Sub Navigation Links

webmaster's News

วัยรุ่น ฮิตฆ่าตัวปีละ170คนแนะพ่อแม่เอาใจใส่-ใกล้ชิด



วัยรุ่น ฮิตฆ่าตัวปีละ170คนแนะพ่อแม่เอาใจใส่-ใกล้ชิด



มติชน ฉบับวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

กรมสุขภาพจิตเผยตัวเลข ‘ฆ่าตัวตาย’ ปีละกว่า 3,500 คน ตะลึง! กลุ่มใหญ่ที่สุดเป็น ‘วัยรุ่น’ เหตุผิดหวังด้านการเรียน-ความรัก แนะผู้ปกครองป้องกันได้หากดูแลใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 6 กันยายน กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดโครงการตลาดนัดรณรงค์ความรู้แก่ประชาชน เนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 10 กันยายนของทุกปี ในหัวข้อ “คนไทยยุคใหม่ กำลังใจเกินร้อย”

นพ.ทวี ตั้งเสรี รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายสามารถป้องกันได้ ทั้งนี้พบว่าแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทั่วโลก 1 ล้านคน หรือเฉลี่ย 1 คน ในทุกๆ 40 วินาที และจะส่งผลต่อคนรอบข้างผู้ตายอีก 10-20 ล้านคน สำหรับประเทศไทยแต่ละปีมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 3,500 คน และปีล่าสุด 2554 มีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากถึง 3,873 คน คิดเป็น 6.03 รายต่อประชากรแสนคน และสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราฆ่าตัวตายอยู่ที่ 5.9 รายต่อประชากรแสนคน

นพ.ทวีกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ฆ่าตัวตายที่น่าเป็นห่วง เมื่อวิเคราะห์ตามกลุ่มช่วงอายุ พบว่า กลุ่มวัยรุ่นน่าเป็นห่วงที่สุด โดยระหว่างปี 2550-2554 พบว่า มีวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 852 คน หรือเฉลี่ย 170 คนต่อปี และเฉพาะปี 2554 พบว่า วัยรุ่นอายุระหว่าง 15-19 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 3.43 รายต่อประชากรแสนคน โดยวัยรุ่นชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าวัยรุ่นหญิง 3 เท่า แต่วัยรุ่นหญิงจะพยายามทำร้ายตนเองมากกว่าวัยรุ่นชายเป็น 3 เท่าเช่นกัน จากสถิติพบว่า ร้อยละ 51.1 ของวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตาย อยู่ในช่วงระหว่างศึกษา ร้อยละ 25.1 ไม่ได้เรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษา และประกอบอาชีพรับจ้าง และเกษตรกรรม โดยรูปแบบการฆ่าตัวตายมักเกิดแบบกะทันหันเมื่อพบภาวะวิกฤตมากกว่าเกิดจาก ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ปัญหาการเรียน ปัญหาความรัก โดยพบว่า ร้อยละ 16.8 ที่ฆ่าตัวตายจะมีประวัติเคยทำร้ายตัวเองมาก่อน

“เมื่อพิจารณาเป็นรายภาคจะพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นมากกว่าภาค อื่นๆ ส่วนจังหวัดที่มีวัยรุ่นฆ่าตัวตายสูงสุด 5 อันดับแรก คือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี เชียงราย และเชียงใหม่ สำหรับวัยรุ่นในเขตกรุงเทพมหานคร มีอัตราการฆ่าตัวตายคิดเป็นร้อยละ 2.9 ของวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายทั้งหมด” นพ.ทวีกล่าว และว่า การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ หากคนในครอบครัวหมั่นสังเกตพฤติกรรม เช่น ภาวะซึมเศร้า สัญญาณอันตรายบางอย่าง อาทิ การเขียนจดหมายลาตาย การตัดพ้อว่าชีวิตไม่มีค่า รู้สึกสิ้นหวัง ประกอบกับหากมีประวัติทำร้ายตัวเอง หรือมีพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

นพ.ทวีกล่าวอีกว่า ในช่วงที่กลุ่มวัยรุ่นมีการสอบ เช่น GAT/PAT หรือการสอบตรงคณะต่างๆ พบว่า จะมีความเครียดสะสมเพิ่มขึ้น ดังนั้นครอบครัวหรือผู้อยู่ใกล้ชิดจึงจำเป็นต้องให้กำลังใจ รับฟัง และเป็นที่ปรึกษา และไม่สร้างความกดดันให้กับเด็ก อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหาสุขภาพจิตสามารถโทร.ปรึกษาสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  7th Sep 12

จำนวนผู้ชม:  36717

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง