Sub Navigation Links

webmaster's News

คอลัมน์ ชีวิตและสุขภาพ: “แนวทางดูแลสุขภาพ…ให้ลมหายใจ ไร้มะเร็งปอด”



คอลัมน์ ชีวิตและสุขภาพ: “แนวทางดูแลสุขภาพ…ให้ลมหายใจ ไร้มะเร็งปอด”




นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
ทุก ๆ วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีถือเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก หน่วยงานต่าง ๆ ได้มีการรณรงค์ให้ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าการสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็งปอด อีกทั้งการสูบบุหรี่ยังไม่ใช่เพียงแค่ก่อโรคร้ายให้ตัวเองเพียงคนเดียว แต่ยังส่งผลกระทบต่อบุคคลรอบข้างและคนที่เรารักด้วย
มะเร็งปอด เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งตับ และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง แต่ผู้ป่วยเพศหญิงก็พบสูงขึ้นด้วย เช่นกัน ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดส่วนใหญ่ มักจะมีประวัติการสูบบุหรี่ โดยทั่วไปพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่จัด 1 ซองขึ้นไปต่อวัน หรือผู้ที่สูดเอาควันบุหรี่เข้าไปจะมีอายุสั้นกว่าคนปกติทั่วไป 7-10 ปี และผู้ที่สูบบุหรี่ติดต่อกันยาวนานตั้งแต่ 10-20 ปี จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด รวมถึงการสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็มีอันตรายต่อสุขภาพและก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน เนื่องจากคนส่วนใหญ่ทราบว่าในบุหรี่ไฟฟ้า มีปริมาณนิโคตินน้อยกว่าบุหรี่จริง ทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความถี่ในการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงขึ้น จึงไม่แตกต่างจากการสูบบุหรี่จริง
สาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปอด นอก จากการสูบบุหรี่แล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปอดได้เช่นกันและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่น บุหรี่มือสอง (ได้รับควันบุหรี่จากคนรอบตัว) มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ผู้คนหนาแน่น หรือ เขตอุตสาหกรรม รวมทั้งสารบางชนิด เช่น แร่ใยหิน สารหนู โครเมียม นิกเกิ้ล น้ำมันดิน สารไฮโดร คาร์บอน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมี ควันไฟจากการเผาขยะการเผาป่าหรือกิจการทางการเกษตร ควันจากธูป ควันที่เกิดจากการประกอบอาหาร และยาลูกกลอน หรือในสมุนไพรจีนบางชนิดที่มีสารหนูปนเปื้อนควรหลีกเลี่ยง
อันตรายของมะเร็งปอด ก็เหมือนมะเร็งชนิดอื่น คือระยะแรก ๆ มักจะไม่มีอาการ จนกว่าโรคจะลุกลามไปมากแล้ว การตรวจพบในระยะเริ่มแรกเป็นไปได้ยาก การตรวจเอกซเรย์ปอด และการตรวจร่างกายประจำปีทั่วไปก็ไม่อาจตรวจพบมะเร็งปอด จะสามารถตรวจพบด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ ส่วนใหญ่จึงมีอาการที่โรคลุกลามแล้ว สัญญาณอันตรายของโรคมะเร็งปอดคือ ไอเป็นเวลานาน อาการไม่ทุเลาเหมือนการไอปกติ แต่กลับเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ หายใจเหนื่อยหอบ หายใจสั้น เสียงแหบ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไอ หรือ มีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก หัวไหล่ หลัง และแขนเป็นประจำ (อาจเป็นเพราะก้อนเนื้อเบียดกดอยู่) เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ลำคอ หรือ แขน รวมถึงเป็นโรคปอดบวม หรือหลอดลมอักเสบบ่อย ซึ่งหากผู้ป่วยรอสังเกตอาการผิดปกติดังที่กล่าวมา หรือมาพบแพทย์ เมื่อแสดงอาการแล้ว มักจะตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลุกลามมาก หรืออยู่ในระยะสุดท้ายแล้ว
ดังนั้น ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือผู้ที่สูดควันบุหรี่เป็นประจำ และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ รวมถึงผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็ง ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดสม่ำเสมอ ซึ่งในปัจจุบันผู้ป่วยมะเร็งปอดมีหนทางในการดูแลรักษา และส่งผลให้มีชีวิตที่ยืนยาวหรือดำรงชีวิตได้ดีขึ้น เมื่อได้รับการวินิจฉัยระยะแรกและมีการรักษาที่ถูกต้อง โดยมากผู้ป่วยมะเร็งปอดในระยะที่ 2 และ 3 เมื่อได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีสามารถหายเป็นปกติได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษาภายในเวลา 3-6 เดือนผู้ป่วยจะเสียชีวิต ซึ่งความก้าวหน้าในการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดสามารถทำได้โดย การเอกซเรย์ การเจาะเลือดตรวจหามะเร็งในเลือด ตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารบ่งชี้ อัลตรา ซาวด์ ถอดรหัสดีเอ็นเอ เพื่อแยกสายพันธุ์มะเร็งปอดในระดับโมเลกุล ส่วนการรักษาสามารถทำได้โดยการผ่าตัด การฉายแสง การใช้เคมีบำบัด และการใช้ยายับยั้งยีนเพื่อการรักษาตามเป้าหมาย
การจะรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดนั้น ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งที่ส่วนใดก็ตาม หลักการง่าย ๆ คือ ต้องกำจัดมะเร็งตั้งแต่ระยะแรก ก่อนที่มะเร็งจะเติบโตและเกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะสำคัญอื่น ๆ แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ ผู้ป่วยบางส่วนไม่กล้ามาพบแพทย์ เนื่องจากหวาดกลัวต่อวิธีรักษาและผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากการให้ ยาเคมีบำบัด หรือมาพบแพทย์ก็ต่อเมื่ออาการ อยู่ในระยะสุดท้ายแล้ว ซึ่งในปัจจุบันแนวทาง การรักษาและยามะเร็งนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เข้าใจ เนื่องจากได้มีการพัฒนาคิดค้นสูตรยา ใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง เกิดผลข้างเคียง กับผู้ป่วยน้อยลง และเอื้อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ ชีวิตได้อย่างปกติ แต่ทั้งนี้ความรักความเข้าใจ จากครอบครัว และกำลังใจอันเข้มแข็งของผู้ป่วย เอง จะเป็นพลังสำคัญให้ผู้ป่วยเอาชนะโรคร้ายได้สำเร็จในที่สุด
แต่ทางที่ดีเราควรดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง และป้องกัน…ให้ลมหายใจ ไร้มะเร็งปอด ซึ่งมีแนวทาง ดังนี้
1. การป้องกันขั้นปฐมภูมิ ซึ่งเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด โดยการหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็ง มลพิษ และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ ควรงดไม่ว่าจะเป็นบุหรี่จริง หรือบุหรี่ไฟฟ้า แต่อย่างไรก็ตาม การป้องกันขั้นปฐมภูมินี้ เป็นวิธีที่เป็นไปได้ยากมาก เพราะแค่ก้าวออกจากบ้านเราก็ได้รับสารก่อมะเร็งจาก ฝุ่นควัน และมลพิษต่าง ๆ แล้ว
2. การป้องกันขั้นทุติยภูมิ หรือเมื่อร่างกายได้รับสารก่อมะเร็งแล้ว ควรออกกำลังกายเพิ่มภูมิคุ้มกัน เมื่อเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งต่าง ๆ ได้ ก็ต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ บริโภคอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีสารต้านอนุมูลอิสระ เน้นผักและผลไม้ปลอดสารพิษ รวมไปถึงปลาทะเลต่าง ๆ
3. การป้องกันขั้นตติยภูมิ ด้วยการตรวจสุขภาพอยู่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะการตรวจคัดกรอง
ฉะนั้น มะเร็งปอดจะลดลงได้เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ลดลง แต่ด้วยเทคโนโลยี และมลพิษที่สูงขึ้น บวกกับภาวะโลกร้อน ทำให้การกระจายตัวของมลพิษมีมากขึ้นด้วย การป้องกันโรคมะเร็งปอดสามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งต่าง ๆ และตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี และหากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปอดแล้ว การรักษาจะช่วยลดความทรมานของผู้ป่วย ให้มีชีวิตอยู่ได้นาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

ที่มา เดลินิวส์

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  28th May 14

จำนวนผู้ชม:  35352

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง