Sub Navigation Links

webmaster's News

ยาเส้น...ภัยเงียบที่ถูกละเลย



ยาเส้น...ภัยเงียบที่ถูกละเลย



"บุหรี่ซองมันแพง ขายยาก ตอนนี้คนมาซื้อยาเส้นกันเยอะ"     เป็นข้อมูลสั้นๆ จากเจ้าของร้าน ขายของชำในชุมชนย่านประชาชื่น สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบอีกด้านของการขึ้นภาษีบุหรี่ พาให้ขบคิดต่อไปว่า สุขภาพของคนรากหญ้า ผู้มีรายได้น้อยกำลังถูกละเลยจากผู้คุมกฎของประเทศหรือไม่?

จากการสำรวจและพูดคุยก ับผู้คนในย่านนี้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากมาตรการขึ้นราคาบุหรี่ที่ สูงถึงร้อยละ 50 จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ประกอบกับพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ทำให้คนเลิกสูบบุหรี่ได้จริง หรือเพียงแต่เลิกซื้อบุหรี่ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นอย่างหลังเสียมากกว่า หากยังไม่เลิกสูบแล้วเช่นนั้น สิงห์อมควันเปลี่ยนจากควันบุหรี่ไปอมควันอะไรแทน?

คุณป้าเจ้าของร้านชำเล็กๆ แห่งนี้ให้เวลาพูดคุยกับเราไม่นานนัก เพราะง่วนอยู่กับการขายของในร้าน ลูกค้าของคุณป้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน คนขับแท็กซี่ และคนหาเช้ากินค่ำ รวมทั้งพ่อค้าแม่ขายหาบเร่

ที่น่าสนใจคือ สินค้าขายดีในร้านนอกจากจะเป็นประเภทเครื่องดื่มให้พลังงาน ยังเป็นบุหรี่และยาเส้น โดยเฉพาะ "ยาเส้น" เจ้าของร้านชำบอกว่า เป็นสินค้าขายดีขึ้นมากมาตั้งแต่ต้นปี

ทั้งนี้ การใช้กฎหมายใหม่ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ที่มีผลเป็นการเพิ่มภาระภาษีสินค้ายาสูบโดยเฉพาะบุหรี่ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทันทีคือ ราคาบุหรี่ซองเพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน

ราคาบุหรี่ถูกที่สุดตอนนี้ขึ้นไปที่ซองละ 60 บาท ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ยังห้ามการแบ่งขายบุหรี่เป็นมวน นั่นหมายความว่า ผู้สูบต้องใช้เงินขั้นต่ำ 60 บาทซื้อบุหรี่สูบ ถ้าสูบวันละซองก็จะมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนถึง 1,800 บาท ไม่น้อยเลยหากเป็นเงินของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

"ยาเส้น" จึงกลายเป็นสินค้าเป้าหมายใหม่ของนักสูบ รากหญ้า เพื่อภาระลดค่าใช้ลง

ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า จากการสำรวจประชากรไทยที่สูบบุหรี่ในปี 2557 ทั้งหมด 11.4 ล้านคน เป็นกลุ่มฐานะ "ยากจนที่สุด" จำนวน 1.33 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อคนอยู่ที่ 1,982.50 บาท เสียค่าซื้อบุหรี่ซองที่ผลิตจากโรงงานต่อเดือนคนละ 426.80 บาท ขณะที่ผู้สูบบุหรี่ในกลุ่มฐานะ "ยากจน" จำนวน 1.85 ล้านคน รายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อคนอยู่ที่ 6,097.60 บาท เสียค่าซื้อบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงานต่อเดือนคนละ 467.5 บาท รวมแล้ว ใช้เงินเป็นค่าสูบบุหรี่ไม่ต่ำกว่า 7,674 ล้านบาทต่อปี

ข้อมูลชุดนี้ทำให้พบว่ามีกลุ่มรากหญ้าจำนวน  3.18 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของผู้สูบบุหรี่ทั้งหมด และคนกลุ่มนี้คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีบุหรี่ครั้งล่าสุด ที่อาจจะผันตัวเองไปบริโภคยาสูบที่มีราคาต่ำกว่าอย่างการสูบยาเส้นมวนเอง นอกจากมาตรการภาษีใหม่แทบจะไม่กระทบราคาขายยาเส้น (ภาษีใหม่ยาเส้นลดลง โดยคิดอยู่ที่อัตราเพียง 0.005 บาท ต่อกรัม) ร้านค้าสามารถขายในราคา ซองละ 10-15 บาท ผู้สูบยังมีความเชื่อว่าการสูบยาเส้นมีอันตรายน้อยกว่าสูบบุหรี่

การไม่ตระหนักถึงอันตรายจากการสูบยาเส้นเช่นนี้ถือเป็นสัญญาณลบสำหรับสังคมไทย!

คนรากหญ้ากับการบริโภคยาเส้น ยังเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวล เนื่องจากสินค้าราคายิ่งถูก การบริโภคจะยิ่งเพิ่ม และการเข้าถึงยาเส้นก็ไม่ใช่เรื่องยาก หาซื้อได้ง่ายในร้านขายของชำประจำชุมชนในเมืองและในชนบท หากยังจำกันได้ เมื่อปี 2555 มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เคยรณรงค์ต่อสังคมในประเด็น ยาเส้นร้ายเท่าบุหรี่ แต่ดูเหมือนความตระหนักในเรื่องอันตรายที่ว่ากลับไม่เป็นที่พูดถึงกันมากนักในสังคมไทย

ในงานวิจัยเรื่อง "เส้นทางยาเส้น จากไร่ยาสูบจนถึงผู้บริโภค" โดย รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง และคณะซึ่งเป็นงานวิจัยที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.trc.or.th ของศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ชี้ว่า ผู้บริโภคมีความตระหนักในพิษภัยของยาเส้นต่ำกว่าบุหรี่ซองมาก และที่น่าเป็นห่วงคือ ยังไม่มีนโยบายควบคุมยาเส้นที่เข้มงวดมากพอ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์และนโยบายด้านภาษี

เพราะไม่ว่าจะเป็นบุหรี่หรือยาเส้น มีผลทำร้ายหัวใจ เหมือนกัน!

องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของผู้คนทั่วโลก และการสูบทำให้มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนที่ไม่สูบถึง 4 เท่า นอกจากนี้ตามรายงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติของไทยยังระบุว่า ผู้สูบมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจวายถึง 6 เท่า

ตลอดปีนี้มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และภาคีเครือข่าย อาทิ สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย มูลนิธิโรคหัวใจ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ได้ยกให้โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นวาระสุขภาพของบรรดาสิงห์อมควัน เพราะไม่ว่าจะเป็นสิงห์บุหรี่มวนหรือ สิงห์ยาเส้นมวนเอง ก็ไม่อาจหนีพ้นโรคร้ายเหล่านี้ไปได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น

หากรัฐบาลยินดีกับการจัดการบุหรี่โดยไม่มองผลกระทบที่เกิดขึ้นกับยาเส้น และหากคนหันมาสูบยาเส้นเพิ่มมากขึ้นเพราะเป็นสินค้าราคาถูกโดยไม่ตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพเหมือนการสูบบุหรี่ คนกลุ่มนี้ก็ต้องกลายมาเป็นภาระของ รัฐบาลอย่างเลี่ยงไม่ได้ และเป็นภาระที่ต้องใช้งบประมาณ ในการรักษาเยียวยาก้อนมหึมาเสียด้วย

ถึงเวลาหรือยังที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งภาคสาธารณสุขและระดับนโยบายต้องเอาจริงกับการควบคุมการบริโภค "ยาสูบ" ในทุกรูปแบบกันเสียที

ที่มา : มติชน

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  8th Jun 18

จำนวนผู้ชม:  36073

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง