Sub Navigation Links

webmaster's News

เฝ้าระวังยาเสพติดใหม่สังเคราะห์จากสารเคมีแนวโน้มคุกคามทั่วโลก



เฝ้าระวังยาเสพติดใหม่สังเคราะห์จากสารเคมีแนวโน้มคุกคามทั่วโลก



ป.ป.ส.เฝ้าระวังยาเสพติดใหม่ ใช้สารเคมีสังเคราะห์แทนพืชเสพติด ชี้แนวโน้ม ใหม่ของโลก

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการสารเสพติดระดับชาติ ครั้งที่ 11 สภาวการณ์นานาชาติที่มีผลต่อการใช้สารเสพติด (International Influences on Drug Abuse) โดยมีนายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พร้อมนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ในหัวข้อต่างๆ เช่น การอุบัติของสาร เสพติดชนิดใหม่ และการอุบัติซ้ำของสารเสพติดชนิดเดิม ตลาดยาเสพติดและอาชญากรรมบนโลกออนไลน์ การอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการรักษา และกฎหมายการเปิดเสรี

นายนิยมกล่าวว่า สารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทชนิดใหม่ (NPS) ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญกับแนวโน้มของความเปลี่ยนแปลงการใช้สารเสพติดที่เปลี่ยนจากการใช้สารเสพติดที่ผลิตจากพืชมาเป็นการใช้สารเสพติด ที่ผลิตจากสารสังเคราะห์ ที่เอาสารเคมีมาสังเคราะห์ก็สามารถผลิตยาเสพติดได้ โดยใช้เวลาแค่สั้นๆ และมีความหลากหลายกว่าสารเสพติดจากพืชเสพติด ที่ต้องใช้พื้นที่ปลูก ภูมิอากาศที่เหมาะสมและสถานที่ในการแปรรูป ซึ่งสารเสพติดชนิดใหม่นี้ เป็นแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก

นายนิยมกล่าวว่า สารสังเคราะห์ที่นำมาผลิตยาเสพติด ส่วนใหญ่แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือกลุ่มที่ตัวของสารชนิดนั้น เป็นสารผิดกฎหมาย และมีการควบคุมอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมหรือใช้ในการผลิตอาหารหรือผลิตยาประเด็นสำคัญในการควบคุมคือ การควบคุมตัวหลักที่ใช้เป็นสารตั้งต้น เช่น เอฟิดรีน ซูโดอิเฟรดรีน เพื่อไม่ให้นำมาผลิตยาบ้า หรือไอซ์ อีกส่วนหนึ่งเป็นเคมีภัณฑ์ที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ต้องควบคุม เช่น กาเฟอีน ซึ่งการควบคุมต้องอาศัยเครือข่ายทั้งประเทศผู้ผลิต ประเทศทางผ่านและอุตสาหกรรมที่ใช้สารเหล่านี้ เพื่อไม่ให้เล็ดลอดถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด

นายนิยมกล่าวว่า ที่ผ่านมาเชื่อว่ามีการลักลอบนำเข้าสารเหล่านี้ แม้จะมีระบบการควบคุมการนำเข้าและนำไปใช้ โดยความร่วมมือกันหลายฝ่าย ทั้งกรมศุลกากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม องค์การอาหารและยา (อย.) แต่ยอมรับว่ายังมีบางส่วนหลุดรอดไปในตลาดมืด ที่ครอบคลุมไปยังแนวชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน

เลขาธิการ ป.ป.ส.กล่าวว่า สำหรับผู้ใช้ยาเสพติดชนิดใหม่นี้ ในประเทศไทยเคยมีผู้เสียชีวิต แต่จำนวนไม่มาก เป็นลักษณะจากการใช้ยาเกินขนาด ทั้งกลุ่มกระตุ้นประสาท กดประสาท และกลุ่มเฮโรอีน แต่เชื่อว่าสถานการณ์ในประเทศไทยยังคงอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้เนื่องจากจำนวนของผู้ใช้ ผู้เสพและผู้ที่เสียชีวิตยังน้อยกว่าในอีกหลายประเทศ แต่ต้องเฝ้าระวัง

ผู้สื่อข่าวถามถึงการตั้งคณะกรรมการนโยบายยาเสพติดแห่งชาติเพื่อมาควบคุมการใช้กัญชาในการรักษาผู้ป่วย เลขาธิการ ป.ป.ส.กล่าวว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีแนวคิดว่าน่าจะมีการกำหนดกลไกขึ้นมาควบคุมดูแล ตั้งแต่การผลิต ความต้องการ การแปรรูปเป็นสารสกัด การแจกจ่ายและการใช้ประโยชน์จากกัญชา ขณะนี้กำลังหารือกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ ป.ป.ส.ในเรื่องรูปแบบกลไกที่จะมาควบคุมดูแลเรื่องนี้ น่าจะเป็นกลไกเดิมที่นายกฯ กำหนดไว้ในรูปของคณะกรรมการขับเคลื่อน และจะใช้องค์กรนี้ในการควบคุมดูแล

"วันนี้กัญชายังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ยังผลิตไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการปลูก การแปรสภาพ การนำเข้าส่งออก การครอบครองหรือการเสพ ถ้าไม่ได้รับอนุญาตภายใต้กฎหมาย หากพบก็ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย ส่วนที่เป็นยาได้รับอนุญาตแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการผลิตหรือการใช้การแพทย์ก็ต้องเดินตามแนวทางนั้นไป โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้ดูแล" เลขาธิการ ป.ป.ส.กล่าว

นายวิศิษฏ์กล่าวถึงความคืบหน้าของร่างกฎหมายยาเสพติด ฉบับล่าสุด ว่า หลังจากร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณา ขณะนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ยืนยันร่างกฎหมายฉบับนี้ไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว อยู่ที่ ครม.ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ในส่วนของกระทรวง ยธ.ยังยืนยันในเนื้อหาเรื่องเดิม ซึ่งมีสาระสำคัญคือความชัดเจนในเรื่องการควบรวม ทั้งเรื่องของสารเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ให้เกิดการควบคุมภายใต้นโยบายเดียวกัน

นายวิศิษฏ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นคือเรื่องระหว่างผู้เสพและผู้ป่วย จะมุ่งเน้นให้เข้าสู่กระบวนการรักษาของระบบสาธารณสุขเป็นหลัก และในส่วนที่เป็นคดีความ จะให้ศาลมีแนวทางในการใช้ดุลพินิจในการตัดสินคดีมากขึ้น ลดกรอบเรื่องความผิดเดิมที่หากพบการกระทำผิดต้องประหารชีวิตเพียงอย่างเดียว โดยจะให้ศาลใช้ดุลพินิจได้มากขึ้น ทั้งหมดนี้เมื่อเข้าสู่สภาแล้ว อาจมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงได้อีก เชื่อว่าสภาที่มาจากการเลือกตั้ง มีความคิดหลากหลาย จะทำให้กฎหมายมีความสมดุล มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลขการพิพากษาจำคุกของศาลในแต่ละปี มีผู้ต้องคำพิพากษาจำคุกประมาณ 2 แสนคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 70-80% เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด



ที่มา : มติชน

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  15th Aug 19

จำนวนผู้ชม:  34478

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง