Sub Navigation Links

webmaster's News

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 เปิดเวทีนักการเมืองรุ่นใหม่ เสนอนโยบายแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน พร้อมพัฒนาสุขภาพจากพลังคนยุคใหม่



สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 เปิดเวทีนักการเมืองรุ่นใหม่ เสนอนโยบายแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน พร้อมพัฒนาสุขภาพจากพลังคนยุคใหม่



สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 ร่วมแลกเปลี่ยนนโยบายสาธารณะว่าด้วย “การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน” ดึงนักการเมืองรุ่นใหม่เสนอแนะวิธีแก้ไข หลังมีการขับเคลื่อนตั้งแต่ปี 2552 แต่ไม่บรรลุผล หวังกึ๋นคนรุ่นใหม่เสนอนโยบายที่มีประสิทธิภาพ
    
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการจัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ.2561 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นโยบายสาธารณะว่าด้วย “การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน” ซึ่งเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 แต่ยังมีปัญหาในการขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จ แม้ปัจจุบัน อันตรายจากอุบัติเหตุจะลดลงจาก 36.2 ต่อแสนประชากร เป็น 34.7 ต่อแสนประชากร แตก็ยังติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก โดย น.พ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ในฐานะแกนภาคีร่วมขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ ได้นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายที่รวบรวมจากผลการขับเคลื่อนมติฯ เพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยมีข้อเสนอ 2 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ควรจัดให้มีกลไกนำที่เข้มแข็งเพื่อดำเนินการ 5 ภารกิจหลัก ได้แก่ ประสาน/บูรณาการหน่วยงานหลัก ผลักดันกฎหมายและกลไกการบังคับใช้โดยเฉพาะ ระดมทุนและจัดสรรทรัพยากร ส่งเสริมสนับสนุน-กำกับติดตามประเมินผล และระบบสอบสวนสาเหตุอุบัติเหตุสำคัญ และในระดับพื้นที่ ให้มีกลไกขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่ โดยมีงบประมาณให้ทุกอำเภอในการขับเคลื่อนงาน มีการพัฒนาบุคลากร มีการจัดการข้อมูล-แผนงาน
    
ไฮไลต์เวทีอยู่ที่การเปิดให้นักการเมืองรุ่นใหม่จากพรรคต่างๆ ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอ โดย นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ ผู้แทนจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางท้องถนนต้องอาศัย ปัจจัยหลักสำคัญ 3 ประการ คือ หนึ่งเจตนารมณ์ทางการเมืองที่ต้องมีความมุ่งมั่นชัดเจนในนโยบายที่จะลดปัญหาอุบัติเหตุบนถนน สองนักวิชาการที่ต้องศึกษาปัญหาอย่างรอบด้านบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงเพื่อนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา และ สามการมีส่วนร่วมของชุมชน เพราะชุมชนเป็นภาคส่วนที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหา โดยทั้งสามภาคส่วนจะต้องร่วมกันทำงานเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถ รวมถึงการออกแบบโครงสร้างของถนนที่ลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ
    
ด้าน นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้แทนจากพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า นโยบายของพรรคเน้นเรื่องความเท่าเทียมในสังคมและเท่าทันโลก ซึ่งการเสียค่าปรับที่ใช้ในปัจจุบันนั้นไม่ได้ก่อเกิดความเท่าเทียมกันในสังคมได้ เพราะค่าปรับสูง คนจนจะไม่สามารถจ่ายได้ และอาจถูกจำคุกแทนการจ่ายค่าปรับ ขณะที่คนรวยจ่ายได้ นโยบายพรรคจึงเสนอให้ใช้ระบบบันทึกคะแนนใบขับขี่ ทุกคนจะเท่าเทียมกันหมด ใครทำผิดก็จะถูกปรับคะแนนเท่ากันหมด นอกจากนี้ยังเสนอให้เปลี่ยนค่าปรับเป็นเงินกองทุนเพื่อพัฒนาการทำงานของทุกภาคส่วนในการลดอุบัติเหตุจากท้องถนน รวมถึงปรับปรุงรถบริการสาธารณะให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีอำนาจและงบประมาณในการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่
    
ในขณะที่ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ผู้แทนจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเน้นนโยบายการสร้างวินัยทางการจราจร การสร้างความสะดวกปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนรวมถึงการผลักดันงบประมาณเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิ ทธิภาพมากขึ้น
    
โดยในช่วงท้ายเวที นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ และ นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน ยังได้ยื่นหนังสือให้กับตัวแทนพรรคการเมืองทั้งสาม เพื่อให้ผลักดันเป็นนโยบายของพรรคเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น โดยข้อเสนอดังกล่าวประกอบด้วย ให้มีการผลักดันการจัดตั้งหน่วยงานหลักที่ดูแลปัญหาอุบัติเหตุจากการจราจรเพื่อเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อน ติดตามผลการดำเนินการ และให้ภาครัฐลงทุนทางด้านเทคโนโลยีเพื่อลดอัตราการตายบนท้องถนน รวมทั้งต้องตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุลงกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น
    
ทั้งนี้ กิจกรรมในช่วงเช้ายังมีการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “รู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ” โดย ศาสตราจารย์ปาริชาต สถาปิตานนท์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในสังคมยุคดิจิตัล สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับคนไทยและโลกคือความชุลมุน ความปั่นป่วนของเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดการไหลทะลักของข้อมูล ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลง่ายขึ้นมาก สิ่งที่ท้าทายคือความรู้  การวิเคราะห์  การเลือกที่จะเชื่อ รวมไปถึงการควบคุมมาตรฐาน การกำกับดูแล และมีระบบกลั่นกรองและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชน
“ถ้าอยากจะร่วมกันช่วยเสริมสร้างสังคมสุขภาพ เราควรใช้หลักการของ TIPS คือ Trend หรือแนวโน้มสุขภาพว่าเป็นอย่างไร Information คือ ข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นอย่างไร มีความถูกต้องหรือไม่ อธิบายให้เข้าใจได้ง่ายได้อย่างไร Possibility คือ โอกาสที่จะใช้เครื่องมือสื่อสารที่มีอยู่มากมายให้ข้อมูลเข้าถึงประชาชน และ Standard คือ ต้องหาให้ได้ว่ามาตรฐานที่ใช้เป็นมาตรฐานของใคร ใครเป็นผู้กำหนด ซึ่งในระดับโลก คือ WHO ในส่วนประเทศไทย หวังว่า สช. และทุกหน่วยงานด้านสุขภาพจะช่วยสร้างให้เกิดขึ้น

ที่ประชุมยังได้รับเกียรติจากองค์ปาฐกจากต่างประเทศ คือ ดร.บาทูล วาห์ตานี นายกสมาพันธ์นักศึกษาแพทย์นานาชาติ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “พลังของคนรุ่นใหม่ สู่การบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยการใช้แนวทางทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” ว่า ประชากรยากจนมีปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพมากที่สุด จึงจำเป็นที่ต้องให้มีการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อให้คนมีสุขภาพที่ดี และมีความเสมอภาคด้านสุขภาพมากขึ้น และบทบาทที่สำคัญในการผลักดันเรื่องดังกล่าวจะอยู่ที่คนรุ่นใหม่ โดยนักศึกษาควรได้รับการสอนให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตอนนี้เรามีกำลังคนรุ่นใหม่กว่า 1.8 พันล้านคน ซึ่ง 90% อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพพื้นฐานในประเทศของตน

“ปัจจุบัน สมาพันธ์ฯ มีองค์กรเครือข่ายในพื้นที่กว่า 135 แห่ง และหนึ่งในนั้นที่เข้มแข็งที่สุด คือสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทยนั่นเอง นั่นเป็นเพียงตัวอย่างที่เยาวชนสามารถรวมตัวเป็นเสียงเดียวกันในการทำงานระดับพื้นที่ และนำการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระดับภูมิภาคในที่สุด”

งานประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่  11 พ.ศ.2561 ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ เวทีสาธารณะ ‘เรียนรู้ อยู่เป็น เช่นไร ในยุคดิจิทัล’, การแถลงมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ.2561 และ ปาฐกถาพิเศษ ‘รู้เท่าทันสุขภาพ: มุมมองจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” เป็นต้น

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  19th Dec 18

จำนวนผู้ชม:  35217

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 พ.ศ.2561

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง