Sub Navigation Links

webmaster's News

โภชนาการดี ไร้ผงชูรส ชะลอ (ไต) เสื่อม



โภชนาการดี ไร้ผงชูรส ชะลอ (ไต) เสื่อม



เมื่อเร็วๆ นี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาแนะนำผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง และผู้ที่มีความเสี่ยงเข้าข่ายจะเป็นโรคไต ให้หันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีผงชูรส เพื่อช่วยชะลอการเสื่อมของไต พร้อมทั้งได้มีการเปิดเผยผลวิจัยกึ่งทดลอง ที่พบว่าอัตราการทำงานของไตในกลุ่มผู้ป่วยไตเรื้อรังดีขึ้น

ทั้งนี้ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีปริมาณของโซเดียมสูง ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเป็นโรคไต โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่ใช้ชีวิตและมักซื้ออาหารปรุงสำเร็จ หรืออาหารกล่องสำเร็จรูปจากร้านสะดวกซื้อมารับประทาน ซึ่งพบว่าอาหารเหล่านี้มีปริมาณโซเดียมสูง หรือนิยมเติมเกลือหรือน้ำปลาในอาหารเพื่อให้มีรสเค็ม

พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า เมื่อรับประทานอาหารดังกล่าวบ่อยๆ ในระยะแรกจะไม่พบอาการผิดปกติ ทำให้ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ากำลังป่วยด้วยโรคไต แต่จะตรวจ พบเมื่อโรคดำเนินไปมากแล้ว หรือเข้าสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต และการปลูกถ่ายไต ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย อีกทั้งยังสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมาก

พญ.พรรณพิมลกล่าวต่อไปว่า หากรู้ตัวว่ากำลังเจ็บป่วยด้วยโรคไต โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจึงควรระมัดระวังเรื่องการบริโภคอาหารด้วย โดยบริโภคอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตได้ไม่เกิน 6 ทัพพีต่อวัน ได้แก่ ข้าวขาว วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ สาคู เป็นต้น หลีกเลี่ยงข้าวกล้อง และขนมปัง สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 1-3 สามารถบริโภคอาหารกลุ่มโปรตีนได้ไม่เกิน 7 ช้อนโต๊ะต่อวัน และผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 4-5 ต้องไม่เกิน 5 ช้อนโต๊ะต่อวัน ได้แก่ ไข่ขาว เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมูไม่ติดมัน เป็นต้น

"อีกทั้งต้องควบคุมการบริโภคอาหาร โดยต้องลดอาหารหวาน มัน เค็ม และดื่มน้ำประมาณ 1.5 ลิตรต่อวัน ซึ่งในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 3-4 ที่ปัสสาวะน้อยลง แนะนำปริมาณน้ำดื่มเท่ากับปริมาณปัสสาวะทั้งวันบวกเพิ่ม 500 มิลลิลิตร หลีกเลี่ยงผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ แครอต บร็อกโคลี ถั่วฝักยาว ฟักทอง มะเขือเทศ แก้วมังกร มะละกอ น้ำส้มคั้น ผลไม้รวม เป็นต้น และงดอาหารที่มีพิวรีนสูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ ยอดผัก ใจผัก หน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น" พญ.พรรณพิมลกล่าว และว่า นอกจากนี้ ควรควบคุมโซเดียมและหลีกเลี่ยงการใช้ผงชูรสในการปรุงประกอบอาหาร รวมถึงหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดด้วย

ทั้งนี้ พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า สำหรับประชาชนทั่วไปก็ควรป้องกันภาวะไตเสื่อมที่จะนำไปสู่โรคไตเรื้อรังด้วยการบริโภคอาหารในปริมาณที่เหมาะสมตามธงโภชนาการ และหลักโภชนบัญญัติ 9 ประการ รวมถึงบริโภคอาหาร ลดหวาน มัน เค็ม โดยบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งข้อแนะนำเหล่านี้ควรถือปฏิบัติทั้งในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังและประชาชนทั่วไป เพื่อการมีสุขภาพที่ดี

ทางด้าน นพ.สมพงษ์ ชัยโอภานนท์ นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านโภชนาการ) กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังนั้น หากมีการจัดการดูแลอาหารด้วยตนเอง หรือมีผู้ดูแลผู้ป่วยช่วยสนับสนุน จะช่วยชะลอการเสื่อมของไตได้ ซึ่งจากการวิจัยโดยพัฒนาโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอาหารของผู้ป่วย ด้วยการแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการปรุงอาหารด้วยผงชูรส จะเป็นทางเลือกที่ช่วยชะลอความเสื่อมของไต และช่วยให้การทำงานของไตดีขึ้น ซึ่งผลวิจัยกึ่งทดลอง เพื่อศึกษาผลของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารตามหลักโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

"กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน อ.บางกรวย จ.นนทบุร ี จำนวน 92 คน ประกอบด้วย กลุ่มทดลอง 44 คน กลุ่มควบคุม 48 คน ภายหลังทำการศึกษา 4 สัปดาห์ พบว่าอัตราการทำงานของไตทั้งผู้ป่วยในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมดีขึ้น และกลุ่มทดลองมีความตระหนักรู้ที่จะลดและเลี่ยงผงชูรสปรุงอาหารให้น้อยลงด้วย" นพ.สมพงษ์กล่าว



ที่มา : มติชน

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  4th Aug 19

จำนวนผู้ชม:  34655

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง