษาในประเด็นที่ชุมชนสนใจแยกต่างหากก็ได้
5.หลังจากได้ข้อมูลจากทีมที่ศึกษาแล้ว สผ.ซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรอิสระหลังการปฏิรูปอีไอเอ/อีเอชไอเอ จะทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร และบ รรจุวาระการประชุมให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณา
ส่วนบทบาทของ คชก.จะแตกต่างจากเดิม ที่การพิจารณาอีไอเอจะทำแค่การพิจารณาในห้อง ก็เปลี่ยนมาเป็นการลงพื้นที่จริงก่อนการประชุมรายงานอีไอเอดังกล่าว พร้อมทั้งต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนชี้แจงข้อมูลกับ คชก.โดยตรง รวมทั้งให้มีตัวแทนชุมชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมเป็น คชก.ในการพิจารณาโครงการด้วย
หลังจากผ่านขั้นตอนแรกในการตรวจสอบอีไอเอแล้ว หากมีการอนุมัติโครงการ ก็จะต้องมีการขั้นตอนหลังจากอีไอเอคือ การสนับสนุนเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการร่วมกำกับติดตามตรวจสอบ ผลกระทบที่มาจากโครงการ ที่สำคัญในขั้นตอนหลังนี้ก็คือ ผลจากการติดตามหากพบว่าโครงการมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชุมชนจริง ก็สามารถให้ระงับหรือยุติโครงการได้
สมพรกล่าวว่า ส่วนการศึกษาอีไอเอ ปัจจุบันนั้นจะให้สิทธิเจ้าของโครงการจะเป็นผู้จ้างนักวิชาการทำรายงานอีไอเอหรืออีเอชไอเอเองโดยตรง ซึ่งทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่สามารถประเมินผลกระทบได้อย่างเที่ยงตรงตามหลักวิชาการได้
“แม้จะมีการจ้างนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมาศึกษา แต่พวกอาจารย์ก็มีสถานะเหมือนลูกจ้างบริษัทเจ้าของโครงการ เพราะถ้าโครงการไม่ผ่านอีไอเอ ทีมที่ศึกษาก็จะไม่ได้รับเงินค่าจ้างส่วนที่เหลือ ที่เขาแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ดังนั้น นักวิชาการจึงต้องพยายามทำรายงานยังไงก็ได้ให้อีไอเอผ่าน ซึ่งข้อมูลในผลศึกษากับไม่ตรงกับความเป็นจริง และถ้าโครงการไม่ผ่านการประเมิน ก็จะมีสิทธิ์เจ้าของโครงการแก้ไขรายงานแล้วส่งกลับมาใหม่ ให้ คชก.พิจารณา กี่ครั้งก็ได้ “
สมพรชี้อีกว่า ในความเป็นจริงอีไอเอที่ทำอยู่ ไม่มีการประเมินผลกระทบในระดับนโยบาย ชุมชนที่ได้รับผลกระทบมักถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมกระบวนการประเมินผลกระทบ ขณะที่ สผ.ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร และบรรจุวาระการประชุมให้ คชก.พิจารณา ก็ไม่มีความเป็นอิสระ ถูกครอบงำโดยนักการเมือง จะเห็นได้ว่าตำแหน่งเลขาฯ สผ. จะมาจากนักการเมืองทั้งนั้น”
นักวิชาการรายนี้กล่าวอีกว่า ส่วนการพิจารณาของ คชก.นั้น ก็เป็นการตัดสินใจโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ซึ่บขาดองค์ประกอบจากภาคสังคม ชุมชนที่ได้รับผลกระทบไม่ได้มีโอกาสร่วมชี้แจงข้อมูลและร่วมพิจารณารายงาน นอกจากนี้ ในการพิจารณาของ คชก.เองยังแทบไม่เคยลงพื้นที่ ยกเว้นโครงการโรงไฟฟ้าที่เขาหินซ้อน ซึ่งต่อมาโครงการได้ตกไป เพราะชาวบ้านเข้มแข็งมาก มีหลักฐานยืนยันเรื่องผลกระทบชัดเจน แม้แต่ข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาอีไอเอ ก็ไม่สามารถหักล้างได้
“การทำอีไอเอปัจจุบัน ยังไม่สะท้อนความเสี่ยงด้านสุขภาพและความไม่ชัดเจนถึงมาตรการลดผลกระทบ นอกจากนี้ ยังไม่มีการติดตามตรวจสอบว่าโครงการปฏิบัติตามอีไอเอ/อีเอชไอเอหรือไม่”
นอกจากระดับโครงสร้างของการทำอีไอเอแล้ว ในระดับกรอบแนวคิดของการปฏิรูป เครือข่ายอีไอเอ/อีเอชไอเอ ยังเสนอว่าการศึกษาอีไอเอยังควรทำการประเมินในระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Enviroment Assessment : SEA) เพิ่มการศึกษาความเหมาะสมและคุ้มประโยชน์ควบคู่การทำจัดอีไอเอ/อีเอชไอเอ และมีการวิเคราะห์ต้นทุนสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย พร้อมกับปรับปรุงกฎกติกาที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพ เพิ่มที่ปรึกษาทางวิชาการของชุมชน และการศึกษาสามารถนำไปสู่การยกเลิกโครงการ หากข้อมูลอีไอเอ/อีเอชไอเอบ่งชี้ว่ามีผลกระทบที่รุนแรงเกิดขึ้น
“เราต้องปรับปรุงให้มีการวิเคราะห์ผลระดับโครงการ ไม่ได้พิจารณาภาพรวมในระดับพื้นที่หรือรายสาขา ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชุมชน ที่ได้รับผลกระทบกับเจ้าของกิจการ หรือหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่อนุมัติ โครงการ”
สมพรให้ภาพอีกว่า ทำไมอีไอเอ/อีเอชไอเอจึงมีปัญหาและสมควรได้รับการปฏิรูปว่า เดิมทีกฎหมายสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในปี 2518 ซึ่งสมัยนั้นรัฐเป็นผู้ควบคุมเบ็ดเสร็จใน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งกฎหมายนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความตระหนักในสิ่งแวดล้อม แต่เกิดขึ้นจากในช่วงนั้นประเทศไทยต้องกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อมาทำโครงการใหญ่ๆ ซึ่งต่างประเทศจะไม่ให้เงินหากไทยไม่มีกฎหมายสิ่งแวดล้อม ส่วนกฎหมายอีไอเอฉบับแรก เกิดขึ้นในปี 2521 แต่ออกแบบกฎหมายแค่ประโยชน์ตรงลดผลกระทบ เพื่อจะได้เงินกู้มาลงทุนเท่านั้น โดยที่แนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้เปลี่ยนไปจากจุดเริ่มต้น
ต่อมาปี 2529 เริ่มเกิดโครงการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และมีหลายโครงการในมาบตาพุด ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่าในกฎหมายกำหนดให้ชุมชนมีส่วนร่วม แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่ได้เป็นจริงเป็นจัง ต่อมาในปี 2546 จึงมีแนวคิดปฏิรูปกฎหมายอีไอเอครั้งใหญ่ แต่แนวคิดนี้ก็ล้มไป เพราะมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อมาปี 2550 ก็มีการผลักดันให้แก้ไขกฎหมายอีไอเออีก เพราะโครงการมาบตาพุดได้ส่งผลกระทบรุนแรง จนชาวบ้านต้องฟ้องศาลปกครอง และทำให้เกิดคณะกรรมการ 4 ฝ่าย และเกิดคณะกรรมการอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ในเวลาต่อมา แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถยุติปัญหาความขัดแย้งได้ โดยเฉพาะโครงการที่ชาวบ้านระบุว่ามีผลกระทบรุนแรง ทั้งปิโตรเคมี หรือโครงการเหมืองโปรแตส ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ไม่ได้ยุติอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งนี้เพราะนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ กำหนดนิยามคำว่า “รุนแรง” แตกต่างไปจากชาวบ้าน
นักวิชาการรายนี้กล่าวต่อว่า ในความเป็นจริง อีไอเอ/อีเอชไอเอ ควรเป็นเครื่องมือปกป้องสิทธิชุมชน และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ถ้ามีผลกระทบเกิดขึ้นก็ควรจัดการได้ ไม่ใช่การทำให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ผลประโยชน์ แต่ในความเป็นจริง ทั้งอีไอเอ/อีเอชไอเอ กลับทำไม่ได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยังเป็นตัวเร่งให้ชุมชนล่มสลาย เกิดวงจร จน เจ็บ ตาย เพราะโครงการต่างๆ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม อีไอเอ/อีเอชไอเอที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นทุกข์ของคนไทย ชาวบ้านกินข้าวในนาตัวเองไม่ได้ หรือกินน้ำในพื้นที่ในชุมชนไม่ได้ หรือพอเจ็บป่วยเพราะได้รับผลกระทบจากโครงการ ก็ต้องไปใช้เงินจากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการรักษา โดยที่เจ้าของโครงการลงทุนไม่ได้เป็นผู้จ่ายค่ารักษาให้กับชุมชน นอกจากนั้น ในการทำอีไอเอ/อีเอชไอเอโครงการใหญ่ๆ ยังมีความพยายามปรับข้อมูลแก้เรื่องผลกระทบมายาวนานหลายสิบปีอีกด้วย
การไม่ได้มีส่วนร่วมของชาวบ้านในการทำอีไอเอ สมพรยกตัวอย่างที่เห็นชัดคือ โครงการเหมืองโปแตสที่อุดรฯ อีไอเอเจ้าของโครงการบอกว่าไม่มีผลกระทบรุนแรง แต่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ถูกกีดกัน เอาทหาร ตำรวจมาล้อมไว้ไม่ให้เข้าเวทีรับฟังความเห็น แล้ว สผ.และ คชก.ก็บอกว่าอีไอเอผ่าน ทั้งที่การเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนไม่ได้เกิดขึ้นจริง หรือในขั้นทบทวนรายงาน ก็มีการไปจัดทำความคิดเห็นในค่ายทหาร ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยเข้าไปไม่ได้ มีการส่งเอกสารให้ สผ.พิจารณา แต่ไม่มีการส่งให้ กอสส.พิจารณา และ คชก.ก็ให้ผ่าน
ต่อมาในการไต่สวนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้แทน สผ.ตอบปัญหาขัดแย้งที่เกิดขึ้นว่า ชาวบ้านจะทำเหมือน 10 ปีที่แล้วคือ ต่อต้านโครงการ และยังบอกแทนในส่วนบริษัทเจ้าของโครงการว่า ได้รับรู้ความห่วงกังวลด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว และนำมาประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้แล้ว ส่วนกรณีเหมืองทองคำที่ จ.เลย ซึ่งเจ้าของโครงการกลัวเกิดเหมือนเหตุการณ์เหมืองโปแตส ในเวทีรับฟังความเห็นก็มีการกีดกันไม่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม และไม่ต่างจากโรงไฟฟ้าที่กระบี่ ที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน หรือโครงการท่าเรือน้ำลึกที่ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช สผ.และ คชก.ประชุม เรื่องผลกระทบต่อระบบนิเวศถึง 7 ครั้ง แต่ข้อมูลเป็นคนละชุดกับสิ่งที่ชาวบ้านระบุ แต่ในที่สุดอีไอเอโครงการนี้ก็ผ่าน เลยเป็นปมขัดแย้งระหว่างบริษัทกับชาวบ้าน แม้คุยกันมา 2 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ดังนั้น ชาวบ้านจึงยกพลขึ้นบก ทำให้บริษัทที่ลงทุนต้องล่าถอยไปในที่สุด
“กระบวนการอีไอเอ/อีเอชไอเอ บ้านเรามีปัญหา และทั้งหมดนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม น่าแปลกใจว่า ทำไม สผ.และ คชก.รู้ทั้งรู้ว่ามีปัญหาแล้วยังให้ผ่าน แม้มีหลักฐานผลกระทบ แต่ก็ยังให้ผ่าน เพราะฉะนั้น เราจึงจำเป็นต้องมีข้อเสนอการปฏิรูป เพื่อให้กระบวนการอีไอเอทำไปอย่างตรงไปตรงมา” สมพรกล่าว และว่า การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่ควรมองแค่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ควรมองกระบวนการทางสังคมด้วย และโครงการที่ดีต้องคำนึงถึงสุขภาพของประชาชน จึงจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และไม่มีความขัดแย้งกันในสังคม
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า มีความพยายามปฏิรูปอีไอเอมานานแล้ว และล่าสุดนายบัณฑูรย์ เศรษฐศิโรตม์ จากสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์สมพร เพ็งคำ ได้ยื่นหนังสือให้ คสช.พิจารณา
ในความเป็นจริงที่ผ่านมา กระบวนการทำอีไอเอสร้างความขัดแย้งมานานแล้ว เสียงของชาวบ้านถูกละเลยไม่ได้รับความสนใจมานาน ในปี 2545 ชาวบ้านเขื่อนปากมูลมาเรียกร้องที่กรุงเทพฯ แต่นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นผู้ว่าฯ กทม.สมัยนั้น สั่งให้รื้อเต็นท์ของชาวบ้านออกไป ชาวบ้านจึงกลับไปด้วยน้ำตา หรือในปี 2541-45 ก็มีการคัดค้านอีไอเอ โครงการสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูด เหตุการณ์นั้นทำให้สังคมเริ่มรับรู้ว่า การทำอีไอเอบ้านเรามีปัญหา คำถามคือ ทำไมสังคมและชาวบ้านไม่ยอมรับอีไอเอที่โครงการทำและรัฐอนุมัติ และเกิดการตั้งคำถามในตัวกฎหมาย ตลอดไปจนถึงโครงสร้าง ตัวกระบวนการของอีไอเออีกด้วย
ต่อมาในปี 2550 เกิดเหตุการณ์มาบตาพุด ชาวบ้านฟ้องศาลปกครองขอให้ระงับโครงการปิโตรเคมีในมาบตาพุดทั้งหมด 76 โครงการ เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพคนในชุมชน และทั้ง 76 โครงการไม่ผ่านความเห็นของ กอสส.ซึ่ขณะนั้นไทยยังไม่มีคณะกรรมการชุดนี้เกิดขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นที่มาทำให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พร้อมกับมีการจัดตั้ง กอสส.
เพ็ญโฉมยกตัวอย่างเพื่อชี้ให้เห็นว่ากระบวนอีไอเอมีปัญหาอย่างไร และข้อมูลในอีไอเอกับความเป็นจริงไม่ตรงกันว่า ในโครงการเอทธิลีนออกไซด์และเอทธิลีนไกลคอล (ส่วนขยาย) ของบริษัท ทีโอซีไกลคอล จำกัด ซึ่งขอขยายการผลิตจาก 8 หมื่นตันเป็นประมาณ 1..แสนตัน นับว่าเป็นการขยายที่เยอะมาก ซึ่งสารเคมีที่ใช้ในการผลิตเอทธิลีนฯ ล้วนเป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อคณะกรรมการ กอสส.ลงพื้นที่แล้วพบว่า มีข้อสงสัยในรายงานอีไอเอของบริษัทที่ระบุว่า มีการใช้สารเคมีในการผลิตแค่ 22 ตัวเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ต้องใช้สารเคมีในการผลิตถึง 34 ตัว เพราะฉะนั้น อีไอเอที่บริษัทว่าจ้างให้จัดทำ จึงไม่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นจริง ข้อมูลบางอย่างสูญหายไป ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญ เพราะหากมีการใช้สารเคมี 22 ตัว ก็ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะก่อให้เกิดมลพิษในอากาศมากน้อยเท่าไหร่ ซึ่งในอีไอเอของบริษัทไม่ได้บอกไว้ และยิ่งถ้ามีสารเคมีถึง 34 ตัวก็ย่อมทำให้มีมลพิษในอากาศเพิ่มมากขึ้น
“แค่สารเคมี 22 ตัว ในอีไอเอ ยังไม่ได้บอกว่าจะส่งผลต่อมลพิษเท่าไหร่ ยังไง อากาศที่คนหายใจเข้าไปจะมีสารพิษกี่ตัว หรือส่งผลระบบต่อการหายใจผิดปกติมากน้อยแค่ไหน หรือจะทำให้หญิงท้องคลอดลูกพิการไหม สิ่งเหล่านี้ไม่มีในอีไอเอที่บริษัททำ”
เพ็ญโฉมชี้อีกว่า เรื่องสารเคมีในโครงการปิโตรเคมี เป็นสิ่งที่ชาวบ้านย่อมไม่มีความรู้ ความเข้าใจ ดังนั้น การจะให้ชาวบ้านบอกว่ามลพิษที่สารเคมีปล่อยออกมามีอันตรายมากน้อยแค่ไหน มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร จึงเป็นสิ่งเป็นไปไม่ได้ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นเป็นคนให้ข้อมูล หรือแม้แต่โครงการเมืองทองคำ ซึ่งต้องมีการใช้สารเคมีในการผลิต แต่เป็นสารพิษแบบไหน หรือมีการปล่อยน้ำเสียที่สารพิษออกมาปนเปื้อนแหล่งน้ำ หรือมีการปล่อยไซยาไนด์สู่สิ่งแวดล้อมหรือไม่ เป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่อาจรู้ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้บอกไว้ในอีไอเอของโครงการ
“ในกรณีเอทธิลีนออกไซด์ ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ ชาวบ้านไม่มีทางเข้าใจ ดังนั้น ในการทำอีไอเอ ควรต้องเปิดให้ชาวบ้านมีที่พึ่ง มีนักวิชาการ”
อย่างไรก็ตาม เพ็ญโฉมระบุอีกว่า ประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมานั้น ยังเป็นปัญหาในเรื่องช่วงต้นๆ ของการทำอีไอเอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หลังจากโครงการผ่านความเห็นชอบ ยังควรต้องมีระบบตรวจสอบติดตามภายหลังอีกด้วย หรือที่เรียกว่า Post EIA/EHIA Monitoring ว่าบริษัทได้ดำเนินการลดผลกระทบจริงอย่างที่ระบุไว้ในอีไอเอหรือไม่อย่างไร และในความเป็นจริงมีการปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้นกว่าที่กำหนดในอีไอเอหรือไม่ อย่างกรณีบริษัท ทีโอซี ไกลคอลฯ ซึ่งในอีไอเอระบุว่า เจ้าของโครงการต้องลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ไม่มีใครบอกได้ว่า เขาทำจริงหรือไม่ หรือมีการส่งรายงานให้ สผ. ที่เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลหรือไม่
“ในช่วงที่ผ่ามา 2-3 พันโครงการ ไม่ได้มีการทำ Post EIA/EHIA Monitoring ประเด็นนี้เป็นก้อนใหญ่อีกก้อน นอกเหนือจากกระบวนการเริ่มต้นทำอีไอเอช่วงแรกที่เราต้องปฏิรูป” เพ็ญโฉมกล่าว.

ที่มา : http://www.thaipost.net และ ไทยโพสต์

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  21st Jul 14

จำนวนผู้ชม:  35176

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง