Sub Navigation Links

webmaster's News

เผย 6 แผนปฏิบัติการฯ แก้ปัญหาราคายาแพง ให้ประชาชนเข้าถึงยามากขึ้น



เผย 6 แผนปฏิบัติการฯ แก้ปัญหาราคายาแพง ให้ประชาชนเข้าถึงยามากขึ้น



  เผยโผร่างแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์เข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทย ตามมติ “การเข้าถึงยาถ้วนหน้า” จากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 2551 เปิดเวทีรับฟังความเห็นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ย้ำหากได้รับการยอมรับและนำไปปฏิบัติจริงจะช่วยแก้ปั ญหาราคายาแพง สร้างความเป็นธรรมด้านการเข้าถึงยาให้กับคนไทยทุกคน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกันจัดแถลงข่าว
   “จับหัวใจ 6 แผนปฏิบัติการเคลื่อนยุทธศาสตร์เข้าถึงยาถ้วนหน้า” หลังจากเปิดเวทีรับฟังความเห็นต่อแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์เข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทย จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นักวิชาการ รวมทั้งเครือข่ายผู้ป่วยและผู้บริโภค เกือบ 100 คน นพ.ชาตรี เจริญศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ร่างแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์เข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทย 5 ปี (2554-2558) เป็นผลมาจากมติในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปี 2551 ที่เห็นชอบ “ยุทธศาสตร์การเข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทย” ซึ่งสภาเภสัชกรรม กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (แอคเซส) มูลนิธิเภสัชชนบท (มภช.) เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี /เอดส์ ประเทศไทย (คอท.) แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คคส.) หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอประเด็นนี้เข้ามา และสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมาจากผู้แทนกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ จำนวน 178 กลุ่มเครือข่าย จำนวนทั้งสิ้น 1,620 คน ได้ให้ความเห็นชอบ
   หลังจากนั้นเรื่องนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 และคณะรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 หลังจากนั้น สช. ได้ตั้งคณะกรรมการยกร่างแผนปฎิบัติการฯ ซึ่งมีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ ขณะนี้ได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วใช้เวลาเกือบ 1 ปี และวันนี้ได้เปิดเวทีรับฟังความเห็น เพื่อนำไปปรับแก้ ก่อนเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาระบบยา ซึ่งมีพลตรีสนั่น ขจรประศาสตร์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการฯนี้ และเป็นกลไกหลักอำนวยการให้เกิดการขับเคลื่อนและประสานติดตามผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ต่อไป นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธาราดล ประธานคณะกรรมการยกร่างแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์เข้าถึงยาถ้วนหน้าประชากรไทย กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การเข้าถึงยาถ้วนหน้ามีเป้าหมายสำคัญคือ ให้ประเทศไทยมียาจำเป็นสำหรับใช้อย่างทั่วถึง ทันการณ์ และเพื่อประโยชน์สาธารณะ ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองในการรักษาพยาบาล ดังนั้นในร่างแผนปฏิบัติการนี้มีทั้งหมด 6 แผนปฏิบัติการย่อยมีเนื้อหาสำคัญๆ หลายเรื่อง เช่น การกำหนดราคายาในประเทศให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ
  โดยจัดให้มีการแสดงราคายาที่ขายให้กับผู้บริโภค มีกลไกในการกำกับดูแลราคายา มีการคัดเลือกยาที่มีปัญหาในการเข้าถึง และศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร มีคณะกรรมการคัดเลือกรายการยาที่ประชาชนเข้าไม่ถึง มีการเสนอให้ปรับปรุง พ.ร.บ. สิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญา และพ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ของ อย. ให้ทันสมัย ทันการเปลี่ยนแปลง มีข้อเสนอให้ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ ส่งเสริมการผลิตยาจำเป็นและวัตถุดิบทางยาที่ได้มาตรฐานเพื่อทดแทนการนำเข้า ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตยา และการจัดตั้งศูนย์วิจัยทางคลินิกรวมถึงส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายาใหม่ โดยเฉพาะโรคที่เป็นปัญหาในประเทศกำลังพัฒนา และ นวัตกรรมต่างๆ มีการส่งเสริมการใช้ยาอย่างเหมาะสมของแพทย์ เภสัชกร และประชาชน
  โดยเสนอให้พัฒนาการขึ้นทะเบียนตำรับยาให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ปรับปรุงบัญชียาหลักให้ทันต่อเหตุการณ์ พัฒนามาตรฐานการรักษาโรค เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านยาที่ถูกต้องแก่ประชาชน กำกับการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม และพัฒนาการเรียนการสอนของบุคลากรทางการแพทย์ให้ดีขึ้น “ทั้งหมดนี้เป็นการวางแผนปฏิบัติการฯ ที่แก้ปัญหาการเข้าถึงยาอย่างเป็นระบบ เพราะการแก้เพียงแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง และต้องมีความร่วมมือกันหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม สำนักงานกฤษฎีกา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายผู้ป่วย องค์การอิสระผู้บริโภค องค์กรวิชาชีพ สถาบันการศึกษา รวมทั้งภาคเอกชน
  หากแผนปฏิบัติการฯนี้ผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและลงมือปฏิบัติ ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือ ประชาชนจะไม่ต้องจ่ายค่ายาที่แพงเกินกำลังซื้อของเรา ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าถึงยาได้ เป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนคนไทยทุกคน ” นายแพทย์ศิริวัฒน์กล่าว นอกจากนี้เภสัชกรวรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร นักวิชาการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาฯ กล่าวเสริมอีกว่า ในร่างแผนปฏิบัติการนี้มีทิศทางสนับสนุนให้มีกลไกให้กลุ่มผู้ป่วยเข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันให้เข้าถึงยาจำเป็นอย่างเท่าเทียมในทุกกองทุน มีส่วนร่วมสนับสนุนให้กลุ่มผู้ป่วยรวมตัวกัน โดยเฉพาะโรคที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและโรคที่มีความชุกน้อย เพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าถึงบริการ การเข้าถึงยา และช่วยกันดูแลและสร้างเสริมสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ลดการกีดกันทางสังคม นับเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทยที่ให้ประชาชนเข้าไปส่วนร่วมในเรื่องดังกล่าว
   ด้าน รศ. ดร. จิราพร ลิ้มปนานนท์ กรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุมาจากการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล การใช้ยาเกินความจำเป็น และการที่ยาติดสิทธิบัตรในประเทศไทยมีราคาแพงเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศนั้น ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมและกำกับดูแลราคายา การจ่ายยาที่ไม่สมเหตุผลของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านยาที่สูงขึ้นของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ด้วยภาระค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มขึ้นและด้วยงบประมาณที่จำกัดนี้ ทำให้รัฐไม่สามารถจัดหายาได้เพียงพอกับความต้องการ จึงมีประชาชนหรือผู้ป่วยในประเทศไทยอีกจำนวนมากที่ยังคงเข้าไม่ถึงยาจำเป็นตามบัญชียาหลักแห่งชาติ
  ดังนั้นเมื่อปี 2549 กระทรวงสาธารณสุขได้นำเอามาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ (government use of patents หรือ compulsory licenses: CL) มาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพสามารถเข้าถึงยาที่ติดสิทธิบัตรได้ในราคาที่ถูกลง ซึ่งมาตรการ CL ช่วยให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพสามารถเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง รัฐสามารถประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านยาได้และนำงบประมาณส่วนที่ประหยัดไปใช้พัฒนาเป็นชุดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพได้ แต่ CL ไม่ใช่การแก้ที่สาเหตุและไม่ใช่มาตรการเดียวที่จะนำมาใช้เพิ่มการเข้าถึงยาของผู้ป่วย แต่จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ของประเทศที่มุ่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องการเข้าถึงยาอย่างเป็นระบบและบูรณาการ “ร่างแผนปฏิบัติการที่คณะกรรมการชุดนี้ยกร่างขึ้นมาก็สอดคล้องกับเจตนารมณ์การเข้าถึงยา และมีข้อเสนอใหม่ๆ ที่น่าจะแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานานได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือและจริงจังในการทำงานของหลายฝ่ายแผนปฏิบัติการนี้
  นอกจากประชาชนทั้งประเทศได้รับประโยชน์แล้ว ประเทศเราจะสูญเสียงบประมาณกับเรื่องยาลดลงอย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว” รศ.ดร.จิราพร กล่าว

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  14th May 12

จำนวนผู้ชม:  35162

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง