Sub Navigation Links

webmaster's News

3 เก็บ 3 โรคมาตรการป้องกันภัยร้าย'ฤดูฝน'



3 เก็บ 3 โรคมาตรการป้องกันภัยร้าย'ฤดูฝน'



นับตั้งแต่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ พบว่าหลายพื้นที่ของประเทศเริ่มมีฝนตกลงมาบ้างแล้วขณะที่บางพื้นที่มีทั้งสภาพอากาศที่ร้อนจัดและเกิดฝนตกในบางวัน ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนควรต้องตระหนัก คือ โรคที่มาพร้อมกับช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะโรคระบาดสำคัญๆ อย่าง "ไข้เลือดออก" และ "ไข้หวัดใหญ่" เป็นโรคที่ควบคุมป้องกันได้ก็ตาม แต่หากดูแลหรือรักษาตัวไม่ดีพอ มีโอกาสที่อาการป่วยจะรุนแรงและถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานผลการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-วันที่ 14 พฤษภาคม พบผู้ป่วย 20,733 ราย เสียชีวิต 25 ราย ในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด พบว่าเป็นเด็กนักเรียนถึงร้อยละ 52 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุ 5-14 ปี รองลงมา 15-34 ปี และแรกเกิดถึง 4 ปี ตามลำดับ

ภาคกลางเป็นภาคที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 8,427 ราย รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เฉพาะสัปดาห์นี้ พบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากกสัปดาห์ที่ผ่านมามากถึง 1,230 ราย ซึ่งมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2561 ประมาณ 2 เท่า

สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-วันที่ 13 พฤษภาคม พบผู้ป่วย 156,108 ราย เสียชีวิต 11 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 7-9 ปี รองลงมา อายุ 10-14 ปี เป็นอายุที่อยู่ในกลุ่มวัยเรียนเช่นกัน

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้จะพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีฝนตกในหลายพื้นที่และเป็นฤดูที่เหมาะสมต่อการเพาะพันธุ์ของยุงลายเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก อาการที่พบส่วนใหญ่มักมีไข้สูงลอย 2-5 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาเจียน อาจมีอาการไอแต่ไม่มีน้ำมูก มีจุดเลือดออกตามตัว เลือดออกตามไรฟัน หลังไข้ลดแล้วมีอาการซึม อาจเข้าสู่ภาวะช็อก ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ไตวาย ตับวาย และเสียชีวิตได้

"เมื่อเกิดฝนตก ในหลายพื้นที่อาจมีน้ำขังในภาชนะที่ถูกทิ้งไว้บริเวณบ้าน โรงเรียน ศาสนสถาน กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จึงมีข้อแนะนำประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ 3 เก็บ 3 โรค คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำและเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันดอกไม้ทุกสัปดาห์ 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำต้องปิดฝามิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย" นพ.สุวรรณชัยกล่าวและว่า ขอให้สำรวจจุดเสี่ยงที่เป็นแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลายที่พบบ่อยอย่างเคร่งครัด เช่น ภาชนะที่ถูกทิ้งรอบๆ บ้าน จานรองกระถางต้นไม้ ยางรถยนต์เก่า ที่อาจพบไข่ยุงลายติดอยู่และอยู่ได้นานถึง 1 ปี เมื่อมีน้ำขัง ไข่ยุงจะเติบโตเป็นลูกน้ำยุงลายได้ภายใน 1-2 วัน

ส่วนในบ้านพบได้ตามภาชนะรองน้ำทิ้งด้านหลังตู้เย็น แก้วน้ำหิ้งพระ แจกันที่ศาลพระภูมิ ให้ล้างทำความสะอาดและเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ หากทุกคนร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย จะช่วยลดจำนวนลูกน้ำยุงลายและโอกาสเกิดโรคไข้เลือดออกจะลดลง

นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึงโรคไข้หวัดใหญ่ว่า จะพบผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง ติดต่อจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง (น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ) ของผู้ป่วย ผ่านการไอหรือจามรดกัน โดยหลังจากได้รับเชื้อจะมีอาการคล้ายไข้หวัด แต่จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อมากและปวดศีรษะ อ่อนเพลีย แต่สามารถหายเองได้ใน 5-7 วัน กลุ่มเสี่ยงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดบวม หายใจลำบาก และอาจทำให้เสียชีวิตได้

"ขณะนี้กรมควบคุมโรครณรงค์เร่งให้ฉีดวัคซีนป้องกันเร็วขึ้น เพื่อช่วยให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ทันต่อสถานการณ์ แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น บุคลากรทางการแพทย์ 2.กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวหรืออาการใน 7 ประเภท ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กเล็ก 6 เดือน-3 ปี 3.ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวาย โรคมะเร็งระหว่างได้รับเคมีบำบัด และโรคเบาหวาน 4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6.โรคธาลัสซีเมีย ผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ และ 7.โรคอ้วน น้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือ BMI 35 ขึ้นไป"

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กวัยเรียน ขณะนี้คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้นำมาพิจารณา และอยู่ระหว่างนำเสนอให้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติพิจารณา แต่ที่ต้องทำทันที คือ ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพและป้องกันตนเอง โดยให้ยึดหลัก "ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด" ได้แก่ 1.ปิดปากและปิดจมูก เมื่อไอ จาม ต้องใช้หน้ากากอนามัย ผ้า หรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง 2.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได 3.หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และ 4.หยุดเมื่อป่วย ควรหยุดเรียน หยุดงาน แม้จะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่า จะหายเป็นปกติ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงขอให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก หรือโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ที่เป็นโรคอ้วน เป็นต้น หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422



ที่มา : มติชน

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  23rd May 19

จำนวนผู้ชม:  35142

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง