Sub Navigation Links

webmaster's News

ปัญหาเด็กติดเกม แก้อย่างไรให้รอบด้าน



ปัญหาเด็กติดเกม แก้อย่างไรให้รอบด้าน



หากมองเผินๆ ภาพของเด็กตัวเล็กๆ ที่นั่งจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ตาเขม็ง มือเคาะแป้นคีย์บอร์ดดังลั่น พร้อมส่งเสียงตะโกนแข่งกันโหวกเหวกในร้านเกมคงไม่ทันสะกิดใจคนเดินถนนทั่วไปว่าภาพนั้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคม “เด็กติดเกม” ที่นับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย ปัจจุบันประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีน-เกาหลีใต้ ต่างก็มีแผนกจิตเวชสำหรับรักษาเด็กวัยรุ่นที่ติดเกมแล้ว เนื่องจากพ่อแม่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมลูกของตนเองได้อีกต่อไป

อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะปลุกให้ ทุกฝ่ายในสังคมลุกขึ้นมาเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวที่กำลังทำลายศักยภาพของเด็กไทยอย่างเงียบ ๆ แต่ความคิดเห็นจากเวที “คุมเข้มเด็กเล่นเกม : ลิดรอนสิทธิ หรือช่วยสร้างสรรค์" โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติก็มีความจริงบางประการที่สำคัญ และจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะได้ร่วมตระหนักในความจริงเหล่านี้ร่วมกัน นั่นก็คือ ปัจจุบันปัญหาเด็กไทยที่เข้าข่ายเป็นโรคติดเกมนี้สูงถึง 10-15 เปอร์เซ็นต์แล้ว และต้นตอที่สำคัญ ก็คือ ผู้ใหญ่ ทั้งภาคธุรกิจที่มองเด็กเป็นเหยื่อ และสถาบันครอบครัวที่ขาดเวลาในการดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หรือไม่เข้าใจกระทั่งว่าการปล่อยให้ลูกเล่นเกมจนติดนั้น จะส่งผลเสียอย่างไรต่อพัฒนาการของเด็กๆ

“จากการลงพื้นที่ในชนบทของทีมงาน พ่อแม่ในชนบทยังมีความเชื่อว่า การปล่อยลูกอยู่ในร้านเกมนั้นปลอดภัย แค่ 15 บาทอยู่ได้ตั้ง 1 ชั่วโมง ดีกว่าปล่อยลูกวิ่งเล่นไปทั่ว” นายแพทย์ ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์กล่าว

ด้าน นายแพทย์ อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น การจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก 24 ชั่วโมง กรณีเด็กไทยกับไอที เผยในเวทีดังกล่าวด้วยเช่นกันว่า “เราพบข้อมูลของการเสพติด ไม่ว่าจะเป็นเกม หรือการใช้ไอทีมากขึ้นในเด็ก เช่น แชตกันทั้งวันจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ ถือเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน”

ทั้งนี้ นายแพทย์ อดิศักดิ์ ยอมรับว่า การจะแก้ไขให้เห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรมนั้นอาจต้องเริ่มจากการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนผ่านการให้ความรู้ และทัศนคติที่ถูกต้อง

“ทุกวันนี้ ครู โรงเรียน พ่อแม่ให้ความสำคัญกับการใช้ไอทีมาก แต่เห็นโทษน้อย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงควรออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับผลเสียของการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด นอกจากนั้น ควรให้ความสำคัญกับพื้นที่กิจกรรม เพื่อให้ครอบครัว และเด็กๆ มีพื้นที่ทางเลือกในการพักผ่อนมากขึ้น”

“ประเด็นที่สองที่เราจะลืมไม่ได้เลย คือ ภาคธุรกิจ ในช่วง 7-8 ปีมานี้ ธุรกิจทางด้านเกมเติบโตเร็วมาก ดังนั้น เมื่อมีรายได้มากแล้วก็ควรจะละเว้นเหยื่อเด็ก โดยการช่วยกันลงทุน สร้างระบบที่จะปกป้องเด็กให้ปลอดภัย ซึ่งเชื่อว่าถ้าภาคธุรกิจร่วมมือกันก็สามารถทำได้ เช่น การจำกัดเวลาในการเล่นเกม การลงทะเบียนเล่นเกมโดยใช้เลขบัตรประชาชนในการล็อกอิน การจำกัดการใช้เงินในเกม ฯลฯ ทั้งหมดสามารถแก้ไขได้ด้วยการออกแบบระบบเกมให้รัดกุมขึ้น”

ขณะที่ คุณสีดา ตันทะอทิพานิช จากมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยควรจะมีหลักสูตรที่รอบด้านมากขึ้นเกี่ยวกับการใช้ไอซีที ไม่ใช่แค่เรียนการใช้แอปพลิเคชันเหมือนในปัจจุบัน

“อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นแค่ประตู แต่เมื่อเด็กเปิดเข้าไปเจอเนื้อหาต่างๆ เช่น ภาพลามก เกมสนุกตื่นเต้น เขาจัดการได้ไหม นั่นคือ การสอนให้เด็กรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งบ้านเรายังไม่มีหลักสูตรดังกล่าวนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรมเลย ตรงกันข้ามกับในหลายประเทศที่มีสอนตั้งแต่ประถม ยกตัวอย่างเด็ก 6 ขวบในแคนาดา ต้องเรียนรู้กฎกติกาการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างรับผิดชอบ หรือในยุโรปจะสอนเด็กเรื่องโทษภัยควบคู่ไปกับการสอนใช้แอปพลิเคชัน”

ร้านเกมสีขาว มีอยู่-ใช้ได้จริง?

ประเด็นเรื่องของร้านเกมก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในเวทีดังกล่าว เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ร้านเกมในสายตาของพ่อแม่มีภาพของผู้ร้ายที่มีส่วนสนับสนุนให้ปัญหาเด็กติดเกมนี้รุนแรงยิ่งขึ้นแฝงอยู่ ซึ่งในจุดนี้ นายแพทย์ อดิศักดิ์ ในฐานะประธานคณะทำงานฯ กล่าวว่า

“การจัดสภาพแวดล้อมของร้านเกมมีความสำคัญมาก และควรเป็นร้านเกมสีขาวทุกร้าน ไม่ใช่แค่บางร้านเหมือนปัจจุบัน นอกจากนั้น ควรมีการเฝ้าระวังภัย เมื่อเด็กไม่ยอมทำตามระเบียบ เช่น ไม่ยอมแสดงสถานะบุคคล ก็ควรตักเตือน หรือระงับการใช้ ด้านผู้ดูแลร้านเกมควรได้รับการอบรม เพื่อจะได้ช่วยเหลือเด็กได้ทันท่วงทีกรณีที่กำลังจะถูกล่อลวง”

จะเห็นได้ว่า แนวทางการแก้ปัญหาเด็กติดเกมที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาในเวทีดังกล่าวทั้ง 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันครอบครัวและชุมชนผ่านการให้ความรู้ และการเพิ่มพื้นที่กิจกรรมเพื่อให้ชุมชนได้ใช้เวลาว่างร่วมกัน แทนการมั่วสุมอยู่ในร้านเกม หรือนโยบายของภาคธุรกิจที่ละเว้นกลุ่มเด็ก ด้วยการสร้างระบบการลงทะเบียนที่รัดกุม มีการจำกัดความบันเทิงกับกลุ่มเด็ก ไม่ให้มากเกินไปจนเกิดการเสพติด หรือการให้ความรู้ที่ถูกต้องกับเด็กๆ เพื่อให้พวกเขารู้เท่าทันสื่อ และประการสุดท้าย คือ การมีผู้ประกอบการร้านเกมที่ดี และมีจิตสำนึกในการประกอบธุรกิจ ล้วนเป็นสิ่งที่พ่อแม่ และทุกฝ่ายที่ตระหนักถึงปัญหานี้ยินดีจะได้เห็นภาพดังกล่าวปรากฏขึ้นในสังคมไทย แต่ปัญหาใหญ่ที่แท้จริง และยังไม่มีใครให้คำตอบได้ ณ วันนี้ ก็คือ “ใคร” จะเป็นเจ้าภาพหลักในการนำแนวทางเหล่านั้นไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อดึงเด็กๆ ขึ้นมาจากปัญหาเสพติดเกม?

หรือนี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของการตัดสินใจ “ช้าเกินไป” ที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยมักแสดงให้โลกเห็นก็เป็นได้...

ที่มา : MGR Online

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  30th Nov 17

จำนวนผู้ชม:  35804

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง