วันนี้ (15 มีนาคม 2555) ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มีพลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นประธาน มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้า การพัฒนากลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment) หรือเอชไอเอ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ในการป้องกันผลกระทบในมิติทางด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอาเซียน โดยเฉพาะเมื่อมีการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปีค.ศ. 2015 หรือ พ.ศ.2558 ซึ่งทำให้ต้องเปิดเสรีด้านการค้า บริการ และการลงทุนระหว่างกันอย่างไร้พรมแดน
น.ส.สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นผู้มีบทบาทนำในถักทอเครือข่ายทั้งภาครัฐ นักวิชาการ และภาคประชาชน เพื่อการพัฒนาเครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพหรือเอชไอเอ ในกลุ่มสมาชิกอาเซียนมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน โดยส่งเสริมให้มีการใช้เอชไอเอ ในการกลั่นกรองโครงการ กิจกรรม หรือนโยบายสำคัญที่จะเกิดขึ้นในกลุ่มอาเซียน ว่าจะส่งผลดีต่อสุขภาวะของประชาชนหรือไม่ และช่วยให้เกิดทางเลือกของการพัฒนาที่เป็นผลดีและส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาวะน้อยที่สุด สอดคล้องกับเป้าหมายการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางและเป็นสังคมเอื้ออาทรในปี ค.ศ. 2020 ตามกฎบัตรอาเซียน
โดยล่าสุดมีการ \\\\\\\\\\\\\\\"ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการเครื่องมือประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประชาคมอาเซียน\\\\\\\\\\\\\\\" ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งแรกหรือ 1st HIA for ASEAN Workshop “ Understanding Health Impact Assessment (HIA): A Foundation for the Well-being of the ASEAN Community” เมื่อวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่จังหวัดภูเก็ต มีตัวแทนจากชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ชาติเข้าร่วม ได้มีข้อตกลงร่วมกัน 4 ประการ ครอบคลุมตั้งแต่กรอบการทำงานเพื่อสร้างระบบเอชไอเออาเซียน เป้าหมายพร้อมแผนปฏิบัติการ และโครงการนำร่องที่สมาชิกทั้งหมดสามารถมีส่วนร่วมในการศึกษา คือเรื่องการบริหารจัดการปัญหาอุทกภัยในอาเซียนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ผอ.ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สช. กล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะนำผลลัพธ์ของการประชุมเข้าสู่ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสาธารณสุขอาเซียน(SOM HD) วันที่ 26-28 มีนาคมนี้ ที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปินส์ หากได้รับความเห็นชอบ ก็จะผลักดันไปสู่ที่ประชุมรัฐมนตรีด้านสาธารณสุขอาเซียน ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤษภาคม 2555 และเชื่อว่าภายในปีหน้าจะเห็นรูปธรรมของโครงการนำร่องที่ร่วมกันศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและข้อเสนอแนะทางนโยบายต่อระดับผู้นำอาเซียน
“การที่ประเทศไทยเข้ามาเป็นผู้นำในการผลักดัน เนื่องจากไทยมีการพัฒนาเอชไอเอก้าวหน้ามากที่สุด เรามีกระบวนการทางกฎหมายรองรับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติพ.ศ.2550 มีองค์กรที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนเอชไอเออย่างชัดเจน ซึ่งประเทศสมาชิกต่างก็เห็นว่าในเชิงระบบไทยมีความพร้อมมากกว่าประเทศอื่น จึงขอให้เป็นแกนประสานหลักไปก่อน จากนั้นจึงหมุนเวียนให้ประเทศสมาชิกได้เข้ามาทำหน้าที่ตามวิถีปฏิบัติของอาเซียน ดังนั้นเราจึงต้องผลักดันให้เป็นมติของอาเซียน เพื่อให้เกิดพลังในการเดินหน้าเรื่องนี้\\\\\\\\\\\\\\\"น.ส.สมพรกล่าว
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนกลไกเอชไอเออาเซียน จะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1. ผู้ประสานงานหลักอย่างเป็นทางการ (Focal Point on HIA) จะทำหน้าที่ในการสนับสนุนส่งเสริมการใช้เอชไอเอในประเทศของตน รวมถึงการเป็นช่องทางในการเชื่อมต่อข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพไปยังเสาหลักอื่นๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างรอบด้านด้วย 2. คณะทำงานเครือข่ายนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการอิสระ ทำหน้าที่ในการสนับสนุนด้านข้อมูลและคัดเลือกกรณีศึกษาที่เป็นปัญหาร่วมของอาเซียนเพื่อทำเอชไอเอกัน 3. การขับเคลื่อนระดับชุมชนและท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง หรือที่เรียกว่าเอชไอเอชุมชน เพื่อสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน อาทิ เครือข่ายชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่
ด้าน รศ.ดร.ภญ.นุศราภรณ์ เกษสมบูรณ์ อาจารย์สาขาวิชาเภสัชศาสตร์สังคมและการบริหาร คณะเภสัชศาสตร์ ม.ขอนแก่น และผู้ประสานงานหลักเอชไอเอประเทศไทย กล่าวว่า กลไกเอชไอเอของอาเซียน จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนานโยบายการลงทุนและการเปิดเสรีระหว่างประเทศ ทำให้สมาชิกอาเซียนทราบว่าโครงการที่เกิดขึ้นนั้น จะมีผลกระทบตรงจุดไหนบ้าง และจะใช้มาตรการเยียวยาอย่างไร ทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดเสรีครั้งนี้ เหมือนเช่นที่กลุ่มสหภาพยุโรปหรืออียู ก็มีกลไกประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดทำข้อมูลส่งไปยังฝ่ายกำหนดนโยบายของอียู
ทั้งนี้ ประโยชน์ของการผลักดันข้อตกลงเอชไอเออาเซียนครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาภาพรวมด้านการสาธารณสุข ทำให้เกิดมาตรฐานของการวิเคราะห์คุณภาพยารักษาโรคที่สูงขึ้นในระดับภูมิภาค โดยตั้งเงื่อนไขว่าทุกประเทศต้องมีห้องแลปที่ได้มาตรฐานทัดเทียมกันอย่างไรบ้าง รวมถึงกำหนดนโยบายที่จะส่งผลต่อสุขภาพประชาชนในด้านอื่นๆ ตามมาอีกมาก
รศ.ดร.ภญ.นุศราภรณ์ กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนในเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยด้วย แม้ว่าเราจะมีระบบเอชไอเอที่พร้อมกว่าหลายประเทศในอาเซียน แต่มาตรการภายในดังกล่าวอาจเป็นแค่การตั้งรับปัญหา เนื่องจากขณะนี้ประชาคมอาเซียนกำลังเกิดขึ้นแล้ว และจะมีโครงการลงทุนระหว่างประเทศมากมาย ย่อมสร้างผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมาถึงบ้านเรา อาทิ โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย (Dawei Deep Sea Port & Industrial Estate Project) ของพม่า ซึ่งหากเปิดดำเนินการแล้วเกิดผลกระทบถึง ชีวิตผู้คน สิ่งแวดล้อมในฝั่งประเทศไทย เป็นต้น
อีกทั้งในอนาคตประเทศไทยยังมีกรอบการเปิดเสรีทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคีอีกมาก ดังนั้น การสร้างกลไกเอชไอเอในกลุ่มอาเซียนจึงเหมือนก้าวแรกในการผลักดันมาตรการป้องกันสุขภาวะให้กับคนไทยเอง รวมถึงจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้กับประเทศอื่นๆ ให้ก้าวหน้าไปพร้อมกัน เพราะขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านของไทย อย่างพม่า กัมพูชา หรือลาว ก็มีการเปิดประเทศในด้านเศรษฐกิจทั้งสิ้น
---------------------------------