Sub Navigation Links

webmaster's News

นายกฯ ชี้ถึงเวลาทบทวน-ปรับปรุง การป้องกัน/บรรเทาสาธารณภัยสารเคมี



นายกฯ ชี้ถึงเวลาทบทวน-ปรับปรุง การป้องกัน/บรรเทาสาธารณภัยสารเคมี



นายกชี้ 4 ความท้าทายในการทบทวนและปรับปรุงระบบการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสารเคมี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนให้ปลอดภัยจากอุบัติภัยสารเคมี นายแพทย์วิพุธ ลั่นบทเรียนที่ผ่านมาระบบสั่งการและแจ้งข่าวสารผิดพลาด ไม่มีแนวกันชน ทำให้กระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว เสนอทบทวนและปรับยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสารเคมี 4 ยุทธศาสตร์ วันนี้ (11 ส.ค.53) คณะกรรมการศึกษา สนับสนุน และติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ : กรณีผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง ได้จัดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “การทบทวนและปรับปรุงยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2553-2557” โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวเปิดสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเคมีกับความเชื่อมั่นของประชาชน” ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวปาฐกถา หลังจากประเทศไทยพัฒนาก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ สารเคมีถือเป็นสิ่งจำเป็นในกระบวนการผลิต อุบัติสารเคมีและวัตถุอันตรายมักเกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรม โกดังเก็บสารเคมี และจากการขนส่ง แต่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนใหญ่จากการเกิดรั่วไหลของสารเคมีและวัตถุอันตราย รวมถึงการเกิดเพลิงไหม้ และจากรายงานในปี 2551 ประเทศไทยนำเข้าและผลิตสารเคมีในประเทศปริมาณรวม 29.4 ล้านตัน มีสถานการณ์ภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายรวม 263 ครั้ง โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ในปี 2551 เกิดขึ้นมากที่สุดจำนวน 69 ครั้ง ไม่สามารถระบุมูลค่าความเสียหายได้ “การสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อเรื่องนี้ มีความท้าทายสำคัญอยู่ 4 ประการ คือ 1)ความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชนในทุกพื้นที่ เพื่อรับรู้และร่วมวางแผนกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการจัดการป้องกันและบรรเทาภัยจากอุบัติเหตุสารเคมี 2)ขีดความสามารถขององค์กรและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต้องปรับให้สอดคล้องกับการประสานงาน เพื่อให้เกิดความร่วมมือของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและประชาคมในพื้นที่ 3)การบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละภาคส่วน สามารถรองรับภารกิจไดอย่างต่อเนื่อง และ 4)การติดตามและประเมินผลระบบการจัดการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นต่อเรื่องนี้ได้ ไม่ใช่เพราะผมในฐานะนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว หากแต่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันตามบทบาทและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน ต้องไว้วางใจและเชื่อมั่นในกันและกัน การจับมือสานพลังกันจะทำให้เรามีความมั่นใจที่จะร่วมกันก้าวข้ามปัญหานี้ไปด้วยกัน แล้วเราทุกคนก็จะเชื่อมั่นที่อยู่ร่วมกันสังคมอย่างมีความสุข” ประธาน คสช.กล่าว ท่านผู้หญิง ดร.สุธาวัลย์ เสถียรไทย ประธานคณะกรรมการศึกษา สนับสนุน และติดตามผลฯ กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลที่โรงงานแห่งหนึ่งในพื้นที่มาบตาพุด เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้ส่งทีมลงไปตรวจสอบเพื่อนำมาเป็นกรณีศึกษาในระบบการจัดการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่มาบตาพุด ทำให้พบปัญหาและข้อจำกัดหลายเรื่อง อาทิ ในรายงานอีไอเอไม่ได้ประเมินความเสี่ยงจากสารเคมีทุกตัวที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ดำเนินงานตามมาตรการที่กำหนดไว้ในอีไอเออย่างครบถ้วน ปัญหาด้านการแบ่งระดับของเหตุฉุกเฉินและการแจ้งเหตุกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของกลไกการสอบสวนหลังเกิดเหตุ เป็นต้น นอกจากในพื้นที่มาบตาพุดแล้ว ยังพบปัญหาอุบัติภัยสารเคมีในอีกหลายจังหวัด อีกทั้งยังพบข้อจำกัดของระบบการทำงานที่ไม่แตกต่างกัน คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่มีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพในวงกว้าง ซึ่งระบบและกลไกที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ “คณะกรรมการฯ จึงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างข้อเสนอต่อการทบทวนและปรับปรุงยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสารเคมีขึ้น และจัดเวทีนี้เพื่อทบทวนและปรับปรุงยุทธศาสตร์ดังกล่าว ตามกรอบแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ – ๒๕๕๗ ซึ่งไม่ได้เน้นเฉพาะในพื้นที่จังหวัดระยอง แต่มองในภาพรวมของประเทศไทย หลังจากนี้แล้วจะเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งดิฉันคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงยุทธศาสตร์ฯ ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพปัญหาของสังคมไทยอย่างแท้จริง” ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์กล่าว ด้านนพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะทำงานยกร่างข้อเสนอต่อการทบทวนและปรับปรุงยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสารเคมี ได้นำเสนอกรอบยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสารเคมีในเวทีว่า จังหวัดระยองเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหนักที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ จากบทเรียนที่ผ่านมาถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการปรับปรุงกระบวนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้นำยุทธศาสตร์ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2553-2557 มาเป็นกรอบจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับการทบทวนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสารเคมี เพื่อพัฒนาระบบการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจากสารเคมีในจังหวัดระยองให้มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ แนะ 4 ยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แก่ 1)การป้องกันและลดผลกระทบ โดยเชื่อมต่อระบบข้อมูล ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ เปิดเผยข้อมูลสารเคมีทุกชนิด และจัดทำคู่มือเตรียมความพร้อมและการอพยพในกรณีอุบัติภัยสารเคมี 2)การเตรียมความพร้อม โดยพัฒนาระบบเตือนภัย จำลองการพยากรณ์ความรุนแรงของผลกระทบจำแนกตามประเภทของสารเคมี แหล่งกำเนิด ฤดูกาลและทิศทางลม ลดการเตือนภัยเหลือ 3 ขั้นตอน และฝึกอบรมและเพิ่มขีดความสามารถบุคลากรที่เกี่ยวข้อง 3)การจัดการในภาวะฉุกเฉิน โดยศูนย์บัญชาการต้องทำหน้าที่ในการประเมินระดับความรุนแรง และ 4) การจัดการหลังเกิดภัย โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ครอบคลุมความเสียหายในทุกด้าน ทั้งตั้งกองทุนเพื่อเยียวยา และดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนระยะยาว “ปัญหาที่ผ่านมาเกิดจากความผิดพลาดในการจัดทำผังเมืองที่ไม่มีการแบ่งพื้นที่แนวป้องกันในแต่ละโรงงาน และแนวกันชนระหว่างนิคมอุตสาหกรรมกับชุมชน เมื่อเกิดสารเคมีรั่วไหลจึงส่งผลกระทบไปยังชุมชนอย่างรวดเร็ว อีกทั้งแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยยังจำกัดแค่ในจังหวัด ไม่พบการจัดทำในระดับท้องถิ่นและชุมชน กอรปกับการเตือนภัยที่มากมายถึง 5 ขั้นตอน กว่าประชาชนจะรู้โดยทั่วไปก็สายเกินแกง อีกทั้งยังประเมินระดับความรุนแรงต่ำกว่าความเป็นจริง สิ่งเหล่านี้คือปัญหา เมื่อปัญหาเกิดจากการระบบสั่งการและการเตือนภัย รู้ว่าผิดพลาดตรงไหน ก็ตามไปแก้ไขเสีย เพื่อปัญหาจะได้ไม่บานปลาย อุบัติภัยที่ผ่านมาถือว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราต้องทำเรื่องนี้ให้จริงจังเพื่อพัฒนาระบบการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากสารเคมีในจังหวัดระยองให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนในพื้น ที่” ประธาน คทง.ยกร่างฯ กล่าว ประสานงาน : งานสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พลินี เสริมสินสิริ (แตงโม) 02-590-2307 / 089-7759281 ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน 19 พฤษภาคม 2552 คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ กรณีผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง 5 ข้อ โดยมีมติเห็นชอบ 3ข้อ คือ ข้อที่ 2 ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพจากอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในพื้นที่มาบตาพุดและอำเภอบ้านฉาง รวมถึงเผยแพร่วิธีป้องกันผลกระทบและวิธีการสร้างเสริมสุขภาพในภาวะมลพิษให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง โดยเร็วและต่อเนื่อง ข้อที่ 3 ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนและกฎการปฏิบัติการ สำหรับป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยจากอุตสาหกรรม และการจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยสารเคมีระดับจังหวัดโดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรและประชาชนในพื้นที่ และข้อที่ 4 ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพกลไกกลางในการดำเนินงานและความเข้มแข็งของภาคประชาชน ได้แก่ การศึกษาแนวทางในการจัดตั้งกลไกผู้ตรวจการสำหรับการป้องกันและแก้ไขผลกระทบทางสุขภาพ การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของภาคประชาชน และสนับสนุนภาคประชาสังคมจังหวัดระยองติดตามความเคลื่อนไหวทางนโยบายโดยใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ ส่วนอีก 2 ข้อ คือ ข้อที่ 1 ให้รัฐบาลทบทวนและปรับแนวทางการพัฒนาจังหวัดระยอง โดยจัดตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วน วางและจัดทำผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมหลักและชุมชนจังหวัดระยองฉบับใหม่ ปรับปรุงระบบการจัดการทรัพยากรน้ำใหม่ พิจารณาปรับปรุงระบบและมาตรการทางการคลังและจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้ อมในพื้นที่จังหวัดระยอง จัดให้มีระบบและกลไกการป้องกันและแก้ไขปัญหาทางสังคม โดยเฉพาะปัญหาเด็กและเยาวชน และจัดให้มีบริการทางสังคม ซึ่งเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในทุกขั้นตอน และข้อที่ 5 เสนอให้รัฐบาลชะลอการขยายและก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่มาบตาพุดและบ้านฉาง ในระหว่างการทบทวนและปรับแนวทางการพัฒนาจังหวัดระยอง โดยให้มีการกำหนดแนวทางและกระบวนการตัดสินใจในการให้อนุมัติ/อนุญาต/ให้ความเห็นชอบการขยายโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ ให้เป็นไปตามมาตรา ๖๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คณะรัฐมนตรีได้ส่งไปให้คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (กพอ) พิจารณา รายละเอียดอยู่ในหนังสือฟ้าหลังฝน ทั้งนี้ คสช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษา สนับสนุน และติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพ : กรณีผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและจังหวัดระยอง มีท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย เป็นประธาน

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  14th May 12

จำนวนผู้ชม:  35048

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง