Sub Navigation Links

webmaster's News

5. มติสำหรับการขับเคลื่อน : ความปลอดภัยทางอาหาร: การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช



5. มติสำหรับการขับเคลื่อน : ความปลอดภัยทางอาหาร: การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช



ความปลอดภัยทางอาหาร: การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

สมัชชาสุขภาพครั้งที่ห้า

ได้พิจารณารายงานความปลอดภัยทางอาหาร: การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

ตระหนัก ว่า การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกรโดยผิดวิธี การไม่บังคับใช้นโยบายและกฎหมายที่เข้มงวด การส่งเสริมการขายโดยไม่รับผิดชอบ ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะเกษตรกรและผู้บริโภค แนวโน้มนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชสูงขึ้นทุกปี ในจำนวนนี้คือคาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น

รับทราบ ว่า พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย ฉบับปรับปรุงแก้ไข พ.ศ.๒๕๕๑ ได้กำหนดให้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกชนิดต้องขึ้นทะเบียนใหม่ให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ และมติคณะรัฐมนตรี ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๒ ที่ได้ระบุให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเผยแพร่ข้อมูลให้ผู้มีส่วนได้เสียให้ข้อคิดเห็นและข้อมูลที่รอบด้าน พร้อมแสดงข้อมูลและหลักฐานประกอบเพื่อความโปร่งใส และจัด ตั้งคณะกรรมการเฉพาะเรื่องเพื่อควบคุมการโฆษณาและขายตรงวัตถุอันตรายทางการเกษตร

รับทราบ ว่า การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) เป็นเครื่องมือหนึ่งในการผลิตอาหารที่ปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค

ห่วงใย ว่า การคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นตัวแทนองค์กรสาธารณะประโยชน์อาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์กฎหมาย และการอนุญาตให้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่นำเข้ามาก่อนวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๔ สามารถขายต่อเนื่องไปอีก ๒ ปี ไม่ได้เป็นตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการคุ้มครองสุขภาวะคนไทย

จึงมีมติดังต่อไปนี้

๑. ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการ

๑.๑ มอบหมายกรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 ๑.๑.๑ ทบทวนการอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในกระบวนการผลิตภาคการเกษตร โดยเฉพาะคาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น เพื่อผลักดันเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๔

๑.๑.๒ ปรับปรุงวิธีการขึ้นทะเบียน และเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการวิชาการให้ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการจากสถาบันวิชาการ ผู้แทนองค์การสาธารณะประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และผู้แทนสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยใช้ข้อมูลพิษวิทยา ปัญหาสุขภาพ ปัญหาจากประเทศที่เป็นฐานการผลิต และประกาศเปิดเผยข้อมูลการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีผลกระทบต่อสาธารณชน

๑.๑.๓ กำหนดหลักเกณฑ์ในการยกเลิกการใช้วัตถุอันตราย หรือการยกระดับประเภทวัตถุอันตราย โดยเร่งรัดการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีผลกระ ทบรุนแรงและหลายประเทศห้ามใช้แล้วเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๔ และเพิ่มรายการสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรงในบัญชีเฝ้าระวัง

๑.๑.๔ เสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้ดำเนินการควบคุมการโฆษณา และการขายตรงวัตถุอันตรายทางการเกษตรอย่างเข้มงวด ตามนโยบายการจัดการสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อลดผลกระทบทาง สุขภาพตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๒ และดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.๒๕๓๕ ให้มีบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการโฆษณาและการขายตรงวัตถุอันตรายทางการเกษตร รวมถึงการให้ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเข้ามามีส่วน ร่วมในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตราย

๑.๑.๕ ให้ความรู้และฝึกอบรมแก่ผู้ผลิต ผู้ใช้ และผู้บริโภคเกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

๑.๒ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการกำหนดค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด  (Maximum Residue Limit: MRL) ตามมาตรฐานสากล และส่งเสริมความรู้แก่สังคมเพื่อปกป้องสุขภาวะประชาชน

๑.๓ จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรฐาน แนวทาง และการดำเนินการเพื่อให้เกิดการผลิตอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลัก โดยมีกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสถาบันอาหาร และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมทั้งภาคประชาชน เป็นฝ่ายสนับสนุน เพื่อดำเนินการผลักดัน GAP ให้เป็นภาคบังคับทางกฎหมาย เน้นระบบตลาดภายในประเทศ ตลาดในห้างสรรพสินค้า และตลาดส่งออก โดยมีกลไกการบริหารจัดการในแต่ละระดับเพื่อเอื้ออำนวยให้เกษตรกรได้รับความรู้ความเข้าใจและสามารถปฏิบัติได้

๒. ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ดำเนินการปรับปรุงประกาศกฎเกณฑ์การคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย โดยให้องค์กรสา ธารณะประโยชน์ เป็นผู้คัดเลือกตัวแทนของตนแต่ละสาขาเพื่อให้ได้ตัวแทนที่แท้จริงตามเจตนารมณ์

๓. ขอให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นศูนย์กลางในการจัดการข้อมูล และเผยแพร่ข้อมูลด้านความปลอดภัยทางอาหารตลอดห่วงโซ่อาหาร และจัดทำระบบการแจ้งเตือนผลการตรวจสอบ การปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อสาธารณะอย่างสม่ำเ สมอ รวมถึงการศึกษาวิจัยผลกระทบต่อสุขภาพจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

๔. ขอให้กระทรวงการคลังจัดตั้งกองทุนเพื่อนำมาใช้ในการเยียวยา ชดเชยผลกระทบทางสุขภาพและเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช  และให้สนับสนุนการผลิตที่ปลอดภัยตาม GAP และระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการที่นำเข้า ผลิต และจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

๕. ขอให้กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในการศึกษาวิจัย และขับเคลื่อนแผนปฏิบัติงานเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาหารปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP, ThaiGAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และเป็นศูนย์กลางการผลิตและการตลาดเกษตรอินทรีย์ของภูมิภาคเพื่อเสนอต่อรัฐบาลภายใน ๑ ปี

๖. ขอให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  12th Jan 13

จำนวนผู้ชม:  35746

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ.2555

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง