Sub Navigation Links

webmaster's News

กรอบการดำเนินงาน ติดตาม ประเมินผล การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ



กรอบการดำเนินงาน ติดตาม ประเมินผล การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ



เป้าหมายในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย
นิยาม
“โรคไม่ติดต่อ” (Noncommunicable diseases, NCDs) หมายถึง กลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติหรือการเสื่อมของร่างกาย ซึ่งไม่ติดต่อไปยังบุคคลอื่น โรคกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยเรื้อรัง
“โรคไม่ติดต่อ” ในเอกสารนี้ จำกัดเฉพาะ ๔ กลุ่มโรค คือ ๑) โรคหัวใจและหลอดเลือด (เช่น หัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดตีบหรือแตกในสมอง และโรคต่างๆ ที่เป็นผลมาจากเส้นเลือดตีบตันหรือเปราะ) ๒) โรคเบาหวานและโรคอ้วน ๓) โรคมะเร็ง และ ๔) โรคปอดเรื้อรัง (ได้แก่ โรคถุงลมโป่งพองหรือโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด) ซึ่งเป็นภาระส่วนใหญ่จากกลุ่มโรคไม่ติดต่อ และมีปัจจัยเสี่ยงร่วมกันเป็นส่วนใหญ่ คือ พฤติกรรมสุขภาพและวิถีชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น การบริโภคอาหารที่มีผลเสียต่อสุขภาพ การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และ การมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ และปัจจัยเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคม

คำอธิบายเพิ่มเติม
คำว่า “โรคไม่ติดต่อ” เกิดขึ้นในระยะหลัง จากการแยกกลุ่มจาก “โรคติดต่อ” หรือ Communicable diseases ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อโรคที่สามารถติดต่อกันได้และเกิดการระบาดได้ เช่น หัด อหิวาตกโรค ฯลฯ ในอดีต กลุ่มโรคติดต่อเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญมากกว่า เป็นสาเหตุหลักของการตายก่อนวัยอันควร แต่ปัจจุบัน การควบคุมและป้องกันโรคติดต่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่โรคที่ไม่ติดต่อมีมากขึ้นและเป็นสาเหตุของการตายก่อนวัยอันควรมาก ขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
คำว่า “โรคไม่ติดต่อ” หรือ Non communicable diseases (NCDs) ใช้มากขึ้นในการทำความร่วมมือนานาชาติเพื่อการควบคุมและป้องกัน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๓ (ค.ศ.๒๐๐๐) หลังจากนโยบาย Health for All by the Year 2000 ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับการควบคุมโรคติดต่อ ก็ได้มีการวางแนวทางร่วมกันต่อไป คือ Health for All in the 21st century ซึ่งเน้นการควบคุมโรคไม่ติดต่อ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญแทนปัญหาโรคติดต่อในอดีต ในปัจจุบันพบว่า “โรคไม่ติดต่อ” บางชนิดเกิดมาจากการติดเชื้อ
ความสำคัญของปัญหา
๑. กลุ่มโรคไม่ติดต่อเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในปัจจุบัน ทั้งของประชากรโลกและประชาชนไทย และยังมีแนวโน้มว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (คือก่อนอายุ ๗๐ ปี) ถึงร้อยละ ๖๓ ของการเสียชีวิตทั้งหมดของประชากรโลก[๑] และร้อยละ ๗๓ ของการเสียชีวิต (ก่อนวัยอันควร) ของประชากรไทย[๒] คาดการณ์ว่าการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อของประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นจาก ๓๖ ล้านคนใน พ.ศ.๒๕๕๑ เป็น ๔๔ ล้านคนในปี พ.ศ.๒๕๖๓นอกจากนี้ยังเป็นภาระด้านสุขภาพจากการเจ็บป่วยและทุพลภาพ
๒. ในประเทศไทย จำนวนผู้ป่วยจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากฐานข้อมูลผู้ป่วยในที่ได้รับรักษาตัวในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข[๓] ในระยะเวลาเพียงสิบสองปีระหว่างปี ๒๕๔๘-๒๕๕๒[๔] พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยจากกลุ่มโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นดังนี้ โรคหัวใจขาดเลือด ๔.๒ เท่า โรคความดันโลหิตสูง ๗.๑ เท่า โรคหลอดเลือดสมอง ๓.๙ เท่า โรคเบาหวาน ๔.๘ เท่า โรคมะเร็งตับ ๑.๒ และ โรคถุงลมโป่งพอง ๑.๒๓ เท่า
๓. คนไทยจำนวนมากมีการป่วยจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อและมีพฤติกรรมเสี่ยง ข้อมูลจากการสำรวจคนไทยที่อายุ ๑๕ ปีขึ้นไป ใน พ.ศ.๒๕๕๔ พบว่า ประชากรผู้ใหญ่ไทยมี ความดันโลหิตสูงถึงร้อยละ ๒๑.๔ เบาหวานถึงร้อยละ ๖.๙ น้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนถึงร้อยละ ๔๐.๔ ในประชากรหญิง และร้อยละ ๒๘.๔ ในประชากรชาย คนจำนวนมากมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคในกลุ่มนี้ เช่น เพียงร้อยละ ๓๗.๕ ที่มีระดับกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ และเพียงร้อยละ ๗๙.๕ ของประชากรชาย และเพียงร้อยละ ๗๕.๕ ของประชากรหญิงที่บริโภคผักและผลไม้อย่างเพียงพอ ในขณะที่ประชากรไทยถึงร้อยละ ๓๑.๕ และ ๒๑.๔ ที่ดื่มสุราและบริโภคยาสูบ นอกจากนี้จำนวนประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าวยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นอีก ด้วย เช่น ในระยะเวลา ๑๗ ปี ระหว่าง พ.ศ.๒๕๓๕-๒๕๕๒ จำนวนประชากรชายที่มีน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเพิ่มขึ้นถึง ๔ เท่า และ ประชากรหญิง ๒.๖ เท่า
๔. กลุ่มโรคไม่ติดต่อยังเป็นปัจจัยคุกคามที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งจากผลกระทบต่อคุณภาพของประชากร ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเสียชีวิตก่อนวัยอ ันควร ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สังคมต้องแบกรับ ผลต่อความยากจนทั้งในระดับบุคคล ครอบครัวและสังคมโดยรวม ประเทศไทยต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยสี่โรคหลักที่มี มูลค่ามากกว่า ๑.๔ แสนล้านบาทในปี พ.ศ.๒๕๕๒[๕] และมีต้นทุนต่อสังคมจากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ การดื่มสุรา ๑๕๖,๑๐๕ ล้านบาท, การสูบบุหรี่ ๓๔,๑๘๓ ล้านบาท, ภาวะโรคอ้วน ๑๒,๑๔๒ ล้านบาท และการขาดกิจกรรมทางกาย ๕,๙๗๗ ล้านบาท
สถานการณ์และแนวโน้มในต่างประเทศ ในการควบคุมโรค
๕. ด้านความเคลื่อนไหวระดับนานาชาติในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อนั้น องค์การอนามัยโลก โดยการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกซึ่งรวมถึงประเทศไทย ได้ร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันและควบคุม “โรคไม่ติดต่อ” มีการประชุมและพัฒนาร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่จะสนับสนุนประเทศสมาชิกในการลดความเจ็บป่วย ความพิการ และการตายก่อนวัยอันควร อันเนื่องมาจาก “โรคไม่ติดต่อ” เช่น ร่วมกันรับรอง ยุทธศาสตร์โลกเพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ(Global strategy for the prevention and control of non-communicable diseases) เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๓ (ค.ศ.๒๐๐๐) รับรอง “แผนปฏิบัติการระดับโลกในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ ๒๕๕๖–๒๕๖๓” (Global Action Plan for NCD Prevention and Control 2013-2020) เป็นต้น ร่วมกันจัดทำนโยบายและแนวทางปฏิบัติการร่วมกัน ในการจัดการปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคไม่ติดต่อ เช่น บุหรี่ เหล้า อาหาร กิจกรรมทางกายและสุขภาพ เป็นต้น
๖. เป้าหมายระดับนานาชาติในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ มาจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่แสดงให้เห็นว่า ภาระโรคส่วนใหญ่จากโรคไม่ติดต่อ มีสาเหตุมาจาก ๑) กลุ่มโรคที่สำคัญ “๔” กลุ่ม ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคปอดเรื้อรัง ซึ่งครอบคลุมถึงร้อยละ ๘๕ ของการเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อทั้งหมด ๒) การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ “๔” อย่าง ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง, ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน, ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และ ภาวะไขมันในเลือดสูง, และ ๓) ปัจจัยเสี่ยงทางพฤติกรรมที่สำคัญ “๔” ปัจจัยได้แก่ การสูบบุหรี่, การดื่มสุรา, พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม และการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ การจัดการกับกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญทั้งสิบสองนี้ (หรือที่เรียกว่า “การจัดการแบบ ๔ x ๔ x ๔” ) เป็น “หัวใจ” ของการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ เพราะน่าจะสามารถลดภาระโรคจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อได้มากถึงร้อยละ ๘๐ ของทั้งหมด ทั้งนี้มิได้หมายความว่าสังคมไม่ควรจัดการโรคและปัจจัยเสี่ยงกลุ่มอื่นๆ
๗. ใน พ.ศ.๒๕๕๔ องค์การอนามัยโลก ได้แนะนำให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับมาตรการที่มีประสิทธิผลและความคุ้ม ค่าสูง ๒๖ มาตรการ ในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ เพื่อประเทศสมาชิกพิจารณาใช้เป็นแนวทางการออกแบบนโยบายเพื่อการจัดการกับ ปัจจัยเสี่ยง โดยแบ่งเป็น มาตรการที่ควรดำเนินการมากที่สุด/มีความคุ้มค่าสูง (Best Buys) และมาตรการที่ควรดำเนินการ/มีความคุ้มค่า (Good Buys) รองลงมา ซึ่งล้วนเป็นการดำเนินการในระดับประชากร เช่น ภาษีและราคาสินค้า การเข้าถึงสินค้า การทำกิจกรรมทางการตลาดและการโฆษณา การให้ความรู้และการรณรงค์สาธารณะ การดำเนินการในสถานที่ทำงานหรือสถานประกอบการ การจัดระบบบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ทั้งนี้ มิได้หมายความว่าการจัดการโรคไม่ติดต่อระดับบุคคล เช่นการคัดกรอง การให้การรักษา ไม่มีความสำคัญ เพียงแต่มาตรการระดับบุคคลมีแนวโน้มที่จะมีประสิทธิผลและความคุ้มค่าน้อย กว่า
มาตรการที่ควรดำเนินการที่สุด/มีความคุ้มค่าสูง
(Best buys) มาตรการที่ควรดำเนินการ/มีความคุ้มค่า
(Good buys)
๑) มาตรการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่จากควันบุหรี่ ๑) การเพิ่มการเข้าถึงบริการช่วยเลิกสูบบุหรี่
๒) มาตรการการให้ข้อมูลพิษภัยของยาสูบ ๒) มาตรการควบคุมพฤติกรรมขับขี่ยานพาหนะหลังการดื่ม
๓) มาตรการการห้ามโฆษณาและการส่งเสริมการข ายบุหรี่ ๓) มาตรการการคัดกรองและบำบัดรักษาอย่างสั้น
๔) มาตรการการขึ้นภาษียาสูบ ๔) มาตรการควบคุมกลยุทธการตลาดด้านอาหารและเครื่องดื่มต่อเด็ก
๕) มาตรการการควบคุมการเข้าถึงทางกายภาพ ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ๕) มาตรการลดการบริโภคไขมันอิ่มตัว
๖) มาตรการการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ๖) มาตรการทางภาษีและราคาอาหาร
๗) มาตรการทางภาษีและราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ๗) มาตรการให้คำปรึกษาในระบบบริการปฐมภูมิ

มาตรการที่ควรดำเนินการที่สุด/มีความคุ้มค่าสูง
(Best buys) มาตรการที่ควรดำเนินการ/มีความคุ้มค่า
(Good buys)
๘) มาตรการลดการบริโภคเกลือ ๘) มาตรการสุขศึกษาด้านพฤติกรรมการบริโภคในสถานที่ทำงาน
๙) มาตรการลดการบริโภคไขมันทรานส์ ๙) มาตรการส่งเสริมพฤติกรรมบริโภคในโรงเรียน
๑๐) มาตรการรณรงค์สาธารณะด้านพฤติกรรมการบริโภค ๑๐) มาตรการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายใน
ชุมชน
๑๑) การรณรงค์สาธารณะเพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย ๑๑) มาตรการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายผ่านการคมนาคม
๑๒) มาตรการการป้องกันโรคมะเร็งตับด้วยวัคซีนตับอักเสบบี ๑๒) มาตรการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายผ่านระบบบริการปฐมภูมิ
๑๓) มาตรการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในสถานที่ทำงาน
๑๔) มาตรการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในโรงเรียน
๘. การ จัดการประชุมสมัชชาสหประชาชาติในประเด็นการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ เมื่อกันยายน พ.ศ.๒๕๕๔ ซึ่งมีผู้นำระดับสูงจากประเทศทั่วโลก (ประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี) รวมถึงประเทศไทย เข้าร่วมประชุม ได้มีการแสดงฉันทามติและเป็นพันธสัญญาของประเทศสมาชิก แสดงเจตนารมณ์ว่า “การจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่อจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” ไม่สามารถจัดการได้ภายในขอบเขตของภาคสุขภาพเท่านั้น และควรเน้นให้มีการบูรณาการงานสุขภาพเข้ากับนโยบาย และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ทุกระดับ (Health in all policies) และต้องระวังประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) ของผู้เกี่ยวข้องในการจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและปัจจัยเสี่ยง
๙. ในการประชุมดังกล่าว ได้มีการมอบหมายให้องค์การอนามัยโลกโดยความร่วมมือของประเทศสมาชิก พัฒนากรอบการติดตามความก้าวหน้าในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ และกรอบตัวชี้วัดและเป้าหมายแบบสมัครใจระดับโลก (Global monitoring framework for NCD including Indicator and voluntary targets) ซึ่งแล้วเสร็จและได้รับการรับรองจากสมัชชาอนามัยโลก และสมัชชาสหประชาชาติใน พ.ศ.๒๕๕๖ ทั้งนี้ เกิดจากการดำเนินงานทางวิชาการขององค์การอนามัยโลกร่วมกับประเทศสมาชิกที่ พิจารณาทั้งด้านความเป็นไปได้และความสอดคล้องต่อกันและกัน และมีลักษณะเป็นเป้าหมายโดยสมัครใจสำหรับประเทศสมาชิก เพื่อพิจารณารับรองและ/หรือปรับปรุงให้เหมาะกับบริบทของประเทศตนเอง รวมทั้ง บางเป้าหมายที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกเลือกตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับบริบท และความพร้อมของประเทศเองด้วย
๑๐. กรอบตัวชี้วัดและเป้าหมายฯ ดังกล่าวประกอบด้วย ตัวชี้วัดที่เป็น “๙ เป้าหมาย ระดับโลก” ที่ตั้งไว้เพื่อที่จะต้องบรรลุให้ได้ภายในปี พ.ศ.๒๕๖๘ โดยมีฐานจากปี ๒๕๕๓ แบ่งเป็น ๓ หมวด ได้แก่ ๑) เป้าหมายสูงสุด ๑ เป้าหมาย คือ การลดอัตราตายและอัตราป่วย และ ๒) เป้าหมายที่เป็นกลไกในการบรรลุเป้าหมายสูงสุดอีกแปดเป้าหมายอันประกอบด้วย ปัจจัยเสี่ยง ๖ เป้าหมาย และเป้าหมายการจัดระบบบริการระดับชาติ ๒ เป้าหมาย (ดูเอกสารสมัชชาสุขภาพ ๖/มติ ๖/ผนวก ๑)
๑๑. ในภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก ก็มีความเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกันกับระดับโลก เช่น การพัฒนาเป้าหมายและแผนปฏิบัติการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อประจำภูมิภาค ขององค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก (South-East Asia Regional Action Plan for NCD Prevention and Control ๒๐๑๓-๒๐๒๐) ซึ่งมีการรับรอง “๙ เป้าหมายระดับโลก” และเพิ่มเติมหนึ่งเป้าหมายในระดับภูมิภาคฯ คือ เป้าหมายในการลดมลภาวะทางอากาศภายในครัวเรือน (indoor air pollution)
นโยบายมาตรการและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย
๑๒. การดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในระดับชาติของประเทศไทย มีทั้งความเคลื่อนไหวภายในขอบเขตของระบบสุขภาพและความพยายามอย่างต่อเนื่อง ในการยกระดับความสำคัญของปัญหาโรคไม่ติดต่อ ให้กว้างไกลไปกว่านโยบายด้านสุขภาพ เช่น การให้ความสำคัญกับโรคไม่ติดต่อในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒ หมวดการป้องกันและควบคุมโรคและปัจจัยที่คุกคามสุขภาพ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๐ และ๑๑ แผนยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย พ.ศ.๒๕๕๔ – ๒๕๖๓ แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ พ.ศ.๒๕๕๖-๒๕๖๐ รวมถึงความเคลื่อนไหวภายในกลไกของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เช่นการพัฒนายุทธศาสตร์ในการจัดการปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ได้รับการรับรองจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้วย ได้แก่ ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน (สมัชชาสุขภาพ ๒. มติ ๘), ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ (สมัชชาสุขภาพ ๒. มติ ๕), ยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๗ (สมัชชาสุขภาพ ๓. มติ ๖) ตลอดจนกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙ โดย คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ทั้งนี้ที่ผ่านมามีหน่วยงานหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ของกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอิสระที่ดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น เครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ (NCD Network) หรือกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานเฉพาะเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายคนไทยไร้พุง เครือข่ายลดบริโภคเค็ม เป็นต้น
๑๓. จากการทบทวนข้อมูลของคณะทำงานทบทวนแหล่งข้อมูลและตัวชี้วัดด้านการป้องกัน และควบคุมโรคไม่ติดต่อ โดยการประสานงานของเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต ่อ (NCD Network) พบว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในการติดตามความก้าวหน้าในการบรรลุ “เก้าเป้าหมายระดับโลก” ในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อพอสมควร โดยมีฐานข้อมูลที่หลากหลายที่ติดตามโรคและปัจจัยเสี่ยง เช่น ข้อมูลทะเบียนการตาย โดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ การสำรวจสุขภาวะประชาชนไทย การเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ การสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรไทยของสำนักงาน สถิติแห่งชาติ อย่างไรก็ตามยังมีความจำเป็นในการพัฒนาระบบรายงานและเฝ้าระวังของประเทศ อย่างบูรณาการมากขึ้น นอกจากนั้นคณะทำงานยังได้พิจารณาเลือกตัวชี้วัดของเป้าหมายให้สอดคล้องกับ บริบทของประเทศไทย (ดูเอกสารสมัชชาสุขภาพ ๖/ มติ ๖/ ผนวก ๑)
ข้อจำกัดของการดำเนินงาน และแนวทางการแก้ปัญหา
๑๔. แม้ว่าในประเทศไทยจะมียุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการในการจัดการกับโรคไม่ ติดต่อและปัจจัยเสี่ยง ผ่านการดำเนินงานของหน่วยงานและเครือข่ายหลายเครือข่ายทำงาน แต่ยังพบว่าการดำเนินงานหลายส่วนยังอาจจะไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ยังขาดการตั้งเป้าหมายร่วมกัน ยังขาดระบบการติดตามประเมินผลและขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติการร่วมกันในระดับ ประเทศที่เป็นเอกภาพ และสอดคล้องต่อกันและกัน รวมถึงความเข้มแข็งของการนำนโยบายไปปฏิบัติให้บังเกิดผลอย่างจริงจัง
๑๕. เป็นที่ทราบกันดีว่าการจัดการกับโรคไม่ติดต่อและปัจจัยเสี่ยงหลักจำเป็นจะ ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันจากหลายภาคส่วน อย่างไรก็ตามการดำเนินงานเพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ ส่วนใหญ่มักจำกัดอยู่เพียงแต่ในภาคสุขภาพและภาครัฐเท่านั้น อีกทั้งการดำเนินงานมักจะมีความชัดเจนเฉพาะในระดับชาติ หลายภาคส่วนอย่างเช่น ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น ต่างๆ ยังขาดการมีส่วนร่วมและการแสดงศักยภาพในกระบวนการที่ผ่านมา นอกจากนั้นควรจะมีกลไกและกระบวนการในการพัฒนาศักยภาพของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ต่างๆในการจัดการโรคไม่ติดต่อทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น
๑๖. ความเคลื่อนไหวในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการรับรอง “๙ เป้าหมาย ระดับโลก” ในการควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อ เป็นโอกาสในการสร้างความเข้มแข็งให้กระบวนการจัดการโรคไม่ติดต่อและปัจจัย เสี่ยงในประเทศไทย เพื่อให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น โดยอาจมีแนวทางดังต่อไปนี้
๑๖.๑ การพัฒนายุทธศาสตร์ รวมถึงเป้าหมายการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการรวมถึงกรอบตัวชี้วัดและ เป้าหมายการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับโลกและระ ดับภูมิภาค อย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
๑๖.๒ การพัฒนาความเข้มแข็งของระบบรายงาน ติดตามและเฝ้าระวังการดำเนินการเพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ พร้อมทั้งแหล่งข้อมูลและหน่วยงานที่รับผิดชอบ รวมทั้งกรอบระยะเวลาในการวัด
๑๖.๓ การพัฒนาให้มีกลไกระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาค ส่วน ในการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ตั้งแต่กระบวนการพัฒนานโยบาย การกำหนดเป้าหมายทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น การนำนโยบายไปปฏิบัติใช้ รวมทั้งการติดตามความก้าวหน้าและการประเมินผลในการดำเนินการอย่างเข้มแข็ง และต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายระดับชาติ โดยใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากร ก ลไกและกระบวนการ รวมถึงนโยบายและยุทธศาสตร์และเครื่องมือที่ประเทศไทยมีอยู่ และการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนที่จำเป็น รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ที่เกี่ยวข้อง
ประเด็นพิจารณาของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
ขอให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติพิจารณาเอกสาร สมัชช าสุขภาพ ๖/ ร่างมติ ๖ เป้าหมายในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  28th Nov 13

จำนวนผู้ชม:  35635

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 พ.ศ.2556

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง