Sub Navigation Links

webmaster's News

สกู๊ปแนวหน้า: ‘ขยะอุตสาหกรรม’สุขภาพคนไทย..ใครรับผิดชอบ?



สกู๊ปแนวหน้า: ‘ขยะอุตสาหกรรม’สุขภาพคนไทย..ใครรับผิดชอบ?



แนวหน้า ฉบับวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

SCOOP@NAEWNA.COM :

 กว่าครึ่งศตวรรษที่ประเทศไทยหันทิศทางจาก สังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรม มาตรการมากมายจากภาครัฐ ล้วนออกมาเพื่อจูงใจนักลงทุนจาก ทั่วสารทิศ พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยความหวังว่าเราจะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หรือเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในไม่ช้า

แต่ปัญหาประการหนึ่งที่พบในประเทศกำลัง พัฒนาทั้งหลายรวมทั้งประเทศไทย คือเมื่อมีโรงงาน หรือนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นที่ใด ก็จะพบว่ามีการลักลอบปล่อยของเสีย ที่ไม่ผ่านกระบวนการบำบัดลงสู่ธรรมชาติอยู่ที่นั่นด้วยเสมอ ผิดจากประเทศที่พัฒนาแล้ว อุตสาหกรรมกับชุมชนสา มารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข แม้กระทั่งปัจจุบันที่มีธุรกิจใหม่คือ “รับกำจัดขยะ” เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริง บริษัทเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นเหมือน “แดนสนธยา” เพราะไม่ค่อยจะมีใครทราบว่า มีวิธีการขนย้าย หรือนำไปกำจัดอย่างไร?

‘บริษัทผี’ จับมือ ‘เจ้าพ่อท้องถิ่น’

“สิ่งหนึ่งที่เราได้พบจริงๆ ในการลักลอบทิ้ง สถานที่แต่ละสถานที่ ถ้าเราย้อนกลับไปดูแล้ว เป็นของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นซะส่วนใหญ่ มันเป็นสิ่งที่น่าเชิญชวนและหอมหวนมาก ในการดำเนินการธุรกิจ สมมุติเรามี หรือซื้อที่ดินต่างจังหวัดที่เป็นบ่ออยู่แล้ว เราขุดดินขายไปแล้ว ทุนคืนไปหมดแล้ว กำไรก็ท่วมท้นมหาศาลแล้ว ผู้ประกอบการที่จะเข้าไปขนกาก (ขยะอุตสาหกรรม) ในท้องที่ มันก็จะมีผู้มีอิทธิพล บอกว่าคุณไม่ต้องขนออกไป ขนไปแต่เอกสาร ตัวกากมาทิ้งตรงนี้แล้วแบ่งกับผม นี่คือปัญหาจริงนะครับ”

นายเสรี อติภัทธะ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเปิดเผยถึงมุมมืดในวงการธุรกิจกำจัดขยะและของ เสียจากอุตสาหกรรม ที่ผู้ประกอบการหลายราย แอบร่วมมือตกลง ผลประโยชน์กับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เพื่อที่จะไม่ต้องนำขยะเหล่านี้ ไปกำจัดตามขั้นตอนที่ถูกต้อง แต่ใช้วิธีมักง่าย ด้วยการฝังหรือเททิ้งในพื้นที่รกร้างบางแห่งแทน ซึ่งโดยปกติแล้ว ธุรกิจเหล่านี้ จะรับจ้างกำจัดขยะจากโรงงานต่างๆ เฉลี่ยตันละ 10,000 บาท แน่นอนว่าเป็นเรื่องยาก ในการตรวจสอบว่าระหว่างขนย้าย เขาจะขนไปที่ไหนบ้าง

สอดคล้องกับแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ราย หนึ่ง กล่าวว่า บางบริษัทเมื่อไปตรวจสอบ ก็พบว่าไม่มีอะไรเลยนอกจาก สำนักงานเปล่าๆ ดังนั้นแม้จะมีใบอนุญาต แต่เชื่อว่าไม่สามารถ ดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามวิธีการ จึงพอจะเดาได้ว่า “บริษัทผี” เหล่านี้ คงหนีไม่พ้นหาที่ว่างๆ สักแห่งแล้วก็ทิ้งรวมๆ กัน จนเกิดความเดือดร้อนกับประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ดังที่ปรากฏ เป็นข่าวอยู่เป็นระยะๆ

“ค่าทิ้งเฉลี่ยตกตันละเป็นหมื่น วิ่งไปหลุดไป วิ่งไปปล่อยไป ลงข้างทาง จอดเข้ารกเข้าพง ก็ได้มาหมื่นนึงฟรีๆ ไม่ต้องลงทุนอะไรเลยนะครับ” เจ้าหน้าที่ด้านตรวจสอบมลพิษรายนี้ระบุ

มาตรการ 5 ด้าน

จากปัญหาดังกล่าว รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2556 เป็นต้นไป ภายในกรมโรงงานฯ จะมีการปรับโครงสร้างใหม่ ให้มีหน่วยงานระดับสำนัก ทำหน้าที่ควบคุมมาตรฐานบริษัทรับกำจัดของเสีย หรือ โรงงานประเภท 101-105-106 ตามบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม จำแนกตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 เป็นหลัก

อีกด้านหนึ่ง ในมาตรการระยะยาว รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่าต้องทำพร้อมไปทั้ง 5 ด้าน คือ 1.ป้องกันโดยการเข้าไปควบคุมคุณภาพโรงงานประเภท 101-105-106 ให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้น 2.กำกับ ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทยที่ดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนเครือข่ายภาคประชาชน ให้ช่วยเป็นหูเป็นตา ว่าในแต่ละพื้นที่ มีจุดเสี่ยง-พื้นที่ล่อแหลมอยู่ตรงไหนบ้าง

“วันนี้ได้มีการสร้างแนวร่วม เด็กเล็ก ผู้นำชุมชนต่างๆ ให้เขาช่วยเป็นหูเป็นตาให้เรา สำนักกาก (ดูแลเรื่องของเสียอุตสาหกรรม) มีเจ้าหน้าที่อยู่ 10 กว่าคน คงไม่พออยู่แล้ว แต่อันนี้ค่อนข้างได้ผลดี เพราะที่ผ่านมา 3-4 เดือน ที่ผมดูแลเรื่องนี้อยู่ มีการแจ้งเข้ามาบ่อยมาก ทาง 1564 (สายด่วนศูนย์ระงับอุบัติภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย) พยายามทำข่าวว่า มีอะไรแจ้งมาเลยนะ เป็นการสร้างความคุ้นเคยกับชาวบ้าน กับชุมชน” คุณเสรี กล่าว

3.ปราบปราม ปัจจุบันทางกรมโรงงานฯ กำลังออกแบบแนวทางพิสูจน์ขยะพิษ เพื่อจะได้ทราบว่า กากขยะที่ถูกนำไปทิ้งตาม ที่ต่างๆ นั้นมาจากไหน นอกจากนี้ยังได้เสนอว่า เจ้าของกิจการที่ว่าจ้างบริษัทกำจัดของเสีย หากบริษัทนั้นนำของเสียไปลักลอบทิ้งจนเกิดปัญหาขึ้น ผู้ว่าจ้างต้องร่วมรับผิดชอบด้วย เพื่อกระตุ้นให้เจ้าของโรงงานทั้งหลาย เลือกใช้บริการผู้รับจ้างกำจัดขยะที่ได้มาตรฐาน เป็นการคัดกรองน้ำดีออกจากน้ำเสียอีกทางหนึ่ง

เช่นเดียวกัน แม้แต่กฎหมายที่มีอยู่ก็ต้องแก้เช่นกัน เพราะส่วนมากมีแต่โทษปรับ ไม่มีโทษจำคุก หรือบางฉบับมีโทษ จำคุก แต่เป็นโทษที่ไม่สูงนัก ผู้กระทำผิดจึงมีโอกาสที่จะได้รับการ ลดโทษ ไม่ต้องจำคุกอยู่เสมอ รวมไปถึงที่ดินที่มีการฝังกลบขยะสารพิษ ในประเทศไทยยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ประกอบการหรือเจ้าของที่ดินเดิม ซึ่งสามารถขายต่อได้ โดยที่เจ้าของใหม่อาจจะไม่รู้ว่าด้านล่างนั้นฝังอะไรไว้

4.ส่งเสริม ที่ผ่านมากรมโรงงานฯ พยายามส่งเสริม ให้ผู้ประกอบการโรงงานต่างๆ ทำ “3R” คือ Reduce (ใช้วัตถุที่ ก่อมลพิษให้น้อยที่สุด) Reuse (ใช้ให้คุ้มค่าที่สุด) Recycle (นำกลับมาแปรรูปใช้ใหม่ หากทำได้) และเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทน 5.พื้นฟู ซึ่งต้องหากองทุนมาดูแล โดยเน้นเก็บจากธุรกิจกำจัดของเสียทั้งหลาย เพื่อเป็นการประกันหากเกิดเหตุสารอันตรายรั่วไหลไปสู่ธรรมชาติและชุมชนขึ้น

จับตา ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’

นอกจากขยะหรือสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม แล้ว สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังไปพร้อมๆ กัน คือบรรดาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่เกิดจากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ แม้จะมี อนุสัญญาบาเซิล (Basel Convention) ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน ตั้งแต่ ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532)

แต่ในความเป็นจริง บรรดาประเทศพัฒนาแล้ว ยังคงลักลอบส่งของเสียเหล่านี้ไปยังประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาอยู่เสมอ ดังที่เป็นข่าว กรณีองค์กรเฝ้าระวังด้าน สิ่งแวดล้อมอย่าง กรีนพีซ (Greenpeace) ตรวจพบการขนย้ายขยะอิเล็กทรอนิกส์ จากบางประเทศในทวีปยุโรปไปยังอินเดีย จีน หรือหลายประเทศในทวีปแอฟริกา

เช่นเดียวกัน พฤติกรรมการใช้สินค้าไฮเทคของคนไทย ค่อนข้างเบื่อง่าย เปลี่ยนเร็วตามกระแส ทำให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมาก จากการคาดการณ์ของ กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ในปี 2556 มี ซากโทรศัพท์มือถือจำนวน 9.14 ล้านเครื่อง จะเพิ่มขึ้นเป็น 9.75 ล้านเครื่องในปี 2557 และทะลุ 10 ล้านเครื่อง ในปี 2558 ขณะที่ ซากคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ปี 2556 อยู่ที่ 1.99 ล้านเครื่อง จะเพิ่มเป็น 2.21 ล้านเครื่อง ในปี 2557 และ 2.42 ล้านเครื่อง ในปี 2558

ล่าสุดกับการที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนระบบ การออกอากาศของโทรทัศน์ จาก Analog เป็น Digital นายบุญส่ง ไข่เกษ อนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา แสดงความเป็นห่วง เนื่องจากจะต้องมีโทรทัศน์เก่าถูกทิ้งเป็นขยะจำนวนมาก นอกจากนี้ ข้อตกลงในอาเซียน ยังกำหนดให้ทั้ง 10 ชาติสมาชิก ต้องแพร่ภาพเป็น Digital อีกด้วย

“ฝากไว้นิดเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ พอดีผมไปเกี่ยวข้องกับการเข้าสู่อาเซียน แล้ว กสทช. กำลังจะเปลี่ยนระบบ TV จาก Analog เป็น Digital เศษของ TV ทั้งหลาย เขาบอกว่า มีเป็นล้านๆ เครื่อง แล้วมันจะไปอยู่ที่ไหน? แล้วจะตั้งรับยังไง?” คุณบุญส่ง กล่าวทิ้งท้าย พร้อมทั้งเสริมว่า กฎหมายบางฉบับให้อำนาจรัฐมนตรีหรืออธิบดีสามารถออกประกาศ (กฎหมายลูก) มาบังคับใช้ได้ทันที โดยที่ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายผ่านรัฐสภาแต่อย่างใด

ขยะอุตสาหกรรม ทั้งที่เกิดจากโรงงาน และเกิดจากชีวิตประจำวันของแต่ละคน กำลังเป็นปัญหาใหญ่ ด้านหนึ่งคือการลักลอบนำไปทิ้งอย่างไม่ถูกวิธีจนเกิดอันตรายต่อชุมชนใน พื้นที่นั้น อีกด้านหนึ่ง จำนวนขยะเหล่านี้ก็กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่ปัญหาของกรมหรือกระทรวงใดเป็นการเฉพาะ

แต่ต้องผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อปกป้องสุขภาพและชีวิตของคนไทย

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  25th Sep 13

จำนวนผู้ชม:  35627

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง