Sub Navigation Links

webmaster's News

แด่อาจารย์บุญมี ทองศรี โดย นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน



แด่อาจารย์บุญมี  ทองศรี  โดย นายแพทย์วิชัย  โชควิวัฒน



เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2555 วงการแพทย์แผนไทยได้สูญเสียครูแพทย์ที่มีความรู้แตกฉานและลุ่มลึกอย่างยิ่งไปคนหนึ่งอย่างน่าเสียดาย ด้วยวัยเพียง 67 ปี คือ อาจารย์บุญมี ทองศรี
   
   อาจารย์บุญมีเป็นชาวโคราชโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 ที่บ้านตำบลมะเร็ง ในเขตอำเภอเมือง บวชเรียนเป็นสามเณรตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่ออายุครบบวชก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ศึกษาบาลีจนได้เปรียญธรรม 6 ประโยค จึงสึกออกมามีครอบครัวเมื่ออายุได้ 35 ปี หลังจากนั้นได้รับราชการเป็นครูอยู่กว่า 20 ปี จึงขอลาออกก่อนเกษียณช่วงสั้นๆ
   
   ด้วยพื้นฐานความรู้ภาษาบาลีที่แน่นหนาพอสมควร เมื่อสนใจศึกษาเล่าเรียนวิชาการแพทย์แผนไทย จึงสามารถเข้าใจศัพท์ต่างๆ ในตำราแพทยศาสตร์ได้อย่างแตกฉานและลุ่มลึก เพราะมีศัพท์จำนวนไม่น้อยมีรากมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต เมื่อความรู้และประสบการณ์มากเพียงพอและสอบเป็นครูแพทย์แผนไทยได้   จึงสามารถสอนลูกศิษย์ได้อย่างดี ด้วยความรู้ความสามารถที่เพียบพร้อมของความเป็นครูแพทย์ ได้แก่ 1) มีความรู้ความเข้าใจในตำรับตำราการแพทย์แผนไทยทุกเล่มอย่างลึกซึ้งถึงแก่น 2) มีประสบการณ์ในวิชาชีพจากการดูแลรักษาคนไข้ที่มากเพียงพอ 3) มีความตั้งใจ เอาใจใส่ และมีความรู้ความสามารถสูงในการถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์ที่เป็นครูมากว่า 20 ปี และ 4) อาจารย์บุญมี มีลักษณะเด่น คือเป็นคนมีอัธยาศัยดี ตั้งใจทุ่มเททำงานสอนศิษย์อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย มีวาจาไพเราะ ใช้ภาษาที่สุภาพ อ่อนโยน และมีใบหน้าที่อมรอยยิ้มอยู่เสมอ
   
   ด้วยพื้นฐานที่เปี่ยมด้วยคุณลักษณะดังกล่าว ทำให้อาจารย์บุญมีได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ได้ร่วมงานการแพทย์แผนไทยในวงการต่างๆ มากมายทั้งใกล้ไกล เช่น ในชมรมแพทย์แผนไทยวัดท่าราบ อำเภอ  บางแพ จังหวัดราชบุรี  ชมรมแพทย์แผนไทยจังหวัดนครปฐม สมาคมแพทย์แผนไทยจังหวัดเพชรบุรี         และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชมรมแพทย์แผนไทยวัดเขาน้อย จังหวัดกาญจนบุรี และมูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย จังหวัดลำพูน เป็นต้น
   
  ประจักษ์พยานที่แสดงความรู้ความสามารถอันโดดเด่นของอาจารย์บุญมี ปรากฏชัดเจนในระดับชาติเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาในการจัดทำพจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พจนานุกรมฉบับนี้วางแนวทางการจัดทำตามขนบของการจัดทำพจนานุกรมของสากล และของราชบัณฑิตยสถาน กล่าวคือ เริ่มต้นด้วยการกำหนดรายการตำรับตำราการแพทย์แผนไทยที่จะใช้เป็นแหล่งตรวจสอบ ค้นคว้าที่มาของคำศัพท์จำนวนรวม 40 รายการ เริ่มจากตำราหลัก 4 เล่ม คือ ตำรา         เวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ 5 เล่ม 1 และ 2 คัมภีร์ธาตุพระนารายณ์ (ฉบับใบลาน) ตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)และ จารึกตำรายาวัดราชโอรสารามวรวิหาร นอกจากนั้นเป็นตำราสำคัญเล่มอื่นๆ ได้แก่ ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง เวชศึกษา แพทย์ศาสตร์สังเขป เล่ม 1, 2, 3 ของ     พระยาพิศณุประสาทเวช ตำราแพทย์แผนโบราณ ของกองการประกอบโรคศิลปะ(ปัจจุบันชื่อ สำนักมาตรฐานสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ) ตำราสรรพคุณยา ฉบับของกรมหลวงวงศาธิราชสนิท เป็นต้น ต่อจากนั้นได้มีการกำหนดคำศัพท์ที่จะจัดทำ ศัพท์แต่ละคำจะมีการตรวจสอบหนังสือทั้ง 40 รายการที่กล่าวแล้วว่ามีปรากฏในที่ใดบ้าง ในประโยคใด ความหมายใด แล้วจึงนำมาเขียนนิยามศัพท์แต่ละคำด้วยภาษาปัจจุบัน หากจำเป็นก็จะยกประโยคในตำราดั้งเดิมมาประกอบเพื่อช่วยเสริมความเข้าใจ ให้คณะอนุกรรมการจัดทำพจนานุกรมตรวจสอบจนเป็นที่ยุติระดับหนึ่งแล้ว จึงนำเข้าพิจารณาขั้นสุดท้ายในคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาฯ ที่มีผู้รู้ผู้ชำนาญในภาษาไทย ผู้รู้ในวิชาการแพทย์ทั้งแผนป ัจจุบันและแผนไทย และผู้เชี่ยวชาญในการจัดทำพจนานุกรม  ในคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาฯ  นี้มีครูแพทย์แผนไทยจำนวน 4 คน ซึ่งอาจารย์บุญมีเป็นหนึ่งในสี่คนนั้น
  
   อาจารย์บุญมีเป็นผู้มีความรับผิดชอบสูงยิ่ง ทุกครั้งจะอ่านเอกสารที่ได้รับล่วงหน้าอย่างละเอียดละออ ในที่ประชุมก็จะเสนอความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ทุกแง่ทุกมุม ด้วยท่าทีที่สุภาพและใบหน้าอมรอยยิ้มอยู่เสมอ ศัพท์ทุกคำจะมีการวิเคราะห์ถึงรากศัพท์บาลีสันสกฤต และอ้างอิงตำราการแพทย์แผนไทยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประสบการณ์ในการประกอบวิชาชีพ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการจัดทำพจนานุกรม  จนสามารถจัดพิมพ์เผยแพร่เล่มแรกรวม 414 คำ เมื่อ พ.ศ. 2551 ต่อมาพิมพ์ครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. 2553 ได้คำศัพท์รวม 1,011 คำ ขณะนี้ใกล้จะพิมพ์ครั้งที่สามได้แล้ว รวมคำศัพท์เกือบสองพันคำ พจนานุกรมเล่มนี้ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยให้เป็นตำราอ้างอิงเล่มหนึ่งในการเรียนการสอนและการสอบวิ ชาชีพแพทย์แผนไทยแล้ว และที่สำคัญคือเป็นพจนานุกรม “ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” อย่างเต็มภาคภูมิ
   
  อาจารย์บุญมีล้มป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมาประมาณสองปี เคยป่วยหนักถึงขั้นภรรยาต้องนำส่งโรงพยาบาลอย่างฉุกเฉินด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเลือดคั่งถึง 3 ครั้งแล้ว แต่เมื่ออาการดีขึ้นก็จะกลับไปทำงานอย่างทุ่มเทเหมือนเดิม เพราะการทำงานเป็นความสุขของอาจารย์บุญมี บ่อยครั้งที่อยู่ที่บ้านจะมีอาการของคนป่วย แต่พอได้สอนลูกศิษย์หรือได้ทำงานด้านการแพทย์แผนไทยอันเป็นงานที่รักก็จะกระปรี้กระเปร่าขึ้นทันที
   
  อาจารย์บุญมีขับรถไม่เป็น วันที่เสียชีวิตอาจารย์บุญมีนั่งรถตู้โดยสาร จากบ้านที่อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรีมาลงที่บางบัวทอง แล้วต่อรถแท็กซี่ไปร่วมประชุมกับคณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพแห่งชาติที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อาจารย์บุญมีได้พูดอภิปรายยาวแสดงความห่วงใยในปัญหาการแพทย์แผนไทยหลายเรื่อง พออภิปรายจบ ชั่วครู่ก็หมดสติตัวหงายเอนลงพิงพนักเก้าอี้ ที่ประชุมวันนั้นมีหลายคนเป็นแพทย์ได้พยายามกู้ชีพอย่างเต็มที่ แต่ไม่เป็นผล อาจารย์บุญมีน่าจะมีกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันในบริเวณกว้าง ทำให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตเกือบจะในทันที ในคนไข้ที่กล้ามเนื้อหัวใจตายโดยทั่วไปมักจะมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงมาก แต่กรณีของอาจารย์บุญมีน่าจะเป็นการตายฉับพลันทันที เป็นการตายอย่างสงบปราศจากความเจ็บปวดทรมานใดๆ ทั้งสิ้น
  
   อาจารย์บุญมีประกอบกุศลกรรมมามาก จึงจากไปโดยสงบปราศจากความเจ็บปวดทรมาน ขอดวงวิญญาณอาจารย์จงไปสู่สุคติในสัมปรายภพเทอญ.

ที่มา ไทยโพสต์

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  20th Jul 12

จำนวนผู้ชม:  37256

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง

ไม่มีข่าว