Sub Navigation Links

webmaster's News

“รู้เท่าทันข้อมูลสุขภาพ” ยุคที่แชร์สนั่น...โซเชียลมีเดีย!



“รู้เท่าทันข้อมูลสุขภาพ” ยุคที่แชร์สนั่น...โซเชียลมีเดีย!



“รู้เท่าทันข้อมูลสุขภาพ” ยุคที่แชร์สนั่น...โซเชียลมีเดีย!


       แทบทุกวันที่ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์หรือไลน์จะได้รับข้อความด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสูตรยาต่างๆในการพิชิตแต่ละโรค หรือเทคนิคการดูแลสุขภาพที่ดีในแบบต่างๆ  ซึ่งยากนักที่จะรู้ถึงต้นตอที่มาของข้อมูลเหล่านั้น บ่อยครั้งมีการอ้างอิงบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือน่าเชื่อถือ แต่ก็ยากอีกเช่นกันที่จะรู้ได้ว่าบุคคลนั้นให้ข้อมูลดังกล่าวจริงหรือไม่ จึงมีคนจำนวนไม่น้อยเชื่อถือและปฏิบัติตาม จนนำมาสู่อันตรายต่อสุขภาพแทนที่จะดีต่อสุขภาพ!!!

       “จากการศึกษาพบว่าข้อมูลด้านสุขภาพที่มีการเผยแพร่ ส่งต่อในโลกออนไลน์ เป็นข้อมูลไม่ถูกต้องเกิน 50 % โดยมีทั้งข้อมูลที่บิดเบือนเล็กน้อย จนถึงขั้นบิดเบือนข้อมูลแตกต่างไปคนละขั้วกับข้อเท็จจริง รวมถึง ข้อมูลที่ไม่มีแหล่งที่มาที่มีตัวตนที่ชัดเจน ดังนั้น ประชาชนผู้ที่ได้รับข้อมูลจากออนไลน์ทั้งทางเฟซบุ๊ค ไลน์ เว็บไซต์ และอินสตาแกรมต่างๆต้องมีการรู้เท่าทันด้านสุขภาพ(Health Literacy)” ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ให้ข้อมูล

ผศ.นพ.ธีระ อธิบายเพิ่มเติมว่า การรู้เท่าทันด้านสุขภาพหรือความแตกฉานด้านสุขภาพ ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้คนหนึ่งคนรู้ แต่เวลาที่พบเห็นหรือเจอข้อมูลสุขภาพต้องสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลอื่นๆที่น่าเชื่อถือได้ สามารถค้นหาข้อมูล ตอบสนอง และสามารถประเมินได้ว่าข้อมูลนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ เหมาะสมที่จะส่งต่อหรือนำไปประยุกต์ใช้หรือไม่  ซึ่งมีการศึกษาวิจัย พบว่า ประชาชนที่มีการรู้เท่าทันด้านสุขภาพแตกต่างกัน มีผลต่อการเกิดโรคต่างกัน โดยเมื่อมีความรู้ไม่ดี ก็จะปฏิบัติตัวไม่ดี นำมาสู่การเจ็บป่วย เข้ารับการรักษา ดังนั้น ประเทศต่างๆจะจัดการเรื่องสุขภาพดีขึ้น ต้องเน้นเรื่องการรู้เท่าทันด้านสุขภาพ  ซึ่งการรู้เท่าทันด้านสุขภาพมีหลักการ 4 ข้อสำคัญ คือ เข้าถึงข้อมูล ค้นหาข้อมูลได้ ประเมินและเข้าใจข้อมูลได้อย่างถูกต้อง และนำไปประยุกต์ได้

 อย่างไรก็ตาม  สำหรับประเทศไทยมีอุปสรรคในการเกิดการรู้เท่าทันด้านสุขภาพ โดยผศ.นพ.ธีระ บอกว่า  วัฒนธรรมคนไทยจะชอบเก็บงำความสงสัย ทำให้ไม่มีความกระจ่างชัดในประเด็นที่สงสัยนั้นๆ  รวมถึง คนไทยมีเมตตาธรรมและเผื่อแผ่สิ่งดีๆให้คนอื่นเป็นเรื่องที่ดี จึงมีการส่งข้อมูลที่ได้รับผ่านโซเชียลมีเดียแล้วเห็นว่าดีก็จะส่งต่อ โดยไม่ได้ตรวจสอบว่าข้อมูลนั้นจริงหรือไม่จริงเสียก่อน จำเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยยุคใหม่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการคิดใหม่ ให้เข้าใจว่าการแชร์หรือส่งต่อข้อความไม่ใช่การทำบุญ ต้องฉุกคิดก่อนว่าตนเองเข้าใจชัดหรือยัง ต้องมีติ่งสงสัย และควรตรวจสอบกับผู้รู้ก่อนแชร์หรือส่งต่อจะเป็นการทำบุญที่แท้จริง

       การที่คนไทยจะรู้เท่าทันด้านสุขภาพเมื่อได้รับข้อมูลสุขภาพจากออนไลน์ ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า  มีเทคนิคในการปฏิบัติ 3 ข้อ ได้แก่  1.ดูว่ามีแหล่งที่มาที่ชัดเจน น่าเชื่อถือหรือไม่  2.ต้องมีต่อมเอ๊ะ  สงสัยไว้ก่อนว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นถูกต้องหรือไม่ อย่างไร และ3.หาข้อเสียของข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งต้องตระหนักเสมอว่าทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสียทั้งสิ้น  หากข้อมูลที่ได้รับมามีแต่ข้อดี ให้ตั้งคำถามว่าแล้วมีข้อเสียหรือผลข้างเคียงอย่างไรหรือไม่

         หากสามารถดำเนินการเป็นเบื้องต้นใน 3 ข้อนี้จะช่วยให้ประชาชนตระหนักและตรวจสอบข้อมูลสุขภาพมากขึ้นก่อนที่จะเชื่อและปฏิบัติตามเมื่อได้รับข้อมูล นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆที่มีความรู้เฉพาะด้าน หากพบว่ามีการส่งต่อข้อมูลในศาสตร์ที่ท่านมีความรู้แล้วพบว่าไม่ถูกต้องควรช่วยกันตอบกลับข้อมูลที่ถูกต้อง สำหรับในด้านสุขภาพ บุคลากรทางด้านสุขภาพต้องระลึกเสมอว่าคำแนะนำที่ให้กับประชาชนจะต้องถูกต้อง และเข้าใจได้ง่าย ใช้ภาษาที่คนทั่วไปรู้เรื่อง ไม่ใช่ศัพท์ทางการแพทย์ ส่วนหน่วยงานภาครัฐจะต้องให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่าย ไม่ใช่ว่าเมื่อประชาชนต้องการตรวจสอบข้อมูลกับภาครัฐกลับมีข้อมูลกระจัดกระจายไปหมด

       ไม่เพียงเท่านี้  ผู้ประกอบการในยุคทุนนิยมที่มองกำไรเป็นเรื่องหลัก แต่สุดท้ายทำสิ่งแวดล้อมหรือประชาชนเกิดผลทางลบ เพราะบ่ยอครั้งที่ผู้ประกอบการมีการให้ข้อมูลด้านสุขภาพผ่านโวเชียลมีเดียเพื่อโฆษณากับประชาชนเช่นกัน ฉะนั้น ผู้ประกอบการจะต้องยึดจริยธรรมธุรกิจ 3 ข้อให้หนักแน่นขึ้น คือ 1.การโฆษณาจะต้องระบุสรรพคุณที่แท้จริง  2.ไม่เลือกที่รักมักที่ชังหรือโก่งราคา และ3.รับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการเหลียวมองว่ากิจการของตนเองนั้น กระบวนการได้มาซึ่งสินค้าถูกต้อง มีคุณภาพที่ดีทุกกระบวนการ โดยไม่กระทบคนอื่นหรือสิ่งแวดล้อม หากพบว่ากระทบก็ให้ลดทอนสิ่งนั้น ซึ่งการรับผิดชอบต่อสังคมไม่ใช่เพียงแค่ปลูกป่า แจกของเท่านั้น เป็นการตีความที่ผิด

      “ถ้าเชื่อข้อมูลด้านสุขภาพที่ส่งต่อๆกันในโลกออนไลน์โดยที่รู้ไม่เท่าทัน โดยเชื่อและปฏิบัติตามทันที ก็จะเกิดอันตรายต่อคนๆนั้นอย่างมาก เช่น หมอเคยเจอคนไข้ที่ได้รับข้อมูลจากไลน์ว่ากินเมล็ดพืชบางชนิดแล้วดีต่อสุขภาพ คนไข้ก็กินเมล็ดชนิดนั้นมากจนเกิดเป็นอันตรายต่อร่างกายแล้วมาหาหมอ ซึ่งก็พบเยอะมากที่คนไข้มารักษาเพราะได้รับผลกระทบจากการกินหรือทำตามข้อมูลสุขภาพที่ได้จากไลน์หรือเฟซบุ๊คต่างๆ” ผศ.นพ.ธีระ เตือน

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ เสริมว่า ในธรรมนูญระบบสุขภาพ ฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นฉบับใหม่  หนึ่งในเรื่องที่มีการเน้นเป็นสำคัญ คือ ประชาชนต้องมีความรู้เท่าทันด้านสุขภาพด้วย โดยมีการระบุไว้ในหมวดการเผยแพร่ความรู้และข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ใน 3 ส่วน ได้แก่ 1.มีการบริการจัดการสื่อสารข้อมูลและข่าวสารด้านสุขภาพสู่สาธารณะ ผ่านเครื่องมือและช่องทางการสื่อสารอย่างถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน เชื่อถือได้ เข้าใจง่าย เหมาะสม กับกลุ่มเป้าหมาย ไม่เป็นผลลบต่อสังคม ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล 2.ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับความรู้เท่าทันด้านสุขภาพ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันสำหรับทุกคนในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมาจากหลากหลายช่องทาง และ3.มีกลไกคัดกรองความรู้และข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ และระบบเฝ้าระวังข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายผู้บริโภค และมีระบบคุ้มครองการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพ

       “หลักการด้านสุขภาพก่อนเชื่อสิ่งใดจะต้องยึดหลักการรู้ พิจารณาไตร่ตรอง ทดลองและปฏิบัติตาม แต่คนในปัจจุบันเมื่อรับรู้อะไรก็จะปฏิบัติตามทันที จึงขาดขั้นตอนกระบวนการเรื่องการไตร่ตรองและทดลอง ข้ามขั้นจากรับรู้แล้วเป็นปฏิบัติ จึงถูกจูงใจในเรื่องต่างๆได้ง่าย ซึ่งคนไทยพันธุ์ใหม่นอกจากจะต้องมีต่อมเอ๊ะ และอ๋อแล้วจะต้องมีต่อมนั่นแน่ด้วย ซึ่งเป็นกระบวนการของการไตร่ตรอง กลั่นกรอง ตรวจสอบจนทราบว่าเป็นอย่างไร ข้อมูลนั้นๆถูกต้องหรือไม่ อย่างไร ก่อนที่จะนำไปใช้” นพ.ณรงศักดิ์กล่าว  

        ในยุคที่มีการแชร์ข้อมูลกันแบบสนั่นโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะข้อมูลด้านสุขภาพ ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้เท่าทัน จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อจนสูญเสียสุขภาพ

บทความโดย : พวงชมพู ประเสริฐ
ที่มา : คม/ชัด/ลึก
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  19th Jan 17

จำนวนผู้ชม:  35717

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง