Sub Navigation Links

webmaster's News

ความเปลี่ยนแปลงเริ่มที่อาหารกลางวัน



ความเปลี่ยนแปลงเริ่มที่อาหารกลางวัน



มื้อกลางวันไม่ใช่แค่เวลารับประทานอาหาร แต่คือการสร้างนิสัยการบริโภคให้กับเด็ก  มื้อกลางวันในโรงเรียนไม่ได้หมายความเพียงแค่เรื่องของอาหาร แต่ยังเชื่อมโยงกับเรื่องโภชนาการ สติปัญญา นิสัยการบริโภคของเด็ก เช่นนี้มื้อกลางวันจึงต้องได้รับความใส่ใจเป็นพิเศษ ไม่ต่างอะไร กับคุณภาพการศึกษา คุณภาพชีวิต ในรั้วโรงเรียน ในงานสมัชชาความมั่นคงทางอาหาร 2561 ผู้เขียนได้ร่วมรับฟัง "บทเรียนและแนวทางการจัดการความมั่นคงทางอาหาร ของโรงเรียน" ซึ่งมีตัวแทนโรงเรียนในแต่ละ ภูมิภาคมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการมื้อกลางวันอย่างน่าสนใจ ด้วยความ เชื่อที่ว่าความมั่นคงทางอาหารในโรงเรียนเชื่อมโยงกับนิสัยการบริโภค การพัฒนาสติปัญญา และชุมชนที่อยู่รอบข้าง

หัตถยา เพชรย้อย ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลจองถนน จ.พัทลุง เล่าว่า สถานศึกษาของเธออยู่ในชุมชนติดทะเล ครอบครัวของนักเรียนทั้งหมดทำอาชีพประมง ซึ่งนั่นส่งผลให้อาหารมื้อกลางวันของนักเรียนมักเป็นแกงปลารสจัด  ปลาทอด และแต่ละจานแทบจะไม่มีผักเป็นส่วนประกอบในอาหาร "แต่จะไปต่อว่าเด็กหรือครอบครัวเขาคงไม่ได้ เพราะชุมชนเป็นแบบนั้น โรงเรียนเราติดกับทะเล ชุมชนก็เต็มไปด้วยชาวประมง พื้นที่ไม่เหมาะกับการทำการเกษตรอื่น เพราะถ้าน้ำหนุนสูง  ผักก็จะตาย ไม่คุ้มทุนหรอกถ้าคิดจะปลูกประกอบอาชีพ" ผลผลิตในชุมชนและความเคยชิน ด้านหนึ่งสะท้อนถึงนิสัยการกินที่ไม่นิยม รับประทานผัก ซึ่งแรกเริ่มครูและ ผู้ปกครองร่วมกันลงขันกันหาซื้อผัก จากชุมชนอื่นมาประกอบในโครงการอาหารกลางวัน แต่ถึงเช่นนั้นมันไม่ใช่การแก้ปัญหาอยู่ดี เพราะผลสุดท้ายคือเด็กเขี่ยผักทิ้ง แล้วเลือกบริโภค แต่เนื้อสัตว์ตามความเคยชิน การพูดคุยระหว่างครูและผู้ปกครองนำมาสู่โครงการทำการเกษตรในโรงเรียน พวกเขาเริ่มส่งเสริมการปลูกผักในพื้นที่เล็กๆ ที่บริโภคง่าย ลองผิดลองถูก จนมาสู่ แนวคิดการปลูกผักไว้รับประทาน โดยเลือกพื้นที่ซึ่งสูงจากน้ำทะเล อย่างการปลูกในกระถาง ตะกร้า ที่ยกสูง เลือกผักที่รับประทานง่ายๆ เช่น ผักบุ้ง ถั่วงอก "เราทำเป็นโครงงานให้เด็กกับไปปลูกที่บ้าน พอครูไปเยี่ยมบ้านนักเรียน  ก็จะไปดูผักที่เขาปลูกด้วย พอถึงตอนเช้าเราก็จะสร้างความภูมิใจให้กับนักเรียน

เช่น การประกาศว่าวันนี้เราจะทำแกงเลียงจากผักของพี่พลอยชั้น ป.5 หรือ ทำผัดผักซึ่งน้องๆ ป.3 เป็นคนปลูก ทำให้เขารู้สึกว่านี่คือผักซึ่งเขามีส่วนร่วม และต้องกินให้หมด มิเช่นนั้น พี่ๆ เพื่อนๆจะเสียกำลังใจ เราทำแบบนี้เรื่อยๆ บ่อยๆ จนการกินผักกลายเป็นเรื่องปกติ และเมื่อผู้ปกครองเห็นว่าโรงเรียนทำกิจกรรมนี้ได้ผล เขาก็จะมาร่วมด้วย เอาผักมาให้บ้าง ช่วยปลูกที่บ้านอีกแรงบ้าง" วิธีข้างต้นใช้ได้ผลกับโรงเรียนในภาคใต้ แล้วโรงเรียนในเขตเมืองเป็นอย่างไร นพ.พร พันธุ์โอสถ ผู้อำนวยการโรงเรียนปัญโญทัย กรุงเทพฯ สะท้อนประสบการณ์ว่า มื้อกลางวันในโรงเรียนเริ่มจากการตั้งคำถามว่า"เราจะมั่นใจวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารให้กับนักเรียนได้หรือไม่" และ "เราสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้อีกไหม" ซึ่งนั้นนำมาสู่การจัดตั้ง กลุ่มสหกรณ์ ลงขันของผู้ปกครอง ซึ่งมีเป้าหมายให้นักเรียนได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยจากสารพิษจริงๆ "โรงเรียนคงไม่มีศักยภาพที่จะทำทั้งหมด จึงต้องให้ผู้ปกครองเป็นคน เชื่อมต่อ ถึงจะไม่ได้ปลูกเอง แต่เราก็ได้แหล่งซื้อผักอินทรีย์จากผู้ผลิตโดยตรงในราคาถูก มีทุนออกแบบระบบอาหารโรงเรียนให้มีคุณภาพ ซึ่งคุณภาพในที่นี่ ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ปริมาณเพียงพอ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงความสะอาด ปลอด สารพิษ ชุมชนเองก็ได้ประโยชน์ เคยมี ผู้ปลูกผักปลอดสารพิษรายหนึ่งบอกว่าเขาเคยคิดจะเลิกทำ แต่การที่โรงเรียนมาสั่งซื้อช่วยต่อลมหายใจให้ได้ไปต่อ" งานศึกษาของมูลนิธิการศึกษาไทย พบว่า ผักและผลไม้ในจานอาหารของ เด็กนักเรียนทั่วประเทศ 63 เปอร์เซ็นต์ ไม่ปลอดภัย หากเปลี่ยนจานอาหารกลางวันเด็กในศูนย์เด็กเล็กและนักเรียนชั้นประถมทั่วประเทศเป็นอาหารอินทรีย์ จะทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ของประเทศได้เพิ่มขึ้นเป็น 2.4 เท่า  ลดค่าใช้จ่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกรและผลกระทบที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้มหาศาล

การเปลี่ยนแปลงจานอาหารจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของสังคม อย่างน้อยๆ คือวิถีการบริโภคของเด็ก เพิ่มคุณภาพของอาหาร ลดผลกระทบของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ส่งผล ต่อสุขภาพในระยะยาว


เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ



Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  5th Apr 18

จำนวนผู้ชม:  35325

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง