Sub Navigation Links

webmaster's News

คอลัมน์ ชุมชนคนอาสา: เครือข่ายเดินหน้าฯระดมสมองครั้งแรกเปิดเวที’ถอดบทเรียน’หาแนวทางปฏิรูป



คอลัมน์ ชุมชนคนอาสา: เครือข่ายเดินหน้าฯระดมสมองครั้งแรกเปิดเวที’ถอดบทเรียน’หาแนวทางปฏิรูป



เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป (RNN-Reform Now Network) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรวิชาชีพ ทั้งภาคราชการ วิชาการ ธุรกิจเอกชน ประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์ กลุ่มเกษตรกร และอื่นๆ กว่า 70 องค์กร ได้จัดงาน ‘เวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 1′ หัวข้อ ‘ถอดบทเรียนกระบวนการปฏิรูปของไทย สู่การเดินหน้าปฏิรูป’ เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพื่อยืนยันพันธกิจ ‘เดินหน้าปฏิรูปทันที’ ตามที่ได้แถลงเปิดตัวไปเมื่อ 30 มกราคม ที่ผ่านมา

เวทีความคิดนี้ประกอบด้วยผู้มีประสบการณ์ตรงในการทำงานปฏิรูป ทั้งจากคณะกรรมการปฏิรูป (ชุดที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (ชุดที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน) ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อดีตเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ บอกว่า การปฏิรูปจะเกิดได้จริงต้องเป็นจินตนาการใหม่ของสังคม คือต้องนำเสนอความหวัง หรือสิ่งที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงออกไปอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ทำงานคณะกรรมการปฏิรูปยังไม่สามารถนำเสนอตรงนี้ออกไปยังสังคมได้อย่างทั่วถึง จึงขาดการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการปฏิรูป

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ ชุณหะรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ อดีตประธานเครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูปบอกว่า ถ้าจะออกแบบใหม่ในการปฏิรูปประเทศวันนี้ ควรจะเสริมให้มีกลไกที่มีอำนาจรวมอยู่ด้วย ไม่อย่างนั้นก็ได้แต่เสนอแนวทาง แต่ไม่เกิดผล ขณะเดียวกันก็ต้องมีกระบวนการแปลงสารทางวิชาการให้คนเข้าใจได้ง่ายๆ

ด้าน สุรพงษ์ พรมเท้า ถอดบทเรียน 15 ปีที่ทำงานกับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ว่า สามารถสร้างพลังงานอำนาจแบบอ่อน (Soft Power) แม้จะมีประชาชนเข้าร่วมถึง 4.7ล้านคน และทำงานเป็นระบบ ซึ่งมีการขับเคลื่อนตลอดปี แต่การจะขับเคลื่อนการปฏิรูปจะสำเร็จได้จำเป็นต้องมีพลังอำนาจแบบแข็ง (Hard Power) ด้วย ดังนั้น ต้องหากลไกเชื่อมโยงพลังอำนาจทั้งสองส่วน

“แต่จากประสบการณ์การขับเคลื่อนที่ยากที่สุดคืออำนาจทางการเมือง เพราะฉะนั้นต้องชูประเด็นปฏิรูปทางการเมืองเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องปฏิรูปด้วย” สุรพงษ์กล่าว

ขณะที่ วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า มีความเห็นว่า หัวใจของการปฏิรูปคือ ‘การออกแบบ’ ซึ่งเป็นโจทย์ยาก เพราะต้องออกแบบให้เกิดการยอมรับของทุกภาคส่วนของสังคม ขณะที่ส่วนของเนื้อสาระการปฏิรูปที่มีจำนวนค่อนข้างมาก อย่าหวังทำทุกเรื่อง ต้องจัดลำดับความสำคัญ และทำเรื่องที่ดำเนินการได้เร็ว (quick win) เพื่อให้สังคมเห็น และทำให้สังคมเกิดการยอมรับ

“การทำประชามติแบบหารือ อาจเป็นเครื่องมือหนึ่งสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน และทำให้เกิดสัญญาประชาคมที่ผูกพันทางการเมือง”

ด้าน ไพโรจน์ พลเพชร นักสิทธิมนุษยชนและคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เล่าว่า ตั้งแต่รัฐธรรมนูญให้อำนาจประชาชนร่างกฎหมายเสนอรัฐสภาได้เอง มีการร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนทั้งหมด 47 ฉบับ แต่สำเร็จจริง 7 ฉบับ ส่วนที่เหลือบ้างก็ตกไปเพราะรัฐสภาไม่รับรอง บางฉบับนายกรัฐมนตรีไม่รับรอง บางฉบับค้างอยู่ขั้นการพิจารณาในชั้น

กรรมาธิการ ขณะนี้ทั้ง 40 ฉบับถือว่า ตกหมด เพราะยุบสภา

“การขยายสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนดูดี แต่ต้นทุนสูงมาก เพราะทุกขั้นตอนสามารถหยุดกฎหมายที่ประชาชนเสนอได้หมด การปฏิรูปจะสำเร็จได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการพิจารณากฎหมาย และต้องปฏิรูปกระบวนการนิติบัญญัติควบคู่ไปด้วย และต้องมีความผูกพันกับรัฐบาล ซึ่งอาจจะมีหลายแนวทาง เช่น การทำประชามติ การออกกฎหมายปฏิรูปประเทศไทย หรือการให้ทุกพรรคการเมืองลงสัตยาบันว่าจะต้องปฏิรูปหลังการเลือกตั้ง”

ในช่วงท้ายของงาน เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปได้นำเสนอโมเดลการสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป หรือ ‘RNN Open Platform’ กับกลุ่มต่างๆ ที่ขับเคลื่อนงานปฏิรูป ภายในแนวคิด ‘ConnectShare-Change’ หรือ ‘เชื่อมโยง-แบ่งปัน-เปลี่ยนแปลง’ เพื่อเป็นตัวกลางสร้างพื้นที่เปิดให้ทุกภาคส่วน หรือคนไทยทุกคนเป็นเจ้าของการปฏิรูปโดยจุดยืนของเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปฯ คือ เป็นเวทีกลางเชื่อมโยงทุกเครือข่าย สร้างการเปลี่ยนแปลงให้มีผลปฏิบัติจริง ไม่รอการจัดตั้งของรัฐบาล เบื้องต้นเครือข่ายได้ทำแบบสอบถามออนไลน์แชร์ผ่านเฟซบุ๊คถึงประเด็นการปฏิรูปที่ควรเร่งดำเนินการที่ facebook.com/rnnthailand

ทั้งนี้ หลังจบเวทีนี้แล้ว เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปเตรียมจัดเวทีครั้งที่ 2 หัวข้อ ‘เรียนรู้ประสบการณ์ บทเรียน-กระบวนการปฏิรูปของต่างประเทศ’ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ เวทีที่ 3 ต้นเดือนมีนาคม หัวข้อ ‘เปิดโมเดลกลไกการปฏิรูปประเทศ’ ส่วนเวทีที่ 4 และต่อไปในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม จะจับประเด็นปฏิรูปเรื่องต่างๆ แต่ละประเด็นปฏิรูปอาจมีการจัดเวทีมากกว่าหนึ่งครั้ง

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  26th Feb 14

จำนวนผู้ชม:  34680

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง