Sub Navigation Links

webmaster's News

ตักบาตรพระให้ได้’เนื้อนาบุญ’อย่ามองข้ามปัญหา’อาหาร’ทำร้ายสุขภาพ



ตักบาตรพระให้ได้’เนื้อนาบุญ’อย่ามองข้ามปัญหา’อาหาร’ทำร้ายสุขภาพ



ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

…”ถ้าจะตักบาตรตอนเช้าสิ่งที่นำมาใส่ส่วนมากเป็นของที่พ่อที่เสียไปแล้วชอบทาน อย่างกับข้าวก็ให้มีส่วนประกอบจากปลาดุก หรือไม่ก็มะยงชิด บางครั้งก็จะนึกถึงในสิ่งที่ท่านไม่ค่อยได้ฉัน เช่น ช็อกโกแลต โดนัท”

…”ส่วนมากของที่ใส่บาตรตอนเช้าก็จะเป็นแกงถุงสำเร็จที่ร้านค้าทำไว้แล้ว เพราะสะดวกดีค่ะ และจะเน้นของรสชาติเผ็ดที่ตัวเองชอบทาน ที่ใส่บาตรแบบนี้เพราะคิดว่าบุญที่ทำไว้ ตายไปเราก็จะ

ได้มีของกินที่ชอบค่ะ”

…”เวลาถวายภัตตาหารเลี้ยงพระ ก็จะคิดอะไรแตกต่างกว่าคนอื่น คือ ถ้าเป็นวัดใกล้บ้านในต่างจังหวัดที่สนิทกันหน่อยก็จะถวายในสิ่งแปลกๆ ที่ท่าน

ไม่ค่อยได้ฉัน อย่างหมูกระทะ หรือน้ำ

พริกปลาร้า ซึ่งบางครั้งของเบสิกอย่าง

กะเพราท่านก็โอเค แต่จะไม่เน้นพวกแกงกะทิที่คนส่วนใหญ่ถวาย เนื่องจากเป็นอาหารจำเจและยังทำร้ายสุขภาพพระภิกษุชราที่อาจป่วยเป็นโรคเบาหวาน แต่ว่าถ้าเป็นใส่บาตรเช้าใน กทม. ก็ซื้อง่ายๆ เป็นขนมปัง นม ในร้านสะดวกซื้อ”

ข้อความข้างต้นคือตัวอย่างคำบอกเล่าของเหล่าพนักงานออฟฟิศ ที่ต่างเฉลยถึงหลักในการใส่บาตรประจำวัน หรือในวัน

บุญพระใหญ่ เพื่อบำรุงพระพุทธศาสนาในมุมของตน

แต่เชื่อไหมว่า …แค่การ “ถวายภัตตาหาร” แด่พระสงฆ์ ที่พุทธศาสนิกชนทำกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเหมือนดั่งที่ตัวแทนคนออฟฟิศทำ กลายเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้สุขภาพของพระท่านทรุดโทรม “ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” ต่างๆ อย่างโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด และภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

ด้วยเนื่องจากการถวายนั้นขาดความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงผลเสียต่อการเจ็บป่วยของพระสงฆ์ ขณะเดียวกัน พระสงฆ์ยังมีพฤติกรรม

เสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มกาแฟ ดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง และขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม

ทำให้เรื่องการถวายอาหารแด่ผู้สืบทอดพุทธศาสนาถูกหยิบยกขึ้นมาหารือตั้งแต่ปี 2553 โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ออกโรงเตือนเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เห็นควรยก “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” เป็น 1 ในมติขาขึ้นจากทั้งหมด 11 มติ ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2555 เพราะห่วงใยว่าหากไม่มีการพัฒนากระบวนการส่งเสริมและดูแลพระสงฆ์ในด้านสุขภาพ จะทำให้กลไกการสืบทอดพุทธศาสนา และการพัฒนาความดีงามด้านคุณธรรมจริยธรรมที่สำคัญของประเทศไทยอ่อนแอลง

“ที่ผ่านมาประชาชนมักนำอาหารที่ทำร้ายสุขภาพไปถวายพระท่าน ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาวหรือหวาน จะไม่พ้นส่วนประกอบที่เป็นกะทิ กลุ่มโปรตีนสูง อาหารมัน ของผัดของทอด บางครั้งเป็นของดีของแพงแต่ไม่ถูกหลักโภชนาการ เช่น อาหารฝรั่งอย่างพิซซ่า แต่อาหารดั้งเดิมที่ให้ประโยชน์จำพวกแกงส้ม แกงเลียง น้ำพริกผัก ส้มตำ ไม่ค่อยถูกนำไปถวาย ส่วนหนึ่งคงเพราะวิธีการทำยุ่งยาก แถมยังถวายขนมที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบสูง จำพวกทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง หม้อแกง ส่งผลให้พระท่านได้รับไขมัน น้ำตาล โซเดียม หรือเกลือเกินความจำเป็น นั่นเท่ากับว่ามีแต่เอาเข้าแต่ไม่ได้เอาออก เพราะท่านไม่ได้มีโอกาสเคลื่อนไหวร่างกายมากนัก จึงน่าเป็นห่วงในเรื่องพระสงฆ์ไทยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเยอะมากขึ้น” สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ แจงให้เห็นภาพเบื้องต้นของปัญหา

อย่างไรก็ดี นักโภชนาการคนเดิม ให้คำแนะนำไว้เบื้องต้น สำหรับประเภทของอาหารที่ควรถวายแด่พระภิกษุ ซึ่งเจ้าตัวระบุว่า หลักๆ ควรเป็นเมนูสุขภาพอาหารไทยที่ไม่ใส่กะทิ จะเป็นย่าง อบ นึ่ง ต้ม แกง ยำ หรือน้ำพริกผักต่างๆ ของผัดของทอดไม่ควรบ่อยเกินไป ส่วนกลุ่มขนมอาจเป็นขนมไทยที่ไม่หวานมาก และถ้าเน้นผลไม้ได้จะดีกว่า น้ำอัดลม บุหรี่ และเครื่องดื่มชูกำลัง สามประการหลังควรงด

“อย่าไปคิดว่าเราทำบุญด้วยอาหารที่ชอบแล้วเราจะได้บุญ หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วจะได้บุญ หากอาหารที่ถวายไปนั้นไม่ได้คำนึงถึงสุขภาพ เพราะเมื่อถวายไปแล้วก่อนบุญจะถึงคนที่เราอุทิศให้ พระท่าน และพวกเราเองที่ทานข้าวพระนั่นแหละ จะมีสุขภาพร่างกายไม่ปลอดภัย ในแง่กลับกัน ถ้ากล่าวตามความเชื่อและผู้ล่วงลับได้บุญที่ทำไปจริง ลองคิดว่าอาหารแบบนี้อาจทำให้คนในภพภูมิหลังป่วยไข้ได้” สง่า กล่าว และบอกด้วยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมอนามัยและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ควรขับเคลื่อนปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ด้วยการตีให้เป็นประเด็นสังคม เชิญชวนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตักบาตรพระให้ได้บุญอย่างแท้จริง

ด้าน เจษฎา มิ่งสมร เลขาฯ สนับสนุนยกร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หัวข้อ “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” กล่าวเสริมว่า เหตุผลที่เราเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นเรื่องที่ทางคณะสงฆ์พร้อมด้วยกรมอนามัย สธ.เสนอมาเอง ด้วยเห็นว่าหากแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้ด้วยการเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชน และให้ความรู้กับพระสงฆ์ในการรับประทานอาหารแบบมีประโยชน์ ก็จะช่วยให้พระภิกษุสงฆ์มีสุขภาพดี ลดค่าใช้จ่ายรัฐในการรักษาโรคภัย อีกทั้งพระสงฆ์ยัง

สามารถเผยแผ่ธรรมะได้เต็มศักยภาพ ที่อาจเลยไปถึงการเผยแพร่การทานอาหารที่ให้คุณ

ประโยชน์ต่อร่างกายแก่สาธุชนโดยรวมด้วย

“เป็นที่รู้กันว่า ไม่ว่าเราจะถวายอาหารหรือของกินของใช้สิ่งใดให้ท่าน พระภิกษุ

ไม่สามารถจะปฏิเสธการรับได้เพราะผิดพระธรรมวินัย แม้ของกินของใช้นั้นจะมีผลด้านลบต่อสุขภาพ ฉะนั้น จึงต้องมาแก้ที่ต้นเหตุ ผ่านการสร้างความเข้าใจที่ดีต่อบรรดาพุทธศาสนิกชน อันจะเป็นการช่วยดูแล

สุขภาพพระสงฆ์ทางอ้อม” เจษฎา กล่าวเลขาฯ สนับสนุนยกร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หัวข้อ “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” บอกต่อด้วยว่า สิ่งที่แก้ยากและต้องเปลี่ยนคือทัศนคติและจิตสำนึกของคน และเรื่องโภชนาการของพระสงฆ์ควรเริ่มตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานบุญเล็ก บุญใหญ่ งานศพ ฯลฯ อยากให้ทุกคนมาร่วมเนื้อนาบุญด้วยการถวายภัตตาหารที่ถูกที่ควร มิใช่ว่าอยากสร้างบุญแต่ได้บาปโดยไม่ตั้งใจไปแทน

“น่ายินดีที่จากมติขาขึ้นที่ สช.เป็นผู้ชงเสนอ แต่ไม่มีอำนาจบังคับสั่งการ นอกจากขอความร่วมมือเพียงอย่างเดียว กำลังเข้าสู่กระบวนการเป็นมติสมัชชาสุขภาพขาเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม และมีขอบเขตการทำงานขยายวงกว้างมากขึ้น เนื่องจาก สสส.และกรมอนามัย สธ.เข้ามาช่วยเหลือเรื่องนี้อย่างจริงจัง อีกทั้งทางสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ กำลังนำเรื่องดังกล่าวขึ้นปรึกษากับสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม เพื่อนำไปสู่เกณฑ์การปฏิบัติต่อพระสงฆ์ทั้งประเทศครับ”

จะให้ดียิ่งขึ้น …วันมาฆบูชา 25 ก.พ.นี้ ขอเชิญพุทธศาสนิกชนทุกคนเป็นต้นแบบ ร่วมทำบุญถวายภัตตาหารและสิ่งของเครื่องใช้แด่ภิกษุสงฆ์ด้วยจิตเมตตา และระลึกว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อผู้ดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาด้วยเทอญ สาธุ.

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  22nd Feb 13

จำนวนผู้ชม:  36714

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง