Sub Navigation Links

webmaster's News

คอลัมน์ ลมตะวันออก: โจมตี ‘ค่ายา’



คอลัมน์ ลมตะวันออก: โจมตี ‘ค่ายา’



การแพทย์ การรักษา ยารักษาโรค ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ จึงเห็นได้ว่า ผู้ที่ทำอาชีพเกี่ยวกับด้านนี้จึงมักจะมีแต่รวยกับรวยขึ้นตลอด เมื่อเป็นเช่นนั้น การคิดค้นยาและวิธีรักษาโรคเพื่อนำมาบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ที่เจ็บป่วยจึงกลายเป็นระบบธุรกิจมากขึ้นไปเรื่อยๆ
อย่างที่ได้เห็นได้ยินมาก็มีมากมาย โรงพยาบาลหลายแห่งเลือกที่จะจ่ายยาฝรั่งราคาแพง แทนที่จะจ่ายยาที่มีคุณสมบัติเหมือนกัน หรือแทบจะเท่ากัน ซึ่งเป็นยาที่หมดลิขสิทธิ์แล้วสามารถผลิตได้เองในราคาย่อมเยา เพียงเพราะเชื่อคำโฆษณาเกินจริงของเซลล์ หรือเป็นเพราะนโยบายโรงพยาบาลที่ต้องการให้มีกำไรมากขึ้น หรือหนักไปกว่านั้นก็คือเพราะต้องการค่าคอมมิชชั่น ที่ทางบริษัทยาจ่ายให้
สิ่งเหล่านี้กลายเป็นรูปแบบที่ลามไปทั่วโลก ธุรกิจยาที่เคยเน้นการช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ จึงกลายเป็นธุรกิจขูดรีดชีวิตของมนุษย์ด้วยกัน ปัญหาก็คือ รูปแบบเหล่านี้ไม่สามารถรับมือหรือทำอะไรได้เลยหรือ? และหากมีการแทรกแซงระบบธุรกิจแบบนี้ จะทำให้ไม่มีการลงทุนเพื่อทำการวิจัยตัวยาใหม่ๆ ในโลกตามที่มีการกล่าวอ้างจริงหรือ?
ความฟอนเฟะที่อยู่ในธุรกิจการแพทย์อาจจะมีหลายอย่างแต่อย่างน้อยเรื่อง “ค่ายา” นี้ ก็มีประเทศจีนประเทศหนึ่งที่เริ่มต้นลงมือทำอะไรบางอย่าง และจากการลงมือเพียงปีเดียว ได้ทำให้กำไรในธุรกิจวงการยาหดหายไปอย่างเห็นได้ชัด และทำให้ค่ายาลดลงจนถึงขั้นที่บริษัทยาหลายแห่งต้องกลับมาทบทวนนโยบายกลยุทธ์ ผลกำไร และรายได้ที่ตนเองประเมินไว้กันใหม่เลยทีเดียว
ในปีที่ผ่านมา มองแบบกว้างๆ บริษัทยาในตลาดหุ้นประเทศจีนกว่า 60 แห่งนั้นเฉลี่ยแล้วมีผลกำไรลดลงจาก 15% ในปี 2012 เหลือเพียงราว10% ในปี 2013 ที่ผ่านมา ส่วนรายได้สุทธิลดลงเฉลี่ย 2.1%ซึ่งผิดกับหลายปีที่ผ่านมาที่แต่ละเปิดเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่เกือบ 20%
ต้องบอกว่า ตลาดยาในประเทศจีนนั้น ถือเป็นเค้กชิ้นโตเพราะเป็นตลาดที่ใหญ่ในที่สุดในกลุ่มตลาดใหม่หลังจากที่ตลาดยาในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเริ่มชะลอการเติบโตประเทศจีนก็ยิ่งกลายเป็นเหมือนเนื้อชิ้นใหญ่ที่เหล่าบริษัทและโรงงานยานานาชาติจากทั่วโ ลกหวังจะเข้ามาขย้ำ และจากสถิตินั้น ประเมินกันว่าภายในเวลา 3 ปี จีนจะขยับมาเป็นตลาดยาที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
ในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่มีการปรับปรุงและพัฒนาระบบสาธารณสุขภายในประเทศจีน ซึ่งทางการจีนได้ลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาล ขณะเดียวกันก็ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์รวมไปถึงอาหารเสริมทั้งหลายเติบโตและสร้างกำไรกันอย่างสนุกสนาน
แต่เมื่อผ่านมาระยะเวลาหนึ่ง จีนมีความจำเป็นจะต้องดำเนินนโยบายควบคุมต้นทุนเมื่อการเติบโตทางธุรกิจการแพทย์และเวชภัณฑ์เริ่มถึงขั้นฟอนเฟะ ก็ต้องมีการปราบปราม ควบคุมตรวจสอบ อย่างในปีที่แล้ว มีการตรวจสอบผู้บริหารของบริษัทผลิตยาใหญ่จากต่างชาติจากบริษัทหนึ่ง ทำให้ในปีนี้มีผู้บริหารและพนักงานระดับสูงหลายคนถูกฟ้องร้องในข้อหาติดสินบน
และเมื่อบรรยากาศแบบนี้แพร่สะพัดออกไป บวกกับปฏิบัติการที่มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นของทางการ ย่อมเป็นการกดดันให้ราคายา และการเล่นตุกติกเพื่อขายยา แล้วโยนภาระให้กับผู้บริโภคซึ่งก็คือผู้ป่วยนั้นลดลง แถมยังเป็นการลดลงอย่างเป็นรูปธรรมเสียด้วย
เมื่อการตรวจสอบในปี 2013 นี้ บริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจในจีนต่างโดนกันถ้วนหน้า บรรยากาศแบบนี้เป็นการควบคุมรูปแบบธุรกิจในวงการยา ที่เน้นจะเอาแต่ทำกำไรและเติบโต เซลล์เองก็ไม่กล้าติดสินบนกันอย่างโจ่งแจ้งในขณะที่แพทย์ทั้งหลายก็กลัวจะโดนจับกุม ไม่กล้าแม้แต่จะนัดพบกับตัวแทนบริษัทจำหน่ายยา
จากการสำรวจพบว่า อัตราการเติบโตภาพรวมของปีที่ผ่านมานั้นลดลงเหลือเพียง 17.9% จากที่ปี 2011 และ 2012 นั้นมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 28.8% และ 22.6% ตามลำดับและจากการประเมินพบว่า หากทางการจีนยังคงเดินหน้ากดดันเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายจากยารักษาโรคให้แก่ผู้บริโภคต่อไป เมื่อถึงปี 2020 แม้ว่าเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจด้านสาธารณสุขของจีนจะอยู่ที่ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่กำไรจากธุรกิจยาจะลดลงจาก 23.9% ในปี 2011 มาเหลือเพียง 5.2% เท่านั้น
รูปแบบการควบคุมและตรวจสอบนี้ จะบีบให้บริษัทจีนบางบริษัทต้องหลุดออกไปจากวงการ ในขณะที่บริษัทต่างชาติที่มีสิทธิบัตรยา ที่นิยมนำเอาสิทธิบัตรที่หมดอายุในประเทศ มาจดและผลิตจำหน่ายในต่างประเทศก็ยังจะทำกำไรอยู่ได้ในระดับหนึ่งแต่ก็จำเป็นต้องปรับตัว ปรับนโยบาย ปรับกลยุทธ์ในการอยู่รอดในตลาดที่มีนโยบายเช่นนี้
ส่วนบริษัทที่ไม่มีสิทธิบัตรพิเศษอยู่ในมือ ถ้าปรับตัวไม่ได้มีความแกร่งไม่พอ ก็จำเป็นต้องคายชิ้นเนื้อนี้เพื่อให้เป็นอาหารของผู้ที่แข็งแกร่งและมีความได้เปรียบกว่ารายอื่นท่ามกลางคู่แข่งที่มากกว่า 5,000 ราย หากไม่มีความพิเศษของตัวเอง ก็คงต้องบอกลาเหมือนกับ บริษัท Actavis ที่เพิ่งถอนตัวออกจากตลาดจีนโดยให้เหตุผลว่ามีความเสี่ยงเยอะเกินไป บรรยากาศการดำเนินธุรกิจไม่คุ้มเสี่ยง
เชื่อว่านโยบายและมาตรการของจีน น่าจะยังมีตามมาอีกเพราะวิสัยการออกนโยบายของจีนนั้นจะไม่ชอบให้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างตูมตาม แต่จะทยอยออกมาให้ปรับตัวทีละนิด อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงว่า สายตาของรัฐบาลปักกิ่งได้กวาดลงมาถึงเรื่องค่าย่า ซึ่งกลายเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญในการดำรงชีวิตของคนมากขึ้น
มองย้อนกลับมาประเทศไทย แม้ว่าเราจะมีนโยบายช่วยเหลือผู้ป่วยอยู่มากมายแต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่ทั่วถึง ต่างจังหวัดหลายแห่งยังขาดการเข้าถึงของสาธารณสุขที่มีคุณภาพความพร้อมรองรับของโรงพยาบาล และการบริการที่มีคุณภาพพอ และที่สำคัญคือ ค่าย่าที่แสนแพง และแพงขึ้นทุกวัน บวกกับความฟอนเฟะในวงการยาและการแพทย์โรงพยาบาลไทยเคยมีใครไปแก้ไขอย่างจริงจังรึยัง?

ที่มา สยามรัฐ

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  6th Jun 14

จำนวนผู้ชม:  34597

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง