Sub Navigation Links

webmaster's News

การสร้างความร่วมมือระหว่างสาขาในการดูแลสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน



การสร้างความร่วมมือระหว่างสาขาในการดูแลสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน



การสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อ “สุขภาพหนึ่งเดียว” ของคน-สัตว์-สิ่งแวดล้อม
คำนิยาม
๑. “สุขภาพหนึ่งเดียว” หมายถึง ความสัมพันธ์ด้านสุขภาพระหว่างคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ มีผลต่อกันและกันทั้งทางบวกและทางลบ [๑, ๒, ๓]
๒. แนวทางการทำงานเพื่อนำไปสู่ “สุขภาพหนึ่งเดียว” หมายถึง จากความตระหนักถึงธรรมชาติว่า สุขภาพของคน-สัตว์-สิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน การแก้ปัญหาสุขภาพจึงต้องทำแบบองค์รวม และมีการประสานแนวทางปฏิบัติด้านสุขภาพของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการบูรณาการข้ามสาขาวิชาและภาคส่วน ทุกระดับ ให้เป็นหนึ่งเดียวอีกด้วย
๓. “สัตว์” หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่มิใช่พรรณไม้และมนุษย์ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงจุลชีพ [๔]
สถานการณ์ปัญหาและผลกระทบ
๔. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าร่วมประชุมนานาชาติเกี่ยวกับโรค ติดเชื้อในการประชุมรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล องค์ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าร่วมประชุมนานาชาติเกี่ยวกับโรคติดเชื้อในการ ประชุมรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล พ.ศ. ๒๕๕๖ ในชื่อ "รวมพลังต่อต้านโรคติดเชื้อ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ" ความตอนหนึ่งว่า “... โรคติดเชื้อยังคงคุกคามความเป็นอยู่ของประชากรทั่วโลก โรคเหล่านี้ปรากฏและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรทั่วไป เศรษฐกิจ ความมั่นคง และการพัฒนา อย่างไรก็ดี การดำเนินงานของภาคสาธารณสุขเพียงฝ่ายเดียวไม่เพียงพอที่จะรับมือ เพราะโรคที่เกิดใหม่หรือโรคที่ระบาดซ้ำและมีผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ตั้งแต่ ต้นศตวรรษที่ ๒๑ เป็นต้นมานั้น ส่วนมากเป็นโรคที่เกิดมาจากสัตว์ ดังนั้น เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเป็นอยู่ของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่งยวด และจำเป็นต้องอาศัยการแก้ไขที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน สิ่งที่น่ากังวลมิได้เจาะจงเฉพาะสุขภาพมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมเท่านั้น หากแต่หมายถึงสุขภาพโดยรวมของทุกชีวิตและทุกสรรพสิ่งบนโลก เป็นสุขภาพโดยรวม หัวข้อของการประชุมวิชาการในวันนี้จึงเป็นเรื่องที่ทันสมัยเหมาะกับสภาวะที่ เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน”
๕. ทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง จาก การเพิ่มจำนวนประชากรของมนุษย์ ทำให้วิถีชีวิตมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงไป ในอดีตมีการเลี้ยงสัตว์หลังบ้านเพื่อเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือนเปลี่ยนไป เป็นระบบอุตสาหกรรมฟาร์มผลิตปศุสัตว์ขนาดใหญ่ที่มี การเลี้ยงสัตว์อย่างหนาแน่น พร้อมทั้งมีการใช้ยาปฏิชีวนะและฮอร์โมนเป็นสารเร่งการเจริญเติบโต มี การขยายตัวของชุมชนเมือง ทำให้ต้องมีการรุกล้ำพื้นที่ป่าธรรมชาติ อีกทั้งมนุษย์ยัง ล่าสัตว์ป่า ด้วยค่านิยมที่ผิด เพื่อมาเป็นสัตว์เลี้ยงแปลกหรือใช้เป็นยาบำรุง และการทำลายระบบนิเวศ จากอุบัติเหตุ เช่น ภาวะน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อระบบนิเวศอย่างไม่สามารถหวนกลับ ด้วยปัจจัยดังกล่าวนั้น จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสุขภาพของมนุษย์มีความเกี่ยวข้องกับทั้งสัตว์ที่นำมา เป็นอาหาร สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม จากการปัจจัยทางสังคมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น นำมาซึ่งโรคและภาวะคุกคามต่อสุขภาพต่างๆ หลายประการ ทั้งที่เป็นโรคติดเชื้อที่อาจระบาดได้ในวงกว้าง และโรคที่เกิดจากสารพิษและสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย ซึ่งผลที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกลับมายังมนุษย์ ทั้งต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม อย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้
๖. ภาวะวิกฤตของปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกในปี พ.ศ.๒๕๔๗ ทำให้ประเทศไทยมีการยกระดับความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น ในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดนก โดยเมื่อมีการระบาดของโรคไข้หวัดนก จะต้องมีการจัดสมาชิกในการสอบสวนโรคที่ประกอบไปด้วย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นักระบาดวิทยา ผู้เชี่ยวชาญทางห้องปฏิบัติการ รวมถึงสัตวแพทย์หรือผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ และมีการติดต่อสื่อสารกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ให้ประชาสัมพันธ์ความรู้ในการป้องกันตนเองให้กับประชาชนในพื้นที่ จากความร่วมมือนี้ นำไปสู่ความสำเร็จในการควบคุมโรคไข้หวัดนก ทำให้ประเทศไทยไม่มีรายงานพบโรคไข้หวัดนกในคนตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี พ.ศ.๒๕๔๙ [๕] ในขณะที่เพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย ยังมีรายงานการพบผู้ป่วยไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่องทุกปี
๗. ปัญหาโรคติดต่อจากเชื้อโรคซัลโมเนลล่า ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารในคน (เช่น ท้องเสีย) จากการปนเปื้อนในพืชที่เป็นอาหารและสิ่งแวดล้อม และการแพร่เชื้อจากคนที่มีเชื้อนี้ในลำไส้ เชื้อโรคชนิดนี้ยังสามารถก่อให้เกิดอันตรายที่รุนแรงได้ เช่น การติดเชื้อในเลือดและเยื่อหุ้มสมอง มีผลให้ถึงตายหรือสมองพิการ ในประเทศไทย พบผู้ป่วยที่มีเชื้อแบคทีเรียนี้มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างมาก พบเชื้อโรคชนิดนี้ทั้งใน ๑) มนุษย์ที่มีเชื้อชนิดนี้ในลำไส้โดยมีหรือไม่มีการเจ็บป่วย ๒) สัตว์ ทั้งปศุสัตว์ สัตว์เลี้ยงปกติ สัตว์ประจำบ้าน (จิ้งจก หนู แมลงสาป ไส้เดือน ซึ่งติดเชื้อจากการกินอาหารที่หาได้จากสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อนี้) และ ๓)การปนเปื้อนของเชื้อโรคนี้มีในสิ่งแวดล้อม และพืชผักหลายชนิด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ใช้มูลสัตว์และมนุษย์ที่มีเชื้อโรคนี้เป็นปุ๋ย) การปนเปื้อนเชื้อโรคชนิดนี้ในสินค้าส่งออกประเภทอาหาร เป็นสาเหตุของการการส่งกลับสินค้าดังกล่าวซึ่งเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง มาตรการป้องกันควบคุมโรคที่จะมีประสิทธิภาพ จะทำได้ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเป็น “หนึ่งเดียว” ระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
๘. การควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า นั้นจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ได้แก่ กรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เนื่องด้วยโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อระหว่างคนและสัตว์ที่สำคัญโดยเฉพาะ อย่างยิ่งสุนัขที่เป็นพาหะ ในหลายพื้นที่มีการพัฒนาความร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรค อาทิเช่น โครงการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประจำปี ๒๕๕๔ [๖] ที่ดำเนินการโดย ๑) จัดตั้งคณะทำงานจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ๒) สร้างเสริมบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ร่วมกับปศุสัตว์และสาธารณสุข ทั้งการขึ้นทะเบียนสุนัขและแมว การทำฐานข้อมูล ทำวัคซีน และสร้างจิตสำนึกที่ดีในการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ ได้แก่ จัดกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการเลี้ยงสุนัขที่ถูกต้อง อย่างสม่ำเสมอผ่านสื่อ หอ กระจายข่าว และป้ายโฆษณา ๓) สร้างความมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังโรคจาก จากหน่วยงานปศุสัตว์ สาธารณสุข องค์กร ปกครองท้องถิ่น ชุมชน สถาบันการศึกษา โรงเรียน วัด สื่อมวลชน องค์กรเอกชน ฯลฯ เมื่อมีเหตุคนถูกสุนัข/แมว/สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กัด/ข่วน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล/สถานี อนามัยจะรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั้นๆ ทั้งสาธารณสุขและปศุสัตว์ดำเนินการ ในส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบเพื่อดำเนินการกักสัตว์ที่สงสัย และติดตามผู้สัมผัสเชื้อ ในการทำงานนี้เป็นการทำงานอย่างประสานกัน ร่วมกันคิดการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็น “หนึ่งเดียว” เพื่อให้เกิดการป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าอย่างสัมฤทธิ์ผลโดยมีเป้าหมาย กำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปในปี พ.ศ. ๒๕๖๓
๙. การทำลายระบบนิเวศจากเหตุการณ์ที่เป็นอุบัติเหตุและการจัดการ ตัวอย่างเช่น กรณีการรั่วของท่อส่งน้ำมันดิบกลางทะเล ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๖ ส่งผลให้น้ำมันดิบปริมาณ ๕๐,๐๐๐-๗๐,๐๐๐ ลิตร ไหลลงสู่ทะเลจังหวัดระยอง [๗] กระจายครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ประเทศไทยได้ดำเนินการตาม “แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ” โดยมีกรมเจ้าท่าและกองทัพเรือเป็นแกนหลักในการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานสนับ สนุนภาครัฐ ในการดำเนินการจริง มีอาสาพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เครือข่ายจิตอาสา เข้าร่วมในขจัดคราบน้ำมันดังกล่าว อย่างไรก็ตาม พบว่าการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ยังขาดการประสานงานที่ดี แยกส่วนกัน ภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดหรือรับรู้ในมาตรการต่างๆ ทำให้สับสน จนเกิดภาวะเครียดจากผลกระทบที่เกิดจากการขาดรายได้และความปลอดภัย เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปได้อย่างเหมาะสมเมื่อเกิดภาวะวิกฤต จึงควรมีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจที่มาจากภาครัฐ เอกชน หน่วยงานทางการศึกษา นักวิชาการ องค์กรอิสระ และภาคประชาชน เพื่อให้การจัดทำแผนเกิดจากการความเห็นชอบของทุกฝ่ายและสอดคล้องกัน [๘] ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” ที่ต้องการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาลักษณะนี้และการป้องกันการเกิดซ้ำใน อนาคต
การดำเนินการปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” ในประเทศไทย
๑๐. “เครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียว” เกิดขึ้นระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานระหว่างประเทศ ที่ร่วมมือกันเป็นภาคีเครือข่ายในระดับประเทศ ในการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดูแลรักษาสุขภาพคน สัตว์ สัตว์ป่า และระบบนิเวศในประเทศไทย เพื่อนำไปสู่ประโยชน์สาธารณะและสุขภาพที่ดีของทุกชีวิตในประเทศไทย โดยมีการประกาศเจตจำนง “สุขภาพหนึ่งเดียว” ในวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔ [๙] ต่อมา มีการเชื่อมต่อและพัฒนา “เครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียวระดับจังหวัดและอำเภอ” ในพื้นที่ ๕ จังหวัดนำร่อง ในปีพ.ศ.๒๕๕๕ ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา ชลบุรี กาญจนบุรี และ สงขลา
๑๑. “ศูนย์ประสานความร่วมมือสุขภาพหนึ่งเดียว” ได้รับการจัดตั้งขึ้น ในปี พ.ศ.๒๕๕๕ ภายใต้การขับเคลื่อนของแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม เพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ (พ.ศ.๒๕๕๖-๒๕๕๙) [๑๐] โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์กลางการประสานงานระหว่างภาคส่วนต่างๆ ภายใต้หลักการ “สุขภาพหนึ่งเดียว” ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ด้วยความร่วมมือกันของส่วนราชการในประเทศไทย ได้แก่ ๑) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ๒) กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ๓) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ๔) มหาวิทยาลัย และ ๕) ภาคีสุขภาพต่างๆ โดยได้รับการสนับสนุนจาก หน่วยงานหรือองค์กรต่างประเทศ ได้แก่ ๑) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ๒) องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ๓) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (US-CDC) ศูนย์ประสานความร่วมมือฯ ดังกล่าวทำหน้าที่ประสานงานการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมฯ ด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในแนวราบ เพื่อเสริมการปฏิบัติการแนวดิ่งตามระบบราชการ พร้อมทั้งประสานและสนับสนุนข้อมูล องค์ความรู้ และแนวทางการฝึกอบรมบุคลากรระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสัตว์ สุขภาพสัตว์ป่า สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุข รวมทั้งการจัดทำแผนที่กิจกรรมการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือ บริหาร และประสานแหล่งเงินทุน เพื่อพัฒนาและดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือ ”สุขภาพหนึ่งเดียว” พร้อมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายระดับชาติภายใต้แนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว”
๑๒. เครือข่ายมหาวิทยาลัย “สุขภาพหนึ่งเดียว” ของประเทศไทย (Thailand One Health University Network หรือ THOHUN) เป็นการร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) มีเป้าหมายในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้บัณฑิตมีความรู้ ความเข้าใจสุขภาพแบบบูรณาการ เป็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ต่อไป
๑๓. กลไกการทำงานของทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว หรือ SRRT (Surveillance Rapid Response Team) ประเทศไทยมีการพัฒนาทีม SRRT มาต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๔๘ โดยเป็นเครือข่ายการทำงานของสหสาขาวิชาชีพเพื่อรับมือกับโรคติดต่อ ตั้งแต่ระดับประเทศ จังหวัดและอำเภอ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ในการป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อภาย ใต้พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น [๑๑] โดยกระทรวงสาธารณสุขมีบทบาทในการกำหนดยุทธศาสตร์ ควบคุมกำกับ และสนับสนุนทางวิชาการปัจจุบันมีทีม SRRT ระดับอำเภอ จำนวน ๙๔๖ ทีม และระดับตำบล ๙,๘๘๒ ทีม [๑๑] เพื่อดำเนินการประสานการเฝ้าระวังและสอบสวนควบคุมโรค ร่วมกับหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างใกล้ชิดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของทีมในการทำงานแข่งกับเวลาเมื่อมี สถานการณ์ฉุกเฉิน
นโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง
๑๔. สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๕๒) มีการรับรองมติโรคติดต่ออุบัติใหม่ [๑๒] ซึ่งมีการยกประเด็นให้เห็นความร่วมมือระหว่างสหสาขาซึ่งประกอบด้วยคำนึงถึง ความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพของระบบนิเวศสุขภาพของมนุษย์และสุข ภาพสัตว์ เพื่อเป็นหลักการที่ต้องคำนึงถึงเพื่อเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่
๑๕. กระทรวงสาธารณสุขได้นำแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวบรรจุลงในแผนยุทธศาสตร์เตรียม ความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ (พ.ศ.๒๕๕๖-๒๕๕๙) ที่ได้รับการรับรองจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕ [๑๑] แผนยุทธศาสตร์ฯฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแผนปฏิบัติการแม่บทในการป้องกันและควบคุมโรค ติดต่ออุบัติใหม่ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ ซึ่งกระบวนการในการจัดทำแผนนั้นเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกองค์กรภาคีต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยอิงสถานการณ์โรคติดต่ออุบัติใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ภายในประเทศ และกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๑ พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙ กฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นต้น แผนยุทธศาสตร์ฯ ประกอบด้วย ๕ ยุทธศาสตร์ ได้แก่
๑๖. ยุทธศาสตร์ที่ ๑ พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน รักษา และควบคุมโรค ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว
๑๗. ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การจัดการระบบการเลี้ยง และสุขภาพสัตว์และสัตว์ป่า ให้ปลอดโรค
๑๘. ยุทธศาสตร์ที่ ๓ พัฒนาระบบจัดการความรู้ และส่งเสริมการวิจัยพัฒนา
๑๙. ยุทธศาสตร์ที่ ๔ พัฒนาระบบบริหารจัดการเชิงบูรณาการและเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน
๒๐. ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ความเสี่ยงของโรคติดต่ออุบัติใหม่
๒๑. ทั้งนี้ การดำเนินงานสุขภาพหนึ่งเดียวระหว่างคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ตามยุทธศาสตร์ที่ ๑ พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน รักษา และควบคุมโรค ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ในแผนปฏิบัติการแม่บท ภายใต้แผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ (พ.ศ.๒๕๕๖-๒๕๕๙) มุ่งเน้นให้มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการป้องกันโรคติดต่ออุบัติใหม่ แบบบูรณาการ ตลอดจนมีการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ระบบเฝ้าระวังโรค การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ และการดูแลรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ข้อจำกัดและการแก้ไขปัญหา
๒๒. จะเห็นได้ว่า แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวนั้นเป็นแนวคิดที่มีประโยชน์ และหน่วยงานหลายภาคส่วนมีความสนใจและสนับสน ุนในการดำเนินการ หากแต่การดำเนินงานนั้นยังมีข้อจำกัดในการดำเนินการอยู่หลายประการ แบ่งออกเป็น
๒๓. ข้อจำกัดในการสร้างความเข้าใจต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับ แม้ว่าแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวนั้น จะเป็นที่ยอมรับภายในนักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้านสาธารณสุข สุขภาพสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าเป็นอย่างดี รวมทั้งได้มีการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ เป็นจำนวนมาก แต่แนวคิดนี้ยังไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างของสาธารณชน หน่วยงานระดับท้องถิ่น ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากยังเป็นคำศัพท์ใหม่ที่เริ่มนำมาใช้ในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๕ และเป็นแนวคิดที่ยังไม่ได้เผยแพร่ในวงกว้างเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน ดังนั้นการสร้างการมีส่วนร่วมภายใต้แนวคิดนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลักดันให้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวไปสู่การปฏิบัติ ที่เป็นรูปธรรมในชุมชน ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนเป็นหน่วยสำคัญในการจัดการกับปัญหา สุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
๒๔. ข้อจำกัดในการขับเคลื่อนเชิงรุก การดำเนินงานภายใต้ศูนย์ประสานความร่วมมือสุขภาพหนึ่งเดียว นั้น จำเป็นต้องมีแผนงานการสอดประสานระหว่างหน่วยงานภายใต้ศูนย์ฯ ทั้งแนวดิ่งและแนวราบเพื่อให้เกิดพลังความร่วมมือสูงสุด หากแต่ในปัจจุบัน กลไกในการทำงานระหว่างหน่วยงานและสาขาวิชาในระดับท้องถิ่น ยังไม่เป็นรูปธรรมในระดับที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่ดีของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
๒๕. การมีส่วนร่วมจากท้องถิ่นและชุมชน แม้ว่าแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวจะได้รับการยอมรับจากนักวิชาการ และผลักดันจนเกิดเป็นนโยบายทางด้านสาธารณสุขและเกิดกิจกรรมจากผู้ที่มีส่วน เกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่แนวคิดนั้นมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทั้งมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องการการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนมีบทบาทอย่างสูงในการจัดการกับปัญหา สุขภาพคน ปศุสัตว์ และสัตว์ป่าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” จึงเห็นควรผลักดันให้แนวคิดและการดำเนินการ “สุขภาพหนึ่งเดียว” ให้เป็นนโยบายสาธารณะผ่านกระบวนการของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
ประเด็นพิจารณาของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
ขอให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติพิจารณาเอกสาร สมัชชาสุขภาพ ๖/ ร่างมติ ๗ การสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อ “สุขภาพหนึ่งเดียว” ของคน-สัตว์-สิ่งแวดล้อม

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  28th Nov 13

จำนวนผู้ชม:  35690

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 พ.ศ.2556

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง