Sub Navigation Links

webmaster's News

คอลัมน์ Socio Biz: การทำ EIA กับผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดย เรวัต ตันตยานนท์:



คอลัมน์ Socio Biz:  การทำ EIA กับผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดย เรวัต ตันตยานนท์:



กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เรวัต ตันตยานนท์:

 การทำ EIA (Environmental Impact Assessment) หรือ “รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” เจ้าของธุรกิจหรือนักอุตสาหกรรมที่จำเป็นจะต้องเกี่ยวข้อง มักจะเกิดความกังวลว่า EIA จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อโครงการทางธุรกิจที่เตรียมจะก่อสร้างขึ้นหรือไม่ และจะกระทบต่อต้นทุนของโครงการหรือธุรกิจมากน้อยอย่างไร

เรื่องของ EIA เป็นกฎระเบียบสมัยใหม่ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดยไม่ได้คำนึงว่า การทำธุรกิจหรือการขยายธุรกิจ จะสร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติอย่างไรหรือไม่ โดยมุ่งหวังแต่ ผลตอบแทนทางธุรกิจของตนเอง ดังนั้น ภาครัฐในหลายๆ ประเทศซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้กำหนดออกมาเพื่อบังคับให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องดำเนินการ ในเรื่องของการดูแลทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมไปควบคู่กับการทำธุรกิจ หรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจในขณะตั้งแต่เริ่มทำโครงการใหม่

EIA เป็นวิธีการหรือเครื่องมือทางธุรกิจอย่างหนึ่ง ที่ใช้เพื่อจำแนกและคาดคะเนผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากโครงการ หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เชิงพาณิชย์ และเชิงสังคม เพื่อเสนอแนะมาตรการในการแก้ไขผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคม และ สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ รวมถึงการจัดทำแผนการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งในระหว่างการก่อสร้างและตลอดช่วงการดำเนินโครงการ

ในปัจจุบัน ประเทศไทยเราได้กำหนดประเภท และขนาดของธุรกิจที่จะต้องทำรายงาน EIA เพื่อเสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรับรอง ก่อนการลงมือดำเนินโครงการ เช่น

โครงการสร้างเขื่อนเก็บน้ำหรืออ่างเก็บน้ำ ขนาด 100 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นไป หรือมีเนื้อที่ตั้งแต่ 15 ตารางกิโลเมตรขึ้นไป การชลประทานที่มีพื้นที่ การชลประทานตั้งแต่ 80,000 ไร่ขึ้นไป สนามบินพาณิชย์ โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศ ที่มีจำนวนห้องพัก 80 ห้องขึ้นไป ระบบทางพิเศษหรือระบบขนส่งมวลชนที่ใช้ราง การทำเหมืองแร่ การทำนิคมอุตสาหกรรม

การทำท่าเรือพาณิชย์ ที่สามารถรับเรือขนาด 500 ตันขึ้นไป โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่มีกำลังการผลิต 10 กิโลวัตต์ขึ้นไป อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 100 ตันต่อวันขึ้นไป โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม โรงแยกหรือแปรสภาพก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีประเภทคลอ-อัลคาไลน์ที่มีกำลังการผลิต ตั้งแต่ 10 ตันต่อวันขึ้นไป

อุตสาหกรรมเหล็ก และเหล็กกล้ากำลังการผลิตตั้งแต่ 100 ตันต่อวันขึ้นไป การถลุงแร่หรือหลอมโลหะที่ไม่ใช่เหล็กหรือเหล็กกล้าที่มีกำลังการผลิต 50 ตัน ต่อวันขึ้นไป อุตสาหกรรมการผลิตปูนซิเมนต์ อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 50 ตันต่อวันขึ้นไป

การถมที่ดินในทะเล โครงการทุกประเภทในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 บี อาคารที่ตั้งอยู่ริมน้ำ ฝั่งทะเล ทะเลสาป ชายหาด ในอุทยานแห่งชาติ หรือ อุทยานประวัติศาสตร์ ที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไปหรือมีพื้นที่รวมตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป อาคารที่อยู่อาศัยรวมที่มีจำนวนห้อง 80 ห้องขึ้นไป การจัดสรรที่ดินตั้งแต่ 500 แปลงหรือมีพื้นที่เกินกว่า 100 ไร่ โรงพยาบาลที่ตั้งอยู่บริเวณที่อาจเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ริมแม่น้ำ ฝั่งทะเล ชายหาด หรือทะเลสาป ที่มีเตียงผู้ป่วย 30 เตียงขึ้นไป หรือโรงพยาบาลทั่วไปที่มีจำนวน 60 เตียงขึ้นไป

การผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี โรงงานกำจัดสิ่งปฏิกูล ของเสีย หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว อุตสาหกรรมน้ำตาลหรือผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงน้ำตาล การสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม การขนส่งปิโตรเลียมและน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อ การทำทางหลวงหรือถนนที่ตัดผ่านพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ พื้นที่เขตลุ่มน้ำชั้น 2 พื้นที่เขตป่าชายเลน และพื้นที่ชายฝั่งทะเลในระยะ 50 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด เป็นต้น

ในการจัดทำ EIA เจ้าของโครงการต้องทำรายงานที่มีรายละเอียด ประกอบด้วย การศึกษาครอบคลุมระบบสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน คือ

1) ทรัพยากรกายภาพ เป็นการศึกษาถึงผลกระทบ ที่มองเห็นหรือสัมผัสได้ เช่น ดิน น้ำ อากาศ เสียง ว่าจะ มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก่อน และหลังการทำโครงการ

2) ทรัพยากรชีวภาพ เป็นการศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่มีต่อระบบนิเวศน์ของสิ่งมีชีวิตเช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ปะการัง เป็นต้น

3) คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เป็นการศึกษาถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทั้งทางกายภาพ และชีวภาพของมนุษย์ เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดินจะมีการเปลี่ยนไปอย่างไร มีความคุ้มค่าหรือไม่ที่จะเปลี่ยนแปลง

4) คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต เป็นการศึกษาถึง ผลกระทบที่จะเกิดต่อมนุษย์ ชุมชน ระบบเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม รวมถึงทัศนียภาพ คุณค่า และความสวยงาม เป็นต้น

หลังจากที่มีการใช้รายงาน EIA มาช่วงเวลาหนึ่งและเห็นประโยชน์ที่ได้รับ ภาครัฐ ก็ได้นำหลักการของ รายงานการวิเคราะผลกระทบต่อสุขภาพ หรือ Health Impact Assessment (HIA) หรือ “การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจาก พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ โดยไม่ได้เริ่มจากการเป็นมาตรการบังคับทางธุรกิจ แต่มุ่งหวังให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ ร่วมกันของสังคม ในการตัดสินใจที่ดีที่สุด เพื่อสุขภาวะ ของสังคมเท่านั้น แต่ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ได้กำหนดในมาตรา 67 วรรค 2 ได้กำหนดให้มีการต้องทำ HIA โดยกำหนดว่า

“การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้ เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษา และประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้าน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือ ทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการ ดังกล่าว”ทำให้โครงการหรือกิจกรรมที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน ต้องมีการจัดทำรายงาน EIA และ HIA รวมกัน เรียกว่า EHIA โดยให้เพิ่มขั้นตอนที่จำเป็นขึ้นอีก 2 ขั้นตอน คือ การกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบ ด้านสุขภาพโดยสาธารณะ (Public Scoping) และ การตรวจสอบร่างรายงานโดยสาธารณะ (Public Review) เป็นที่มาของการทำประชาพิจารณ์ที่สังคมและชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการ เห็นชอบโครงการ

หากธุรกิจ ไม่ได้หวังจ้องเอาเปรียบสังคม และอยากที่จะใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่เป็นธรรม ก็ควรจะต้องเห็นชอบ และร่วมมือกับภาครัฐปฏิบัติเรื่อง EHIA ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการ ปกปักรักษาทรัพยากร และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

ไม่ว่าจะเป็นโครงการของเอกชน หรือ โครงการของรัฐ เอง ก็ไม่ควรจะต้องหนี EHIA !!

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  20th Jun 13

จำนวนผู้ชม:  36169

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง