Sub Navigation Links

webmaster's News

จิตแพทย์เด็กขาดแคลนหนัก ทั้งประเทศมีแค่ 192 คน เตรียมหารือ สธ.เป็นสาขาเรียนโครงการ ODOD



จิตแพทย์เด็กขาดแคลนหนัก ทั้งประเทศมีแค่ 192 คน เตรียมหารือ สธ.เป็นสาขาเรียนโครงการ ODOD



ราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ ระบุ แพทยสภายังคง “จิตแพทย์เด็ก” เป็นสาขาขาดแคลน พร้อมเผยปัญหาจิตแพทย์เด็กขาดแคลนหนัก ภาพรวมทั้งประเทศมีเพียง 192 คน ซ้ำส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในจังหวัดใหญ่ มี รพศ./รพท.ถึง 36 แห่ง ยังไม่มีจิตแพทย์เด็กประจำ ชี้ปัญหาขาดแคลนเหตุจากแพทย์สนใจเรียนน้อย ไม่สร้างรายได้มาก แถมต้องใช้เวลาเรียนต่อถึง 4 ปี ขณะที่ผู้บริหาร รพ.ส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ ไม่มีทุนเรียนต่อ เตรียมหารือกรมสุขภาพจิต และ สธ. กำหนดเป็นสาขาเรียนโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุนได้ เพื่อดึงจิตแพทย์เด็กทำงานในพื้นที่  

ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล

ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้สาขาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แพทยสภายังกำหนดให้เป็นสาขาขาดแคลนเพื่อให้มีแพทย์เลือกเรียนสาขานี้เพิ่มเติม แต่ยังคงต้องเรียนเพิ่มพูนทักษะ 1 ปีก่อน เพื่อให้เรียนรู้ถึงการรักษาโรคทั่วไปที่เป็นการสนับสนุนการเรียน ทั้งนี้สถานการณ์ของจำนวนจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ยอมรับว่าเป็นสาขาที่ขาดแคลนค่อนข้างมาก ซึ่งจากข้อมูลของราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ ในจำนวนโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ที่ต้องมีจิตแพทย์เด็กประจำอยู่ มี รพ.ที่ยังไม่มีจิตแพทย์เด็กถึง 36 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 49 และเมื่อดูข้อมูลระดับจังหวัดพบว่า มี รพ.ใน 26 จังหวัดที่มีจิตแพทย์ประจำเพียงคนเดียว ซึ่งตามมาตรฐานแล้วโดยเฉลี่ยจะต้องมีจิตแพทย์เด็กประจำจังหวัดละ 2 คน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้
สำหรับภาพรวมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นทั้งประเทศ ข้อมูลเดือนมกราคม 2559 มีจิตแพทย์ 192 คน ถือว่าน้อยมาก ในจำนวนนี้อยู่ในระบบราชการ 148 คน และนอกระบบราชการ 44 คน
ศ.นพ.มาโนช กล่าวว่า สาเหตุของความขาดแคลน เนื่องจากมีแพทย์ที่สนใจเรียนน้อย ซึ่งแพทย์ที่เลือกเรียนสาขาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นได้ต้องเป็นผู้ที่สนใจจริงๆ เพราะนอกจากเป็นสาขาที่ไม่สร้างรายได้มากเมื่อเปรียบเทียบกับแพทย์สาขาอื่นๆ แล้ว ยังต้องใช้เวลาเรียนต่อถึง 4 ปี ขณะที่แพทย์สาขาอื่นใช้เวลาเพียง 3 ปี เนื่องจากจะต้องเรียนจิตเวชผู้ใหญ่ 2 ปีก่อน แล้วจึงเรียนจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น อีก 2 ปี เพราะปัญหาเด็กส่วนใหญ่มาจากปัญหาผู้ใหญ่ เช่น ถูกพ่อแม่ทิ้ง พ่อแม่ทะเลาะกัน ผู้ปกครองมีปัญหาด้านทัศนคติ เป็นต้น ทำให้ในการรักษาจึงต้องดูผู้ปกครองและครอบครัวด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

นอกจากนี้ผู้บริหารโรงพยาบาลเองไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงพอ ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับสาขาอื่นที่คิดว่าสำคัญกว่า และมองสาขาจิตเวชเด็กว่าสามารถให้หมอเด็กดูแทนได้ ซึ่งในข้อเท็จจริงหมอเด็กดูแต่การรักษาโรคด้านร่างกายเท่านั้น แต่เรื่องจิตใจหมอเด็กดูไม่ได้

ศ.นพ.มาโนช กล่าวว่า การกระจายตัวเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของปัญหาขาดแคลน ซึ่งจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ในเมืองใหญ่ โดยหลังจากที่แพทย์ใช้ทุนแล้วก็จะย้ายไปทำงานที่จังหวัดใหญ่ หรือย้ายไปทำงานยังโรงพยาบาลเอกชนเอง ส่งผลให้จังหวัดเล็กไม่มีจิตแพทย์เด็กประจำเลย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในภาคอีสาน 20 จังหวัด มีเพียง 6 จังหวัดเท่านั้นที่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แต่อีก 14 จังหวัดไม่มีจิตแพทย์เด็กฯ เลย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดใหญ่ โดยเฉพาะ กทม.เฉพาะที่โรงพยาบาลรามาธิบดีมีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นถึง 7-8 คนแล้ว
ดังนั้นราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ จึงเตรียมที่จะหารือกรมสุขภาพจิต และกระทรวงสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังและเป็นระบบ โดยจะขอให้เด็กในโครงการ ODOD หรือโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน สามารถเลือกเรียนสาขาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นได้ เนื่องจากหากเป็นเด็กที่มาจากพื้นที่เข้าเรียน จะทำให้มีจิตแพทย์เด็กคงทำงานอยู่ในพื้นที่ได้

“บ้านเรายังให้ความสำคัญต่อจิตเวชเด็กและวัยรุ่นน้อย ต่างกับต่างประเทศที่เน้นและให้ความสำคัญมาก ขณะที่ประชาชนเองได้ให้ความสำคัญในการพบจิตแพทย์ เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญของด้านจิตใจ ส่งผลให้สาขาจิตเวชได้รับการยอมรับทั้งจากวงการแพทย์เองและประชาชน และจัดเป็นสาขาแพทย์หลัก เพราะถือเป็นการดูแลคุณภาพของประชากรประเทศในอนาคต” ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ กล่าว

Facebook

เข้าสู่ระบบ to rate

อันดับความนิยม:

อัพโหลดโดย:  webmaster

วันที่อัพโหลด:  30th Jun 16

จำนวนผู้ชม:  35509

ความคิดเห็น:  0

ข่าวที่ชื่นชอบ:  0

หมวด:   ข่าวสารน่ารู้

แจ้งข่าวไม่เหมาะสม

ชื่นชอบ

ส่งอีเมล์ถึ่งเพื่อน

๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวท๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝวข๏ฟฝอง