Sub Navigation Links

webmaster's News

'บุหรี่ไฟฟ้า' กับสังคมไทย 'หนุน-ต้าน' วิวาทะนี้ยังอีกยาว



'บุหรี่ไฟฟ้า' กับสังคมไทย 'หนุน-ต้าน' วิวาทะนี้ยังอีกยาว



ถือเป็นอีก 1 เรื่องราวที่มี "ข้อถกเถียง" กันมาเป็นระยะๆ กับ "บุหรี่ไฟฟ้า" ที่สำหรับประเทศไทยแล้วถูกระบุให้เป็น "สินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร" ตามกฎหมาย ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาใน ราชอาณาจักร พ.ศ.2557 ซึ่งส่งผลให้บุหรี่ไฟฟ้า "ไม่สามารถผ่านพิธีศุลกากร" ดังนั้นผู้ที่ครอบครองก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ทั้งฉบับเก่าปี 2469 และฉบับใหม่ปี 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อนึ่ง..ก่อนหน้านี้เคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า "นิยามของบุหรี่ไฟฟ้าตามกฎหมายเป็นอย่างไร?" อุปกรณ์บางอย่างเช่น "ไอคอส" (IQOS) ที่ไม่ได้ใช้น้ำยาเติม แต่ใช้ยาสูบที่เป็น "บุหรี่จริง" ในลักษณะสั้นกว่าบุหรี่ทั่วๆ ไป โดยเมื่อโดนความร้อนจะสามารถผลิตควัน แต่จะไม่เกิดการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ปกติ "เข้าข่ายบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่?" ซึ่งทนายคนดังอย่าง เกิดผล แก้วเกิดเคยกล่าวกับทีมงาน "แนวหน้าออนไลน์" ว่ากรณีของไอคอสนั้น "ไม่อาจฟันธงได้" (แนวหน้าวาไรตี้ : กฎหมายว่าด้วย "บุหรี่ไฟฟ้า" "นิยามไม่ชัด" กระทบประชาชน-นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 27 ธ.ค. 2560)

เพราะเมื่อดูนิยามของประกาศกระทรวงพาณิชย์ ระบุนิยามบุหรี่ไฟฟ้าไว้ว่า "อุปกรณ์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ทำให้เกิดละออง ไอน้ำในลักษณะคล้ายควันบุหรี่ไม่ว่าจะกระทำขึ้นด้วยวัตถุใด ซึ่งใช้สำหรับสูบในลักษณะเดียวกับการสูบบุหรี่" รวมถึงอุปกรณ์ส่วนควบคือ "สาร สารสกัด หรือสิ่งอื่นใด ที่ใช้เป็นแหล่งกำเนิดควันหรือละอองไอน้ำ เพื่อการสูบแบบบารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า" ดังนั้นกรณีไอคอส อาจต้อง "ยกประโยชน์ให้จำเลย" เพราะข้อกฎหมายนั้น "สั้นเกินไป ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการเผาไหม้" รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้แต่ประเด็นใหญ่ที่มีการถกเถียงอย่างหนักหลายต่อหลายครั้งคือ "รัฐไทยควรแบนบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเด็ดขาดหรือไม่?"เพราะหลายๆ ประเทศที่เจริญกว่าไทยมาก บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเพียง "สินค้าควบคุม" ไม่ใช่สินค้าต้องห้ามอย่างในประเทศไทย อาทิ สหราชอาณาจักร (UK) มีการผลักดันเรื่องนี้อย่างสุดตัว เห็นได้จาก ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ลอนดอน (RCP) ซึ่งเป็นสถาบันทางการแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดของ อังกฤษ กล่าวในรายงานเมื่อ เม.ย.2559 สอดคล้องกับ หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England: PHE) ว่า มีหลักฐานที่เด่นชัดบ่งชี้ว่า "บุหรี่ไฟฟ้ามีความปลอดภัยกว่าบุหรี่เผาไหม้แบบปกติ และยังเป็นตัวช่วยในการเลิกบุหรี่ได้อีกด้วย" พร้อมเรียกร้องให้มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบต่อสุขภาพของเยาวชนและผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ รายงานล่าสุดของ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ประเทศอังกฤษ (Action on Smoking and Health : ASH UK) เผยว่าปัจจุบันมีผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในอังกฤษ 2.9 ล้านคน "กว่าครึ่งหนึ่ง" หรือ 1.3 ล้านคน สามารถเลิกบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด

เช่นเดียวกับ นิวซีแลนด์ ที่เพิ่งประกาศให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย เพื่อให้ผู้สูบมีทางเลือกที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพกว่าในการเลิกบุหรี่ และเชื่อในหลักฐานทาง วิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยให้ประเทศเข้าสู่สังคม ปลอดควันได้ภายในปี 2568 ขณะที่ สหรัฐอเมริกา ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัย Southern California ยังไม่อาจสรุปได้ว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้า หรือ "Vaping" จะนำไปสู่การสูบบุหรี่จริงหรือไม่? ดังนั้นประเทศเหล่านี้จึงไม่ได้ห้ามการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในทุกทางอย่างประเทศไทย

เมื่อกระแสโลกมิได้เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งเลวร้ายต้องถูกกำจัดให้สิ้นซาก เพียงแต่เป็นสินค้าควบคุมที่ต้องป้องกันให้อยู่ห่างจากเด็กและเยาวชน การห้ามแบบไทยๆ จึง "กระทบต่อ ภาพลักษณ์ของประเทศ" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังที่"รัฐบาล อังกฤษได้ออกคำเตือนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในไทยพร้อมบุหรี่ไฟฟ้า ว่าอาจถูกปรับหรือติดคุกถึง 10 ปี" เนื่องจากมีนักท่องเที่ยว หลายรายถูกจับกุมก่อนหน้านี้ ซึ่งก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ในอังกฤษ เวียดนาม รัสเซีย และอีกหลายชาติที่บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่สินค้าต้องห้าม

ทั้งนี้แม้นิโคตินไม่ใช่สารที่ปลอดภัย แต่นิโคตินก็ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของโรคที่เกิดจากบุหรี่ ทว่ามาจากควันจากกระบวนการเผาไหม้ใบยาสูบ แต่ผู้สูบบุหรี่ในบ้านเราไม่มีทางเลือกในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีควันเช่นบุหรี่ไฟฟ้า ในขณะที่ประเทศที่เปิดรับ ทางเลือกเหล่านี้อย่างอังกฤษ และญี่ปุ่น กลับมีอัตราการสูบบุหรี่ที่ลดลง แม้กระทั่ง องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าสมควรห้ามใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างสิ้นเชิงหรือไม่? เพียงแต่ให้แต่ละประเทศไปพิจารณาตามความเหมาะสมกันเองเท่านั้น

ย้อนไปเมื่อกลางเดือน ธ.ค. 2560 เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย นำโดย มาริษ การันยวัฒน์ ออกมาตอบโต้ความเห็นของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ย้ำบ่อยครั้งว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นของอันตรายอย่างยิ่งยวด ดังนั้นผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่จริงไม่ควรไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าทดแทนนั้น เป็น "ความเข้าใจ ที่คลาดเคลื่อน" ดังจะเห็นได้จากกลุ่มประเทศที่มาตรฐานด้านต่างๆ สูงมากอย่าง สหภาพยุโรป (EU) ก็มิได้แบนบุหรี่ไฟฟ้า เด็ดขาดแบบประเทศไทย ดังนั้นรัฐบาลต้องนำข้อมูลงานวิจัยที่มีอยู่ในทุกแง่มุมมาพิจารณาอย่างรอบด้าน

และเมื่อทั่วโลกมิได้มองบุหรี่ไฟฟ้าเป็นปัญหา แต่ประเทศไทย "คิดล้ำหน้า" ไปไกลเสียแล้ว ผลคือเกิดการ "ระบาด" ของบุหรี่ไฟฟ้าใน "ตลาดมืด" ดังที่ มาริษ เคยเปิดเผย ผ่านสื่อเมื่อเดือน ก.ย. ปีเดียวกันว่า "มูลค่าการซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าในโลกใต้ดินของไทยนั้นอยู่ที่ราว 6 พันล้านบาทต่อปี" โดยที่รัฐบาลไทยไม่สามารถจัดเก็บภาษีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เลยแม้แต่บาทเดียว ที่น่าห่วงคือ "ไม่สามารถห้ามเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึง" เพราะสามารถหาซื้อบุหรี่ไฟฟ้าผ่าน "โลกออนไลน์" ได้ง่ายกว่าการเดินไปซื้อบุหรี่จริงตามร้านค้าเสียอีก

ทว่าอีกด้านหนึ่ง มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ประเทศไทย (ASH Thailand) ที่มีเลขาธิการคือ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ซึ่งต่อสู้กับปัญหาการสูบบุหรี่ในสังคมไทยมาหลายสิบปี ก็ยังคงยืนยันเช่นเดิมว่า "บุหรี่ไฟฟ้าทำให้คนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนหันมาริลองมากขึ้น" อาทิ เมื่อ 4 ม.ค. 2561 ได้ออกหนังสือชี้แจงโดยอ้างถึงผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์สหรัฐอเมริกา (The American Journal of Medicine) ฉบับเดือน พ.ย. 2560 ที่ตามติดชีวิตกลุ่มตัวอย่างอายุ 18-30 ปี จำนวน 1,506 คน ทั่วสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2556-ต.ค.2557

แล้วพบว่า ร้อยละ 2.5 ของกลุ่มตัวอย่างมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และในกลุ่มตัวอย่างที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ร้อยละ 47.7 หันไปสู่บุหรี่จริงในเวลาต่อมา ซึ่งหัวหน้าทีมวิจัยคือ Primack B.A.อธิบายว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ผู้สูบได้รับปริมาณนิโคตินน้อยกว่าบุหรี่จริง รวมถึงวิธีการสูบที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการสูบบุหรี่จริง ทำให้ร่างกายคุ้นเคยกับการเสพติดนิโคติน ก็จะเอื้อให้หันเหไปสูบบุหรี่จริงได้ง่ายขึ้น

ไม่ต่างจากความเห็นของ นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส กรรมการสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ที่ออกมากล่าวเสริมเมื่อ 7 ม.ค. 2561 ว่า น้ำยาสำหรับบุหรี่ไฟฟ้านั้นคือ "สารสกัดนิโคติน" ที่สกัดจากใบยาสูบในรูปของสารเคมีผสมกับสารระเหยที่ให้กลิ่นจากใบไม้และดอกไม้ ความเข้มข้นนั้นจะแตกต่างกันตามยี่ห้อและประเภทน้ำยา แต่ส่วนใหญ่จะมีนิโคตินสกัดที่ "เข้มข้นกว่าบุหรี่จริงหลายเท่า" และย้ำด้วยว่า "นิโคตินเป็นสารเสพติด" ดังนั้นหากน้ำยาหมดและหาซื้อไม่ได้ ท้ายที่สุดก็ต้องไปซื้อบุหรี่จริงมาสูบอยู่ดี

ทั้งหมดนี้ก็เป็น "2 มุม" ระหว่างฝ่าย "หนุน-ต้าน" บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งก็เชื่อว่าหากยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัดและ น่าเชื่อถือในวงกว้าง การถกเถียงเรื่องนี้ก็ยังคงเกิดขึ้นไปอีกนาน!!!

Hon Lik
แนวคิดการประดิษฐ์บุหรี่ไฟฟ้านั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2506 โดยนาย Herbert A. Gilbert ชาวอเมริกัน และจดสิทธิบัตรในปี 2508 ในชื่อ "Smokeless non-tobacco cigarette" แต่ด้วยความที่ไม่ได้ใส่สารนิโคตินลงไป ผู้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวจะได้รับเพียงไอน้ำที่มีกลิ่นยาสูบเท่านั้น ทำให้ไม่ได้รับความนิยมและหายไปจากท้องตลาดในที่สุด ส่วนบุหรี่ไฟฟ้าที่คุ้นเคยกันในปัจจุบัน เกิดขึ้นในปี 2546 โดยนาย Hon Lik เภสัชกรชาวจีนได้ประดิษฐ์บุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมา แต่ครั้งนี้ได้ใส่สารนิโคตินลงไปด้วย และอ้างว่าเป็นวิธีการสูบที่ปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่จริง

ต่อมาบริษัทที่นาย Hon Lik ทำงานอยู่ ให้ความสนใจสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ของเขา จึงเริ่มผลิตออกมาวางขายในจีนเป็นที่แรก ก่อนจะแพร่หลายไปทั่วโลกในที่สุด (จากรายงาน "โครงการศึกษาผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศไทย และข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการจากภาครัฐ" จัดทำโดยโรงงานยาสูบ ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ที่มา : แนวหน้า

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  8th Feb 18

จำนวนผู้ชม:  36352

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง